ยก‘เกาหลีโมเดล’ล้อมคอกไฟไหม้

"บิ๊กตู่" สั่งการดูแลชาวบ้านประสบภัยไฟไหม้  จี้ จนท.ดูแลชุมชนแออัดหวั่นเกิดเหตุซ้ำ ขณะที่ "ชัชชาติ” ถอดบทเรียนบ่อนไก่-สำเพ็ง เปิดโต๊ะประชุม 3 หน่วยงานเกี่ยวข้อง เล็งสำรวจยกเครื่องหม้อแปลงอีก 400 ลูกในกรุงเทพฯ ชั้นใน เร่งสแกนหาจุดเสี่ยงพร้อมจัดระเบียบสายสื่อสาร สั่งล้อมคอกตรวจมาตรฐานหนีไฟ-ดับเพลิงสถานบันเทิง ยกเกาหลีโมเดลมาใช้ ขณะที่ "กฟน." ตื่นปูพรมติดอุปกรณ์เตือนเหตุ ด้าน "นายกวิศวกรรมสถานฯ" ระบุจุดล่อแหลมอาคารถล่มบางส่วนต้องรื้อทันที

เมื่อวันจันทร์ พล.อ.ประยุทธ์​ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุเพลิงไหม้สำเพ็งว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดูแลในพื้นที่  โดยหลายส่วนราชการได้เข้าไปแก้ปัญหาและดูแลเช่นเดียวกับเหตุไฟไหม้ที่บ่อนไก่ ขอฝากเตือนไว้ด้วย โดยเฉพาะพื้นที่ชุมชนแออัด และเรื่องเครื่องไม้เครื่องมืออุปกรณ์ไฟฟ้าอะไรต่างๆ ที่ไม่ทันสมัยหรือเก่า เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว ขอให้กวดขันและตรวจตราให้ดีเพราะไม่อยากให้เกิดการสูญเสียขึ้นอีก

ที่อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร  (กทม.) (ดินแดง) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า จะมีการนัดกับการไฟฟ้าฯ ซึ่งจะต้องดูภายในว่ากระบวนการจัดลำดับเข้าดับเพลิงเป็นอย่างไร ส่วนการแก้ปัญหาจะมี 2 ส่วน คือ 1.กระบวนการภายในในการแก้ปัญหา ใครเป็นผู้บัญชาการเหตุ และรถน้ำฉีดอย่างไร 2.กระบวนการภายนอก โดยการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ต้องควบคุมความเสี่ยงเรื่องหม้อแปลง  ซึ่งภายในเขตกรุงเทพฯ ชั้นในมีหม้อแปลงอยู่ประมาณกว่า 400 ลูก รวมถึงสายสื่อสารที่เป็นตัวที่ไฟลุกลามมาได้ ซึ่งภายในอาคารที่มีเชื้อเพลิงเยอะ โดยมี 3 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ การไฟฟ้าฯ, การประปาฯ และตำรวจ ซึ่งจะนัดหารือกันในบ่ายวันพรุ่งนี้ (28 มิ.ย.)

 “เป็นบทเรียนราคาแพงที่ไม่ควรจะเกิด ต้องรีบดำเนินการแก้ไข ประชาชนต้องตรวจสอบความเสี่ยงของตัวเอง  เช่นหม้อแปลงที่อยู่ใกล้สายสื่อสารและรกรุงรัง อีกทั้งอยู่ใกล้อาคารที่มีเชื้อเพลิง เป็นปัจจัยที่มีความเสี่ยงทำให้เกิดเหตุไฟไหม้เหมือนเมื่อวานนี้” ผู้ว่าฯ กทม.กล่าว

นายชัชชาติกล่าวอีกว่า ส่วนสถานบันเทิงตนได้สั่งให้สำนักงานเขตเข้าไปตรวจความพร้อมของทางหนีไฟ มาตรฐานการดับเพลิง และเชื้อเพลิงภายในอาคาร

วันเดียวกัน นายชัชชาติยังกล่าวถึงการถอดบทเรียนเหตุไฟไหม้ชุมชนบ่อนไก่และสำเพ็งว่า สาเหตุของเพลิงไหม้ที่บ่อนไก่ต้นเพลิงมาจากไฟฟ้าชอร์ตที่ชั้นบนของอาคาร และลุกลามไปยังอีกจุดหนึ่งอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ปัญหาคือบ้านเรือนอยู่ติดกัน และเป็นโครงสร้างไม้ติดไฟง่าย และน้ำประปามีแรงดันน้อย ซึ่งการปฏิบัติงานมีหลายหน่วยงาน ทำให้การบริหารจัดการพื้นที่ทำได้ไม่ดี

นายชัชชาติกล่าวว่า เบื้องต้นได้ประสานการไฟฟ้านครหลวงสำรวจหม้อแปลงทั้งหมดกว่า 400 ลูก เฉพาะจุดเสี่ยงในกรุงเทพฯ ชั้นใน และหากประชาชนมีข้อกังวล ให้แจ้งเข้ามาที่ กทม.หรือทราฟฟีฟองดูว์ ส่วนการจัดระเบียบสายสื่อสารจะหารือกับ กสทช.เพื่อหารือเรื่องนี้ให้เร็วขึ้น

 “เจ้าของอาคารที่มีวัสดุที่มีเชื้อเพลิงมากต้องระวังเรื่องอัคคีภัยให้มากขึ้น โดยเจ้าของอาคารต้องตรวจสอบดูแลในส่วนของตัวเองด้วย ส่วนการเข้าเผชิญเหตุ ตามหลักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยควรไปฉีดที่ต้นเพลิงมากกว่าการกระหน่ำฉีดเข้าไป ต่อจากนี้จะให้มีการอบรม จัดระเบียบให้ทุกทีมรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน ทาง ผอ.สปภ. ทำแผนระยะสั้น กลาง ยาว เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด” ผู้ว่าฯ กทม.กล่าว

นายชัชชาติระบุด้วยว่า นอกจากนี้มีการร่างแผนค่าตอบแทน เราก็ต้องพิจารณาเช่นกัน รวมถึงอุปกรณ์ต่างๆ ต้องมีอย่างเหมาะสมแก่อาสาสมัคร และต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมของเด็ก โดยเอาตัวอย่างการทำงานบรรเทาสาธารณภัยของประเทศเกาหลีมาเป็นต้นแบบในการทำงานของเราด้วย

ด้าน น.ส.อาทิตยา โชคกิจมนัสชัย ผู้อำนวยการเขตสัมพันธวงศ์ เปิดเผยว่า หลังจากนี้จะให้เจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปเร่งสำรวจสายไฟเก่า เครื่องใช้ไฟฟ้าเก่า  รวมถึงจะเชิญการไฟฟ้าฯ มาประชุมร่วมกัน ให้ไปตรวจสอบว่าในพื้นที่มีหม้อแปลงไฟฟ้าที่เก่าเกินอายุที่สมควร  คือมากกว่า 20 ปีหรือไม่ ถ้ามีอยู่ก็จะประสานให้ดำเนินการดูแลเปลี่ยนใหม่หรือซ่อมแซมให้รัดกุม

ขณะที่นายเกียรติศักดิ์ แซ่แต้ เจ้าของร้านพิชิตชัยค้าของเล่นเด็ก ซึ่งอยู่ติดกับห้องต้นเพลิง ประเมินมูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท โดยหลังจากนี้ทั้งตนเองและเจ้าของร้านต้นเพลิงรวมถึงผู้เสียหายรายอื่นๆ จะดำเนินการแจ้งความฟ้องร้องกับการไฟฟ้าฯ เพื่อให้ร่วมรับผิดชอบความเสียหายอย่างแน่นอน

ด้านนายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการไฟฟ้านครหลวง  กล่าวว่า หม้อแปลงนั้นมีอายุโดยเฉลี่ยประมาณ 25 ปี  โดยลูกนี้ใช้มาแล้วประมาณ 20 ปี มีการบำรุงรักษาตามมาตรฐาน และได้ตรวจสอบล่าสุดเมื่อกลางปีที่แล้ว ซึ่งปกติจะทำการตรวจสอบปีต่อปี เบื้องต้นยังไม่สามารถชี้ชัดถึงสาเหตุที่เกิดปัญหาได้ ส่วนเรื่องที่มีข้อมูลว่าเจ้าของอาคารจะฟ้องร้อง กฟน.เป็นเงินจำนวน 10 ล้านบาทนั้น ก็เป็นสิทธิ์ของผู้เสียหาย

 “อยากให้มีการพูดคุยกันก่อน จากนี้ผู้เสียหายอาจสามารถติดต่อที่สำนักงานเขตท้องที่ได้ ปกติแล้วหม้อแปลงไฟฟ้าลักษณะนี้มีจำนวนประมาณ 400 ลูกทั่วกรุงเทพฯ และจะมีการปรับแผนการบำรุงรักษา ติดอุปกรณ์เตือนเหตุ รวมถึงประสานกับกรุงเทพมหานคร และประสานในเรื่องสายสื่อสารเช่นกัน” นายวิลาศระบุ

  ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ต้องแบ่งตัวอาคารเป็นสองส่วน อาคารส่วนแรกที่ตรงกับหม้อแปลงไฟฟ้านั้น ส่วนใหญ่ตัวอาคารเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กและได้รับผลกระทบน้อย พื้นไม่มีรอยแตกร้าว แต่ห้องทางฝั่งซ้าย 2  หลังข้างกันเป็นผนังอิฐก่อและเสริมโครงสร้างเหล็ก เมื่อเจอความร้อนเหล็กได้เสียรูปและแอ่นตัว ผนังเองก็มีการบิดตัว

 “โดยมีข้อเสนอแนะว่าสามารถตรวจสอบห้องที่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็กทางขวาตามหลักวิศวกรรมได้ ส่วนสองห้องทางด้านซ้ายนั้นอาจต้องทำการรื้อทั้งหมด โดยทั้งสามห้องนั้นไม่ได้มีโครงสร้างเชื่อมกันและมีโอกาสถล่มได้ หากประชาชนจะกลับมาใช้ชีวิตในอาคารโดยรอบต้องมีการค้ำยันก่อน” ดร.ธเนศระบุ

ด้านนายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน มอบหมายให้นายนันทชัย  ปัญญาสุรฤทธิ์ รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เข้าตรวจสอบช่วยเหลือ  ในเบื้องต้นพบว่าในจำนวนผู้ประสบเหตุ 6 ราย มีลูกจ้าง ผู้ประกันตนเสียชีวิต 2 ราย ซึ่งเป็นลูกจ้างของห้างผ้าใบราชวงศ์ และได้รับบาดเจ็บ 4 ราย  เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 เป็นเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฮั่วเคี้ยวป่อเต็กเซี่ยงตึ๊ง (ป่อเต็กตึ๊ง) ซึ่งการประสบอันตรายในครั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1  ได้ดำเนินการชี้แจงสิทธิประโยชน์ให้แก่ทายาทผู้ประกันตนที่เสียชีวิต นางสาวจิราพร สุ่มมาตร์ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น  1,444,653 บาท รายที่ 2 นาย Pheak  Doeum ลูกจ้างห้างผ้าใบราชวงศ์ ชาวกัมพูชา เป็นเงินทั้งสิ้น 790,416 บาท.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง