กม.ตำรวจฉบับใหม่มีผลแล้ว

“ในหลวง” โปรดเกล้าฯ   กฎหมายตำรวจแห่งชาติฉบับใหม่แล้ว มีทั้งสิ้น 181 มาตรา ชี้เป็นการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม สร้างหลักประกันให้ ตร. เรื่องแต่งตั้งไม่อยู่ใต้อาณัติ! ผุด 2 กรรมการใหญ่ทั้ง “ก.พ.ค.ตร.” และ ก.ร.ตร. วางไทม์ไลน์ 1 ปียุบตำรวจรถไฟ  2 ปียุบภารกิจที่ไม่เกี่ยวข้องการสืบสวนสอบสวน

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 16 ตุลาคม เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ  แล้ว และจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 ต.ค. เป็นต้นไป

ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวมีทั้งสิ้น 82 หน้า 181 มาตรา ซึ่งเหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ระบุว่า รัฐธรรมนูญ 2560 ได้บัญญัติให้ปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมให้เกิดผล จึงจำเป็นต้องปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับหน้าที่ อำนาจ และภารกิจของตำรวจให้เหมาะสม และแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจให้เกิดประสิทธิภาพ มีหลักประกันว่าข้าราชการตำรวจจะได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม ได้รับความเป็นธรรมในการแต่งตั้งและโยกย้าย และการพิจารณาบำเหน็จความชอบตามระบบคุณธรรมที่ชัดเจน

โดยในการพิจารณาแต่งตั้งและโยกย้าย ต้องคำนึงถึงอาวุโสและความรู้ความสามารถประกอบกัน เพื่อให้ข้าราชการตำรวจสามารถปฏิบัติหน้าที่ตามวิชาชีพได้อย่างมีอิสระ ไม่ตกอยู่ใต้อาณัติของบุคคลใด รวมทั้งโอนย้ายภารกิจที่ไม่ใช่ภารกิจหลักออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และแก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจให้เกิดประสิทธิภาพ โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มสายงานต่างๆ การกำหนดกระบวนการในการแต่งตั้งและเลื่อนตำแหน่งไว้ให้ชัดเจนโดยคำนึงถึงอาวุโส ความรู้ความสามารถ และความพึงพอใจในบริการที่ประชาชนได้รับ และให้มีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ เพื่อพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์เรื่องร้องทุกข์ รวมทั้งคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ เพื่อเป็นกลไกสำหรับประชาชนในการร้องเรียนการปฏิบัติที่ไม่ชอบ ตลอดจนให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในกิจการตำรวจ โดยการให้เงินอุดหนุนแก่สถานีตำรวจ และจัดตั้งกองทุนเพื่อการสืบสวนสอบสวน การป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางอาญา เพื่อเป็นแหล่งสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจ

สำหรับคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) นั้น บัญญัติอยู่ในลักษณะ 5 ตั้งแต่มาตรา 33-42 โดยมีจำนวน 7 คน และวาระ 6 ปี  ซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง โดยจะต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นใน 180 นับแต่กฎหมายบังคับใช้ โดย ก.พ.ค.ตร.มีอำนาจหน้าที่เสนอแนะต่อคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เพื่อให้ดำเนินการจัดให้มีหรือปรับปรุงนโยบายการบริหารงานบุคคลในส่วนที่เกี่ยวกับการพิทักษ์ระบบคุณธรรม, พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์, พิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ และพิจารณาเรื่องการคุ้มครองระบบคุณธรรม

นอกจากนั้น กฎหมายนี้ยังให้มีคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ (ก.ร.ตร.) อยู่ในลักษณะ 6 ตั้งแต่มาตรา 43-53 มีจำนวนไม่น้อยกว่า 7 คน วาระ 4 ปี และดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว โดยหน้าที่สำคัญคือพิจารณาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับความเดือดร้อนหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมของประชาชนจากการกระทำหรือไม่กระทำการของตำรวจอันมิชอบ หรือการประพฤติปฏิบัติไม่เหมาะสมและเสื่อมเสียแก่เกียรติศักดิ์ของตำรวจ  กระทำผิดวินัย หรือละเมิดประมวลจริยธรรมและจรรยาบรรณของตำรวจ

พ.ร.บ.ตำรวจฉบับใหม่ยังได้กำหนด ลักษณะ 7 ยศตำรวจและชั้นข้าราชการตำรวจ ตั้งแต่มาตรา 54-59 และในหมวด 3 ซึ่งถือว่ามีเนื้อหาอาจจะมากที่สุดในกฎหมายนี้ คือเรื่องการบรรจุ การแต่งตั้ง และการเลื่อนขั้นเงินเดือน ตั้งแต่มาตรา 71-97 ในขณะที่หมวด 6 เป็นเรื่องของวินัยและการรักษาวินัยตั้งแต่มาตรา 110 ถึง 116 และหมวด 7 การดำเนินการทางวินัย ตั้งแต่มาตรา 117-132

ที่สำคัญกฎหมายใหม่ยังกำหนดลักษณะ 9 กองทุนเพื่อการสืบสวนสอบสวนการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางอาญา ตั้งแต่ 156-161 และบทเฉพาะกาล ตั้งแต่ 162-181 ซึ่งมาตรา 163 ระบุว่า เมื่อครบ 1 ปีที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้กองบังคับการตำรวจรถไฟเป็นอันยุบ และมาตรา 165 ระบุว่า ภายใน 2 ปีนับแต่วันที่ พ.ร.บ.ใช้บังคับ ให้ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการเชิญผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและหัวหน้าหน่วยงานที่รับผิดชอบปฏิบัติการตามกฎหมายเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทบทวนดำเนินการและการมีอยู่ และให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการรายงานความคืบหน้าต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบทุก 3 เดือน เมื่อได้ข้อยุติประการใดแล้ว ให้ตราพระราชกฤษฎีกายุบหรือเปลี่ยนแปลงกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้สอดคล้องกัน

ส่วนมาตรา 166 กำหนดว่า ภายใน 5 ปีนับแต่วันที่ พ.ร.บ.ใช้บังคับ ให้คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ  (ก.ต.ช.) พิจารณาทบทวนหน้าที่และอำนาจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือข้าราชการตำรวจในส่วนที่มีกฎหมายกำหนด และให้รายงานเหตุผลและความจำเป็นต่อ ครม.และรัฐสภาเพื่อพิจารณา.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง