รัฐบาลปัดกลับลำ ฟื้น‘บัตรใบเดียว’

"บิ๊กตู่" ปัดไม่ยุ่งสูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ ให้ว่ากันไป "วิษณุ" รับหากพิจารณา กม.ลูก ส.ส.ไม่ทัน 15 ส.ค. ต้องเซตซีโรกลับไปใช้บัตร 2 ใบ-หาร 100 "สาธิต" เผยอยากให้กติกาออกมาเป็นที่ยอมรับทุกฝ่าย "ไพบูลย์" แถลงชัด พปชร. ไม่หนุนใบเลือกตั้งใบเดียว อ้าง "บิ๊กป้อม" เห็นชอบแต่จะยื่นศาลตีความสูตรหาร 500 "สมศักดิ์" คอนเฟิร์มไม่กลับไปบัตรใบเดียวย้ำสูตร 500 ย้อนแย้งสูตรคณิตศาสตร์  "สมชัย" ลั่นหากพิจารณากม.ลูกเลือกตั้ง ส.ส.ไม่ทัน เป็นความบกพร่องของรัฐสภามี ส.ส.-ส.ว. ร้องศาลรธน.แน่

ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 2 สิงหาคม มี รายงานข่าวจากประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แจ้งว่า ในที่ประชุม ครม. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้อธิบายเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ว่า จะต้องให้เสร็จใน 180 หากไม่เสร็จให้เอาร่างฉบับแรกที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสนอมาบังคับใช้แทน โดยร่างของ กกต. คือบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ คำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อด้วยการหาร 100 ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ค้างอยู่ในสภามาหลายสัปดาห์แล้ว และจะครบกำหนด 180 วัน ในวันที่ 15 ส.ค. รัฐสภาอาจจะพิจารณาทันหรือไม่ทัน ถือเป็นเรื่องของสภา ตนไม่ทราบ ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เป็นคิวที่สามต่อจากร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย และร่าง พ.ร.บ.กำหนดระยะเวลาในการดำเนินการกระบวนการยุติธรรม ทราบว่าสภาได้หารือกันว่าให้เอาเรื่องนี้เลื่อนขึ้นมาพิจารณาก่อน แต่ไม่สำเร็จ ฉะนั้นทันหรือไม่ทันแล้วแต่สภา

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ระบุสั้นๆ ถึงเรื่องนี้ว่า “ก็ว่ากันไป ผมไม่เข้าไปยุ่ง” 

ภายหลังการประชุม ครม. นายวิษณุ เครืองาม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีในที่ประชุม ครม.ได้มีการหารือสูตรการคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อหรือไม่ ว่าไม่มีการหารือกัน มีแต่นายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ประสานงานวิปรัฐบาล ได้รายงานผลการประชุมวิปฯ และได้ให้ตนชี้แจงต่อที่ประชุม ครม. ว่าจะต้องพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ให้แล้วเสร็จ เพราะมีกำหนด 180 วัน ซึ่งจะครบในวันที่ 15 ส.ค.นี้ การพิจารณากฎหมายเลือกตั้ง อาจจะทันได้ ถ้าทันมันก็ทันไปเลย แปลว่ายังหาร 500 แต่หากไม่ทันจริงๆ ทุกอย่างต้องกลับไปเซตซีโร คือบัตร 2 ใบ หารด้วย 100 แต่จะน่าเสียดายคือมาตราต่างๆ ที่เกี่ยวกับการคำนวณสูตรบัญชีรายชื่อ ที่กรรมาธิการและสภาได้แก้กันมา มันจะใช้ไม่ได้ทั้งหมด ต้องกลับไปใช้ร่างเก่าของ กกต. อย่างไรก็ตาม ครม.ไม่ได้ฝากอะไรไปยังวิปรัฐบาล โดยนายกฯ ระบุว่าให้เป็นเรื่องของวิปฯ และสภาไปตกลงกันเอง

นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.(ฉบับที่…) พ.ศ..... ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องการพิจารณาร่างแก้ไขร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.วาระ 2-3 ว่า จะพิจารณาทันก่อนครบ 180 วัน คือวันที่ 15 ส.ค.นี้หรือไม่ ตนตอบไม่ได้ว่าทันหรือไม่ แต่ขึ้นอยู่กับสมาชิกว่าถ้าพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับพินัยได้เร็ว และถ้ามีใครเสนอให้เลื่อนขึ้นมาได้น่าจะทัน ถ้าไม่ทันภายในสัปดาห์นี้น่าจะทันในสัปดาห์หน้าก่อน 15 ส.ค.ฉะนั้น ถือว่า กมธ.ทำหน้าที่ของเรา แต่การจะเลื่อนขึ้นมาหรือไม่ เป็นเรื่องของสมาชิกรัฐสภา เราไม่สามารถบังคับใครได้ ในส่วนของ กมธ. พร้อมที่จะแก้ให้สอดคล้องกับสิ่งที่ที่ประชุมใหญ่ได้เปลี่ยนจากหาร 100 มาเป็นหาร 500 แต่ กมธ.เสียงข้างน้อยยังยืนยันว่าถ้าจะให้ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญมันต้องเป็นหาร 100 

นายสาธิตกล่าวว่า ถ้าพิจารณาไม่ทัน 180 วัน คือภายในวันที่ 15 ส.ค.นี้ ต้องกลับไปใช้ร่างแรก ที่เสนอโดย ครม. ซึ่งคือร่างของ กกต.ร่างนี้เป็นเหมือนแม่น้ำสองสายคือ หาร 100 และ ส.ส.แบบแบ่งเขตมี 400 คน กังวลว่าถ้าเป็นร่างนี้ตนเสียดายสิ่งที่ กมธ.ทำมา เพราะมีการแก้ให้มันสมบูรณ์ยิ่งขึ้น แต่บังเอิญมันแก้ไม่ผ่าน และไปใช้ตัวร่างเดิม ซึ่งมันไม่ได้ผ่านการพิจารณาร่วมกันของทุกฝ่าย ฉะนั้นน่าเสียดาย ขอให้เป็นไปตามกลไกที่จะเกิดขึ้น แต่ถ้าทำทันก่อน 180 วัน คือหาร 500 ไปสู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเขาเห็นว่ามันปฏิบัติไม่ได้ต้องส่งไปที่รัฐสภา ซึ่งรัฐสภาต้องมาแก้ไขเนื้อหาให้กลับไปเป็นเหมือนที่ กมธ.ร่างปรับปรุงเสร็จเรียบร้อยแล้วตรงนี้จะเป็นสิ่งที่ กมธ.มีความสุขที่สุด เพราะทำให้เกิดความสมบูรณ์มากที่สุด แต่ขึ้นอยู่กับที่ประชุมรัฐสภา

เมื่อถามว่า ถ้าผ่านไปแล้ว กกต.เห็นด้วยกับสูตรหาร 500 และมีการร้องกันทีหลัง จะทำให้เกิดความวุ่นวายไปใหญ่หรือไม่ นายสาธิตกล่าวว่า มันอาจทำให้เสียเวลาในแง่ที่จะต้องเดินไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญต้องไปวินิจฉัยว่าจำนวน 500 มันไม่ชอบก็ต้องกลับมาที่รัฐสภาเหมือนเดิม จะทันกับการเลือกตั้งหรือไม่ ต้องดูไทม์ไลน์ว่าเป็นอย่างไร แต่ก็ภาวนาให้มันทัน เพราะเหลือเวลาอยู่ 3-4 เดือน

"อยากให้แต่ละช่องทางนั้นเป็นช่องทางที่เกิดความมีส่วนร่วมมากที่สุด เพราะเมื่อไปสู่สนามเลือกตั้งแล้ว มันเป็นการแข่งขัน ในการแข่งขันถ้าจะให้ดีที่สุดกติกาต้องได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย เพราะไม่เช่นนั้นหลังการเลือกตั้งจะมีปัญหาเกิดขึ้นอีก แต่ถ้ากติกาที่ออกมาทุกฝ่ายยอมรับ ใครก็จะมาอ้างอะไรไม่ได้แล้ว เพราะเสียงของประชาชนจะเป็นผู้ตัดสิน" นายสาธิต 

ที่รัฐสภา นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แถลงว่า พรรค พปชร.มีนโยบายชัดเจนคือไม่สนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้กลับไปใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวทั้งสิ้น โดยมีเหตุผลคือเราเคยแก้ไขรัฐธรรมนูญมาแล้ว เพื่อเป็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ขอยืนยันว่าจุดยืนของพรรค พปชร. ซึ่งเป็นการหารือร่วมกันของคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) โดยพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร. ก็สนับสนุนเรื่องบัตรเลือกตั้ง 2 ใบด้วย 

เมื่อถามว่า เรื่องสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อหาร 500 พร้อมยื่นศาลรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ นายไพบูลย์กล่าวว่า ถูกต้อง ตนไม่สามารถเห็นชอบกับร่างที่หาร 500 ได้ เพราะเห็นว่าขัดรัฐธรรมนูญ โดยจะยื่นเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ ในฐานะอดีตประธาน กมธ.พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 83 และมาตรา 91 ว่าด้วยระบบเลือกตั้ง ซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรง การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 91 นั้น เพื่อให้เป็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ และต้องหารด้วย 100 เท่านั้น แต่การที่ไปบิดเบือนเป็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ โดยเอาบัตรเลือกตั้งใบที่ 2 เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเมื่อลงคะแนนเสร็จแล้วนำมาหารด้วยจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน บวกกับ ส.ส.เขต 400 คน รวมเป็น 500 คน เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 91 อย่างสิ้นเชิง และจะยื่นแยกกับของฝ่ายค้าน แต่ก็ต้องการเข้าชื่อ 1 ใน 10 ของสมาชิกรัฐสภา

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ในฐานะประธานยุทธศาสตร์พรรค พปชร. กล่าวถึงกรณีสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อด้วยการหาร 500 ว่า ขึ้นอยู่กับรัฐสภา ที่ต้องประชุมกันให้จบวาระ 3 ไปเสียก่อน จากนั้นเป็นเรื่องของแต่ละฝ่ายทำหน้าที่ให้ครบสมบูรณ์ส่งไปถึง กกต.และศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนตัวยังยืนยันว่าสูตรหาร 500 มีข้อเท็จจริงตามที่ยืนยันแล้วว่ามันย้อนแย้งกัน ถ้าตามสูตรคณิตศาสตร์ตัวเลขที่ออกมาก็เห็นได้ชัด ไม่ต้องมาถกเถียงกัน เพราะจะเห็นว่าตัวเลขที่ออกมานั้นจะมีผลกระทบมากมาย ในส่วนพรรคพปชร. เรื่องบัตรใบเดียวไม่มีแน่นอน ซึ่งได้พูดกันหลายฝ่ายหลายคนในพรรคว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ แล้วเรื่องบัตรใบเดียวในสถานการณ์ปัจจุบันนั้นไม่มีเหตุผลอะไร เพราะเราพูดคุยกันจบแล้ว เมื่อเราแก้เป็น 2 ใบแล้วเราจะไม่กลับไปอีก เหตุผลได้พูดคุยในสภากันมากมาย

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวถึงกรณีนายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทยระบุว่า ไม่ว่าจะหาร 100 หรือ 500 พรรคเพื่อไทยก็ชนะการเลือกตั้งว่า กติกาจะหาร 100 หรือ 500 ก็ไม่มีผลกับจำนวน ส.ส.มากนักเป็นเพียงวิธีการคำนวน ส.ส. แต่สุดท้ายขึ้นอยู่กับคะแนนนิยม ที่ฝ่ายค้านเขาพูดมาเช่นนี้ตนไม่ได้กังวลอะไร รู้สึกเฉยเพราะทุกกติกาทุกคนก็ได้เปรียบเสียเปรียบเหมือนกัน เมื่อถามถึงความพร้อมในการเลือกตั้งของพรรคพลังประชารัฐ นายชัยวุฒิตอบว่า พร้อมทุกจังหวัด

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบายพรรคเสรีรวมไทย กล่าวถึงกรณีที่มีความกังวลว่าที่ประชุมร่วมรัฐสภาอาจจะพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ไม่ทันกรอบเวลา 180 วัน หรือภายในวันที่ 15 ส.ค.นี้ว่า กรณีนี้ต้องดูรัฐธรรมนูญมาตรา 132 ที่บัญญัติว่า ถ้าพิจารณาไม่เสร็จภายใน 180 วัน ก็ให้รัฐสภาใช้ร่างกฎหมายที่เสนอมาตามมาตรา 131 เป็นร่างที่ผ่านรัฐสภาได้เลย ไม่จำเป็นต้องนำเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาอีก หากย้อนกลับไปดูจะพบว่ามีร่างที่เสนอเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาจำนวน 4 ร่าง โดยเนื้อหาทั้ง 4 ร่างนั้นไม่แตกต่างกันมากนัก คือการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อด้วยการหาร 100 แต่ร่างหลักคือร่างของคณะรัฐมนตรี ดังนั้นจึงต้องใช้ร่างกฎหมายดังกล่าว ทั้งนี้ การที่กฎหมายถูกเสนอเข้ารัฐสภาแล้ว แต่รัฐสภาพิจารณาไม่ทันกรอบเวลา ถือว่ารัฐสภาทำงานไม่เสร็จ เป็นความบกพร่องและเป็นความเสียหาย คุณได้งานไปทำแล้ว แต่ทำไม่เสร็จ เสียเบี้ยเลี้ยงการประชุมเปล่าๆ

"หากร่างกฎหมายส่งไปนายกรัฐมนตรีแล้วตามขั้นตอนต้องพัก 5 วันก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ซึ่งเชื่อว่าระหว่างนี้จะมีส.ส.หรือ ส.ว. 75 คน หรือเสียง 1 ใน 10 ของสองสภายื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรรมนูญแน่นอน"

เมื่อถามอีกว่า ถ้าปล่อยให้ร่างตกไป ไม่หยิบร่างของ ครม.มาพิจารณาสามารถทำได้หรือไม่ นายสมชัยกล่าวว่า ไม่ได้ เพราะทุกอย่างต้องเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง