‘บิ๊กตู่’ลั่นให้เกียรติสภา

“บิ๊กตู่” ยันให้เกียรติสภาเสมอ อ้างไปก็ตอบกระทู้ได้แค่กว้างๆ รมต.รู้เรื่องกว่า โยนคิดเอาเอง “สุชาติ” ติงแรงหรือไม่ “เทพไท” เทียบเหมือน “แม้ว-ปู” ประธาน ชพน.กระทุ้ง รมต.รู้จักเสียสละหากซักฟอกมีน้ำหนัก “กลาโหม” ผุดไอเดีย ชวนคนเห็นต่างเข้ากระทรวงจับเข่าคุย

เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน โดยเฉพาะที่อาจจะมีการพาดพิงถึงการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ของเหล่าทัพว่า ทุกเหล่าทัพรู้อยู่แล้ว และตนเน้นย้ำไปแล้ว ในส่วนของกรณีเรือดำน้ำที่ขาดเครื่องยนต์นั้น ยังต้องรออีก 60 วัน เป็นไปตามสัญญา การดำเนินการต่างๆ มีสัญญาระบุไว้ทั้งหมด คงไม่มีใครไปซื้อเรือดำน้ำที่ไม่มีเครื่องยนต์

ส่วนที่ฝ่ายค้านขอเวลา 5 วันในการอภิปราย นานมากไปหรือไม่นั้น พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่า ก็แล้วแต่ เป็นเรื่องที่กำลังพิจารณากันอยู่ในชั้นของวิป วันนี้ตนอยากใช้เวลาให้มากที่สุดในการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน เรื่องสภาเป็นสิทธิของท่าน ต้องควรพิจารณาว่าควรหรือไม่ เพราะปัญหาหลายอย่างทับถมเข้ามา ต้องมีสมาธิในการทำงานหลายเรื่อง ต้องแก้ไขปัญหาให้ได้ สิ่งไหนที่มีปัญหาก็ชี้แจงทำความเข้าใจ เชื่อว่าน่าจะเข้าใจกันได้บ้าง ไม่ใช่ว่าทุกอย่างจะไม่เข้าใจ จะเป็นเรื่องที่ลำบาก

ผู้สื่อข่าวถามว่า หลังศึกซักฟอกจะมีการปรับ ครม.หรือไม่ เพราะมีกรณีของนางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่า เป็นเรื่องของตนที่จะตัดสินใจ ไม่ใช่ที่จะต้องมาตอบตรงนี้

นายกฯ ยังชี้แจงกรณีนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ติงกลางสภาอย่าใช้วิธีทหาร โดยการมอบรัฐมนตรีมาชี้แจงกระทู้ เพราะแสดงถึงความไม่รับผิดชอบว่า ได้เน้นย้ำไปทุกครั้ง แต่เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. ได้สอบถามไปทราบว่าไม่ได้ไปตอบเพราะ รมว.การคลังติดภารกิจ และได้มอบหมายให้ รมช.การคลังไปตอบ แต่ขณะนั้นติดพันในงานของคณะกรรมาธิการอยู่ ซึ่งได้แจ้งขอเลื่อนเวลาในการตอบกระทู้ จึงคิดว่าทำให้เกิดช่องว่าง

“ขอให้เข้าใจเหตุผลว่านายกฯ สามารถมอบหมายให้ผู้ที่มีหน้าที่โดยตรงไปตอบแทนได้ เพราะนายกฯ เองก็ตอบได้เฉพาะกรอบกว้างๆ หรือแนวทางในการปฏิบัติ แต่ในเรื่องของรายละเอียดเป็นเรื่องของแต่ละกระทรวง ที่จะรู้ในเรื่องของรายละเอียดดี และยืนยันว่าการมอบหมายให้ผู้ที่มีความเกี่ยวข้องไปชี้แจงแทนเป็นไปตามระเบียบ กฎหมายของสภา และยืนยันว่าให้เกียรติสภาเสมอ ไม่มีปัญหา” พล.อ.ประยุทธ์ระบุ

เมื่อถามว่า การพูดกลางสภาของนายสุชาติ เป็นการพูดแรงไปหรือไม่ นายกฯ ตอบเพียงว่า “ก็คิดกันเอาเอง”

นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กถึงกรณีนายสุชาติตำหนิ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ไม่มาตอบกระทู้ว่า ขอชื่นชมการทำหน้าที่ประธานที่ประชุมของนายสุชาติ ในการดำเนินการประชุมวาระกระทู้ถามสด ได้แสดงความเห็นต่อรัฐบาลอย่างตรงไปตรงมา มีความกล้าที่ได้ตำหนิหรืออบรม พล.อ.ประยุทธ์อย่างน้อย 2 ครั้งแล้ว กรณีที่รัฐมนตรีผู้ถูกตั้งกระทู้ถามสด ไม่ยอมมาตอบกระทู้ถามของ ส.ส. จึงขอยกคำพูดของนายสุชาติ ที่มีสาระสำคัญน่าสนใจในหลายประเด็น ว่า ตนก็เคยท้วงติงไปหลายครั้ง การมอบหมายครั้งที่ผ่านมาตนท้วงติงกับ รมว.มหาดไทยว่า ไม่ใช่สักแต่จะมอบ แต่ต้องถามผู้รับมอบว่าพร้อมหรือไม่

นายเทพไทระบุอีกว่า อยากจะฝากข้อบังคับการประชุมข้อที่ 151 แม้ว่าสภาจะไม่สามารถบังคับรัฐบาลได้ แต่เป็นเรื่องการให้เกียรติซึ่งกันและกัน จึงอยากฝากรัฐมนตรีไปยังนายกฯ ให้เตือนนายกฯ ในที่ประชุม ครม. ว่าสภามีข้อบังคับการประชุมข้อที่ 151 ท่านควรมาตอบเอง ให้เกียรติสภาหน่อย ถ้าติดภารกิจควรต้องมอบหมายบุคคลที่มาตอบได้ ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรีหรือรองนายกฯ ได้หรือไม่ หรือใครที่มีความรู้ที่จะมาตอบได้ ก็ขอฝากตรงนี้ด้วย

อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราชบอกว่า นับตั้งแต่เป็น ส.ส.มาร่วม 20 ปี ได้ผ่านรัฐบาลมาหลายชุด ที่จำได้จะมีนายกรัฐมนตรีเพียง 2 คนคือ นายสมัคร สุนทรเวช และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เท่านั้น ที่ให้ความสำคัญกับการตอบกระทู้ถามของ ส.ส.มากที่สุด ส่วนนายกรัฐมนตรีที่ไม่มาตอบกระทู้ถามในสภา และไม่ให้ความสำคัญกับกระทู้ถามของ ส.ส.เท่าที่ควร คือนายทักษิณ ชินวัตร, น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ พล.อ.ประยุทธ์

นายเทพไทระบุอีกว่า สำหรับประเด็นที่นายสุชาติได้กล่าวต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ฝากไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ พอสรุปได้ดังนี้คือ 1.ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ฝ่ายบริหาร ในการตอบกระทู้ถามสดของ ส.ส. ซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ มีหน้าที่ควบคุมการบริหารประเทศของรัฐบาล 2.เป็นการให้เกียรติสภาผู้แทนราษฎร ที่ ส.ส.เป็นตัวแทนของประชาชนโดยตรง การให้ความสำคัญกับ ส.ส.ก็เป็นการไม่เคารพต่อประชาชนด้วย และ 3 รูปแบบการทำงานของรัฐบาล ต้องยึดหลักการประชาธิปไตย ไม่ใช่การสั่งการแบบทหาร ที่ผู้บังคับบัญชาสั่งการให้ลูกน้องปฏิบัติตามคำสั่งโดยไม่มีเงื่อนไข

 “ผมได้ติดตามบทบาทการทำหน้าที่การเป็นประธานที่ประชุมของนายสุชาติ ตันเจริญ มาตั้งแต่เป็นรองประธานสภาฯ คนที่สอง เมื่อปี 2545-2548 และเป็นรองประธานสภาคนที่หนึ่ง เมื่อปี 2548-2549 และปี 2562-ปัจจุบัน บอกกันตรงๆ ว่าไม่เคยผิดหวังในการทำหน้าที่ของท่านสุชาติเลยแม้แต่ครั้งเดียว” นายเทพไทกล่าว

วันเดียวกัน นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจมี ส.ส.ร่วมลงชื่อ 186 คน ซึ่งมีจำนวนเกิน 1 ใน 5 ของจำนวน ส.ส.ที่มีอยู่ในสภา ส่วนกรณีนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อนายชวน ประธานสภาฯ เพื่อให้ตรวจสอบว่ามีการยื่นญัตติอภิปรายถูกต้องหรือไม่ เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.นั้น หลังได้รับข้อร้องเรียน นายชวนได้สั่งการให้นำข้อร้องเรียนดังกล่าวมาพิจารณา และทางสำนักประชุมได้ส่งหนังสือถามไปยังตัวแทนพรรคร่วมฝ่ายค้านทุกพรรค ถึงความถูกต้องของรายชื่อส.ส. ว่ามีอะไรผิดไปหรือไม่ ปรากฏว่าได้รับคำตอบและการยืนยันจากทุกพรรคร่วมฝ่ายค้านที่ยื่นญัตติ ว่ารายชื่อที่เซ็นมาถูกต้องทุกอย่าง ซึ่งสรุปได้ว่าญัตติอภิปรายถูกต้องและรายชื่อถูกต้อง

นพ.สุกิจกล่าวว่า จากนั้นได้ส่งหนังสือกลับมาที่ประธานสภาฯ เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. เพื่อขออนุมัติบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมสภา โดยนายชวนได้อนุมัติบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระเป็นเรื่องด่วนภายในวันที่ 23 มิ.ย.เช่นเดียวกัน ซึ่งขณะนี้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้มีการส่งหนังสือไปยังเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อแจ้งไปยัง ครม. และจากนี้ต้องรอคำตอบจาก ครม. ว่ามีความพร้อมอภิปรายเมื่อใด จึงจะดำเนินการต่อไป

นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ประธานพรรคชาติพัฒนา (ชพน.) กล่าวถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า ดูว่าขณะนี้จำนวนเสียงของรัฐบาลค่อนข้างที่จะมีเสถียรภาพ ดูจากกฎหมายงบประมาณที่ผ่านมา ซึ่งจากวันนั้นมาจนถึงวันนี้ดูแล้วยังไม่ได้มีอะไรที่จะดูเหมือนว่าทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลลดน้อยลงไปในเรื่องของเสียงที่จะยกมือ แต่เรื่องของการอภิปรายไม่ไว้วางใจนอกจากเรื่องเสถียรภาพแล้ว บางทีมันเป็นเรื่องข้อเท็จจริง เป็นเรื่องเหตุและผล เพราะฝ่ายค้านเขาทำหน้าที่ตรวจสอบ ฉะนั้นประเด็นอะไรที่ฝ่ายค้านจะหยิบมาพูดวันนี้เรายังไม่เห็น แต่ว่าวันอภิปรายบางทีเรามักจะใช้สำนวนว่า มีใบเสร็จ หมายความว่า ชัดเจน ว่ามีความบกพร่องเรื่องนี้ ฉะนั้นถ้ามีความชัดเจนขึ้นมามันเป็นอีกเรื่องหนึ่งแล้ว

นายสุวัจน์มองว่า การอภิปรายเที่ยวนี้มีความสำคัญ เพราะเป็นการอภิปรายที่อยู่บนท่ามกลางวิกฤตข้าวของแพง น้ำมันแพง หนี้เยอะ เงินเฟ้อ จีดีพีถดถอย เชื่อว่าจะอยู่ในความสนใจกันมาก ที่สำคัญเป็นการอภิปรายเป็นครั้งสุดท้ายของสภาชุดนี้ ดังนั้นต้องติดตามและอย่าประมาท ผู้ที่ถูกอภิปรายต้องทำการบ้านให้พร้อม อย่างไรก็ตาม เรื่องของการอภิปรายโดย

ปรกติไม่ได้จบแค่ยกมือในสภา มันจะมีผลหลังจากการอภิปรายคือ ความรู้สึกนึกคิดของสังคม ของคนนอกสภา เมื่อฟังการอภิปรายแล้ว คนนี้เหมาะ คนนี้ไม่เหมาะ คนนี้ทำดีแล้ว คนนี้ทำไม่ดี

ส่วนที่มีการตั้งองครักษ์พิทักษ์ปราบมารนั้น ประธานพรรค ชพน.เห็นว่า คงจะเป็นเหมือนกับทีมที่คอยชี้แจง เป็นเทคนิคเรื่องของเกม เทคนิคของการอภิปราย ไม่ซีเรียสอะไร เป็นเรื่องที่ปรกติมันต้องมีทีมอยู่แล้ว ทีมฝ่ายค้านก็ต้องมีทีมอย่างนี้ส่วน พล.อ.ประยุทธ์จะคุมอารมณ์ได้หรือไม่นั้น ตนเห็นว่าท่านเป็นนายกฯ จะ 8 ปีแล้ว ท่านเข้าใจหมดทุกเรื่อง ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง 

เมื่อถามว่า มองว่าจะมีการปรับ ครม.หลังอภิปรายหรือไม่ นายสุวัจน์ตอบว่า  คิดว่าปรกติเวลามีการอภิปราย บางทีถ้าผลของการอภิปรายมีน้ำหนักและมีความน่าเชื่อถือ อาจจะนำไปสู่การปรับ ครม. บางทียกไม้ยกมือกันเราก็มีมารยาททางการเมือง แต่บางทีต้องพูดกันตรงๆ ว่า การอภิปรายมันมีน้ำหนัก มันมีเหตุมีผล บางทีต้องเสียสละกันบ้าง

นายสุวัจน์ยังพูดถึงเรื่องเสียงของงูเห่าในการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ด้วยว่า งูเห่ามักจะปรากฏ แต่ตอนนี้ยังไม่ค่อยปรากฏตัว งูเห่าต้องมากับสถานการณ์ แต่ตนไม่ทราบว่าจะมีหรือไม่มี ประเมินไม่ได้ ตนว่าพื้นๆ เราเอากันด้วยเนื้อหาก่อนดีกว่า ขอให้เนื้อหาเราตอบได้ ขอให้เนื้อหาเราชี้แจงได้ ถ้าสองอย่างนี้เราตอบได้ พื้นฐานของเสถียรภาพของรัฐบาลเพียงพอ ไม่ต้องไปพึ่งอะไรนอกระบบ

“ทุกอย่างเอามากองบนโต๊ะ ใส สะอาด ดีที่สุด ตอบคำถามด้วยความภาคภูมิใจ ด้วยมาตรการ ด้วยประสิทธิภาพ ด้วยผลงาน ผมว่าเอากันแบบโดยเนื้อๆ ที่เรามีอยู่ คิดว่าเสียงดูจากงบประมาณแล้วก็ยังโอเคอยู่ ยังไม่มีโรคแทรกอะไรที่น่าหวั่นไหว แต่สำคัญที่สุดทำการบ้านในการชี้แจงในการทำความเข้าใจ” ประธานพรรค ชพน.ระบุ

เมื่อถามอีกว่า จบการอภิปรายแล้วรัฐบาลจอยู่ครบ 4 ปีเต็มเลยหรือไม่ นายสุวัจน์ตอบว่า เอาอย่างนี้ ไม่มีศึกหนักแล้ว แกรนด์สแลมผ่านพ้นไปแล้ว ดูเรื่องการเป็นเจ้าภาพเอเปกให้ดีที่สุด เพราะเป็นโอกาสทองของประเทศไทย

เมื่อวันศุกร์ พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ออกมาเปิดเผยว่า มีแนวคิดจะเปิดพื้นที่ของกระทรวงกลาโหมให้กลุ่มผู้เห็นต่างได้เข้ามาเพื่อพูดคุยกัน เพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน โดยจะเชิญมาที่กระทรวง เพราะมองว่าปัญหาทุกอย่างหากมีโอกาสได้พูดคุยกันและมีความเข้าใจกันแล้ว ทุกอย่างน่าจะไปได้ดี เพราะต่างเป็นคนไทยด้วยกัน และมีเป้าหมายเดียวกันคือ เพื่อประชาชน ดังนั้นเมื่อมีเป้าหมายเดียวกันแล้วทำไมจึงต้องมีปัญหาความขัดแย้งกัน ดังนั้น ทางออกที่ดีที่สุด คือการพูดคุยทำความเข้าใจแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน

“หากใครมีข้อสงสัยหรือข้องใจเกี่ยวกับกองทัพ สามารถสอบถามหรือชี้แนะได้ ผมยินดีให้เข้ามาพูดคุย อะไรที่ให้ข้อมูลได้ก็จะให้ข้อมูลเพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน เพราะเชื่อมั่นว่าความมั่นคงจะสำเร็จได้ก็ต้องมีความร่วมมือกันทุกภาคส่วน ซึ่งต้องมีทั้งความร่วมมือส่วนรวมด้วย และคิดทำร่วมกันจะเกิดความเป็นปึกแผ่นมั่นคงและสามัคคี” โฆษกกระทรวงกลาโหมกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชงไทยบี้เมียนมา งดขายน้ำมันให้ เจรจาสันติภาพ

"โรม" เสนอให้ไทยงดขายน้ำมันให้ "เมียนมา" ปูดใช้ไทยฟอกเงินเครือข่ายซื้ออาวุธที่ใช้ปฏิบัติการ เตือนถูกดึงไปเอี่ยวร่วมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์