ศาลคดีทุจริตฟันเสี่ยวิชัย ผิด133กรรมจำคุก860ปี!

ศาลคดีโกงสั่งจำคุก “เสี่ยวิชัย” 133 กรรม รวม 860 ปี ส่วนลูกชายกับพวกโดน 38-416 ปี คดีฟอกเงินแบงก์กรุงไทย-กฤษดามหานคร แต่ตาม กม.จำคุกได้ 20 ปี พร้อมสั่งชดใช้กว่า 8,868 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้มีการคำพิพากษาคดีร่วมกันฟอกเงิน หมายเลขดำ อท.214/2561 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายวิชัย กฤษดาธานนท์ อายุ 83 ปี อดีตผู้บริหารกฤษดามหานคร ที่ 1, นายรัชฎา กฤษดาธานนท์ อายุ 56 ปี บุตรชายนายวิชัย อดีตกรรมการผู้มีอำนาจบริษัท โบนัส บอร์น จำกัด ที่ 2, นายบัญชา ยินดี อายุ 63 ปี อดีตกรรมการผู้มีอำนาจบริษัท  อาร์เค โปรเฟสชั่นนัล จำกัด และบริษัท โกลเด้น เทคโนโลยี่ อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ บมจ.กฤษดามหานคร ที่ 3, น.ส.เพชรรัตน์ เทพสัมฤทธิ์พร อายุ 51 ปี อดีตเลขานุการของนายรัชฎา ที่ 4, นายปภพ สโรมา อายุ 69 ปี ผู้มีชื่อเป็นกรรมการใน 3 บริษัท ประกอบด้วย บจก.อาร์เคฯ, บจก.โกลเด้นฯ, บริษัท แกรนด์ คอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด และนายธีรโชติ พรมคุณ อายุ 58 ปี พนักงานของ บมจ.กฤษดามหานคร ที่ 6 ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-6 ในความผิดฐานร่วมกันฟอกเงิน ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2547 มาตรา 4, 5, 9 และ 60 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และ 91  

โดยอัยการโจทก์ระบุฟ้องสรุปว่า เมื่อระหว่างวันที่ 11 ก.ย.2546-ธ.ค.2547 หลังจากที่มีการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ผู้เสียหายให้กับ บมจ.กฤษดามหานคร และบริษัทในเครือโดยมิชอบแล้ว จำเลยทั้ง 6 คน กับพวกอีกหลายคนสมคบกันฟอกเงินที่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อโดยมิชอบ จำนวน 10,400,000,000 บาท โดยนำบริษัทนิติบุคคลที่จำเลยที่ 1-3 มีอำนาจกระทำการแทนมาใช้ในการโอนและรับโอนเงิน โดย น.ส.เพชรรัตน์ได้ทำหน้าที่จัดหาบัญชีธนาคารพาณิชย์และบัญชีซื้อขายของบุคคลอื่น เพื่อให้จำเลยที่ 1 กับพวก นำเงินที่ได้จากการกระทำผิดไปใช้ซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) โดยมีนายปภพเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คจากบัญชีธนาคารของ บจก.โกลเด้นฯ ที่รับโอนเงินจากการกระทำผิดไปเข้าบัญชี บจก.แกรนด์ คอมพิวเตอร์ฯ แล้วนำมาชำระหนี้ค่าซื้อหุ้นแปลงสภาพ บมจ.กฤษดามหานคร ขณะที่นายธีรโชติ ซึ่งเป็นพนักงานขับรถประจำตัวนายวิชัย ทำหน้าที่เปิดบัญชีธนาคารพาณิชย์เพื่อให้นายวิชัยโอนเงินที่ได้ แล้วนำเช็คของธนาคารที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายไปเบิกถอนเป็นเงินสด ตามคำสั่งของนายวิชัย ขณะที่เมื่อ บจก.อาร์เคฯและ บจก.โกลเด้นฯ ได้รับการอนุมัติสินเชื่อจากธนาคารกรุงไทยแล้ว ก็ไม่ได้นำไปปรับโครงสร้างหนี้และจัดซื้อที่ดินเพิ่มเติม  แต่นายบัญชากลับร่วมกับพวกนำเงินนั้นไปออกเช็คแล้วฝากเข้าบัญชีบุคคลต่างๆ  ก่อนเบิกถอนเงินสดไปซื้อขายหุ้นและที่ดิน โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับการปรับโครงสร้างหนี้ นอกจากนี้ระหว่างนั้นพวกจำเลยยังร่วมกันออกเช็คในนามบริษัทนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องเข้าบัญชีธนาคารของพวกจำเลยอีกหลายครั้ง เป็นการสมคบกันฟอกเงิน รวมทั้งสิ้น 141 กรรม

ท้ายฟ้องอัยการโจทก์ขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยตามความผิด และนับโทษนายวิชัย, นายรัชฎา และนายบัญชา จำเลยที่ 1-3 คดีนี้ต่อจากโทษในคดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาให้จำคุกทั้งสามไว้คนละ 12 ปี คดีทุจริตปล่อยสินเชื่อระหว่างของธนาคารกรุงไทย กับกฤษดามหานครที่ศาลฎีกาพิพากษาจำคุกไว้คนละ 12 ปีด้วย จำเลยทั้งหกให้การปฏิเสธ ต่อสู้คดี

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วเห็นว่า จำเลยทั้งหกกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ฟอกเงิน มาตรา 5, 9 และ 60 ป.อาญา มาตรา 83 เป็นความผิดหลายกรรม ให้เรียงกระทงลงโทษทุกกรรม ตามมาตรา 91 พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 กระทำความผิด 133 กรรม รวมโทษจำคุก 860 ปี, จำเลยที่ 2 ทำผิด 28 กรรม จำคุก 118 ปี, จำเลยที่ 3 ทำผิด 52 กรรม จำคุก 416 ปี, จำเลยที่ 4 จำคุก 38 ปี, จำเลยที่ 5 ทำผิด 25 กรรม จำคุก 235 ปี และจำเลยที่ 6 ทำผิด 39 กรรม จำคุก 262 ปี แต่ตามกฎหมายเมื่อรวมโทษจำคุกแล้ว ให้ลงโทษจำคุกได้ไม่เกิน 20 ปี พิพากษาจำคุกจำเลยทั้งหก คนละ 20 ปี

ทั้งนี้ แม้โจทก์ไม่ได้ขอให้ศาลมีคำสั่งริบทรัพย์ แต่เมื่อเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดจากการทุจริต ศาลจึงมีอำนาจสั่งให้ริบทรัพย์ แต่เมื่อทรัพย์ถูกโอนย้ายไปแล้ว ซึ่งยากต่อการติดตามคืน จึงพิพากษาให้จำเลยทั้งหกร่วมกันชดใช้เงินจำนวน 8,868 ล้านบาทเศษ ภายใน 30 วัน หากผิดนัดชำระให้คิดดอกเบี้ยอัตรา 5% ต่อปี นับตั้งแต่วันผิดนัดชำระ และให้บังคับเอาทรัพย์สินของจำเลยได้ไม่เกินจำนวนที่แต่ละคนค้างชำระ

ต่อมาเวลา 16.30 น. ภายหลังฟังคำพิพากษาจำเลยทั้งหมดยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว โดยศาลพิเคราะห์คำร้องพร้อมหลักทรัพย์แล้วไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว เนื่องจากคดีมีอัตราโทษสูง หากปล่อยไปเกรงหลบหนียกคำร้อง โดยจำเลยทั้งหมดยื่นคำร้องขออุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยขณะนี้ศาลอุทธรณ์ไม่มีคำสั่งลงมา เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จึงนำตัวจำเลยทั้งหมดไปคุมขังยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ระหว่างอุทธรณ์ต่อไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง