แฉใบสั่งล้มหาร500 ยื้อเวลาไม่ให้ทัน180วัน 3วิปนัด10ส.ค.ถกกม.ลูก

“บิ๊กตู่” ไม่ตอบปมสภาล่ม ยื้อกลับมาใช้สูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์หาร 100 “วิษณุ” ชี้หากร่างกฎหมาย พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.เสร็จไม่ทันรัฐสภาต้องรับผิดชอบ ระบุพ้น 180 วันต้องใช้ร่างรัฐบาลเสนอสภา “ชวน” หารือ “3 วิป” เคาะ 10 ส.ค. ถก กม.ลูก “โกวิทย์-สฤษฏ์พงษ์" โวยประชุมวันเดียว เสี่ยงร่าง กม.ถูกตีตกสูง “หมอระวี” แฉมีใบสั่งผู้ใหญ่ 2 พรรคบิ๊ก ไล่ ส.ส.กลับบ้าน จนสภาล่ม หวังลาก กม.ลูกพ้นกรอบ “นิโรธ” ปัด “พปชร.-พท.” จับมือเล่นเกมยื้อ อ้าง ส.ส.ติดประชุม กมธ.งบฯ แยกร่างไม่ทัน

เมื่อวันที่ 4 ส.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ปฏิเสธตอบคำถามกรณีเหตุสภาล่มเมื่อวันที่ 3 ส.ค. จะเป็นการตีรวนเพื่อให้กลับมาใช้สูตรคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อหาร 100 หรือไม่

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีร่างกฎหมาย พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.อาจเสร็จไม่ทัน 180 วัน ในวันที่ 15 ส.ค.2565 และกลับไปใช้ร่างกฎหมายฉบับเดิมที่ ครม.เสนอการใช้สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อหารด้วย 100 ว่า รัฐสภาต้องเป็นผู้รับผิดชอบ เพราะรัฐสภาทำไม่เสร็จ หากทำไม่เสร็จต้องใช้กฎหมายที่รัฐบาลส่งรัฐสภาทุกมาตรา ซึ่งรัฐสภาต้องรับทางการเมืองต่อประชาชน ในส่วนรัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบด้วยแน่ คือรับผิดชอบต่อประชาชน ประชาชนตำหนิติเตียนเอา แต่จะมาให้รับผิดชอบตามที่สื่อถามให้จ่ายค่าน้ำค่าไฟอันนั้นไม่ได้ เพราะเป็นสิ่งที่รัฐธรรมนูญคาดการณ์ไว้ว่าจะเกิดขึ้นได้

นายวิษณุปฏิเสธไม่ทราบสาเหตุสภาล่มเมื่อวันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งถูกมองว่าจะทำให้กฎหมายไม่ทันวันที่ 15 ส.ค.นี้ แต่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญคิดมาแล้วในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ เช่น การพิจารณางบประมาณ ส.ส.ต้องใช้เวลาพิจารณาให้เสร็จในเวลาเท่าใด ถ้าไม่เสร็จต้องใช้ร่างที่รัฐบาลเสนอ เช่นเดียวกับ พ.ร.ป.ทั้งหลาย ไม่ใช่เฉพาะแต่เรื่องเลือกตั้ง

 “ขึ้นชื่อว่า พ.ร.ป.ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จใน 180 วัน ถ้าทำไม่เสร็จก็ต้องไปใช้ร่างต้นฉบับที่เสนอเข้าสภาตอนวาระ1 ซึ่งผู้ร่างอาจกะไว้แล้วว่าอาจมีกรณีไม่เสร็จเกิดขึ้นได้ เพราะสภาเวลาพิจารณากฎหมายปกติไม่มีกำหนดเวลา เขาก็ชินกับการร่าง 2 หรือ 3 ปี พอถึงกฎหมายสำคัญจึงต้องล็อกเวลาไว้ อย่างไรก็ตาม ที่เราพูดว่าร่าง กกต.เป็นหลัก แต่อยากพูดให้ถูก ก็คือร่างที่ส่งสภามากกว่า ตอนที่ กกต.ส่งมาให้ ครม.ตอนนั้น และ ครม.ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาแก้ไข และมีการแก้อะไรไปบางอย่างรัฐบาลจึงเอาไปส่งสภา ดังนั้นจะไปหยิบเอาฉบับที่ 1 ของ กกต.ไม่ได้ ต้องหยิบฉบับที่ 2 ของรัฐบาลที่เสนอสภา ดังนั้นจึงเรียกว่าฉบับที่รัฐบาลเสนอสภา” นายวิษณุกล่าว

ถามว่าหากร่างของรัฐบาลที่เสนอเข้าสภามีผลบังคับใช้จะกระทบกับนักการเมืองหรือไม่ เพราะไม่มีส่วนในการร่าง รองนายกฯ กล่าวว่า อันนี้เป็นเรื่องของความชอบหรือไม่ชอบบางเรื่อง เพราะถ้าเป็นร่างของสภาก็มีการโหวตด้วยเสียงส่วนใหญ่กันมาแล้ว เมื่อใช้ร่างของต้นฉบับสภาก็ไม่มีสิทธิ์ได้ติชมปรับปรุงอะไร และหากใครไม่เห็นด้วยสามารถร้องศาลรัฐธรรมนูญว่าขัดรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ร้องว่าไม่ชอบใจไม่ได้

ซักว่าจะมีคนไปร้องศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ กรณีหากใช้ร่างของรัฐบาลส่งสภา นายวิษณุกล่าวว่า ตนไม่ทราบ แต่คาดว่าน่าจะมี และบางทีไม่ใช่ร้องว่าข้อความขัดรัฐธรรมนูญ แต่กระบวนการพิจารณาไม่ถูกต้องก็ยกขึ้นเป็นเหตุร้องได้

ถามว่าส่วนตัวรัฐบาลอยากให้กฎหมายดังกล่าวผ่านรัฐสภาใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ใช่ รัฐบาลไม่เคยพูดถึงประเด็นเรื่องพวกนี้เลย

ที่รัฐสภา เวลา 12.00 น. นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ได้ประชุมร่วมกับวิป 3 ฝ่าย คือ วิปฝ่ายรัฐบาล วิปฝ่ายค้าน และวิปวุฒิสภามีตัวแทนจากทั้ง 3 ฝ่ายเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง อาทิ นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานวิปรัฐบาล นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะรองประธานวิปรัฐบาล นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะรองประธานวิปฝ่ายค้าน นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะประธานวิปพรรคก้าวไกล (ก.ก.) นายสมชาย แสวงการ ส.ว. ในฐานะเลขาธิการวิปวุฒิสภา

เคาะ 10 ส.ค.ถก กม.ลูก

โดยที่ประชุมมีข้อสรุปว่า ในวันที่ 10 ส.ค. เวลา 09.00 น. จะกำหนดให้ประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาวาระที่ค้างอยู่ คือร่าง พ.ร.บ.กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ..... ที่เหลืออยู่ 4 มาตรา จากนั้นเป็นการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.…. นอกจากนี้ที่ประชุมยังกำหนดให้วันที่ 11 ส.ค. เป็นการประชุมสภาผู้แทนราษฎร และวันที่ 17-19 ส.ค. เป็นการประชุมสภาเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ในวาระ 2-3 ต่อไป

นายชินวรณ์กล่าวว่า ในเรื่องร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งกระบวนการเป็นไปตามข้อบังคับ และรัฐธรรมนูญ โดยมีทางออก 3 ทาง คือ 1.ถ้าที่ประชุมรัฐสภาให้ความเห็นชอบในวาระ 2-3 ก็จะต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 132 (2) คือ ประธานรัฐสภา ส่งร่างกฎหมายไปที่องค์กรอิสระ หรือ กกต.ให้ความเห็นชอบว่าขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ 2.ถ้าที่ประชุมรัฐสภาไม่ให้ความเห็นชอบก็ถือว่าร่างกฎหมายนี้ตกไป หากจะมีการหยิบยกขึ้นใหม่ ก็ต้องเริ่มกระบวนการกันใหม่ และ 3.ถ้าที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายใน 180 วัน ก็ต้องเป็นไปตาม มาตรา 132 (1) คือนำร่างที่เสนอในวาระ 1 มาพิจารณาเพื่อให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบ คือร่างของ กกต.ที่ให้ใช้สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อหาร 100 และส่งให้นายกฯ ต่อไป

ถามว่า พรรค พท.ออกมายอมรับว่าจะใช้กลไกดึงเวลาให้เกิน 180 วัน ในส่วนพรรค ปชป.มีแนวทางนี้หรือไม่ นายชินวรณ์กล่าวว่า เรื่องการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ มีความเห็นที่แตกต่างกัน ทั้งเห็นด้วยกับหาร 100 และหาร 500 ซึ่งฝ่ายที่เห็นด้วยกับหาร 100 เห็นว่าควรให้เป็นไปตามมาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญที่แก้ไขใหม่ ส่วนเสียงข้างน้อยใน กมธ.ที่เห็นว่าควรหาร 500 เมื่อนำมาเข้าสู่ที่ประชุมร่วมรัฐสภา ที่ประชุมก็เห็นด้วยกับเสียงข้างน้อยไปด้วย ขณะที่อีกส่วนเห็นว่า การที่จะไม่ให้เป็นไปตามกระบวนการพิจารณากฎหมาย อาจจะมีปัญหาในเชิงปฏิบัติได้ จึงมีทางเดียวคือ ถ้าทำให้ร่างกฎหมายดังกล่าวพิจารณาไม่ทัน 180 วัน จะถือว่าต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ คือการนำร่างที่ ครม. เสนอเข้ามา คือหาร 100 ส่วนของพรรค ปชป.มีจุดยืนให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญทุกประการ เนื่องจากเราเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม ถ้ารัฐสภามีความเห็นอย่างไรก็ต้องดำเนินการไปตามรัฐธรรมนูญ

ถามว่า มีความพยายามที่จะทำให้รัฐสภาล่มอีกหรือไม่ นายชินวรณ์กล่าวว่า ถ้าเขามีทิศทางให้เสร็จไม่ทัน 180 วัน รัฐสภาก็อาจจะล่มอีกได้ ถือเป็นเรื่องปกติ และเป็นกลไกที่สามารถทำได้ จึงอยากทำความเข้าใจว่าเวลาพิจารณากฎหมาย อยากให้เป็นไปตามข้อบังคับและรัฐธรรมนูญ

“ไม่อยากให้ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐสภามุ่งเน้นแต่เรื่องหาร 100 หรือหาร 500 ทั้งที่ประชาชนมีปัญหาเรื่องปากท้อง ผมยืนยันในฐานะ ส.ส.เขตคนหนึ่ง ให้ความสำคัญกับปากท้องของประชาชนเป็นหลัก แต่เรื่องรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่อง 1 ใน 100 ที่รัฐสภาต้องแก้ไขให้เกิดดุลยภาพ” นายชินวรณ์กล่าว

อย่างไรก็ดี นายโกวิทย์ พวงงาม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังท้องถิ่นไท และนายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ส.ส.กระบี่ พรรคภูมิใจไทย แถลงข่าวถึงกรณีวิป 3 ฝ่าย มีมติให้นัดประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 10 ส.ค.เพียงวันเดียวว่า ตนรู้สึกเสียดายที่ผลมติวิปออกมาเป็นเช่นนี้ เพราะในการประชุมร่วมรัฐสภา เมื่อวันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา ได้กล่าวในที่ประชุมว่า จะให้มีการประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 9 ส.ค. แต่เพราะเหตุใดนายพรเพชรถึงได้กลับคำพูด เรื่องนี้นายพรเพชรต้องให้คำตอบกับสังคมให้ชัดเจนว่าเป็นเพราะอะไรกันแน่

“กฎหมายจะผิดถูกอย่างไร จะเป็นสูตรหาร 100 หรือ 500 ผมไม่ได้สนใจ จะเป็นอย่างไรก็ได้ แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าสมาชิกรัฐสภาจะรับผิดชอบเรื่องนี้อย่างไร ทางวุฒิสภาจะต้องมีส่วนมาร่วมรับผิดชอบ โดยตอนนี้อาจจะมีสัญญาณจากบางพรรคที่มีความพยายามให้องค์ประชุมล่ม ซึ่งผมต้องขอให้นายพรเพชรพิจารณาในการเปิดประชุมร่วมวันที่ 9 ส.ค.ด้วย เพราะจะทำให้อัตราความเสี่ยงที่กฎหมายลูกต้องตกไปมีน้อยลง แต่หากเปิดวันที่ 10 ส.ค.เพียงวันเดียวก็มีโอกาสเสี่ยงสูงมาก" นายโกวิทย์กล่าว

ส่วนนายสฤษฏ์พงษ์กล่าวว่า กระแสข่าวที่ระบุว่ามีพรรครัฐบาลฮั้วกับพรรคฝ่ายค้านนั้น ขอยืนยันพรรคภูมิใจไทยไม่เคยฮั้วกับใครทั้งนั้น การเปิดประชุมร่วมในวันที่ 10 ส.ค.เพียงวันเดียว เชื่อว่าการพิจารณากฎหมายลูกไม่ทันแน่นอน เพราะฉะนั้นก่อนหน้านี้การนัดประชุมในวันที่ 9 ส.ค.เพิ่มอีกหนึ่งวันถือว่ามีความเหมาะสมแล้ว

แฉสภาล่มใบสั่งผู้ใหญ่

ขณะที่ นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ กล่าวว่า ตนไม่คิดว่าจะมีการเล่นเกมใต้โต๊ะ ชกใต้เข็มขัด ทำในสิ่งที่ไม่ควรจะทำ ทำให้รัฐสภาเสื่อมเสีย แต่เท่าที่ทราบคือ มีพรรคร่วมรัฐบาลพรรคหนึ่งออกคำสั่งให้ ส.ส.ในพรรคเซ็นชื่อเสร็จแล้วกลับบ้านได้เลย แต่เมื่อ ส.ส.บางคนไม่ทำ ยังอยู่ร่วมประชุมก็ยังมีตัวแทนมาไล่ ส.ส.ให้กลับบ้าน อ้างว่านายสั่งให้กลับ ซึ่งมีหลายคนมาเล่าให้ฟัง แม้กระทั่ง ส.ส.พรรคเล็กบางคนก็ยังถูกตัวแทนคนดังกล่าวมาสั่งให้กลับบ้านเช่นกัน เนื่องจากเป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่จึงทำให้ ส.ส.หายไปจำนวนมาก จนในที่สุดรัฐสภาก็ล่ม

“สภาล่มไม่ได้เกิดจากเหตุสมาชิกไม่ครบแบบทั่วไป แต่เกิดจากการเล่นเกมของพรรคใหญ่อันดับ 1 และ 2 ที่สมาชิกไม่ยอมแสดงตนร่วมประชุม มีความพยายามจะคว่ำการประชุมให้ได้ เพื่อที่กฎหมายลูกจะไม่มีโอกาสเข้าสภาได้ และต้องย้อนกลับไปใช้สูตรคำนวณหาร 100 ตามร่างที่ กกต.ยื่นเข้ามาในตอนแรก การกระทำเช่นนี้ ผมรับไม่ได้ การไล่ ส.ส.และ ส.ว.กลับบ้านหากไม่ใช้ผู้มีอำนาจคงทำไม่ได้” นพ.ระวีกล่าว

ถามว่า ส.ส.ที่มาไล่มาจากพรรคการเมืองอะไร ใช้ฝ่ายรัฐบาลหรือไม่ นพ.ระวีกล่าวว่า อย่าให้บอกเลย คิดเอาเอง ตนไม่ทราบว่าผู้ใหญ่สั่งจริงหรือเป็นการแอบอ้าง เพราะการที่ตนออกมาพูดเรื่องดังกล่าวไม่ใช่กลัวว่าสภาล่มแล้ว จะทำให้มีปัญหาว่าสูตรการหา ส.ส.บัญชีรายชื่อหาร 500 จะตกหรือแท้งไป

ด้าน นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานวิปรัฐบาล ชี้แจงกรณีสภาล่ม เหตุจากพรรคใหญ่ต้องการยื้อพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ให้พิจารณาไม่ทันภายใน 180 วันว่า ไม่ใช่แบบนั้น ต้องเข้าใจวันที่ 3 ส.ค. มีการประชุมร่วมรัฐสภาและมีการประชุม กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ.2566 พร้อมกันตั้งแต่ช่วงเช้าจนถึงช่วงเย็น ทำให้ ส.ส.ที่เป็นกรรมาธิการต้องวิ่งเข้าวิ่งออก 2 ห้องประชุม เพราะห้องประชุม กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ก็ต้องใช้เสียงองค์ประชุมในการลงมติเช่นกัน เนื่องจากเป็นการพิจารณาเรื่องที่หน่วยงานยื่นเรื่องอุทธรณ์งบฯ เข้ามา ทำให้ ส.ส.แยกร่างกันไม่ได้ และไปชนกันในช่วงเวลา 16.00-17.00 น. ตนอยู่ในห้องประชุมร่วมรัฐสภาก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะเรื่องงบประมาณแผ่นดินก็สำคัญเหมือนกัน

ถามว่า เรื่องนี้ทำให้ถูกมองว่าพรรคพลังประชารัฐจับมือกับพรรคเพื่อไทยเพื่อให้องค์ประชุมไม่ครบใช่หรือไม่ นายนิโรธกล่าวว่า เขาเป็นฝ่ายค้าน เราเป็นฝ่ายรัฐบาล และเป็นคนละเรื่องกัน ที่ผ่านมาเราอยากให้เลื่อนร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาพิจารณาก่อน แต่ก็ถูกสกัดตลอด และในการประชุมวิป 3 ฝ่าย เมื่อวันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา นายชวนดำริว่าให้เป็นไปตามระเบียบ ใครจะกล้าขัดขวาง ทุกคนก็เอาตามท่าน เรื่องนี้ต้องให้ความเป็นธรรมกับเราด้วย

ส่วน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ยอมรับสภาล่มมีนัยทางการเมือง พรรค พท.มีเจตนารมณ์เมื่อแพ้โหวตมาตรา 23 แล้วตามที่กฎหมายเสนอโดย กกต.,ครม.และ กมธ.นำไปปรับปรุงแก้ไข แต่ว่ามีการสั่งการให้พลิกกลับไปใช้ระบบจัดสรรปันส่วนผสมบัตร 2 ใบ หารด้วย 500 สิ่งที่เราคิดในการทำหน้าที่มาโดยตลอดเพื่อให้กฎหมายที่ถูกเสนอมาโดยชอบกลับมาบังคับใช้ให้ได้ เพราะเรายืนอยู่มาจุดนี้ตลอดทั้งหมดจึงไม่ใช่เกม แต่เป็นกลไกรัฐสภาในสิ่งที่เหมาะสมที่สุด

 “มันเป็นร่างที่ ครม.เสนอมา ครม.ควรจะต้องอับอาย แม้แต่ร่างตัวเองที่ไปปรับแก้ไขในวาระ 2 ไปหักร่างตัวเอง กกต.เสนอมา คุณก็ไปหักในวาระที่ 2 นี่เป็นเจตนารมณ์เราตั้งแต่แรก ไม่ได้เป็นเกมเมื่อวาน แต่ถ้าตีว่าเป็นเกมเราก็ไม่ได้เกี่ยวกับเกมเมื่อวาน แต่เป็นทางเดินของเรา ส่วนใครจะมาร่วมกับเราก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง” นพ.ชลน่านกล่าว

หัวหน้าพรรค พท.กล่าวว่า การทำหน้าที่ในสภา การไม่เป็นองค์ประชุมและไม่ลงมติ ถือเป็นกลไกการทำหน้าที่อย่างหนึ่ง ดีไม่ดีขอให้ดูที่ผลที่เกิดขึ้น ถ้าผลที่เกิดขึ้นดีกับประเทศชาติ ถือว่าเป็นการทำหน้าที่ที่ดี ไม่ใช่ว่านั่งประชุมแล้วนั่งเป็นเครื่องไม้เครื่องมือให้เขาแล้วทำงานได้ดี ทำงานแล้วมันไม่ดีกับประเทศชาติแล้วไปยกย่องว่าทำงานได้ดี ตนไม่เห็นด้วย

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า พรรคเห็นด้วยกับการหาร 100 เพราะตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการเราอยากแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แต่เมื่อถูกลดทอนเหลือแค่เรื่องการคำนวณ ส.ส. เราก็เสนอสูตร MMP แต่เมื่อถึงวันนี้ก็ไม่ใช่ทั้งสองแบบ แต่เป็นการหาร 100 อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะออกมารูปแบบไหน พรรคต้องปรับตัว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง