อุ้มดีเซลอีก2ด. ทุ่ม8หมื่นล้าน ประกันข้าวปี4

ครม.ทุ่ม 81,266 ล้านบาท  ลุยโครงการประกันรายได้ข้าวปี 4 แจกชาวนาไร่ละพัน พร้อมมาตรการคู่ขนานปีการผลิต 2565/2566 เฉือน 2 หมื่นล้าน อุ้มดีเซลต่อ ไฟเขียวขยายเวลาลดอัตราภาษีสรรพสามิต 5 บาท/ลิตร อีก 2 เดือน ถึง 20 ม.ค.66

ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง   ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว พร้อมมาตรการคู่ขนาน และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/2566 และอนุมัติกรอบวงเงินรวมทั้งสิ้น 81,265.91 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้จากการจำหน่ายข้าวเปลือกในราคาที่เหมาะสมกับต้นทุนการผลิต ป้องกันความเสี่ยงในการจำหน่ายผลผลิต รวมทั้งมีมาตรการคู่ขนานเพื่อการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวไม่ให้ตกต่ำควบคู่กัน ซึ่งรายละเอียดการดำเนินการเช่นเดียวกันกับโครงการในปีผลิตที่ผ่านมา ประกอบด้วย

1.โครงการประกันรายได้ เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2565/66 เป้าหมายเกษตรกร 4.68 ล้านครัวเรือน โดยเป็นการจ่ายส่วนต่างระหว่างราคาเกณท์กลางอ้างอิง (ราคาตลาด) และราคาประกันรายได้ (10,000-15,000 บาทต่อตัน ตามชนิดข้าว) วงเงินรวม 18,700.13 ล้านบาท

2.มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้ เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2565/66   ประกอบด้วย 3 โครงการ เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาข้าวไม่ให้ตกต่ำ รวม 7,482.69 ล้านบาท ได้แก่ (1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2565/66 วงเงิน 7,107.69 ล้านบาท เป็นการจ่ายสินเชื่อเพื่อชะลอข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร จำนวน 2.5 ล้านตันข้าวเปลือก รวมทั้งค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวในอัตรา 1,500 บาทต่อตัน (2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร เป็นการสนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร ประกอบด้วย สหการณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร  วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกเพื่อจำหน่าย และ/หรือเพื่อการแปรรูป วงเงิน 375 ล้านบาท (3) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก เป็นการเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการค้าข้าวที่เข้าร่วมโครงการให้เก็บสต๊อกในรูปแบบข้าวเปลือกและข้าวสาร เป้าหมายเพื่อดูดซับ 4 ล้านข้าวเปลือก เก็บสต๊อกไว้อย่างน้อย 60-180 วัน (2-6 เดือน) นับตั้งแต่วันที่รับซื้อ โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 ใช้จ่ายจากงบปกติของกรมการค้าภายในหรือเงินกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร 

3.โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2565/66 เป้าหมาย 4.68 ล้านครัวเรือน ซึ่งจะจ่ายเงินตรงให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท วงเงิน  55,083.09 ล้านบาท 

นายอนุชากล่าวว่า การจัดสรรวงเงินงบประมาณ เบื้องต้นเป็นไปตามกรอบมาตรา 28 ของพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 โดยโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวมาตรการคู่ขนานและโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2565/66  ได้ดำเนินการเช่นเดียวกับการดำเนินการตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ยังได้กล่าวในที่ประชุม ครม.ว่า เป้าหมายการส่งออกข้าวไทยในปีนี้จะสูงถึง 7.5 ล้านตันด้วย

โฆษกประจำสำนักฯ เปิดเผยด้วยว่า  ครม.อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่..) พ.ศ..... ขยายระยะเวลาการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลและน้ำมันอื่นๆ ที่คล้ายกัน ปรับลดประมาณ 5 บาทต่อลิตร เป็นระยะเวลา 2 เดือนตั้งแต่วันที่ 21 พ.ย.2565 จนถึงวันที่ 20 ม.ค.2566 

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้จัดประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ จากการจัดเก็บรายได้ภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน ลดลงประมาณ 10,000 ล้านบาท/เดือน โดยการดำเนินการมาตรการภาษีในครั้งนี้เป็นระยะเวลาประมาณ 2 เดือน จึงคาดว่ารัฐจะสูญเสียรายได้ประมาณ 20,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม จะเป็นการช่วยรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศไม่ให้ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจนกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศได้ 

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า มาตรการนี้ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจ ภายใต้สถานการณ์ราคาพลังงานที่ยังคงผันผวนทั่วโลก

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า กรมสรรพสามิตเห็นว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งในการใช้มาตรการทางภาษีไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อช่วยไม่ให้ราคาขายปลีกของน้ำมันดีเซลปรับตัวสูงขึ้นจนเกิดผลกระทบต่อประชาชนและเศรษฐกิจภาพรวม ด้วยน้ำมันดีเซลเป็นต้นทุนของการผลิตและการขนส่งของทุกภาคอุตสาหกรรม กรมสรรพสามิตจึงได้ทำการเสนอ ครม.พิจารณาขยายเวลาปรับลดอัตราภาษีสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันประเภทน้ำมันดีเซลออกไปจนถึงวันที่ 20 ม.ค. 2566

 “การปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลในครั้งนี้ เป็นการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่พี่น้องประชาชน รวมถึงส่งเสริมให้กลไกทางเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมสามารถเดินหน้าต่อได้ ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ภายใต้ยุทธศาสตร์ของกรมสรรพสามิตในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยภาษีสรรพสามิต มุ่งเน้นสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เพื่อเดินหน้าประเทศไทยสู่ความยั่งยืน” นายเอกนิติระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง