กพช.เคาะแล้ว ปรับเงินสมทบ กองทุนน้ำมันฯ

“บิ๊กตู่” ไม่ได้นิ่งนอนใจปัญหาราคาข้าวตกต่ำ สั่ง พณ.-ธ.ก.ส.เร่งดูแล “ธนกร” เผย 9 พ.ย.นี้ธนาคารโอนเงินเข้ากระเป๋าเกษตรกรตามโครงการประกันรายได้แน่ “บิ๊กป้อม” เชื่อไม่กลายเป็นปัญหาการเมือง “กพช.” ประชุมเคาะแล้ว หั่นเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ จาก 10 สตางค์เหลือ 0.005 บาทต่อลิตร เป็นเวลา 1 ปี

เมื่อวันที่ 5 พ.ย. นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไม่ได้นิ่งนอนใจกรณีพี่น้องชาวนาร้องเรียนขณะนี้ราคาข้าวตกต่ำ โดยได้กำชับกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เร่งหาแนวทางว่าจะแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือเกษตรกรอย่างไร ซึ่งล่าสุด ธ.ก.ส.แจ้งว่าระบบจะโอนเงินให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวในโครงการประกันรายได้งวดแรกในวันที่ 9 พ.ย.นี้

นายธนกรยังกล่าวถึงกรณีสมาชิกพรรคฝ่ายค้านแสดงความไม่พอใจที่รัฐมนตรีไม่ไปตอบกระทู้สด โดยเฉพาะปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนว่าคณะรัฐมนตรีไม่ได้ละเลยการชี้แจง เพียงแต่ประเด็นกระทู้สดที่ถามด้วยวาจาไม่ใช่กระทู้ถามทั่วไป เพิ่งมาทราบตอนเช้า ซึ่งมีนัดหมายการประชุม ครม.ไว้ล่วงหน้าแล้ว นายกฯ จึงได้กำชับให้รัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการไปชี้แจงข้อมูลต่อสภา เพราะจะเป็นอีกหนทางหนึ่งที่ได้รับทราบปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนผ่าน ส.ส. รวมทั้งจะได้ชี้แจงการทำงานของรัฐบาลด้วย

ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ กล่าวถึงราคาพืชผลทางการเกษตรที่ตกต่ำว่า เห็นใจเกษตรกร เห็นใจชาวนาทุกคนที่เดือดร้อน ตอนนี้เราพยายามแก้ไขอยู่ กระทรวงพาณิชย์กำลังดำเนินการ และรัฐบาลได้ให้งบประมาณในการดูแล เกษตรกรคงได้รับเร็วๆ นี้ และคงไม่กลายมาเป็นประเด็นทางการเมือง

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวถึงกรณีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย โปรยข้าวในสภา หลังไม่มีรัฐมนตรีมาตอบกระทู้สด เพื่อแสดงออกถึงปัญหาราคาข้าวตกต่ำว่า เป็นสไตล์ของเขา สไตล์ใครสไตล์มัน ไม่ได้มองเป็นเรื่องการเมือง การช่วยเหลือประชาชนก็ถือเป็นหน้าที่ของ ส.ส.และพรรคการเมืองทุกพรรค ซึ่งเราต้องช่วยกันดูแลให้ดีที่สุด ไม่ใช่เพียงพรรคฝ่ายค้าน พรรครัฐบาลก็เป็นห่วง ต้องช่วยกันติดตาม

นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ในวันที่ 9 พ.ย. ธ.ก.ส.จะโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรแน่นอน โดยการชดเชยข้าวเปลือกชนิดต่างๆ ณ ความชื้นไม่เกิน 15% นั้น ประกอบด้วย ข้าวเปลือกหอมมะลิ 10,864.23 บาท/ตัน ชดเชยตันละ 4,135.77 บาท, ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ 10,407.75 บาท/ตัน ชดเชยตันละ 3,595.25 บาท, ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี 9,947.87 บาท/ตัน ชดเชยตันละ 1,052.13 บาท, ข้าวเปลือกเจ้า 8,065.38 บาท/ตัน ชดเชยตันละ 1,934.62 บาท และข้าวเปลือกเหนียว 7,662.53 บาท/ตัน ชดเชยตันละ 4,337.47 บาท
วันเดียวกัน มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 3/2564 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน แถลงว่า ที่ประชุมเห็นชอบการปรับลดอัตราการส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานของน้ำมันเบนซิน, น้ำมันก๊าซโซฮอล์, น้ำมันก๊าด, น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว-หมุนช้า และน้ำมันเตา จากเดิมที่เก็บในอัตรา 10 สตางค์ต่อลิตร เหลือ 0.005 บาทต่อลิตร เป็นเวลา 1 ปี หรือภายในปี 2565 ส่งผลให้การเก็บเงินเข้ากองทุนจะเหลือประมาณ 145-150 ล้านบาทต่อปี จากเดิมที่เคยเก็บอยู่ 3,500 ล้านบาทต่อปี ขณะที่ปี 2566-2567 จะเก็บในอัตรา 0.05 บาทต่อลิตร ซึ่งจะมีผลทันทีหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ทั้งนี้ ยังเห็นชอบแนวทางหลักเกณฑ์เงื่อนไขและลำดับความสำคัญของการจ่ายเงินกองทุนอนุรักษ์ฯ ปีงบประมาณ 2565-2567 เหลือปีละ 4,000 ล้านบาท จากเดิม 10,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งยังเพียงพอส่งเสริมโครงการอนุรักษ์พลังงาน หรือพัฒนาพลังงานทดแทนได้ทั่วประเทศ ไม่รวมกรุงเทพฯ โดยจะจัดสรรงบประมาณให้ 25 ล้านบาทต่อจังหวัด รวมเป็นเงินประมาณ 1,900 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าภายในสัปดาห์หน้าคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (กทอ.) จะอนุมัติแผนยุทธศาสตร์และกำหนดกรอบเป้าหมายได้
นายกุลิศกล่าวว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบทบทวนแผนรองรับวิกฤตด้านน้ำมันเชื้อเพลิงปี 2563-2567 เพื่อรองรับกรณีมีการเปลี่ยนแปลงวงเงินกู้ โดยให้บริหารจัดการกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต้องมีจำนวนเงินเพียงพอเพื่อใช้ในการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ และกำหนดกรอบตามมาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 ว่าหากจำเป็นต้องมีการกู้เงิน เมื่อรวมกับเงินของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงแล้ว จะกู้ได้ไม่เกิน 40,000 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่าปัจจุบันกระทรวงพลังงานสามารถกู้เงินได้กว่า 30,000 ล้านบาท เนื่องจากเงินในกองทุนเหลือประมาณ 7,400 ล้านบาท แต่จากมติคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) แล้วดำเนินการกู้เพียง 20,000 ล้านบาทเท่านั้น
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบให้ทบทวนราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) จากสัญญาซื้อขายแอลเอ็นจีระยะยาว บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท PETRONAS LNG LTD. ซึ่งสามารถลดต้นทุนการจัดหาแอลเอ็นจีลงได้ประมาณ 900-1,000 ล้านบาทต่อปี หรือรวมประมาณ 4,500-5,000 ล้านบาทในปี 2565-2569 และส่งผลให้สามารถนำไปลดต้นทุนค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ประมาณ 0.42 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟที่เรียกเก็บกับประชาชนมีแนวโน้มลดลง โดย กพช.มอบหมายให้บริษัท ปตท.เสนอสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจร่างสัญญาต่อไป นอกจากนั้นที่ประชุมยังได้เห็นชอบหลักการในการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบฟีดอินทารีฟ (FiT) สำหรับปี 2565 โดยมอบหมายให้ กกพ.พิจารณากำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงต้นทุนการดำเนินการแต่ละโครงการ และผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าโดยรวมของประเทศ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง