
ทูตสหรัฐอเมริกาเข้าพบนายกฯ ที่ทำเนียบรัฐบาล ยืนยันสนับสนุนบทบาทอย่างสร้างสรรค์ "บิ๊กตู่" ฝากความปรารถนาดีไปยัง "ไบเดน" เข้าใจเหตุผลไม่มาไทย ขณะที่โฆษกรัฐบาลเผยโปรแกรม 2 สัปดาห์นี้ คิวแน่น! บินไปกัมพูชาประชุมผู้นำอาเซียน กลับมาประชุมเอเปกต่อ ยันหารือยุติสงครามรัสเซีย-ยูเครนด้วย
เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2565 เวลา 13.30 น. ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายโรเบิร์ต เอฟ. โกเดก (Mr. Robert F. Godec) เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในโอกาสเข้ารับหน้าที่ เมื่อเสร็จสิ้นการหารือ นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญจากการหารือ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีได้ต้อนรับและแสดงความยินดีในการเข้ารับหน้าที่ของเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย พร้อมชื่นชมความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ที่เติบโตอย่างมีพลวัตในช่วงเวลาที่ผ่านมา และในปีนี้จะครบรอบ 190 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-สหรัฐฯ ทั้งกล่าวชื่นชมเอกอัครราชทูต เชื่อมั่นว่าความรู้และประสบการณ์ของเอกอัครราชทูต จะสนับสนุนความสัมพันธ์และความร่วมมือไทย-สหรัฐฯ เป็นอย่างดี ซึ่งรัฐบาลไทยพร้อมสนับสนุนการทำงานของเอกอัครราชทูตในทุกมิติอย่างเต็มที่ และได้อวยพรให้เอกอัครราชทูตประสบความสำเร็จในการปฏิบัติหน้าที่ และมีความสุขในการพำนักในประเทศไทย
พล.อ.ประยุทธ์ยังฝากความปรารถนาดีไปยังประธานาธิบดีโจ ไบเดน ซึ่งเข้าใจดีถึงเหตุผลที่ไม่สามารถเดินทางร่วมประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปกที่กรุงเทพฯ ได้ แต่คาดว่าจะได้พบกันระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนที่กัมพูชา ทั้งนี้ รัฐบาลไทยพร้อมให้การต้อนรับรองประธานาธิบดี กมลา แฮร์ริส เพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก
โดยเอกอัครราชทูตได้ขอบคุณการต้อนรับของรัฐบาลไทยและประชาชนไทย รัฐบาลสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหรัฐฯ อย่างมาก เอกอัครราชทูตตั้งใจทำงานเพื่อจะกระชับความสัมพันธ์ในทุกระดับให้แน่นแฟ้น ทั้งรัฐบาลต่อรัฐบาล ธุรกิจต่อธุรกิจ ประชาชนต่อประชาชน ทั้งนี้ เอกอัครราชทูตพร้อมร่วมมือกับหน่วยงานของไทย เพื่อจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองในโอกาสการครบครอบ 190 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-สหรัฐฯ
ในโอกาสนี้ เอกอัครราชทูตได้ชื่นชมนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลไทย ในการจัดเตรียมการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปกได้อย่างเรียบร้อยเหมาะสม ซึ่งรวมไปถึงการกำหนดหัวข้อหลักของการประชุมด้วย
ในโอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างกัน โดยนายกรัฐมนตรีสนับสนุนความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ตลอดจนการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG เช่น การขยายการลงทุนของภาคเอกชนสหรัฐฯ และการเสริมสร้างห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมเป้าหมาย การขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล และความร่วมมือด้านพลังงานและเทคโนโลยีสะอาด
ไทยและสหรัฐฯ ต่างยืนยันการสนับสนุนบทบาทอย่างสร้างสรรค์ระหว่างกันในภูมิภาคและอนุภูมิภาค โดยพร้อมที่จะใช้ประโยชน์จากกลไกความร่วมมือต่างๆ ที่มีอยู่ เช่น อาเซียน ACMECS และ Mekong-US Partnership รวมทั้งกลไกที่สหรัฐฯ ริเริ่มขึ้น เช่น กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (IPEF) ทั้งนี้ไทยจะทำงานร่วมกับสหรัฐฯ และประเทศหุ้นส่วนอื่นๆ อย่างใกล้ชิด และประสงค์ที่จะเห็นความก้าวหน้าและประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมต่อประชาชนในภูมิภาค
ในตอนท้าย ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นระหว่างประเทศที่ทั้งสองฝ่ายสนใจอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งเอกอัครราชทูตได้ขอบคุณและชื่นชมนายกรัฐมนตรี ที่ได้ใช้ความรู้และประสบการณ์ของไทยในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนเมียนมา ผ่านทั้งช่องทางทวิภาคี กรอบอาเซียน และองค์การระหว่างประเทศ
พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ว่า ช่วงนี้ตนจะมีการประชุมที่สำคัญสองอย่างคือ การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่ประเทศกัมพูชา ระหว่างวันที่ 10-13 พ.ย. ซึ่งเมื่อเดินทางกลับมาแล้วจะเตรียมการต่อในเรื่องการประชุมความมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอเก 2022 ซึ่งจะมีผู้นำทยอยเดินทางเข้ามาในช่วงก่อนวันที่ 18-19 พ.ย.ที่เป็นการประชุมใหญ่ จึงขอความร่วมมือจากพวกเราในทุกภาคส่วน อะไรที่จะทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อยในช่วงนี้ขอแรงด้วย โดยเฉพาะการเสนอข่าวต่างๆ ขออย่าให้มีผลกระทบซึ่งกันและกัน เพราะส่วนตัวถือว่าการประชุมทั้ง 2 ส่วนที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้เป็นสิ่งสำคัญ
นายกฯ เผยว่า ทุกคนทราบดีอยู่แล้วว่าวันนี้ทุกภูมิภาคทุกประเทศ โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจให้ความสำคัญกับประเทศในภูมิภาคอาเซียนอย่างที่สุด เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรให้การประชุมนี้เกิดขึ้นอย่างเรียบร้อย ปลอดภัยและมีความคืบหน้า เนื่องจากมีหลายประเทศต้องการที่จะมาลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียนของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทย เป็นเป้าหมายหลักสำคัญเช่นเดียวกัน จึงขอให้ทุกคนคำนึงถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น ถ้าหากว่าเราทำให้การประชุมมีปัญหา ขอร้องไปยังบรรดากลุ่มต่างๆ ด้วย และขอให้ประชาชนทุกคนช่วยกันเฝ้าระมัดระวัง
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า การประชุมเอเปกระหว่างวันที่ 14-19 พ.ย.นี้ พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นประธานเปิดนิทรรศการ โมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศไทยจะนำเสนอเป็นหัวข้อหลัก นอกเหนือจากธีม Open Connect Balance ท่ามกลางความท้าทายใหม่ๆ ของโลกในปัจจุบัน ทั้งห่วงโซ่อุปทาน การหยุดชะงัก ปัญหาสภาพอากาศ เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในส่วนของมหาอำนาจต่างๆ และความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ยังคงมีอยู่ ฉะนั้น การประชุมครั้งนี้ประเทศไทยมีโอกาสสำคัญที่จะแสดงบทบาทในการกำหนดทิศทางเบื้องต้น และขอความร่วมมือจากนานาประเทศในประเด็นต่างๆ เพื่อตอบโจทย์ปัญหาต่างๆ ให้คลี่คลายโดยเร็ว
นายอนุชากล่าวว่า ขณะนี้มีผู้นำที่ตอบรับเข้าร่วมประชุมเอเปกครั้งนี้ด้วยตนเองแล้ว 15 เขตเศรษฐกิจ และอีก 5 เขตเศรษฐกิจจะส่งผู้แทนมาเข้าร่วมประชุม ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา, เกาหลีใต้, มาเลเซีย, เม็กซิโก และไต้หวัน ส่วนรัสเซียยังรอการยืนยันการตอบรับอย่างเป็นทางการ ซึ่งการประชุมครั้งนี้จะเป็นการพบหน้าระหว่างผู้นำหลายเขตเศรษฐกิจพิเศษครั้งแรกในรอบ 3 ปีที่มีการรวมตัวกันมากขนาดนี้
ขณะที่อีกส่วนคือ การต้อนรับผู้นำ 3 ประเทศที่ทำเนียบรัฐบาลในช่วงระหว่างการประชุมเอเปก ได้แก่ เวียดนาม, จีน และซาอุดีอาระเบีย โดยจะมีการต้อนรับ และหารือแบบเต็มคณะ ซึ่งมีรัฐมนตรีของแต่ละประเทศมาร่วมไม่ต่ำกว่า 10 คนกันที่ทำเนียบฯ รวมถึงจะมีงานเลี้ยง จึงขอให้คนไทยทุกคนร่วมเป็นเจ้าภาพ เพื่อให้แต่ละประเทศที่เข้ามาเห็นศักยภาพของประเทศไทย ในการเป็นประเทศที่มีขีดความสามารถ สามารถเข้ามาลงทุนได้ไม่ว่าจะภาคส่วนใด ที่เราพยายามดึงภาคลงทุนเข้ามาให้เกิดความเชื่อมั่น
นายอนุชากล่าวว่า รัฐบาลได้เตรียมความพร้อมเรื่องการจัดงานไว้เกิน 90% แล้ว ตั้งแต่การต้อนรับ การประชุมในสถานที่ต่างๆ เนื้อหาสาระที่จะประชุม การสร้างความประทับใจด้วยการจัดกาลาดินเนอร์ ของที่ระลึก รวมถึงโปรแกรมสำหรับคู่สมรส ในส่วนของการรักษาความปลอดภัยได้เตรียมความพร้อมไว้ทุกส่วนแล้ว มีการซักซ้อมความเข้าใจ นอกจากนี้มีผู้สื่อข่าวต่างประเทศลงทะเบียนเข้ามาทำข่าวการประชุมครั้งนี้มากกว่า 2,000 คน เราจึงเตรียมเนื้อหาการประชุมและสิ่งดีๆ ที่ประเทศไทยจะนำเสนอให้ไปเผยแพร่ เพื่อเป็นสปอตไลต์ให้ทั่วโลกได้เห็น
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการหารือทวิภาคีกับนายเอมมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศสหรือไม่ นายอนุชากล่าวว่า นายมาครงจะมาร่วมประชุมเอเปกด้วย ซึ่งในส่วนการหารือทวิภาคีนั้นมีบางส่วนที่ยืนยันมาแล้ว และบางส่วนที่อยู่ระหว่างทาบทาม ซึ่งจะต้องดูจังหวะและเวลา โดยจะมีการแจ้งให้ทราบอีกครั้ง.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สูตรรัฐบาลใหม่ มี 'รทสช.' บนเงื่อนไข 'บิ๊กตู่' วางมือ
นายไพศาล พืชมงคล นักกฎหมาย และอดีตกรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) โพสต์ข้อความเฟซบุ๊กว่า การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ไปไกลแล้ว
ชาวปราจีนจี้รบ. ผุดกก.ระดับชาติ แก้‘ซีเซียม-137’
"ภาคประชาสังคมปราจีนฯ" บุกทำเนียบฯ ขีดเส้น 1 สัปดาห์ ตั้ง คกก.ระดับชาติแก้ปัญหา "ซีเซียม-137"
ยื่นปปช.สอบ3ผู้พิพากษา รอข้อสรุปถอนหมายจับ
โฆษกศาลยุติธรรมเผยการถอนหมายจับ "ส.ว.อุปกิต" ยังอยู่ในขั้นตอนคณะกรรมการสดับตรับฟังรวบรวมข้อเท็จจริงเสนอ
พิษศก.สหรัฐกระทบหนัก กสิกรหั่นส่งออกลบ1.2%
“กสิกรไทย” ฟันธงจีดีพีไทยปี 2566 ยังโต 3.7% ชี้ท่องเที่ยวฟื้นช่วยหนุน
‘ชูวิทย์’รับได้เงิน6ล.แต่ไปบริจาค
เปิดศึก 2 จอมแฉขั้วทุนเทา "ทนายตั้ม" งัดภาพธนบัตรปึกใหญ่ 50 ล้าน
จวกลักไก่ตั้งรัฐบาล ‘บิ๊กตู่’ลั่นไม่ใช่เวลาตอนนี้! พท.ชี้ปชช.ยังไม่ให้อำนาจ
"บิ๊กตู่" ลาราชการสวมเสื้อ รทสช.เปิดตัวทีม ศก.พรรค