พรรคป้อมสั่งโดดร่ม หน้าฉากกำชับร่วมถกกม.ลูก/‘พท.’ยันด่าจบเดินออกนอกห้อง!

"นิด้าโพล" เผย ปชช.ส่วนใหญ่ไม่เชื่อ พปชร.กับ พท.มีข้อตกลงเปลี่ยนสูตรหาร 500 เป็น 100 และไม่เชื่อมีดีลหนุน "บิ๊กป้อม" เสียบนายกฯ แทน "บิ๊กตู่" ประธานวิปรัฐบาลยันถก กม.ลูก 15 ส.ค.นี้ สภาไม่มีล่มอีก อ้างหัวหน้าพปชร.สั่งสมาชิกเข้าประชุม แต่ข่าวสะพัด! พปชร.สั่ง ส.ส.ให้โดดร่มอีกหวั่นสูตรหาร 100 จะไม่ผ่าน ปชป.วอนเข้าประชุมตามปกติจะเกิดผลดีต่อภาพลักษณ์สภา "เพื่อไทย" ย้ำไม่ร่วมสังฆกรรมยกสุดท้าย ลั่นไม่อยากมีส่วนตรากฎหมายขัด รธน. "ส.ว.วันชัย" ไม่สังฆกรรมด้วย ยันหาร 500 ขัด รธน. เตือนเดินหน้าต่อไปหัวฟาดพื้นแน่

เมื่อวันอาทิตย์ ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชนเรื่อง “ข้อตกลงทางการเมืองพรรคพลังประชารัฐและพรรคเพื่อไทย?” สำรวจระหว่างวันที่ 10-11 สิงหาคม 2565 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค จำนวน 1,312 หน่วยตัวอย่าง โดยเมื่อถามถึงความเชื่อของประชาชนต่อข้อตกลงทางการเมืองระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับพรรคเพื่อไทย ในการเปลี่ยนสูตรการคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ จากหาร 500 เป็นหาร 100 พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 40.32 ระบุว่าไม่เชื่อเลย รองลงมา ร้อยละ 21.80 ระบุว่าไม่ค่อยเชื่อ, ร้อยละ 17.91 ระบุว่าค่อนข้างเชื่อ, ร้อยละ 9.38 ระบุว่า เชื่อมาก และร้อยละ 10.59 ระบุว่าไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

เมื่อถามถึงความเชื่อของประชาชนต่อข้อตกลงทางการเมืองระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับพรรคเพื่อไทย ในการสนับสนุน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 59.76 ระบุว่าไม่เชื่อเลย รองลงมา ร้อยละ 17.45 ระบุว่าไม่ค่อยเชื่อ, ร้อยละ 13.87 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อ, ร้อยละ 7.47 ระบุว่าเชื่อมาก และร้อยละ 1.45 ระบุว่าไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมรัฐสภา วันที่ 15 สิงหาคม ที่จะมีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร. ได้สั่งการให้ลูกพรรคเข้าร่วมประชุมรัฐสภา ในวันที่ 15 สิงหาคม โดยได้สั่งการไว้ตั้งแต่เมื่อวันเกิดของ พล.อ.ประวิตร วันที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่ ส.ส.ของพรรค พปชร.เข้าไปร่วมอวยพรวันเกิด ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่ได้มีคำสั่งเปลี่ยนแปลง ยืนยันว่าการประชุมรัฐสภาครั้งนี้จะไม่มีเหตุการณ์ ส.ส.โดดสภา หรือยุทธการล่มสภาอย่างแน่นอน เพราะหัวหน้าพรรคสั่งให้เข้าร่วมประชุม

เมื่อถามว่า จะมีการนัดประชุมพรรคนอกรอบถึงทิศทางการลงมติหรือไม่ นายนิโรธกล่าวว่า ไม่มี เพราะมติวิปพรรคร่วมรัฐบาลก็ให้เดินไปตามระเบียบวาระตามครรลอง ส่วนจะมีเกมการเมือง รวมถึงการยื้อการพิจารณากฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.หรือไม่ ตนไม่แน่ใจ พรรคเราไม่มีอะไร และคิดว่าจะพิจารณาทันตามกรอบ เพราะเหลือเพียงไม่กี่มาตรา ส่วนกระแสข่าวที่ดีลลับกับพรรคเพื่อไทย หนุนสูตรหาร 100 ก็ไม่มี เพราะพรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายค้าน เราเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล จะไปดีลอะไรไม่ได้

เมื่อถามว่า จนถึงขณะนี้ได้ตกผลึกสูตรว่าจะหนุนสูตรหาร 100 หรือ 500 อย่างไร นายนิโรธกล่าวว่า แล้วแต่ ส.ส. บางคนก็ชอบ 100 บางคนก็ชอบ 500 แล้วแต่เจตจำนงของแต่ละคน เพราะก็ไม่เคยตรงกันทุกพรรค ก็แล้วแต่ พรรคพปชร.ไม่ซีเรียสว่าจะ 100 หรือ 500

ผู้สื่อข่าวรายงานจากพรรค พปชร.ว่า สำหรับการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. วันที่ 15 ส.ค. ซึ่งถือเป็นวันสุดท้ายตามกรอบระยะเวลาก่อนครบ 180 วัน ล่าสุดเมื่อช่วงค่ำวันที่ 14 ส.ค. พรรคได้มีการส่งสัญญาณโดยโทร.แจ้งไป ส.ส.พรรคทุกคนไม่ให้เดินทางเข้าร่วมประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 15 ส.ค. เนื่องจากกังวลว่าหากลงชื่อเข้าประชุมสถานการณ์จะยืดเยื้อ เพราะทางฝั่ง ส.ว.บางส่วนยังแสดงเจตจำนงเป็นองค์ประชุม จนอาจกระทบกับสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แบบหาร 100 ตามที่พรรค พปชร.ต้องการ อย่างไรก็ตามยังมี ส.ส.บางส่วนมีแนวโน้มที่จะเข้าร่วมเป็นองค์ประชุม แต่จะไม่ทำการโหวตรายมาตรา เนื่องจากยังมีความกังวลว่าจะทำผิดกฎหมาย

วอนเข้าประชุมรักษาภาพลักษณ์สภา

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค และประธาน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในทางลบเมื่อเกิดเหตุการณ์สภาล่มว่า แน่นอนที่สุดว่าเมื่อสภาล่ม ประชาชนย่อมรู้สึกไม่พอใจการทำหน้าที่ของ ส.ส.และ ส.ว. และองค์กรรัฐสภาโดยรวมที่ประชาชนเลือกตั้งให้มาทำหน้าที่เป็นตัวแทนประชาชนในสภา แต่ไม่ทำหน้าที่สมาชิกรัฐสภา ทั้ง ส.ส.และ ส.ว. ควรต้องช่วยกันปรับปรุงแก้ไขไม่ให้สภาล่มเกิดขึ้นตลอดเวลา เพราะกระทบต่อภาพลักษณ์ของสมาชิกรัฐสภา ผู้ที่ไม่อยู่เป็นองค์ประชุมในสภาจนทำให้สภาล่มจึงต้องตอบคำถามสังคมให้ได้ว่า ไม่อยู่เป็นองค์ประชุมสภาเพราะอะไร อย่างไร

ส่วนที่มีการกล่าวว่า สภาล่มเพราะสองเผด็จการ คือเผด็จการรัฐสภาและเผด็จการทหารจับมือกัน ทำให้กฎหมายลูกออกมาเป็นประโยชน์กับพรรคการเมืองบางพรรคให้ได้เปรียบจากการเลือกตั้ง และนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันในอนาคต นายองอาจกล่าวว่า ก็เป็นข้อมูลที่ต้องรับฟัง คงต้องติดตามต่อไปว่าการเคลื่อนไหวของ ส.ว.และ ส.ส.บางพรรคจะแสดงออกให้เห็นถึงความเป็นไปได้อย่างที่มีการวิพากษ์วิจารณ์หรือไม่ สำหรับที่มีการฟันธงว่าประชุมสภาวันที่ 15 ส.ค.นี้สภาล่มนั้น ก็มีความเป็นไปได้ แต่ไม่ว่าใครหรือบางพรรคการเมืองใดต้องการให้กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.ออกมาทำให้ได้เปรียบจากการเลือกตั้งมากน้อยแค่ไหนก็ตาม ก็ไม่ควรทำให้สภาล่ม แต่ควรทำให้สภาเดินหน้าประชุมไปได้ตามกระบวนการปกติ น่าจะเกิดผลดีต่อภาพลักษณ์สภา และเกิดประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมมากกว่า

น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม. และโฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า หลังจากนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา มีคำสั่งให้นัดประชุมร่วมกันของรัฐสภา ในวันจันทร์ที่ 15 สิงหาคม พิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเป็นการคัดค้านและยับยั้งการกระทำที่เป็นขัดหลักการ และขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มาตรา 91 ส.ส.พรรคเพื่อไทยมีข้อสรุปร่วมกันว่า 1.จะไม่เป็นองค์ประชุมในการประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 15 ส.ค. 2.หากเกิดกรณีเปิดประชุมร่วมรัฐสภาได้ ตัวแทน ส.ส.จะเข้าร่วมประชุม โดยจะอภิปรายคัดค้านสูตรหาร 500 ให้ถึงที่สุด หากจบการอภิปรายแล้ว พรรคเพื่อไทยจะไม่เป็นองค์ประชุมและจะไม่ร่วมลงมติต่อ เราสามารถทำให้กฎหมายเป็นกฎหมายที่ตอบสนองประชาชนและสังคมไทยได้ด้วยการหยุดยั้งกระบวนการการต่อรองรูปแบบเดิมๆ เพื่อประโยชน์ของตน

พท.ยืนกรานไม่สังฆกรรม

 “ยืนยันไม่ร่วมสังฆกรรมในการตรากฎหมาย ที่สุ่มเสี่ยงที่จะขัดต่อรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งที่สามารถกระทำได้ตามรัฐธรรมนูญ การยับยั้งไม่ให้กฎหมายที่บิดเบี้ยวผ่านสภาคือหน้าที่ของตัวแทนประชาชนที่เราได้รับมอบหมายมา เราไม่ได้โดดงาน ส.ส.ทำงานทุกวัน วันประชุมร่วมรัฐสภา ยังจับตา ติดตามว่า ส.ส. ส.ว.จะทำอะไร และอยากให้ประชาชนช่วยกันจับตาการทำงานของสมาชิกรัฐสภาในวันพรุ่งนี้ด้วย” นส.ธีรรัตน์กล่าว

นายนพดล ปัทมะ รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า สูตรหาร 500 มันขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 91 ที่รัฐสภาพึงแก้ไขไปไม่นานอย่างชัดเจน แจ่มแจ้งดังแสงตะวัน ไม่ต้องสงสัย ไม่มีช่องให้ตีความ เอาประเด็นนี้ประเด็นเดียว พรรคเพื่อไทยก็สนับสนุนสูตรหาร 500 ไม่ได้แล้ว โดยไม่ต้องพิจารณาประเด็นว่าระบบเลือกตั้งสูตรไหน ใครได้ใครเสีย เพื่อไทยชัดเจน ไม่สนับสนุนการแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งสูตร 500 เพราะมันขัดรัฐธรรมนูญ ประสานงากับหลักนิติรัฐ และบั่นทอนเสถียรภาพทางการเมือง เมื่อถึงจุดหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ พรรคเพื่อไทยขอเดินไปทิศที่ถูกต้อง

นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ในฐานะเลขานุการรัฐบาล และ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรค พปชร. เปิดเผยว่า กรณีที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบายพรรคเสรีรวมไทย พาดพิงถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรค พปชร.ว่า การประชุมร่วมวันที่ 10 ส.ค. เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ของพรรคทุกคนรู้ว่ามีประชุมร่วม เพราะฉะนั้น ก็ต้องมาทำหน้าที่แน่นอน โดยนายสมชัยอย่าพยายามดึงชื่อของ พล.อ.ประวิตรมาเกี่ยวข้อง และไม่ควรมายุ่งเกี่ยวกับพรรคพปชร.ควรไปทำหน้าที่สมาชิกของตัวเองมากกว่าที่จะมาใช้สิทธิ์พาดพิงเกี่ยวกับการทำงานของพรรค เพราะ พปชร.ให้เอกสิทธิ์ ส.ส.ทุกคนในการทำหน้าที่ของตนเอง ไม่ควรจะนำเรื่องดังกล่าวมาเล่นเกมทางการเมือง เพราะการเข้าร่วมประชุมหรือไม่ เป็นเรื่องส่วนบุคคลของ ส.ส.แต่ละท่าน หากใครมีภารกิจหรือป่วย ก็สามารถลาการประชุมได้ตามข้อบังคับ

"การพิจารณากฎหมายลูกในตอนนี้ถือเป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส.แต่ละคน พล.อ.ประวิตรไม่เคยมีการสั่งการใดๆ ข่าวลือต่างๆ ที่เกิดขึ้น ล้วนมาจากกลุ่มการเมืองที่ไม่หวังดี ต้องการนำชื่อของท่านมาพาดพิงและดิสเครดิตทางการเมือง รวมไปถึงมีความพยายามที่จะทำลายภาพลักษณ์ที่ดีของ พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี" นายอรรถกร กล่าว

เตือนหาร 500 หัวล้มฟาดพื้น

นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โพสต์ข้อความเรื่อง "แล้วจะรู้สึก เมื่อเกิดสุญญากาศทางกฎหมายเลือกตั้ง" ว่า  การคำนวณ ส.ส.โดยเอา 500 หารนั้นมันผิดกฎหมายผิดรัฐธรรมนูญจะแจ้งซึ่งหน้ากลางวันแสกๆ เดินไปก็ล้มหัวฟาดพื้นแน่นอน ผมจึงไม่เดินไปด้วย มันฝืนกฎหมายฝืนจริยธรรมที่เรารู้ทั้งรู้ยังขืนทำไปได้ สมัยผมเรียนกฎหมายมีคำพิพากษาฎีกาว่า คนที่เข้าร่วมประชุมในการวางแผนปล้นทรัพย์ แม้ไม่ได้ไปร่วมในการปล้นด้วยก็ถือว่ามีความผิดเป็นตัวการร่วม เรื่องโหวตร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ ที่กำลังพิจารณากันอยู่มันก็น่าจะมีนัยแบบเดียวกัน ผมจึงเห็นว่าเป็นจริยธรรมทางความรู้สึกและทางกฎหมายที่ต้องปฏิเสธต่อการกระทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ผมยึดหลักนี้ในการตัดสินใจ จึงไม่เข้าร่วมสังฆกรรม ไม่ใช่เข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ทั้งไม่เป็นพวกของพรรคการเมืองใด มาจากความรู้สึกแท้ๆ ตั้งแต่ต้นว่าถูกคือถูก ผิดคือผิด เดินไปตามแนวทางที่เราตัดสินใจไปให้สุด เคารพตนเอง เคารพกฎหมาย นั่นคือจริยธรรมในการทำหน้าที่ ผมจึงยืนอยู่ที่พวก 100 มาตั้งแต่ต้นจนจบ

นายสมชาย แสวงการ ส.ว. ฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.  โพสต์เพจเฟซบุ๊กว่า ...สภามีไว้ทำไม อย่าหักด้ามพร้าด้วยเข่า 2 แนวทาง 1 ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะเพื่อแก้ปัญหาการล่มสภา เสนอต่อประชาชนและสมาชิกรัฐสภาทุกท่าน ประกอบการพิจารณา พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ให้แล้วเสร็จในวาระ 3 (15 ส.ค.65) ดังนี้ แนวทางที่ 1 พิจารณาผ่านวาระ 3 ตามที่สมาชิกรัฐสภาลงมติส่วนใหญ่เห็นชอบเสนอแก้ไขไปแล้ว (สูตร 500) ให้ลุล่วง ตามแนวทางที่ 1 จะแล้วเสร็จทันก่อนครบวาระ 4 ปี ของสภาผู้แทนราษฎร และย่อมทันก่อนการเลือกตั้งครั้งหน้าแน่นอน, แนวทางที่ 2 โหวตวาระ 3 ด้วยเสียงโหวตเห็นชอบไม่พอถึงกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา หาก พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.ตกไป เพราะเสียงเห็นชอบไม่มากพอ ก็สามารถเร่งแก้ไขได้ ส.ส. ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ที่ไม่เห็นด้วยกับสูตรหาร 100 ควรเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 93 มาตรา 94 ที่ยังคงค้างอยู่ในเรื่องการคำนวณ ส.ส.พึงมีไว้ให้เสร็จสิ้นกระแสความไปในคราวเดียวกัน

สรุปได้ว่า รวมเวลาทั้งหมดตามแนวทางที่ 2 ย่อมแล้วเสร็จทันก่อนครบวาระ 4ปี ของสภาผู้แทนราษฎร และทันก่อนการเลือกตั้งครั้งหน้าเช่นกัน หากมีการยุบสภาและไม่มี พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ถ้ามีการยุบสภาและไม่มี พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.  เมื่อไม่มีกฎหมายเลือกตั้งและจำเป็นต้องมีการเลือกตั้งขึ้น จึงถือเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ จึงต้องตราพระราชกำหนดขึ้น และที่ผ่านมามีกรณีตัวอย่างที่ตรวจสอบพบว่า เคยปฏิบัติตามประเพณีกฎหมาย ออกพระราชกำหนดเลือกตั้งอย่างน้อยรวม 3 ครั้ง

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคสร้างอนาคตไทย โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า สำนึกเป็นเรื่องสำคัญของผู้แทนประชาชนครับ คือเรื่องที่ขอฝากไปถึงผู้แทนของประชาชนในการประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 15 สิงหา. 65 เพื่อพิจารณากฎหมายลูกระบบการเลือกตั้ง   ประชาธิปไตยจะเรียกว่าชอบธรรมได้ เราต้องดูกันที่ “คุณภาพของกระบวนการ” ว่าเปิดพื้นที่ให้ประชาชนแค่ไหน ผู้แทนรับผิดชอบต่อประชาชนเพียงใด และรัฐบาลฟังเสียงสะท้อนและตอบสนองต่อปัญหาของประชาชนอย่างไร นั่นคือเหตุผลที่เราเป็นประชาธิปไตย

 “การเลือกตั้งใกล้เข้ามาทุกทีครับ ท่านอยากให้ประชาชนมีภาพจำท่านแบบไหน ท่านก็พึงทำแบบนั้น กลับกัน ท่านไม่อยากให้ประชาชนหมดศรัทธากับตัวท่านแบบไหน ก็พึงหลีกเลี่ยงกระทำสิ่งนั้น”.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง