‘กลาโหม’ แจงยิบ! ผ่าพิสูจน์GT200 ใช้ฟ้องขอเงินคืน

โอละพ่อ! โฆษกกลาโหม แจง ทบ.ตั้งงบจ้าง สวทช.ผ่าพิสูจน์ GT200 เก๊หรือไม่ กว่า 7.5 ล้านบาท เป็นไปตามคำแนะนำของอัยการสูงสุด เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศ เพราะสาระสำคัญของคดีคือต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าเครื่องใช้ไม่ได้ ก่อนที่จะได้รับเงินค่าเสียหายกว่า 683 ล้านบาท ตามคำสั่งศาล

เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ชี้แจงภายหลังจากที่นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล อภิปรายงบกลาโหม ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ที่ไม่ปรากฏในเอกสารงบประมาณว่า ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กองทัพบกทำสัญญาจ้าง มูลค่ารวม 7,570,000 บาท ให้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ไปตรวจสอบเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด GT200 จำนวน 757 เครื่อง ตกเครื่องละ 10,000 บาท ว่า ทราบเรื่องจากกองทัพบกที่ตั้งงบประมาณไว้ เนื่องจากเป็นไปตามคดีอาญาที่กองทัพบกได้ฟ้องบริษัทผู้ขายกับพวก รวม 5 คน ต่อศาลฐานร่วมโกง และศาลชั้นต้นศาลอุทธรณ์ก็ตัดสินชี้มูลมาแล้วว่าจำเลยมีความผิด ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา

แต่ขณะเดียวกัน คดีในทางปกครอง กองทัพบกได้ฟ้องบริษัทผู้ขาย โดยศาลปกครองกลางได้สั่งให้ต้องชำระหนี้กับกองทัพบกเป็นเงินกว่า 683,000,000 บาท แต่เมื่อต่อมาทางบริษัทได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุดมีความเห็นว่า การตรวจเครื่อง GT200 ที่ไม่สามารถใช้งานได้ทุกเครื่องทั้ง 757 เครื่อง เป็นสาระสำคัญของคดี จึงมีความจำเป็นให้กองทัพบกตรวจสอบทุกเครื่องว่าใช้งานได้หรือไม่

ทั้งนี้ ให้ตรวจสอบจากหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญ มีเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ในการตรวจสอบ ทั้งการวัดวัตถุไฟฟ้าสถิต การแพร่คืนแม่เหล็กไฟฟ้า การวัดประสิทธิภาพการทำงานของเครื่อง การวิเคราะห์ผล รวมถึงการผ่าพิสูจน์ตัวเครื่อง กองทัพบกจึงได้ดำเนินการจ้างไปที่ สวทช. ตามที่เสนอราคามา โดยในปี 2564 ใช้งบประมาณประมาณ 3.2 ล้านบาท และในปี 2565 อีก 4.37 ล้านบาท ก็ได้ทยอยตรวจสอบ

โฆษกกระทรวงกลาโหมยืนยันว่า ทั้งหมดดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศไว้ ไม่ให้เสียหายในการเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้น

ส่วนที่ฝ่ายการเมืองมองว่าไม่จำเป็นต้องตรวจสอบเพราะไม่มีประโยชน์นั้น   โฆษกกระทรวงกลาโหมย้ำว่า เรื่องนี้หากเราจะต้องเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุดมีความเห็นเช่นนี้ เราก็ต้องดำเนินการ เพราะสาระสำคัญของคดีคือต้องตรวจเครื่องว่าไม่สามารถใช้งานได้ทุกเครื่อง ดังนั้นการที่เราจะได้เงินค่าเสียหาย เราจึงต้องทำตามขั้นตอนตามคำแนะนำของสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศ

ทั้งนี้ ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.พรรคก้าวไกล จังหวัดฉะเชิงเทรา อภิปรายว่า ประเทศไทยใช้งบซื้อ GT200 ไปแล้ว 848 เครื่อง เสียงบไป 767 ล้านบาท และล่าสุด ยังต้องเสียงบประมาณรวมอีกกว่า 7.57 ล้านบาท เพื่อทำการผ่าทุกเครื่อง เครื่องละ 10,000 บาท เพื่อตรวจสอบว่าเครื่องสามารถตรวจหาสารเสพติด ระเบิด หรือสิ่งผิดกฎหมายได้จริงไหม.

 

 

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง