ยื่นผู้ตรวจชงศาลชี้8ปีนายกฯ

"วิษณุ" ชี้ช่องใครสงสัยวาระ "บิ๊กตู่" นั่งนายกฯ 8 ปี ทั้ง "ปชช.-ส.ส.-ส.ว." ให้ยื่นต่อ "กกต." ดีที่สุด  เหตุเป็นหน้าที่ในการดำเนินการเรื่องนี้ ขณะที่ "ศรีสุวรรณ" จ่อยื่นผู้ตรวจการแผ่นดินให้ส่งต่อศาลรัฐธรรมนูญตีความเพื่อให้ข้อขัดแย้งเป็นที่ยุติ เลขาฯ ครป.แจง 99 พลเมืองเรียกร้องนายกฯ ลาออกหยุดความขัดแย้งรักษาหลักนิติรัฐเสียสละตามรอย "เปรม" 8 ปี "ผมพอแล้ว" ย้อนถามอยากเป็นรัฐบุรุษหรือทรราช

ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 4 สิงหาคม  นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ใครสามารถยื่นร้องเรื่องวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี นายกรัฐมนตรี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ว่า ใครก็ตามที่ต้องการยื่นก็ไปยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ กกต.เป็นผู้ยื่น ทั้งนี้ ในรัฐธรรมนูญมาตรา 170 ได้เขียนเอาไว้ ว่า ให้นำเอามาตรา 82 มาใช้โดยอนุโลม ซึ่งมาตรา 82 เป็นเรื่องที่ ส.ส.สงสัยว่า ส.ส.ด้วยกันขาดความเป็น ส.ส.หรือไม่ หรือ ส.ว.สงสัยความเป็น ส.ว.ของเพื่อนด้วยกัน ส่วนเรื่องของนายกฯ นั้นได้เขียนไว้ในมาตรา 170 ให้อนุโลมเอามาตรา 82 มาใช้ได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่า ส.ส. ส.ว.และประชาชนสามารถยื่นร้องได้ นายวิษณุกล่าวว่า ประชาชนต้องไปยื่นผ่าน กกต. เมื่อถามย้ำว่า ส.ส.และ ส.ว.ไปยื่นที่ศาลรัฐธรรมนูญได้เลยโดยไม่ต้องผ่าน กกต.หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาอยู่เหมือนกัน แต่ทางที่ดีที่สุดไปที่ กกต. ให้ กกต.เป็นที่รวม เพราะมาตรา 170 วรรคท้ายบอกว่าให้ กกต.มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการเรื่องนี้ ฉะนั้นเข้าชื่อกันส่งให้ประธานสภาและไปที่ กกต.

เมื่อถามว่า หากฝ่ายค้านต้องการยื่นก็ต้องไปที่ กกต.ใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ควรจะต้องอย่างนั้น เมื่อถามย้ำว่า ไม่สามารถยื่นทางตรงได้ แต่ต้องไปผ่าน กกต.เพื่อที่จะยื่น ใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า จริงๆ ก็ได้ แต่จะมีปัญหาว่าเข้าชื่อกันเท่าไหร่แน่

ถามว่าหากสุดท้ายแล้ว กกต.เห็นว่าไม่มีวินิจฉัยมีสิทธิ์ที่จะยื่นทางอื่นได้อีกหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า อย่าไปสมมุติอะไรเลย ตนบอกให้แล้วว่าไปที่ กกต. และ กกต.ก็ยื่นให้ ไม่มีใครสงสัย กกต.สงสัยเองก็ได้

ขณะที่ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ในวันศุกร์ที่ 5 ส.ค.2565 เวลา 10.00 น. จะเดินทางไปสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ณ ศูนย์ราชการ อาคาร B ห้อง 504 เพื่อยื่นคำร้องขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 230 และมาตรา 231 (1) ในการเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีมีข้อขัดแย้งและถกเถียงกันในหมู่ประชาชนและสังคมมากว่า การที่นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี ในวันที่ 23 ส.ค.2565 นี้เป็นต้นไป จะเข้าข่ายขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติในมาตรา 158 วรรคสี่ ที่ว่านายกรัฐมนตรีจะดํารงตําแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้นั้น หรือไม่?

 “เพื่อให้ข้อขัดแย้งดังกล่าวเป็นข้อยุติของประชาชนและสังคม จึงเห็นว่าผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจที่จะเสนอเรื่องดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้” นายศรีสุวรรณระบุ

นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวว่า การที่ 99 พลเมืองออกมาเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากครบวาระ 8 ปีตามรัฐธรรมนูญนั้น เพราะไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้งในสังคมและประเทศชาติเดินหน้าต่อไปตามกติกา เพื่อรักษานิติรัฐนิติธรรมก่อนนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในสมัยหน้าจากรัฐสภาที่เป็นประชาธิปไตย แต่การที่นายกรัฐมนตรีส่งทีมงานดาหน้าออกมาโต้นั้นมีแต่ผลเสียมากกว่าผลดีแก่ตัวเอง หมดยุคการ Propaganda หรือการโฆษณาชวนเชื่อสร้างพื้นที่ในสังคมแล้ว

เลขาฯ ครม.กล่าวว่า เรื่องนี้ภาคพลเมืองสิ้นสงสัยเหมือนกับรองนายกฯ วิษณุ เพราะข้อความในรัฐธรรมนูญเขียนชัดประจักษ์แจ้งแล้วว่า นับตั้งแต่ 24 ส.ค.2565 ไม่อาจนับตั้งแต่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 หรือนับภายหลังการเลือกตั้ง 2562 ได้ เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 264 บัญญัติว่า ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้อย่างชัดเจน ตลอดจนหลักการความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญปี 2560 หน้า 275 อธิบายความมุ่งหมายของมาตรา 158 ไว้ว่า การกำหนดระยะเวลา 8 ปีไว้ก็เพื่อมิให้เกิดการผูกขาดอำนาจในทางการเมืองยาวเกินไป อันจะเป็นต้นเหตุเกิดวิกฤตทางการเมืองได้

"จึงมิอาจตีความเป็นอื่นได้ รัฐบาลคิดว่าฉลาดจึงประกาศว่าใครสงสัยในการตีความให้ไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญ แต่รัฐบาลไม่สงสัย เพื่อให้เกิดความแตกแยกในการตีความที่แตกต่างจนสามารถนำเรื่องยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ และต้องการถ่วงเวลารักษาการออกไประหว่างการตีความ จนกระทั่งสามารถเป็นรักษาการนายกฯ ระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำ APEC ได้" นายเมธากล่าว

นายเมธากล่าวอีกว่า ขอให้ประชาชนไทยติดตามการบิดเบือนเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด มีการพยายามสร้างกระแสหลายอย่างเพื่อสร้างรัฐบาลเถื่อนให้อยู่ในอำนาจต่อไป และพร้อมปราบปรามการชุมนุมต่อต้านของประชาชนทุกเมื่อ โดยมองว่าประชาชนพลเมืองเป็นศัตรูของตนเองเหมือนกองทัพทหารพม่า เพื่อพยายามการสืบทอดอำนาจครั้งที่ 2 ของ พล.อ.อาวุโสประยุทธ์ 

"เมื่อปี 2531 มีการล่ารายชื่อปัญญาชนและนักวิชาการ 99 คน เรียกร้องไม่ให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกฯ ต่ออีกสมัยจนสำเร็จ เนื่องจากเป็นนายกฯ มา 8 ปี 5 เดือน อยากให้ พล.อ.ประยุทธ์เรียนรู้บทเรียนและเดินตามรอยเท้า พล.อ.เปรม ที่ฟังเสียงของ 99 พลเมืองและออกมากล่าวว่า "ผมพอแล้ว” จนกลายเป็นรัฐบุรุษ เพื่อให้ประเทศไทยได้ไปต่อ ส่วน พล.อ.ประยุทธ์นั้น "เมื่อไหร่จะพอ" อยากเป็นรัฐบุรุษหรือทรราช ประเทศไทยไม่สามารถพัฒนาต่อไปโดยใช้กรงขังความคิดที่เรียกว่าวิสัยทัศน์ของคนคนเดียวได้" นายเมธากล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'สมศักดิ์' บอกให้เกียรตินายกฯ ตัดสินใจเรื่องเก้าอี้!

'สมศักดิ์' ไม่หลุดปากมีชื่อนั่ง รมว.สาธารณสุข วอนให้เกียรตินายกฯเป็นคนตัดสินใจ ระบุ รมต.เก่าไม่ต้องกรอกประวัติใหม่ ไม่ขอตอบพร้อมไป สธ.หรือไม่ แต่นั่งมาแล้ว 2 ครั้ง เผย 'อนุชา' สบายดี แม้มีข่าวถูกปรับออก