ฝ่ายค้านห่วง3นิ้วอดข้าว โหนญัตติสภาขย่มรัฐบาล

สภาถกญัตติด่วน 2 นักกิจกรรมมาตรา 112 อดอาหารประท้วง “ชลน่าน” ขอศาลเมตตาวางเงื่อนไขประกันตัวเหมาะสม ติดกำไลอีเอ็ม ควบคุมพื้นที่ 24 ชม. เกินขอบเขต “รมว.ยุติธรรม” พร้อมทบทวนระเบียบคุมขังที่บ้านได้ ก้าวไกลได้ทีอัดวิกฤตกระบวนการยุติธรรม แนะร่วมหาทางออก

วันที่ 1 ก.พ. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม ภายหลังสมาชิกหารือปัญหาเรื่องต่างๆ นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือตะวัน และ น.ส.อรวรรณ ภู่พงษ์ หรือแบม ผู้ต้องคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่อดอาหารประท้วง หากปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้จะเกิดอันตราย และส่งผลต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ฝ่ายค้านจึงมีความเห็นร่วมกัน ให้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ และนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เสนอญัตติด่วนด้วยวาจา เรื่องสิทธิประกันตัว และการใช้กฎหมายล้มเกินแก่ผู้แสดงออกและแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เพื่อให้ที่ประชุมได้พิจารณาเสนอเป็นเรื่องด่วน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เนื่องจากญัตติด่วนดังกล่าวเป็นการแทรกการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ..... ที่รออยู่ ทำให้ ส.ส.พรรคภูมิใจไทยคัดค้าน และขอให้เลื่อนเสนอญัตติด่วนด้วยวาจาเรื่องนี้เป็นวันที่ 2 ก.พ.แทน แต่ ส.ส.ฝ่ายค้านยืนยันจะต้องเสนอวันนี้ เพราะเป็นความปลอดภัยของเยาวชน กระทั่งนายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า พรรคไม่ติดใจแล้ว แต่ขอให้ฝ่ายค้านอยู่เป็นองค์ประชุมในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ด้วย โดยขอให้ถือเป็นสัจจะลูกผู้ชาย ซึ่งนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ในฐานะวิปฝ่ายค้าน รับปากจะอยู่เป็นองค์ประชุมให้ถึงช่วงเย็นวันที่ 1 ก.พ.

 นพ.ชลน่านกล่าวเสนอญัตติด่วนด้วยวาจาว่า ขอให้ปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังทางการเมือง น.ส.ทานตะวันและ น.ส.อรวรรณ ที่กำลังอดอาหารประท้วงเพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 112 และการปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมืองทุกคน แม้เด็ก 2คนได้สิทธิประกัน ภายใต้เงื่อนไขที่จำกัดสิทธิเสรีภาพาเกินขอบเขต เช่น ติดกำไลอีเอ็ม ควบคุมพื้นที่ตลอด 24 ชั่วโมง เป็นเรื่องรับไม่ได้ คนไม่ใช่สัตว์ เป็นการจำกัดสิทธิเกินเหตุ ขอให้ผู้มีอำนาจทั้งคณะผู้พิพากษา ศาลใช้ดุลยพินิจพิจารณาให้ดี การให้ประกันตัวผู้ต้องขังทางการเมืองต้องมีเงื่อนไขเหมาะสม มีเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ และขอให้พรรคการเมืองประกาศนโยบายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน โดยเฉพาะคดีการเมือง การยกเลิกมาตรา 112 ทุกพรรคควรพิจารณาจะตอบสนองข้อเรียกร้องได้อย่างไร หลายมาตราเป็นเครื่องมือกำจัดผู้เห็นต่างทางการเมือง เช่น แค่มีขันแดงในมือก็เป็นภัยความมั่นคง บางคนอาศัยกฎหมายเหล่านี้เป็นเครื่องมือทำลายคู่แข่งทางการเมือง มาตรา 112 เป็นกฎหมายอาญา แต่ถือเป็นกฎหมายความมั่นคง ถ้าเอามาใช้ไม่ถูกทาง ปัจจุบันนำมาใช้ล้นเกิน ขาดหลักนิติธรรม จนเกิดผลกระทบต่อประชาชนและสถาบัน ปากบอกจงรักภักดี แต่การกระทำไม่ใช่ ขอให้สภาช่วยหามาตรการแก้ไข

นพ.ชลน่านกล่าวอีกว่า พรรคเพื่อไทยเห็นว่าเรื่องนี้ละเอียดอ่อน มีความเห็นต่างสุดขั้ว ลักษณะเช่นนี้จะสร้างความแตกแยกในสังคม ดังนั้นสภาควรเป็นเวทีพูดคุย หาจุดร่วมในสังคม คาดการณ์จะยุบสภาวันที่ 15 มี.ค. แต่เกรงว่าจะไม่มีการเลือกตั้ง ถ้าปล่อยให้เหตุการณ์นี้บานปลาย หรืออาจมีใครต้องการให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น และชักใยอยู่ โดยไม่ยอมทำอะไรเลย ถือว่าอำมหิตมาก เอาชีวิตเด็กมาแลกกับการสืบทอดอำนาจต่อไป เพื่อไม่ให้มีการเลือกตั้ง ถ้าข้อกล่าวหานี้เกิดขึ้นจริงต้องไปสืบเสาะให้ได้ว่าเป็นใคร สมควรอยู่ในประเทศนี้หรือไม่ เพียงต้องการสืบทอดอำนาจ ก็เอาชีวิตมนุษย์ไปแลกกับความต้องการของตัวเอง หวังว่าจะไม่เกิดขึ้น อยากให้นำข้อเสนอเหล่านี้ส่งให้ ครม. และรัฐบาลนำไปดำเนินการแก้ไขด้วย ฝากกรมราชทัณฑ์ การที่เด็ก 2 คนขอเรียกร้องไปรักษาในโรงพยาบาลที่มีความมั่นใจ แสดงว่าโรงพยาบาลราชทัณฑ์ไม่สามารถสร้างหลักประกันที่เป็นความมั่นใจในความปลอดภัยให้เด็กทั้ง 2 คน

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า เมื่อวันที่ 31 ม.ค. ไปเยี่ยมตะวันและแบม น้ำหนักตัวลดไป 10 กิโลกรัม กระทรวงได้พยายามแก้ปัญหานี้ ส่งเข้ารพ.ธรรมศาสตร์ฯ ได้พูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีข้อสรุปเบื้องต้น 4 ประเด็น  หนึ่ง กระทรวงพร้อมเจรจาดำเนินการปฏิรูปประเด็นปล่อยตัวชั่วคราว ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมากยิ่งขึ้น โดยในรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าในคดีอาญาให้สันนิษฐานผู้ต้องหา หรือจำเลยไม่มีความผิดก่อนคำพิพากษา การจับกุมคุมขังกระทำเท่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันไม่ให้หลบหนีเท่านั้น, สอง พร้อมทบทวนระเบียบปฏิบัติต่อผู้ต้องขังคดีความเห็นต่างทางการเมือง ที่ไม่ได้รับสิทธิประกันตัวชั่วคราวให้สามารถกุมขังในสถานที่อื่นที่ไม่ใช่เรือนจำได้ รวมถึงคุมขังที่บ้าน เพื่อไม่ให้มีการปฏิบัติต่อบุคคลที่มีความเห็นต่างเสมือนว่าเป็นผู้กระทำความผิดแล้ว, สาม พร้อมสนับสนุนหลักประกันปล่อยตัวชั่วคราว ผ่านกลไกลกองทุนยุติธรรม และสี่ กสม.จัดทำข้อเสนอแนะปรับปรุงแก้ไขกฎหมายไปยัง ครม.และรัฐสภา

 “รู้สึกสงสารทั้งสองคน อดอาหารจริงๆ ไม่เหมือนในอดีตที่แอบรับทานตอนกลางคืนบ้าง ผมได้เห็นถึงความตั้งใจและเอาจริงเอาจัง อย่างไรก็ดี วันนี้ทางกรมราชภัณฑ์ยังได้ส่งตัวสิทธิโชค เศรษฐเศวต ไปรพ.เดียวกันกับแบมและตะวัน เนื่องจากเริ่มอดอาหารประท้วงแต่ยังดื่มน้ำตั้งแต่วันที่ 26 ม.ค.ด้วย” รมว.ยุติธรรมกล่าว

ขณะที่นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ข้อเรียกร้องของแบมกับตะวันเป็นข้อเรียกร้องที่เราสามารถทำให้เกิดขึ้นได้ การไม่ให้ประกันตัว โดยที่ไม่มีพฤติกรรมใดไม่ว่าจะเป็นยุ่งเหยิงในพยานหลักฐาน หรือหลบหนี ผู้ต้องหาจำนวนมากกลับไม่ได้การประกันตัว ศาลไม่สามารถอธิบายเหตุผลให้หลายๆ กรณีให้เข้าองค์ประกอบได้เลย ศาลทำราวกับว่าผู้ต้องหาเหล่านี้ถูกตัดสินไว้แล้วว่าเป็นผู้กระทำความผิด นอกจากการไม่ให้ประกันตัว ในหลายกรณีมีการตั้งเงื่อนไข เช่น อย่าไปกระทำความผิดซ้ำ อย่าไปชุมนุมทางการเมือง ทั้งๆ ที่สิทธิเหล่านี้ถูกประกันเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ เราต้องยอมรับความจริงกันได้แล้วว่าวันนี้เราอยู่ในช่วงเวลาที่กระบวนการยุติธรรมเกิดวิกฤต เป็นช่วงเวลาที่เราต้องหาทางออกจากวิกฤตนี้ เรามีเด็กและเยาวชนนับร้อยนับพันที่ถูกดำเนินคดีและพิจารณาด้วยกระบวนการที่ไม่เป็นธรรม ถ้าเราไม่ทำอะไรเลยก็จะมีเหตุการณ์แบบนี้เรื่อยๆ

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ อภิปรายว่า เรื่องของตะวันและแบมอาจจะเป็นจุดหนึ่งที่เราต้องมาทบทวนเรื่องกระบวนการยุติธรรม เนื่องจากวันนี้เรายอมรับว่าหลักพื้นฐานบุคคลทุกคนต้องอยู่ภายใต้การบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน และเรื่องนี้เป็นเรื่องของการประกันตัวที่เกิดจากเขามีสิทธิเสรีภาพ ซึ่งตนเห็นว่าตามรัฐธรรมนูญมาตรา 29 เขียนไว้ชัดเจนว่าคำขอประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย ต้องได้รับการพิจารณา การไม่ให้ประกันต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งสิ่งที่กำลังเผชิญหน้าอยู่ ไม่ทราบว่าถ้าปล่อยไปชีวิตของน้องทั้งสองจะเป็นอย่างไร แต่ในเมื่อกระบวนการยุติธรรมของเราอาจจะมีข้อบกพร่อง

หลังสมาชิกอภิปรายแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวางเสร็จสิ้นแล้ว นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯ คนที่สอง ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม ได้สอบถามว่ามีสมาชิกคัดค้านหรือไม่ เมื่อไม่มีผู้ใดคัดค้าน ถือว่าสภามีมติส่งญัตติด่วนดังกล่าวไปให้รัฐบาลพิจารณา.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'วันนอร์'มั่นใจคนไทยเกินครึ่งมาใช้สิทธิ์ประชามติเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ

'ปธ.สภา' ชี้ช่องรัฐบาลใช้กฎหมายเดิมทำประชามติได้ แค่ถาม ปชช.อยากแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ ระบุหากต้องการแก้ ก็เสนอเข้ามาช่วงเปิดวิสามัญได้ เชื่อคนออกมาใช้สิทธิเกินครึ่ง