สธ.เฝ้าติดตาม12ราย สัมผัสผู้ป่วย‘ฝีดาษลิง’

ศบค.รายงานไทยติดโควิดเพิ่ม 3.8  พันราย เสียชีวิต​ 26 ราย นายกฯ ย้ำรัฐบาลยังไม่มีนโยบายให้ถอดหน้ากาก "สธ." ประกาศ 1 มิ.ย.เลิกตรวจ ATK  เช็กเฉพาะมีอาการ พร้อมปรับรายงานติดเชื้อโควิดใหม่ จ่อลดระดับภัยเหลือ 2 เฝ้าระวังฝีดาษลิงพบ 1 ราย บินจากยุโรปมาต่อเครื่องในไทย 2 ชั่วโมงเพื่อไปออสเตรเลีย

เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2565 ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา  2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทย พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3,854 ราย  เป็นการติดเชื้อในประเทศ 3,852 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 3,845 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก  7 ราย มาจากเรือนจำ 2 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 6,031 ราย  อยู่ระหว่างรักษา 42,534 ราย อาการหนัก 882 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 425 ราย และผลตรวจ ATK บวกเพิ่ม  3,894 ราย

ทั้งนี้ เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 26 ราย เป็นชาย 13 ราย หญิง  13 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 18 ราย มีโรคเรื้อรัง 7​ ราย ไม่มีโรคเรื้อรัง 1 ราย มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,446,502 ราย มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,373,970 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 29,998 ราย ขณะที่สถานการณ์โลกมียอดผู้ติดเชื้อสะสม 531,678,528 ราย  เสียชีวิตสะสม 6,310,915 ราย

สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ กทม.  1,655 ราย, ขอนแก่น 101 ราย, บุรีรัมย์ 94 ราย, กาฬสินธุ์  84 ราย, สมุทรสาคร 82 ราย, ชลบุรี 79 ราย,  สมุทรปราการ 76 ราย, สุรินทร์ 70 ราย, นครพนม 68 ราย  และสุพรรณบุรี 67 ราย

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี​ (ครม.)​  ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม มีคำปรารภในการประชุม ครม.ว่า ขอให้แจ้งเตือนไปยังประชาชนให้เห็นถึงความสำคัญของการสวมหน้ากากอนามัย ที่ยังเป็นพฤติกรรมที่ยังสำคัญและจำเป็นอยู่ ขณะนี้รัฐบาลไม่มีนโยบายให้ถอดหน้ากาก พร้อมกำชับให้กระทรวงสาธารณสุขติดตามการแพร่ระบาดของฝีดาษลิง และเตือนให้ประชาชนทราบถึงวิธีการป้องกัน  แนวทางการรักษา ทั้งนี้ล่าสุดยังไม่พบการระบาดในประเทศไทย

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงการเตรียมพร้อมเปิดสถานบันเทิง วันที่ 1 มิ.ย.นี้ว่า ได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหมดแล้ว โดยต้องทำให้บรรยากาศและสถานที่ปลอดภัย ซึ่งทุกคนก็รับทราบหมดแล้ว ส่วนเรื่องไทยแลนด์พาสคนไทยไม่เข้าเงื่อนไขแล้ว และคิดว่าถ้าต่อไปสถานการณ์ควบคุมได้ปกติ ก็ต้องยกเลิกไทยแลนด์พาสทั้งหมดเพื่อให้ต่างชาติเข้ามามากขึ้น เศรษฐกิจก็จะดีขึ้น และคนไทยก็ต้องเร่งบูสต์วัคซีน

เมื่อถามถึงโอกาสให้บางจังหวัดนำร่องถอดแมสก์จะมีปัญหาหรือไม่ รมว.สาธารณสุขกล่าวว่า ถ้าไม่จำเป็นก็ยังไม่ต้องถอดแมสก์ ต่อให้ไม่มีโควิดก็ใส่แมสก์ได้ในที่ชุมชนที่มีการชุมนุมของคนจำนวนมาก ซึ่งการใส่แมสก์เป็นสิ่งที่ดี  เรื่องการถอดหรือใส่แมสก์เราก็ประเมินเอา ถ้าคนอยู่เยอะก็ใส่ ถ้าอยู่น้อยและรู้ว่าแต่ละคนเป็นคนใกล้ชิดก็ไม่ต้องใส่

ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค  แถลงว่า สถานการณ์โควิดกำลังเข้าสู่ระยะผ่อนคลาย ทุกจังหวัดอยู่ในขาลงมากขึ้น ดังนั้นจากเดิมเรารายงานผู้ติดเชื้อเป็นหลัก ก็จะปรับมาเน้นผู้ป่วยที่มีอาการแล้วเข้าระบบรักษาในโรงพยาบาล​เป็นหลัก เพื่อเข้าสู่โหมดเฝ้าระวัง ดังนั้นช่วงก่อนหน้านี้ที่เป็นโรคติดต่ออันตราย ที่ต้องหาผู้ติดเชื้อ การตรวจ ATK มีความจำเป็น แต่ในระยะนี้ที่มีการฉีดวัคซีนมากขึ้น เราก็จะเน้นย้ำการตรวจเมื่อมีอาการป่วย,  กลุ่มเสี่ยงสูง 608, กลุ่มที่ดูแลกลุ่มเสี่ยงสูงทั้งผู้สูงอายุและเด็กเล็ก, กลุ่มที่จะระบาดวงกว้างง่าย และกิจกรรมต่างๆ  ในสถานที่ที่มีคนจำนวนมาก

 “สำหรับวัยทำงาน กลุ่มที่ติดเชื้อแล้วอาการน้อยก็จะมีความจำเป็นตรวจ ATK ลดลง อย่างไรก็ตามในการดูสถานการณ์ติดเชื้อ เราจะดูผ่านผู้ที่ลงทะเบียน สปสช.ทั้งระบบ HI และเจอแจกจบที่เฉลี่ยตอนนี้ประมาณวันละ 3  หมื่นราย แต่การรายงาน RT-PCR รายวันจะไม่มีแล้ว จะปรับเป็นผู้ป่วยที่มีอาการต้องอยู่ รพ.อย่างเดียว ฐานการรายงานควรเป็นผู้ป่วย ไม่ใช่ผู้ติดเชื้อแล้ว โดยจะเริ่ม 1  มิ.ย.นี้ แต่คาดว่า 1-2 สัปดาห์แรกจะมีสวิงบ้าง มีข้อติดขัดบ้าง แต่ขอให้ทุกฝ่ายทำความเข้าใจในเบื้องต้นก่อน” นพ.จักรรัฐกล่าว

นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค แถลงรายงานสถานการณ์โรคฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิงในประเทศไทยว่า จากการเฝ้าระวังฝีดาษลิงในด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศ พบ 1  รายที่บินมาจากประเทศทางยุโรป มาต่อเครื่องในไทย 2  ชั่วโมงเพื่อไปออสเตรเลีย ซึ่งเมื่อไปถึงแล้วพบว่ามีอาการ  ตรวจเชื้อแล้วเป็นผู้ป่วยยืนยัน ทั้งนี้ระหว่างต่อเครื่องยังไม่มีอาการป่วย จึงถือว่าผู้สัมผัสใกล้ชิดไม่ใช่กลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูง เพราะตอนใกล้ชิดยังไม่ได้ป่วย จึงไม่เข้าเกณฑ์ผู้ป่วยสงสัย แต่เรายังต้องติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิด คือผู้โดยสารเครื่องบิน ลูกเรือ รวม 12 คน ตอนนี้ผ่านมา 7 วันแล้วยังไม่พบผู้ที่มีอาการ เราจึงต้องติดตามให้ครบ 21 วัน

 “การประเมินความเสี่ยงของไทยต่อฝีดาษลิง พบว่าความเสี่ยงสำคัญเป็นกลุ่มผู้เดินทางเข้าประเทศ อาจมีประวัติเข้าร่วมกิจกรรมที่พบผู้ป่วยยืนยัน หรือเดินทางมาจากประเทศเสี่ยงสูงที่พบการระบาดในประเทศแล้ว ฉะนั้นเราต้องเฝ้าระวังในกลุ่มผู้เดินทางเข้าประเทศดังกล่าว โดยคำแนะนำคนไทยที่จะเดินทางไปร่วมกิจกรรมเสี่ยงในต่างประเทศ ยังต้องเว้นระยะห่าง ล้างมือให้มากเพียงพอ" นพ.จักรรัฐกล่าว

เมื่อถามถึงการติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยที่มาต่อเครื่องบินในประเทศไทย นพ.จักรรัฐกล่าวว่า ผู้ป่วยรายนี้ไม่มีอาการและมาต่อเครื่อง​ในไทยไม่นาน ซึ่งระหว่างนั้นไม่ได้สัมผัสใกล้ชิดกับใคร มีการสวมหน้ากากอนามัยตลอด  ดังนั้นผู้สัมผัสใกล้ชิดก็จะไม่ใช่กลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูง ซึ่งตอนนี้ไม่มีอาการใดๆ อย่างไรก็ตามโรคนี้เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง  ก็สามารถไปทำงานได้ตามปกติ หากมีอาการให้รีบแจ้ง แต่หากเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงต้องแยกกัก 21 วันที่บ้าน โดยการติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดอยู่บนเครื่องบิน เนื่องจากผู้ป่วยที่เดินทางไปออสเตรเลียอีกหลายวันจึงพบเชื้อ ยังดีที่ผู้ป่วยนั่งในชั้น Business Class นั่งห่างกันพอสมควร ซึ่งการติดเชื้อไม่ง่าย ต้องใกล้ชิดจริงๆ ถ้าอยู่ห่างๆ ไม่ค่อย เพราะเชื้อไม่ได้ลอยไปเอง อย่างเหตุการณ์ในยุโรปจะมีการใกล้ชิดกอดจูบ ดังนั้นโรคนี้ไม่ได้ติดต่อง่าย ต้องสัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วยในระยะที่ป่วยด้วย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง