ธปท.เล็งคุมแคมเปญรูดปรื๊ด

"แบงก์ชาติ" ผวาหนี้ครัวเรือนพุ่ง! วางเป้าปี 2566 เตรียมออกเกณฑ์คุมแบงก์โปรโมตเรื่องของมันต้องมี ทั้งปล่อยกู้เที่ยวเมืองนอก-ผ่อนไอโฟน-ซื้อแบรนด์เนม กระตุกพฤติกรรมก่อหนี้ล้นตัว

เมื่อวันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในช่วงปี 2565 ถึงปี 2566 ธปท.มีนโยบายเร่งแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนให้อยู่ในระดับที่ยั่งยืนกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ราว 80% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) โดยต้องวางเกณฑ์ไม่ควรเพิ่มมากไปกว่านี้ เพราะเป็นการเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนหน้าโควิด-19 ที่อยู่ในระดับ 50% ของจีดีพี และเคยขึ้นไปอยู่สูงสุดในระดับ  90% ในช่วงโควิด-19 ถ้าไม่แก้หนี้ครัวเรือนให้กลับมาอยู่ในระดับที่ยั่งยืน การฟื้นตัวของเศรษฐกิจก็จะสะดุด โดยการแก้หนี้ต้องทำแบบครบวงจร ทั้งช่วงก่อนที่จะก่อหนี้  เป็นหนี้แล้ว และปัญหาหนี้ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะให้น้ำหนักในช่วงท้าย

“อะไรควรทำและอะไรที่ไม่ควรทำในการแก้หนี้ ตรงนี้สำคัญมากๆ มันก็มีกระแสที่อยากจะแก้เร็วแก้เบ็ดเสร็จ  เรื่องนี้อยู่กับเรามานาน มันไม่มีคำตอบที่เป็นยาวิเศษ ทำเร็วเกินไปก็มีปัญหา การแก้ต้องยึดหลักการที่ถูกต้อง” นายเศรษฐพุฒิกล่าว

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท.กล่าวยอมรับว่า ธปท.เป็นห่วงปัญหาหนี้ครัวเรือน เพราะจากการติดตามข้อมูลของ ธปท.  พบว่าสัดส่วนหนี้ 35% เป็นหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลหรือบัตรเครดิต ไม่ใช่สินเชื่อธุรกิจ สินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในอนาคต สำหรับแนวทางการแก้ไขหนี้ครัวเรือนนั้นจะประกอบด้วย 3 แนวทาง คือ 1.การแก้ไขหนี้ในปัจจุบัน หรือลดหนี้ 2.การปล่อยสินเชื่อให้มีคุณภาพ  และ 3.การให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชน

ทั้งนี้ ภายในไตรมาส 1/2566 ธปท.เตรียมออกประกาศ หรือหนังสือเวียนถึงสถาบันการเงินและผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) เพื่อเป็นแนวทางการปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลหรือบัตรเครดิต ที่เป็นลักษณะการโฆษณาผ่านแคมเปญต่างๆ หรือเรียกว่าโฆษณาเพื่อกระตุกพฤติกรรมการใช้จ่าย สำหรับสถาบันการเงินภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท. ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเชื่อว่าจะส่งผลดีในระยะยาว และลดการก่อหนี้ที่ไม่จำเป็นของภาคครัวเรือนลงด้วย

“ธปท.จะเข้าไปดูการก่อหนี้ใหม่ จะปล่อยสินเชื่อให้มีคุณภาพอย่างไร สถาบันการเงินต้องมีความรับผิดชอบต่อลูกหนี้ ซึ่งมีหลายมิติ และต้องไม่กระตุ้นพฤติกรรมให้ก่อหนี้ล้นพ้นตัว ไม่ก่อให้เกิดรายได้ สถาบันการเงินต้องตระหนักกับการออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อ โฆษณาแคมเปญต่างๆ สินเชื่อที่ไม่ก่อประโยชน์กับลูกหนี้” นายรณดล กล่าวและว่า ในปี 2566 ธปท.จะกำหนดหลักเกณฑ์การให้สินเชื่อ ไม่ใช่เฉพาะความสามารถในการจ่ายหนี้ของลูกหนี้ว่าไหวหรือไม่ แต่ต้องดูเงินจะเหลือเพียงพอในการดำรงชีพหรือไม่ โดยพิจารณาจากระดับรายได้สุทธิของลูกหนี้ที่เหมาะสม ซึ่งไม่ใช่เรื่องในระยะสั้น เพราะถ้าออกมาตรการเร็วไปลูกหนี้อาจได้รับผลกระทบ

น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธปท. กล่าวว่า  เกณฑ์ที่จะออกมาต้องไม่เป็นปัญหากับการก่อหนี้ในระยะยาว แคมเปญที่สนับสนุนให้ก่อหนี้จนขาดคุณภาพไม่ได้ยั่งยืน โดยเฉพาะคำที่ในก่อหนี้ประเภท "ของมันต้องมี" ซึ่งจากที่ตรวจสอบมีแคมเปญโฆษณาต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นนอนแบงก์ เช่นให้กู้เพื่อไปท่องเที่ยวเมืองนอก กู้เพื่อซื้อสินค้าแบรนด์เนม กู้ผ่อนมือถือ เช่นไอโฟน 14 ยาวๆ นานๆ  ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้ห้าม แต่อยู่ที่เหมาะสมหรือไม่ เพราะทุกวันนี้มีการกู้เพื่อของมันต้องมี และปัจจุบันเด็กจบใหม่มีหนี้เร็ว และคนไทยยังมีหนี้นาน ใกล้เกษียณแล้วก็ยังมีหนี้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง