‘ปิยบุตร’ เอาใหม่! แก้ ม.112

"อภิสิทธิ์" แนะทางออก ม.112 ปล่อยให้กระบวนการเป็นปกติ มีการร้องทุกข์ แต่ได้ตั้งคณะที่ปรึกษาประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมาย เพื่อกลั่นกรองคดี "อรรถวิชช์" อย่าหักด้ามพร้าด้วยเข่า ยังมีคนอีกจำนวนมากยอมไม่ได้กับการจาบจ้วง ขณะที่ "ปิยบุตร" ออกแนวเลอะ มาใหม่คราวนี้ให้ปรับปรุง 112

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวบนเวทีอภิปรายเรื่อง ประชาธิปไตยไทยบนความท้าทายและโอกาสในการประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 23 ประจำปี 2564 เรื่อง ประชาธิปไตยในภูมิทัศน์ใหม่ โดยแสดงความเห็นต่อการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่า เป็นปกติที่ควรมีกฎหมายคุ้มครองประมุขของรัฐ แต่มีสาระที่ควรพิจารณาว่า สิ่งใดทำได้หรือไม่ การลงโทษเหมาะสมหรือไม่ กระบวนการที่นำไปสู่ศาลเหมาะสมหรือไม่ รวมถึงสิทธิที่ใครแจ้งความได้บ้าง และข้อเรียกร้องที่เกิดขึ้นตนมองว่ามีทางออก คือผู้นำควรรับฟัง แต่หากฝ่ายหนึ่งบอกว่ายกเลิก แต่อีกฝ่ายบอกว่าห้ามแตะ จะทำให้พูดคุยกันไม่ได้

เขากล่าวว่า ในสมัยที่เป็นนายกรัฐมนตรี ได้หยิบยกมาตรา 112 พิจารณาและทางออกที่ทำคือ ปล่อยให้กระบวนการเป็นปกติ มีการร้องทุกข์ แต่ได้ตั้งคณะที่ปรึกษาประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายเพื่อกลั่นกรองคดี แยกคดีที่เกี่ยวกับการแสดงความเห็นทางวิชาการ ความไม่เข้าใจของต่างประเทศ กรองและแยกจากการแสดงความอาฆาตมาดร้าย ซึ่งทำได้ระดับหนึ่ง จากนั้นให้กรรมการรวบรวมว่าการบังคับใช้และมีปัญหาของกฎหมายที่จำเป็นแก้ไขหรือไม่

"ผู้มีอำนาจต้องเอื้อมมาหาผู้เรียกร้อง และจริงใจต่อการแก้ไขตามข้อเรียกร้อง พยายามลดช่องว่างการพูดคุย หรือหาคำตอบด้วยปัญญา ขณะเดียวกันต้องลดพื้นที่การเผชิญหน้า กระบวนการที่ทำได้ง่ายสุดคือ การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ บนข้อที่ตกลงร่วมกันได้คือ สิทธิขั้นพื้นฐาน เสมอภาค เป็นธรรมทางการเมือง ตามหลักประชาธิปไตยสากล และด้านบริบทประวัติศาสตร์ของไทยที่ยึดมั่นในการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" 

อดีตนายกฯ ระบุว่า สิ่งสำคัญคือการแก้ไขจุดบกพร่อง โดยปัญหาของรัฐธรรมนูญ 2560 คือเป็นกติกาที่มีวาระทางการเมือง เพื่อช่วยใครหรือกีดกั้นใคร เขียนกติกาเพื่อประโยชน์ของกลุ่มให้บางกลุ่มนั้นรักษาอำนาจและกีดกันบางกลุ่ม ทุกฝ่ายจึงไม่ยอมรับกติกา ดังนั้นจุดเริ่มสำคัญคือผู้มีอำนาจต้องเอื้อมมือ เขียนกติการัฐธรรมนูญที่ทุกฝ่ายยอม 

"ตีโจทย์ของปัญหาโดยนำบทเรียนในอดีตมาพิจารณา เช่น จะแก้ปัญหาคนที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยที่ใช้อำนาจในทางมิชอบอย่างไร หากให้สภาตัดสินใจทั้งหมด จะพบความล้มเหลว หากให้ศาลพิจารณาไม่เหมาะสม ส่วนองค์กรอิสระนั้นไม่อิสระจริง นอกจากนั้นต้องพูดกันด้วยเหตุผลวางผลประโยชน์ของกลุ่มทางการเมืองลง  เพื่อให้เกิดโอกาสสร้างเปลี่ยนแปลงประชาธิปไตยอย่างยั่งยืน ให้การเมือง เศรษฐกิจเดินได้ เพื่อโลกและคนในอนาคต" นายอภิสิทธิ์กล่าว

ด้านนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เลขาธิการพรรคกล้า กล่าวในรายการมีเรื่อง หัวข้อเรื่อง "เลิก - แก้ - ไม่แตะ 112" ผ่านช่อง Youtube Jomquan โดยมี รศ.ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า เป็นผู้ร่วมดีเบต โดยนายอรรถวิชช์ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงแก้ไขยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่ควรทำทั้งสิ้น เพราะหากยกเลิกไป มีแนวโน้มทำให้เกิดการกระทำผิดกฎหมายมากขึ้น และเมื่อดูคดีช่วง 1 ปีที่ผ่านมา กว่าครึ่งหนึ่งประชาชนเป็นผู้ฟ้อง สะท้อนว่ายังมีคนอีกจำนวนมากยอมไม่ได้กับการจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์ หากเดินหน้ายกเลิกหรือแก้ไข จะนำไปสู่ความขัดแย้ง ม็อบชนม็อบมีโอกาสสูงมาก ท้ายสุดอาจนำไปสู่การรัฐประหาร เพราะฉะนั้นอย่าให้เกิดเหตุอะไรแทรกในห้วงเวลาปีนี้ จนถึงเดือนสิงหาคมปี 65 มั่นใจว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ในตำแหน่งนายกฯ ได้ไม่เกิน 8 ปี ตามรัฐธรรมนูญ

เลขาธิการพรรคกล้ากล่าวว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นโทษที่มีฐานความผิดกว้าง ตั้งแต่ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้าย ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี จึงควรมีการกำหนดแนวทางปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมาย ควรมีคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง โดยองค์ประกอบอาจจะมาจากเจ้าหน้าที่ร่วมกับนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ซึ่งรัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีสามารถใช้อำนาจตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมาได้ทันทีโดยไม่ต้องแก้ไขกฎหมาย

"อาจารย์ปิยบุตรไม่เคยโดน 112 แต่ลูกศิษย์อาจารย์ น้องๆ นักศึกษาโดนอยู่นะ ต้องช่วยเขาด้วย คนที่ผิดเต็มๆ ก็ต้องโดนกันไปตามกฎหมาย แต่กรณีที่ศาลเคยวางแนวทางไว้แล้ว ว่าไม่ฟ้อง ก็น่าจะต้องมาดูกันว่าสั่งไม่ฟ้องได้ในชั้นตำรวจอัยการ ซึ่งหากมีคณะกรรมการกลั่นกรอง คดีมันจบเร็วขึ้น วิธีการนี้เคยใช้ได้ผลมาแล้วสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ แต่หากยังดันให้แก้ไขยกเลิก ม.112 หักด้ามพร้าด้วยเข่า คงเป็นไปได้ยาก ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง จึงอยากให้คิดแบบหาทางออกให้ได้ นี่คือจุดยืนของผม"

นายอรรถวิชช์กล่าวอีกว่า ใกล้เลือกตั้งเท่าไหร่ จะมีประเด็นแบ่งแยกคนออกเป็น 2 ฝ่ายทุกที แล้วคนก็จะเลือกตั้งความกลัว กับความเกลียด ยุคนี้ยิ่งหนักขึ้น ขอเลยว่าอย่านำเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นประเด็นแบ่งแยกทางการเมือง และตามที่ อ.ปิยบุตรว่า กรณี ม.112 รวมถึงกรณีหมิ่นประมาทอื่นๆ ควรเป็นแค่เรื่องทางแพ่งเท่านั้น ใช้การปรับค่าสินไหมทดแทนการลงโทษทางอาญานั้น ตนไม่เห็นด้วย เพราะการทำแบบนั้นยิ่งทำให้คนไม่เท่ากัน คนรวยได้เปรียบ

นายอรรถวิชช์กล่าวต่อว่า ถ้าเราเปลี่ยนมาตรา 112 คดีอาญาที่มีโทษจำคุก ให้เป็นแค่คดีแพ่ง แล้วจ่ายค่าสินไหมทดแทนกันไปแบบ อ.ปิยบุตรเสนอ ตนว่ายิ่งทำให้คนไม่เท่ากัน เท่ากับว่าคนรวยด่าใครก็ได้ ด่าแล้วไปจ่ายค่าสินไหมทดแทนเอา ตนว่ามันจะนำไปสู่สังคมแห่งความไม่เท่าเทียม

ด้านนายปิยบุตรระบุว่า สถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นวันนี้ มาจากการที่ข้อเรียกร้องของเยาวชนที่ชุมนุมมาตั้งแต่ปีก่อน ไม่เคยได้รับการตอบสนองจากรัฐแม้แต่น้อย รวมถึงการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ สถานการณ์เดินทางมาจนถึงขนาดนี้ ก็พยายามจะหาทางคิดรูปแบบว่าจะทำอย่างไรให้ไปต่อได้ เพราะปฏิเสธข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นตลอดสองปีไม่ได้แล้ว การที่มีคนจำนวนมากพูดถึงปัญหาของสถาบันกษัตริย์ ตั้งคำถามต่างๆ เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ เกิดมาจากอะไร

หนึ่ง ตลอดหลายปีที่ผ่านมา มีกลุ่มการเมืองบางกลุ่ม มีทหารบางกลุ่ม พยายามอ้างถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ตลอดเวลา เพื่อแสดงให้เห็นว่าอยู่ฝักฝ่ายเดียวกับตน จนทำให้ฝ่ายที่เขาอยู่คนละข้างตั้งคำถามต่อไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์

สอง ภายหลังรัฐประหาร 2557 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์และ สนช.เปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญและกฎเกณฑ์ของกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจเพิ่มมากขึ้น นั่นทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้น เช่น พระราชกำหนดโอนกำลังพลฯ, พ.ร.บ.สงฆ์, กฎหมายเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ หรือเรื่องของส่วนราชการในพระองค์ การเพิ่มงบประมาณให้แก่สถาบันกษัตริย์จำนวนมากในขณะที่ประเทศมีวิกฤต ก็เลยเกิดการพูดถึงตัวสถาบันกษัตริย์เพิ่มมากขึ้นนั่นเอง

"ผมเชื่อว่าการรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ในยุคนี้ ในปี 2564 ซึ่งอยู่กับกระแสโลกแบบนี้ด้วย ใช้ 112 แบบนี้ไม่ได้ จำเป็นต้องปรับปรุง 112 และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้เป็นแบบญี่ปุ่น อังกฤษ ผมเข้าใจดีว่าคนรุ่นผม คนรุ่นก่อนผม มีทัศนคติที่มองสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่เหมือนกับคนรุ่นนี้ที่กำลังเกิดขึ้นโตขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นจะทำอย่างไร เพราะเราทุกคนต้องอยู่ในสังคมด้วยกัน” นายปิยบุตรกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง