เล็งฟ้องปปช.ดีลทรูควบดีแทค

กสทช.เสียงข้างน้อยยืนยันการรวมธุรกิจทรู-ดีแทค จะกระทบต่อผู้บริโภคและสาธารณะ อันเนื่องมาจากแนวโน้มของสภาวะการแข่งขันที่จะเป็นปัญหาหลังการควบรวม นำไปสู่การผูกขาดและกีดกันการแข่งขัน ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ ขณะที่อดีต กสทช.เผยมติรับทราบการควบรวมธุรกิจ เท่ากับที่ประชุม กสทช.ยอมรับว่าไม่มีอำนาจในการชี้ขาด   ด้านองค์กรของผู้บริโภคจ่อยื่น ป.ป.ช.เชือด

เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2565 ภายหลัง กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. มีมติอนุมัติการควบรวมกิจการของ TRUE และ DTAC โดยกรรมการที่เห็นชอบและไม่เห็นชอบมีเสียงเท่ากัน 2:2 และประธานเป็นผู้ชี้ขาดด้วยการเห็นชอบ งดออกเสียง 1 เสียง มติเห็นชอบกับการควบรวมเป็นแบบมีเงื่อนไข หรือมีมาตรการเฉพาะเพื่อลดผลกระทบในเรื่องค่าบริการ คุณภาพการให้บริการ

ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต หนึ่งในกรรมการ กสทช. เปิดเผยว่า ได้ขอสงวนความเห็น และยืนยันจุดยืนไม่อนุญาตให้รวมธุรกิจ ด้วยข้อกังวลผลกระทบต่อผู้บริโภคและสาธารณะ อันเนื่องมาจากแนวโน้มของสภาวะการแข่งขันที่จะเป็นปัญหาหลังการควบรวม

ทั้งนี้ ได้พิจารณาว่ากรณีดังกล่าวเป็นการถือครองธุรกิจประเภทเดียวกัน ซึ่งสามารถส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางในตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ในแง่การแข่งขัน การคุ้มครองผู้บริโภค และการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ทั้งนี้ โดยอาศัยอำนาจตามข้อ 8 ของประกาศ กทช. เรื่องมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เหตุผลในการยืนยันที่จะไม่อนุญาตให้รวมธุรกิจ มี 7 ข้อ ได้แก่

1.เมื่อรวมธุรกิจ TRUE และ dtac แล้ว จะทำให้เกิดบริษัทใหม่ (NewCo) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC) และบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTN) ดังนั้น ทั้ง TUC และ DTN จะกลายเป็นผู้ประกอบธุรกิจที่มีความความสัมพันธ์กันทางนโยบาย หรืออำนาจสั่งการเสมือนเป็นหน่วยธุรกิจเดียวกัน (Single Economic Entity) ที่ไม่มีการแข่งขันระหว่างกันตามหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า

ทั้งนี้ ก่อนการรวมธุรกิจ TUC มีส่วนแบ่งการตลาดประมาณร้อยละ 31.99 และ DTN มีส่วนแบ่งการตลาดประมาณร้อยละ 17.41 ภายหลังการรวมธุรกิจ NewCo จะมีส่วนแบ่งการตลาดประมาณร้อยละ 49.40 และทำให้ในตลาดเหลือผู้ประกอบการรายใหญ่เพียง 2 ราย (เกิดสภาวะ Duopoly)

2.SCF Associates Ltd. ที่ปรึกษาอิสระจากต่างประเทศซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการแข่งขันและนโยบายการสื่อสารระดับโลกสรุปว่า จากการศึกษาแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบเชิงลบต่อผู้บริโภคมากกว่าข้อดีที่จะเกิดขึ้น อีกทั้งมาตรการเฉพาะเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ก็ไม่สามารถเป็นจริงได้ทั้งหมด ในบริบทของตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของไทย เช่น การสนับสนุนให้เกิดผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (MNO) รายใหม่, การส่งเสริมการแข่งขันในตลาดค้าส่ง, การร่วมใช้คลื่น (Roaming) และการโอนคลื่นความถี่ (Spectrum Transfer) เป็นต้น

นำไปสู่การผูกขาด

ในบริบทของเศรษฐกิจที่จำเป็นต้องลดช่องว่างทางดิจิทัลอย่างประเทศไทย โทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นอุปกรณ์ที่คนใช้มากที่สุดเพื่อเชื่อมต่อออนไลน์ การรวมธุรกิจซึ่งจะนำไปสู่การกระจุกตัวของตลาด และโอกาสที่ค่าบริการจะสูงขึ้น จึงไม่สมควรอนุญาตด้วยเหตุผลเพื่อการพัฒนาประเทศที่ต้องพึ่งพิงตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีการแข่งขันสูงและเป็นตัวกระตุ้นทางเศรษฐกิจ

3.การบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการรวมธุรกิจภายใต้เงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะต่างๆ ที่บังคับ ผู้ขอรวมธุรกิจนั้น ไม่น่าจะช่วยเพิ่มระดับการแข่งขันในตลาดได้ และอาจเป็นไปได้ยากในภายหลังจากการควบรวม โดยในส่วนของ กสทช. ก็จะต้องใช้อำนาจทางกฎหมายและทรัพยากรในการกำกับดูแลอย่างมาก โดยไม่อาจคาดหมายได้ว่าเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะจะส่งผลให้เกิดการแข่งขันในตลาดได้เช่นเดียวกับที่เคยมีอยู่ก่อนการควบรวมหรือไม่

4.ข้อมูลเชิงประจักษ์ที่แสดงถึงประโยชน์ต่อสาธารณะ จากเอกสารประกอบการขอรวมธุรกิจ ยังไม่ชัดเจนและเพียงพอ

5.การรวมธุรกิจมีโอกาสนำไปสู่การผูกขาดและกีดกันการแข่งขัน ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 40, 60, 61 และ 75 และขัดต่อแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม ฉบับที่ 2 ที่ต้องเพิ่มระดับการแข่งขันของการประกอบกิจการโทรคมนาคม

6.การให้รวมธุรกิจจะส่งผลกระทบกว้างขวางและต่อเนื่องในระยะยาว อีกทั้งยังหวนคืนไม่ได้ เพราะตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของไทยอยู่ในภาวะอิ่มตัว ทำให้ผู้เล่นรายใหม่เข้าสู่ตลาดและเข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดได้ยาก เช่นกรณีการรวมธุรกิจของเม็กซิโกและฟิลิปปินส์ ตามรายงานของที่ปรึกษาอิสระจากต่างประเทศ แสดงให้เห็นกรณีของต่างประเทศว่าเป็นเรื่องยากที่จะหวนคืนจากภาวะผูกขาดโดยผู้ประกอบการหนึ่งหรือสองรายไปสู่สภาพการแข่งขันก่อนการรวมธุรกิจ

ไม่มีอำนาจในการชี้ขาด

7.หนึ่งในผู้ขอรวมธุรกิจมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจใกล้ชิดกับกลุ่มธุรกิจครบวงจร (Conglomerate) รายใหญ่ ซึ่งครอบครองตลาดสินค้าและบริการในระดับค้าปลีกและค้าส่งของทั้งประเทศ จึงมีโอกาสที่จะขยายตลาดโดยใช้กลยุทธ์ขายบริการแบบเหมารวม เนื่องจากเป็นผู้มีอำนาจในตลาดค้าส่ง ส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เท่าเทียมกันกับผู้ประกอบการรายอื่น

ด้าน นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา อดีต กสทช. กล่าวว่า การที่ที่ประชุม กสทช. เสียงข้างมาก 3 ต่อ 2 เสียง โดยระบุว่า รับทราบการควบรวมธุรกิจ เท่ากับที่ประชุม กสทช.ยอมรับว่าไม่มีอำนาจในการชี้ขาด โดยอำนาจที่มีคือการใช้อำนาจในการกำหนดเงื่อนไข ภายใต้การควบรวมธุรกิจดังกล่าว

นอกจากนี้ ที่ประชุม กสทช.อาจถกเถียงเรื่องการนำประกาศฉบับใดมาพิจารณา ประกาศ กสทช.เรื่องมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2561 กสทช.จะไม่มีอำนาจเปิดไฟแดง แต่หากใช้ประกาศ กสทช.  เรื่องมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 ร่วมด้วย จะพิจารณาให้ไฟเขียวหรือไฟแดงเป็นดุลยพินิจของ กสทช. ดังนั้นจากมติ 3 ต่อ 2 เสียง จึงเป็นการนำประกาศฯ พ.ศ.2561 มาใช้พิจารณาเป็นหลัก ซึ่งแปลว่า กสทช.ไม่มีอำนาจห้าม จึงทำได้เพียงรับทราบการควบรวมกิจการเท่านั้น

"กรณีที่การประชุมกินเวลาร่วม 11 ชั่วโมงนั้น สะท้อนว่าที่ประชุม กสทช.มีการถกเถียงเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยอาจมีความพยายามหยิบยกข้อมูลในประเด็นต่างๆ มาพิจารณาเพื่อหาทางออกร่วมกัน ซึ่งคาดว่า 4 ชั่วโมงแรก เป็นการหารือเรื่องข้อกฎหมาย และ 6 ชั่วโมงหลังเป็นการพิจารณาเงื่อนไขโดยเฉพาะ ซึ่งเกิดจากการกดดันตัวเองว่าไม่มีอำนาจ ดังนั้น การพิจารณาจึงเป็นไปตามที่ได้กำหนด และกดดันตัวเองไว้ก่อนแล้ว" นพ.ประวิทย์กล่าว

นพ.ประวิทย์กล่าวว่า สำหรับเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะ 5 ข้อนั้น ต้องแยกวิเคราะห์ตามประเด็นที่น่ากังวล ซึ่งแบ่งเป็นมติด้านเงื่อนไขเชิงโครงสร้าง อาทิ ห้ามควบรวมกิจการอย่างน้อย 3 ปี รวมถึงห้ามใช้คลื่นความถี่ร่วมกัน ยกเว้นเป็นไปตามประกาศ กสทช. ห้ามการประกอบกิจการโดยใช้คลื่นความถี่ที่เป็นสิทธิเฉพาะตัว และยังเปลี่ยนมือไม่ได้ นอกจากนี้ยังให้ไปหารือทางกฎหมายว่าหลังจากนี้ 3 ปี หากมีการควบรวมกิจการต้องดำเนินการอย่างไร และจะมีการบังคับให้ขายกิจการบางส่วนหรือไม่

จ่อยื่น ป.ป.ช.สอบ กสทช.

"หลายมาตรการที่ กสทช.กำหนดให้ดำเนินการก่อนควบรวมกิจการ และจะควบรวมกิจการไม่ได้จนกว่าจะทำตามมาตรการดังกล่าวได้อย่างครบถ้วน ส่วนมาตรการด้านราคาทั้งหมด ผู้ขอควบรวมต้องพิจารณาว่าจะยอมรับหรือไม่ หากยอมรับและจดทะเบียนรวมบริษัท ต้องดำเนินการตามเงื่อนไขนี้ ถ้าไม่ยอมรับจะต้องมีการโต้แย้งถึงมาตรการดังกล่าว จึงถือว่าขณะนี้ยังติดไฟเหลืองอยู่ ขณะเดียวกัน เงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะ เป็นการกำหนดจากการควบรวมกิจการ ดังนั้น จึงต้องเริ่มต้นจากผู้ควบรวมกิจการก่อน แต่หลังจากควบรวมสำเร็จ จะมีการปฏิรูปสำหรับผู้มีอำนาจเหนือตลาด เพราะเมื่อเหลือผู้เล่นรายใหญในตลาดเพียง 2 ราย กสทช.ต้องออกเงื่อนไขใหม่ เพื่อให้อยู่ภายใต้กติกาเดียวกัน" นพ.ประวิทย์กล่าว

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) เปิดเผยว่า ในฐานะตัวแทนของผู้บริโภค จะเร่งดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนมติ กสทช.ดังกล่าว พร้อมทั้งขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินฯ เพื่อคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา เนื่องจาก กสทช.ไม่ยอมใช้อำนาจวินิจฉัยกรณีการรวมธุรกิจ TRUE และ DTAC นอกจากนี้ สอบ.จะยื่นเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบว่าสิ่งที่ กสทช.ดำเนินการถือเป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่หรือไม่

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ระบุว่า น่าเศร้าของระบบเศรษฐกิจไทย น่าเสียดายที่ กสทช.ไม่ได้ยึดถือผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นหลัก นำพาธุรกิจโทรคมนาคม ซึ่งเป็นธุรกิจยุทธศาสตร์ของประเทศไปยืนอยู่บนความเสี่ยง ที่จะส่งผลกระทบต่อทั้งผู้บริโภคและเศรษฐกิจของประเทศชาติอย่างมหันต์

ด้าน น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ระบุว่า ในเมื่อ กสทช. ปฏิเสธอำนาจของตัวเองตามรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียง และ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ที่จะทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้บริโภค และป้องกันการผูกขาด จึงจำเป็นต้องยื่นฟ้อง กสทช.ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบต่อ ป.ป.ช.ต่อไป

นายสันติ กีระนันทน์ รองหัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย ระบุว่า เรามีหน่วยงานกำกับดูแล หน่วยงานที่ป้องกันการมีอำนาจเหนือตลาด หลากหลายหน่วยงานในประเทศไทย เพราะมองเห็นปัญหาที่จะเกิดแก่ผู้บริโภคในวงกว้าง รวมทั้งปัญหาที่เกิดกับระบบเศรษฐกิจของประเทศ แต่ในเมื่อหน่วยงานเหล่านี้ไม่ function คำถามคือ เรายุบเลิกหน่วยงานเหล่านี้ให้หมดเลยจะดีไหม.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง