ป้าย33ล้านลาม พี่ศรี-หมอวรงค์ ยื่นเรื่องสตง.คุ้ย

ก้าวไกลตั้งกระทู้ถามสด “ศักดิ์สยาม” ปมเปลี่ยนป้ายสถานีกลางบางซื่อ รมว.คมนาคมแจงยิบไล่เรียงรายละเอียดงาน “พี่ศรี-หมอวรงค์” ประสานเสียง ยื่นร้อง สตง.คุ้ยฝ่าฝืนกฎหมายฮั้ว ผิดหลักธรรมาภิบาล กระตุกน้องเนวินชะลอโครงการรอตีความ

เมื่อวันที่ 5 ม.ค.2566 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีวาระกระทู้ถามสดด้วยวาจา โดยนายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ตั้งกระทู้ถามสด สอบถามนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กรณีการเปลี่ยนชื่อป้ายสถานีกลางบางซื่อ เป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ที่มีมูลค่า 33 ล้านบาท

โดยนายจิรัฏฐ์ถามว่า ราคาก่อสร้าง 33 ล้านบาทแพงเกินไปหรือไม่ อยู่ดีๆ ทำไมขอเปลี่ยนชื่อ ป้ายเดิมใช้แค่ 3 ปี ยังใหม่อยู่ จะเปลี่ยนชื่ออย่างไร ก็ยังเรียกชื่อสถานีกลางบางซื่อเหมือนเดิม เหตุใดต้องเร่งเปลี่ยนชื่อทันทีเมื่อได้รับพระราชทานชื่อ จนต้องใช้วิธีจัดซื้อเฉพาะเจาะจง ได้บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จํากัด (มหาชน) เป็นผู้ติดตั้ง หลังจากที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพิ่งประกาศราคากลางมา 2 สัปดาห์

“ที่ผ่านมา รฟท.มีหนี้ 2 แสนล้านบาท แต่ยังเปลี่ยนป้ายชื่อให้มีหนี้เพิ่ม ถือว่าเกินกว่าเหตุ เอาเงินมาใช้สุรุ่ยสุร่าย มือเติบเกินไป ทราบว่าบริษัท ยูนิคฯ ที่ได้งานนี้ รฟท.เพิ่งแพ้คดีให้ที่ฟ้อง รฟท. 7,500ล้านบาท เมื่อปลายเดือน พ.ย.2565 ปกติถ้ามีคดีพิพาทขนาดนี้ อย่าว่าแต่แค่จ้างกลับมาทำงาน หน้าก็ยังไม่อยากมอง แต่กลับเปิดโอกาสให้บริษัท ยูนิคฯ ได้งาน อัยการเคยเตือนให้ รฟท.ประนีประนอมกับบริษัท ยูนิคฯ แต่ รฟท.ไม่ทำ ถือว่าปล่อยปละละเลยให้เกิดความเสียหาย ใครจะรับผิดชอบ ส่วนการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ทำไมต้องรอ 15 วัน การตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเป็นสูตรสำเร็จเอาตัวรอดแบบไทยๆ สุดท้ายรอดกันหมด” นายจิรัฏฐ์ถาม

ด้านนายศักดิ์สยามชี้แจงว่า รายละเอียดวงเงินการเปลี่ยนป้ายชื่อ 33 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.งานรื้อถอนป้ายสถานีกลางบางซื่อเดิม 6.2 ล้านบาท 2.งานติดตั้งกระจกและโครงกระจกอะลูมิเนียมใหม่ทั้งหมด มีราคาสูงสุด 24.3 ล้านบาท 3.งานออกแบบ 4.งานติดตั้งและรื้อถอนวัสดุปิดแทนกระจกระหว่างเปิดใช้งาน 1.6 ล้านบาท ยืนยันไม่ได้ว่าราคา 33 ล้านบาทถูกหรือแพง เพราะไม่ใช่คนกำหนดราคา แต่ทุกคนไม่ได้ต่างกันในการเข้าถึงข้อมูล

“การเปลี่ยนชื่อป้ายเป็นเรื่องประเพณีปฏิบัติ เพื่อความเป็นมหามงคล ไม่ใช่ความต้องการของผม เหมือนการเปลี่ยนชื่อสนามบินหนองงูเห่า เป็นสนามบินสุวรรณภูมิ หรือสถานที่ราชการหลายแห่งก็ดำเนินการลักษณะนี้” นายศักดิ์สยามกล่าว

นายศักดิ์สยามกล่าวต่อว่า การต้องจ้างบริษัท ยูนิคฯ เป็นผู้รับผิดชอบ เพราะโครงการสถานีกลางบางซื่ออยู่ในระยะประกันสัญญา จึงต้องให้บริษัท ยูนิคฯ ที่เป็นผู้ก่อสร้างเดิมในโครงการเป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนกรณีที่ รฟท.แพ้คดีบริษัท ยูนิคฯ 7,500 ล้านบาทนั้น คดียังไม่ถึงที่สุด รฟท.ดำเนินการอุทธรณ์คดีอยู่ ส่วนการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเพราะเป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจ ไม่ว่าผลออกมาอย่างไร จะแจ้งให้ประชาชนทราบแน่นอน ไม่มีปกปิด ผิดคือผิด ถ้าถูกก็ต้องดำเนินการต่อ ขอเวลาตรวจสอบเล็กน้อย

ต่อมานายศักดิ์สยามให้สัมภาษณ์เรื่องนี้อีกครั้งว่า ได้ลงนามตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงขึ้นมาแล้ว เมื่อวันที่ 4 ม.ค. ซึ่งไม่ได้บอกว่าราคานั้นถูกหรือแพง ทั้งหมดขอให้รอการตรวจสอบจากคณะกรรมการที่มีรองปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน รวมถึงมีบุคคลภายนอกที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากวิศวกรรมสถาน สภาวิศวกร สภาสถาปัตยกรรม และกรมบัญชีกลางมาร่วมตรวจสอบเรื่องนี้ โดยใช้สอบสวนเวลา 15 วัน

เมื่อถามว่า มีข้อสังเกตว่าบริษัทที่รับทำป้ายนั้นอาจเป็นบริษัทคู่สัญญากับ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ที่ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ไม่เกี่ยวกัน รฟท.ชี้แจงว่าขณะนี้สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ยังอยู่ในการค้ำประกันสัญญา ของบริษัทผู้รับสัญญา จำเป็นที่ต้องทำงานให้สอดคล้องกันได้ ไม่เช่นนั้นเมื่อดำเนินการก่อสร้าง หากเกิดความเสียหายจะไม่มีใครรับผิดชอบ แต่ทั้งหมดขอให้รอผลการตรวจสอบจากคณะกรรมการฯ เชื่อว่าเรื่องนี้ไม่มีอะไรปกปิด โปร่งใส ถ้าผลการสอบสวนออกมาบอกว่าถูกต้อง ก็คือถูกต้อง ถ้าบอกว่าไม่ถูกต้อง ก็ต้องดำเนินการแก้ไข ซึ่งตอนนี้ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้าง ตัวป้ายที่เห็นปัจจุบันนั้นเป็นป้ายเก่า

เมื่อถามว่า นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ร้องเรียนเรื่องนี้ไปสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ไม่เป็นไร ก็ให้ไปร้อง เรามีคณะกรรมการตรวจสอบอยู่แล้ว

ทั้งนี้ นายศรีสุวรรณได้มายื่นคำร้องต่อ สตง. ขอให้ตรวจสอบการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน กรณี รฟท.ว่าจ้างบริษัทเอกชนจัดทำและเปลี่ยนป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์และตราสัญลักษณ์ของ รฟท. ในราคากว่า 33 ล้านบาท โคตรแพงเกินไปหรือไม่ โดยนายศรีสุวรรณระบุว่า พบข้อพิรุธหลายประการจากการที่ รฟท.ใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีเฉพาะเจาะจง ทำให้ไม่เปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ทำให้ได้ผู้รับจ้างในราคาสูงเกินสมควร อาจเป็นการขัดหรือแย้งต่อพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 2560

“แม้ รฟท.จะออกมาแถลงชี้แจงเมื่อวันก่อน ก็ไม่มีเหตุผลหรือน้ำหนักที่เพียงพอที่จะเข้าข่ายข้อยกเว้นเกี่ยวกับการที่ต้องมีความจำเป็นเร่งด่วน และไม่เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ และหากจะล่าช้าออกไปก็ไม่ทำให้กิจการของ รฟท.เสียหายหรือล้มละลาย หรือล่มจมแต่อย่างใด ที่สำคัญ ชื่อสถานีดังกล่าวได้รับพระราชทานชื่อใหม่มาตั้งแต่เดือน ก.ย.2565 แต่เหตุใดจึงมีการเร่งรีบดำเนินการในเดือน ธ.ค.2565 แล้วมาใช้วิธีการประมูลแบบเฉพาะเจาะจง” นายศรีสุวรรณกล่าว และว่า ผู้ที่ได้รับงานดังกล่าวพบว่าเป็นผู้ซึ่งเคยเป็นคู่สัญญา รฟท.มาแล้วไม่ต่ำกว่า 8 โครงการ มูลค่างานรวม 52,512.028 ล้านบาท ซึ่งการใช้อำนาจดังกล่าวอาจเข้าข่ายฝ่าฝืนกฎหมายฮั้วประมูลได้

ขณะที่ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี พร้อมคณะผู้บริหารพรรคเดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อ สตง.ให้ตรวจสอบกระบวนการว่าจ้างเอกชนเปลี่ยนป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อโดยวิธีเฉพาะเจาะจง ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 33 ล้านบาท เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลหรือไม่เช่นกัน โดย นพ.วรงค์กล่าวว่า พรรคไทยภักดีสนับสนุนการเปลี่ยนชื่อจากสถานีกลางบางซื่อไปเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ แต่สิ่งที่ประชาชนตั้งข้อสังเกตคือ ทำไมถึงราคาแพง เพราะตั้งงบประมาณกลางไว้ 34 ล้านบาท แต่มีการชี้เฉพาะเจาะจงที่ราคา 33 ล้านบาท ขณะเดียวกันการจัดจ้างก็ใช้โดยวิธีเฉพาะเจาะจง โดยอ้างว่าเป็นเรื่องความเร่งด่วน ซึ่งหากลองไปดูสถานที่จริง จะพบว่าไม่ได้มีอะไรซับซ้อน แน่จริงเปิดประมูลใหม่ เชื่อว่าจะได้ราคาถูกกว่านี้แน่

"ผมเชื่อตอนนี้การเมืองกำลังหารายได้ เพราะกำลังจะมีการเลือกตั้ง การกระทำอะไรหลายๆ อย่างของรัฐวิสาหกิจ เชื่อว่ามีฝ่ายการเมืองสั่งการ เพียงแต่ไม่มีเป็นลายลักษณ์อักษร จึงขอเรียกร้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ควรสั่งระงับ ให้ สตง.ตรวจสอบก่อนว่าเป็นจริงตามข้อกล่าวหาหรือไม่" หัวหน้าพรรคไทยภักดี กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ศาลอาญาคดีทุจริตฯ นัดฟังคำสั่ง 'ก้าวไกล' ฟ้อง 'กกต.' 2 มาตรฐาน ปมยุบพรรค

ศาลอาญาคดีทุจริตเเละประพฤติมิชอบกลาง อ่านคำสั่งในคดีที่ เรือเอก ย. เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคณกรรมการการเลือกตั้งทั้ง6 เเละเลขาฯกกต.กับพวกรวม 7 คน คดีอาญาหมายเลขดำที่ อท 58/2567 ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157ประกอบมาตรา83