ในหลวงทรงเททองหล่อพระบรมรูปรัชกาลที่9

"ในหลวง-พระราชินี" ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในวันอาสาฬหบูชา และทรงเททองหล่อพระบรมรูป ร.9 ซึ่งจะอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ "สมเด็จพระสังฆราช" ประทานพระคติธรรม

เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2565 เวลา 17.56 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว   และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี  เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง จากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต   ไปในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในวันอาสาฬหบูชา และทรงประกอบพิธีเททองหล่อพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  (ส่วนพระเศียร) ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง

ในโอกาสนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา โดยเสด็จในการนี้ด้วย

เมื่อเสด็จเข้าพระอุโบสถ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดเทียนพรรษาในตู้ด้านพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์และด้านพระพุทธเลิศหล้านภาไลย จากนั้น ทรงถวายพุ่มเทียน ธูปเทียนแพ ต้นไม้ทอง ต้นไม้เงิน และทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการท้ายที่นั่งบูชา พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์  พระพุทธเลิศหล้านภาไลย เสร็จแล้ว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการทองใหญ่หน้าธรรมาสน์ศิลา ทรงกราบ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี  ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการทองทิศ ทรงกราบ

จากนั้น พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้พลอากาศโทภักดี แสง-ชูโต รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองพระราชพิธี เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเทียนชนวน ทรงจุดเทียนชนวนจากโคมไฟฟ้า แล้วพระราชทานแก่รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองพระราชพิธี เพื่อเชิญไปรักษาไว้สำหรับถวายเจ้าอาวาสพระอารามหลวงต่างๆ นำไปจุดเทียนพรรษาที่ได้ทรงพระราชอุทิศไว้แล้ว

ต่อจากนั้น ทรงประเคนพุ่มเทียนแด่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะ พระเปรียญธรรม 9 ประโยค และพระภิกษุนาคหลวง จำนวน 20 รูป เสร็จแล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พระราชวงศ์ องคมนตรี และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ทรงประเคนและประเคนพุ่มเทียน จนครบ 350 รูป พระสงฆ์ที่เจริญชัยมงคลคาถาพิธีเททองหล่อพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ส่วนพระเศียร) ขึ้นนั่งยังอาสน์สงฆ์ ประธานสงฆ์ถวายศีล จบแล้ว

จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เสด็จออกจากพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ไปยังมณฑลพิธีบวงสรวงสังเวย เพื่อทรงเททองหล่อพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ส่วนพระเศียร) ซึ่งจะอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ณ อุทยานเฉลิมพระเกียรติ ร.9 สนามม้านางเลิ้ง

ทรงจุดเทียนทอง เทียนเงิน และธูปที่โต๊ะเครื่องบวงสรวงสังเวย แล้วทรงจุดธูปหางปักที่เครื่องบวงสรวงสังเวย โหรหลวงลั่นฆ้องชัย พราหมณ์เป่าสังข์ ชาวพนักงานประโคมแตร ดุริยางค์ พนักงานภูษามาลาแกว่งบัณเฑาะว์ ทรงตั้งพระราชสัตยาธิษฐาน ขอถวายเครื่องสักการะ ทรงโปรยข้าวตอก ดอกไม้ ที่โต๊ะเครื่องบวงสรวงสังเวย ทรงคม เสร็จแล้ว เสด็จพระราชดำเนินไปยังมณฑลพิธีเททอง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงรับแผ่นทอง นาก เงิน และทรงวางลงในช้อน จากนั้น ทรงเทแผ่นทอง นาก เงิน ลงในเบ้า ทรงถือสายสูตรเททองหล่อพระบรมรูปฯ พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา โหรหลวงลั่นฆ้องชัย พราหมณ์เป่าสังข์ ชาวพนักงานประโคมแตร ดุริยางค์ พนักงานภูษามาลาแกว่งบัณเฑาะว์ แล้วทรงเททองหล่อพระบรมรูปฯ พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ ประธานพระครูพราหมณ์ หลั่งน้ำเทพมนตร์ วางใบมะตูมและเจิมหุ่นพระบรมรูปฯ เสร็จแล้ว เสด็จเข้าพระอุโบสถ ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระสงฆ์ ทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินไปทรงกราบที่หน้าเครื่องนมัสการ ทรงรับการถวายความเคารพของผู้มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท แล้วเสด็จออกจากพระอุโบสถ ประทับรถยนต์พระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินกลับ

สำหรับพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 9 ออกแบบพระบรมรูปมีขนาด 4 เท่าของพระองค์จริง ฉลองพระองค์เครื่องแบบทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ฐานพระบรมรูปตั้งอยู่บนลานรูปไข่ ส่วนแท่นฐานพระบรมราชานุสาวรีย์เป็นผังแปดเหลี่ยม ตามคติพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ อันเป็นสัญลักษณ์เบื้องแรกแห่งการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประชาชนจำนวนมากพร้อมใจแต่งกายด้วยเสื้อสีเหลือง ร่วมเฝ้าฯ รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ขณะที่เจ้าหน้าที่ตั้งจุดคัดกรองโควิด-19 ด้วยชุดตรวจ ATK ให้กับประชาชนก่อนเข้าพื้นที่รับเสด็จ ซึ่งประชาชนที่เข้ารับการตรวจแล้วจะสามารถเข้าไปยังพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่จัดเตรียมไว้บริเวณโดยรอบพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ประชาชนทุกหมู่เหล่าที่มาจับจองพื้นที่ตั้งแต่เที่ยงไม่ย่อท้อแม้มีฝนตก พสกนิกรปลื้มปีติที่ได้ชื่นชมพระบารมีอย่างใกล้ชิด ต่างเปล่งเสียงทรงพระเจริญดังกึกก้อง

เพจสำนักงานเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช เผยแพร่พระคติธรรมที่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานเนื่องในวันอาสาฬหบูชา วันพุธที่ 13 กรกฎาคม 2565 ความว่า

ดิถีอาสาฬหบูชาได้เวียนมาบรรจบอีกคำรบหนึ่งแล้ว ควรที่สาธุชนจักได้น้อมรำลึกถึงเหตุการณ์ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงปฐมเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์ ณ อิสิปตนมฤคทายวัน อันเป็นการเริ่มประกาศพระศาสนา กระทั่งบังเกิดมีพระอริยสงฆ์ ครบถ้วนพร้อมเป็น “พระรัตนตรัย” ซึ่งเป็นสรณะนำทางชีวิตของพุทธบริษัท ให้มุ่งหน้าดำเนินไปสู่หนทางดับเพลิงกิเลสกองทุกข์ได้อย่างสิ้นเชิง

ปฐมเทศนาที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้นั้น คือ “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” ทรงชี้บอกวิถีทางดับทุกข์ด้วยมรรคมีองค์ ๘ ที่เรียกอีกอย่างว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา หรือการลงมือปฏิบัติเพื่อให้พ้นจากทุกข์ ทั้งนี้ ท่ามกลางภาวการณ์ปัจจุบัน อันเต็มไปด้วยภยันตรายอันน่าหวาดหวั่นที่หลายคนคิดว่าคงไม่อาจเกิดมีขึ้นแล้ว ก็กลับบังเกิดมีขึ้นอีกทั่วไปในโลก เช่น ภัยสงคราม ทุพภิกขภัย และภัยอาชญากรรมร้ายแรงต่างๆ เป็นต้น ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสวัสดิภาพของผู้คนในวงกว้าง ท่านทั้งหลายพึงหันมาพิจารณาทบทวนอริยมรรค โดยใช้หนทางแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุสำคัญประการหนึ่ง ได้แก่ “สัมมาสังกัปปะ” ซึ่งหมายถึง “ความคิดที่ถูกต้อง” กล่าวคือ ความคิดที่จะลดละความอยากได้อยากมีจนเกินประมาณ ความคิดที่จะไม่พยาบาทจองเวรกัน และความคิดที่จะไม่เบียดเบียนกัน ขอจงช่วยกันระดมความคิดเห็นในทางสันติ ฉลาดในการปรึกษาหารือกันด้วยสัมมาวาจา เพื่อแก้ไขปัญหาของสังคมในทุกระดับ ให้คลี่คลายไปได้ด้วยความอดทนอดกลั้น รู้จักละวางทิฐิมานะ ให้อภัย และมุ่งแผ่เมตตาต่อกันด้วยใจจริง

วันอาสาฬหบูชา นอกจากจะเตือนใจให้รำลึกถึงคุณพระรัตนตรัย อันเป็นสรณะสูงสุดของพุทธบริษัทแล้ว ยังอาจเตือนใจให้ทุกท่านตระหนักแน่วแน่ในปณิธานแห่ง “สัมมาสังกัปปะ” ได้อีกด้วย เพราะฉะนั้น หากท่านประสงค์ให้สังคมไทยร่มเย็นเป็นสุข ก็ขอจงหมั่นเพียรศึกษาอบรมและปฏิบัติธรรมะ โดยเริ่มที่ตนเอง จากการมี “สัมมาสังกัปปะ” อยู่ทุกขณะจิต เป็นการเกื้อกูลให้ตนเอง และสรรพชีวิตผู้ร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตาย ต่างสามารถปลอดพ้นจากภยันตรายทั้งที่เป็นทุกข์ประจำ และทั้งที่เป็นทุกข์จรทั้งหลาย ได้สมความมุ่งมาดปรารถนาทุกประการ เทอญ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง