ลุ้นสูตรบัญชีรายชื่อ เสียงแตกหาร100/500‘พรรคเล็ก’มโนสงครามกลางเมือง

"วิษณุ” ชี้สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อยึดถึง  "พึงมี" แต่ต้องตีความแบบใหม่ เชื่อสุดท้ายมีคนยื่นศาล รธน . "บิ๊กป้อม" โบ้ยแล้วแต่ กมธ. “นิโรธ” ยัน พปชร.ได้ทั้งหาร 100-500 “ชินวรณ์” ลั่นสูตรหาร 500 ขัดหลักการ รธน.ที่แก้ไข เตือนรัฐบาลต้องรอบคอบหวั่นส่งผลศึกซักฟอก ที่ประชุม ปชป.ยังไร้ข้อสรุปนัดเคาะอีกรอบ “เพื่อไทย” ย้ำเอาสูตรหาร 100 อัดพรรคเล็กดิ้นใช้หาร 500 ทำบ้านเมืองวุ่นวาย "กลุ่มสามัคคีสร้างชาติ” ยื่นหนังสือ “พรรคพลังท้องถิ่นไท” อ้างหาร 500 ทำให้เกิดความยุติธรรม ขู่ม็อบลงถนนเกิดสงครามกลางเมือง

เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พรรคการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านยังมีความเห็นแตกกันในร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ยังมีข้อถกเถียงกันเรื่องสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ว่าจะหารด้วย 100 หรือหารด้วย 500 โดยนายวิษณุ เครืองาม  รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีหากรัฐสภาเลือกใช้การคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อด้วยการหารด้วย 500 ต้องคำนึงถึงคำว่า ส.ส.พึงมีหรือไม่ เพราะ นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ระบุว่าหากไม่คำนึงคำว่าส.ส.พึงมี พรรคใหญ่จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อจำนวนมากว่า  ยังตอบไม่ถูก ตนยังไม่เคยนึกเรื่องดังกล่าว

"แต่คำว่า ส.ส.พึงมียังต้องยึดถึงเพราะอยู่ในรัฐธรรมนูญ แต่การตีความอาจแตกต่างไปจากเดิม ไม่ได้อยู่ในมาตราที่ได้แก้ไข โดยจะแปลความตามแบบเก่าไม่ได้  ต้องแปลความตามแบบใหม่ ซึ่งมันมีวิธีแปลของมันอยู่ แต่ตนติดใจว่าจะหารแบบไหนถึงจะเป็นธรรมมากกว่ากัน ไม่ได้ดูว่าเป็นธรรมกับพรรคเล็กหรือพรรคใหญ่ ดูว่าหลักการที่ถูกเป็นอย่างไร"

เมื่อถามอีกว่า มาตราที่แก้ไขกับมาตราที่เหลือย้อนแย้งกันเอง สุดท้ายไม่ว่าไปทางไหนก็สุ่มเสี่ยงขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายวิษณุยอมรับว่าสุ่มเสี่ยง สุดท้ายจะมีคนสงสัย ไม่ว่าจะเป็นพรรคเล็กพรรคใหญ่ก็ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญอยู่ดี โดยศาลรัฐธรรมนูญจะชี้ออกมาอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วบอกทางออกไว้ให้  สำหรับการหารด้วย 500  เป็นวิธีที่ไม่ค่อยมีใช้ในโลกอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเอาอะไรหารก็ตาม แต่วิธีของใครของมันไม่เกี่ยวกัน

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงกรณีนายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะ กมธ.ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และว่าด้วยพรรคการเมือง เตรียมเสนอที่ประชุมพรรค ปชป.ให้เห็นด้วยกับสูตรการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อหารด้วย 500 ในส่วนพรรค พปชร.จะมีแนวทางกับเรื่องนี้อย่างไรว่า พรรคพลังประชารัฐแล้วแต่ กมธ.จะหารด้วย 500 หรือ 100 ตนไม่ทราบ พรรคพลังประชารัฐยังไม่ได้คุยกัน

นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.การคลัง ในฐานะเลขาธิการพรรค พปชร.กล่าวว่า เรื่องนี้ พล.อ.ประวิตรระบุไว้ว่า อยู่ที่ ส.ส. ส่วนการโหวตแบบใดอยู่ที่ ส.ส. แบบไหนก็เป็นประโยชน์กับพรรคทั้งนั้น ส.ส.พร้อมแบบไหน พรรคก็พร้อมแบบนั้น ส่วนตนจะเป็นแบบไหนก็ได้ ไม่ได้มีปัญหาหรือหนักใจอะไร และไม่ได้ทำให้เสียเปรียบกัน แล้วแต่จะคิด วิธีการเลือกตั้งอยู่ที่ประชาชน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน  ในฐานะผู้อำนวยการพรรค พปชร. กล่าวว่า เรื่องนี้ทุกคนมีมุมมองที่ดีและไม่ดีต่างกัน แต่ทุกอย่างขึ้นอยู่กับเสียงข้างมาก แนวทางที่ดีสุดสำหรับพรรค พปชร.ตนไม่สามารถตอบได้ เพราะคงต้องรอฟังการอภิปรายก่อน

ที่รัฐสภา นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์  พรรค พปชร. ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เป็นข้อถกเถียงในชั้น กมธ.อยู่ว่าจะให้หารด้วย 500 หรือหารด้วย  100 ซึ่งเสียงข้างมากของ กมธ.ใช้ 100 หาร ส่วนเสียงข้างน้อยต้องการหารด้วย 500 ก็สงวนคำแปรญัตติไว้ ซึ่งมีสงวนไว้ 11 คน โดยจะมาอภิปรายข้อดีข้อเสียในที่ประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อให้สมาชิกได้ตัดสินใจ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องรัฐสภา และกฎหมายลูกที่จะออกมาเกี่ยวกับการเลือกตั้ง จึงเป็นปัญหาของผู้แทนทุกคนที่ต้องพิจารณากันให้ถ่องแท้ และมีเหตุมีผลว่าหารด้วย 100 เป็นอย่างไร และหารด้วย 500 เป็นอย่างไร เพื่อให้เกิดความชัดเจนอีกครั้ง

เมื่อถามว่า ในพรรคร่วมรัฐบาลจะมีปัญหารือไม่  เพราะความเห็นยังไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน นายนิโรธ กล่าวว่า เรื่องนี้รัฐบาลไม่มีความคิดเห็นอะไร เพราะเป็นเรื่องของสมาชิกรัฐสภา เนื่องจากเกี่ยวโยงกับการเลือกตั้ง  ส.ส. ดังนั้นสมาชิกรัฐสภาต้องพิจารณาอย่างถ้วนถี่ และตนดูแล้วรัฐบาลจะเอาหารด้วย 500 หรือหารด้วย 100 ก็ได้ไม่ได้ติดใจอะไร รวมทั้งของพรรค พปชร.ด้วย ดังนั้นจึงเป็นเรื่องของสมาชิกรัฐสภาว่าจะลงมติอย่างไร

ปชป.ยังไร้ข้อสรุป

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ และรองประธานวิปรัฐบาลในฐานะรองประธาน กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. กล่าวว่า ตนยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่าการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 นั้น เป็นร่างที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสนอมาที่ ครม. ซึ่งตรงกับร่างของรัฐบาล เมื่อรัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบ ในขั้นรับหลักการและเข้าสู่ กมธ. ทาง กมธ.ไม่ได้แก้ไขอะไร แต่ก็มีกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย การแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรนูญเมื่อพิจารณาเสร็จในวาระ 2-3 ต้องเสนอกลับไปยัง กกต. ให้ความเห็นชอบอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้นเมื่อเป็นร่างของ กกต. แล้วจะให้ความเห็นชอบที่แตกต่างกันไปเป็นหารด้วย 500  เป็นเรื่องที่ กกต.ไม่สามารถทำได้ หากมีการเสนอที่ผิดไปจากหลักการที่เสนอเข้ามา ก็จะเป็นเหตุผลหนึ่งต่อไปในอนาคตที่จะนำไปสู่การร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ เป็นเรื่องที่มีปัญหามาก ส่วนประเด็นมาตรา  91 ที่มีการเสนอให้หารด้วย 500 นั้น ถือว่าขัดรัฐธรรมนูญไม่เป็นไปตาม มาตรา 93 และมาตรา 94

นายชินวรณ์กล่าวว่า ในส่วน ปชป.ที่ยังมีเสียงแตกกัน ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ เพราะนายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์  ส.ส.ราชบุรี ก็เป็น กมธ.และเป็น 1 ใน 11 คนที่สงวนความเห็นเรื่องนี้ จึงมีสิทธิ์ที่จะแสดงความเห็น ไม่มีปัญหาอะไร  ยอมรับว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องกระทบกันในทางการเมือง ที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ดังนั้นรัฐบาลจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ไม่เช่นนั้นจะมีปัญหาเวลามีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ วิปรัฐบาลจะมาพูดว่าค่อยไปดูกันหน้างานอย่างนี้ไม่ได้ เพราะต้องสร้างความเป็นเอกภาพให้เกิดขึ้นในช่วงสุดท้ายของสภา

ด้านนายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี ในฐานะรองโฆษกพรรค ปชป. เปิดเผยภายหลังการประชุม ส.ส.พรรคว่า ที่ประชุมได้มีการแสดงความคิดเห็นในประเด็นสูตรคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ทั้งให้หารด้วย 500 และหารด้วย 100 โดยมีการถกเถียงถึงข้อดีข้อเสียในแต่ละระบบของกฎหมาย ว่าแต่ละส่วนขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญอย่างไร จึงทำให้ที่ประชุมยังไม่ตกผลึก ประกอบกับ ส.ส.พรรคมาประชุมน้อย เนื่องจากปกติจะประชุมวันอังคาร ที่ประชุมจึงมีมติให้เลื่อนการหารือไปประชุมอีกครั้งในวันที่ 5 ก.ค. เวลา 13.00 น. ที่รัฐสภา

"แนวโน้มที่ประชุมออกมาก้ำกึ่งระหว่างหารด้วย 500  กับหารด้วย 100 ดังนั้นพรรคจึงต้องมีมติออกมาว่าจะให้หารด้วย 500 และหารด้วย 100 หรือมติฟรีโหวต เพราะความเห็นที่ออกมาไม่ว่าจะหารด้วย 500 หรือ 100 ก็ขัดรัฐธรรมนูญอยู่ดี หากหารด้วย 100 ก็ขัดมาตรา 93 และ 94 เพราะยังมี ส.ส.พึงมีอยู่ และหากหารด้วย 500 ก็ขัดมาตรา  91 และ 86 ที่ประชุมยังเห็นว่าถ้าเช่นนั้นก็ต้องดูเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และข้อดีของทั้ง 2 แบบเป็นหลัก" นายอัครเดชกล่าว

นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า จุดยืนของพรรคเพื่อไทยนั้นได้พิจารณาข้อกฎหมาย โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญแล้ว เห็นว่าไม่มีช่องทางใดที่จะให้ใช้การหารด้วย 500 ได้ มีก็เพียงแค่ช่องเล็กๆ ที่เอื้อและส่งผลให้เราใช้การหาร 100 มากกว่า ดังนั้นหากเราไปใช้การหาร 500 เกรงว่าจะเกิดปัญหาขึ้นในอนาคต เวลานำไปใช้แล้วอาจจะมีการตีความและร้องเรียนจนเกิดความวุ่นวาย ดังนั้นก่อนที่จะเกิดปัญหาขึ้น เราควรแก้ปัญหาตั้งแต่วันนี้ดีกว่า เนื่องจากการหารด้วย 100 นั้นปลอดภัยกว่า เชื่อว่าในการประชุมร่วมวันที่ 5-6 ก.ค การพิจารณากฎหมายลูกทั้งสองฉบับที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งใช้เวลา 2 วันก็น่าจะจบ หากใครติดใจก็ไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความเพื่อให้จบ

เมื่อถามว่า ที่ฝั่งรัฐบาลเริ่มออกมาเห็นด้วยกับการหารด้วย 500 เพราะเกรงว่าพรรคเพื่อไทยจะเกิดแลนด์สไลด์หรือไม่ นายสุทินกล่าวว่า หากไปกังวลว่าพรรคนั้นจะได้เปรียบหรือพรรคนี้จะเสียเปรียบ แบบนี้ไม่ได้ยืนอยู่บนเหตุผล ถ้าเราคิดว่าเราจะต้องมาวางระบบที่ดีให้การเลือกตั้งเพื่อความเป็นธรรม ไม่ใช่คิดถึงวันนี้ แต่ต้องคิดถึงวันหน้าด้วย ใครจะเป็นรัฐบาลหรือจะเลือกตั้งวันหน้าก็เอาหลักนี้คิด คิดได้ไม่ยาก และกฎหมายจะผ่านเร็วด้วย  การเลือกตั้งคนจะชนะปัจจัยหลักจริงๆ คือศรัทธาของประชาชน เรื่องระบบเลือกตั้งมีส่วนช่วยได้นิดเดียว ถ้าศรัทธาของประชาชนอยู่ที่ใคร เอาไม่อยู่หรอก เพราะฉะนั้นอย่ากังวล ไม่ได้คิดว่าระบบหารด้วย 100 จะทำให้พรรคเพื่อไทยแลนด์สไลด์ ผลงานในอดีตและความทุกข์ยากของประชาชนที่กำลังหาทางออกนั้นคิดถึงเรา ทำให้เราแลนด์สไลด์

นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย  กล่าวว่า ขณะนี้ทุกร่างที่มีการเสนอเข้าไปในชั้นรับหลักการ  มีหลักการเดียวกันคือหารด้วย 100 แต่กรรมาธิการเสียงข้างน้อยพยายามบอกว่าหารด้วย 100 ไม่ถูกต้อง ซึ่งการพิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว จะเป็นตายร้ายดีก็หารด้วย 100 การที่พรรคเล็กบอกเสียประโยชน์ คิดแบบนี้บ้านเมืองวุ่นวายไปหมด พรรคเล็กต้องทำตัวให้ใหญ่ขึ้น ไม่อย่างนั้นก็ย้ายไปอยู่พรรคใหญ่หากอยากเป็นผู้แทน อย่าดิ้นเอาสูตรหารด้วย 500 จึงเป็นที่มาของการแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อให้พี่น้องได้รัฐบาลที่เข้มแข็ง ฝ่ายค้านโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล จะผนึกกำลังกันยืนยันว่าหารด้วย 100

พรรคเล็กขู่สงครามกลางเมือง

นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล  กล่าวว่า พรรคก้าวไกลมีนัดประชุมพรรคเพื่อพิจารณาการประชุมรัฐสภาต่อวาระร่าง พ.ร.ป.ดังกล่าวในวันที่ 5 ก.ค.  โดยพบว่ามี ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลและ ส.ว.มีความเห็นสนับสนุนสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อให้ใช้ 500 คนหาค่าเฉลี่ยแทนจำนวน 100 คน ดังนั้นพรรคต้องพิจารณาอีกครั้ง แต่ในปัจจุบันก่อนที่จะมีการประชุมเพื่อขอเป็นมติ พรรคก้าวไกลยืนยันต่อสูตรที่ใช้จำนวน 100 คนหาค่าเฉลี่ย สำหรับจุดยืนของตนสนับสนุนและต่อสู้ให้ใช้สูตรคำนวณด้วยจำนวน 500 คน หาค่าเฉลี่ย ส.ส.บัญชีรายชื่อ และจากการพูดคุยกับ ส.ส.พรรคเล็กที่สนับสนุนสูตรหารด้วย 500 คน พบว่าหากมติของรัฐสภายืนยันต่อการใช้จำนวน 100 คนหาค่าเฉลี่ย ส.ส.จะพบความยากลำบากมาก เนื่องจาก ส.ส. 1 คนต้องมีคะแนน 3.3 แสนคะแนนถึง  3.5 แสนคะแนน แต่หากใช้จำนวน 500 คน จะใช้คะแนนเพียง 7 หมื่นคะแนน

ขณะที่กลุ่มสามัคคีสร้างชาติ นำโดยนายสาธุ อนุโมทามิ รักษาการหัวหน้าราชสีห์ไทยดี ในฐานะประธานกลุ่มสามัคคีสร้างชาติ ซึ่งประกอบด้วยพรรคการเมืองขนาดเล็ก จำนวน 18 พรรค พร้อมคณะ เข้ายื่นหนังสือต่อนายชัชวาลล์ คงอุดม ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคพลังท้องถิ่นไท โดยกล่าวว่า การหารด้วย 500 จะได้คะแนนเฉลี่ยจากจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อและ ส.ส.พึงมี สามารถทำให้เกิดความยุติธรรม และเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองเป็นตัวแทนของประชาชนได้ทุกภาคส่วน เพราะหากปล่อยให้กระบวนการในชั้นกรรมาธิการที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ได้มีการโหวตหารด้วย 100 ก็จะเป็นปัญหาและกังวลว่าจะเป็นอุปสรรคในอนาคต จึงขอให้พรรคพลังท้องถิ่นไทอภิปรายในวาระ 2 และวาระ 3 เพื่อจะให้ ส.ส.รับเงื่อนไขใหม่

ในขณะที่นายชัชวาลล์กล่าวว่า พรรคพลังท้องถิ่นไทเห็นด้วยกับการหารด้วย 500 เพราะมองไปถึงประเทศไทยในข้างหน้า หากอีกฝ่ายได้ไปแล้ว และหากเกิดการเปลี่ยนแปลง ประเทศไทยก็จะวุ่นวาย กลัวว่าคนทั้งสองฝ่ายจะลงกลางถนนอีก แล้วจะเกิดความวุ่นวายอาจจะถึงสงครามกลางเมือง และยืนยันว่าต้องโหวตหารด้วย 500

ด้านนายโกวิทย์ พวงงาม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังท้องถิ่นไท กล่าวว่า พรรคพลังท้องถิ่นไทที่ได้ยื่นแปรญัตติซึ่งมีหลายประเด็น แต่ประเด็นดังกล่าวเป็นประเด็นที่สำคัญ และได้พูดกับที่ประชุมวิปรัฐบาล ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญตั้งแต่เริ่มต้นเป็นการติดกระดุมเม็ดแรก เริ่มจากพรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรค คือพรรคประชาธิปัตย์และพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเขาก็ไม่ได้มาหารือพรรคเล็ก ต่างคนต่างยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ เราก็ขอเอกสิทธิ์ในความเป็นพรรคการเมืองและความเป็นอิสระของ ส.ส.ที่จะโหวต.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง