15ก.พ.‘อบต.’ลุ้นเงินเพิ่ม

อบต.กว่าแสนรายเตรียมเฮ! ได้ของขวัญหลังวาเลนไทน์ ลุ้นมหาดไทยประชุมนัด 15 ก.พ.นี้ ไฟเขียวขึ้นเงินเดือน-ค่าตอบแทน หลัง "อนุพงษ์-รองปลัด มท.-อธิบดี สถ." เห็นชอบแล้ว   เลขาฯ สมาคม อบต.เชื่อหากไม่มีดรามาจบในเดือน ก.พ.นี้

เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2566 นายปราโมทย์ เพชรรัตน์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ปากแพรก จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในฐานะเลขาธิการสมาคม องค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย และกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ให้สัมภาษณ์ถึงการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้ขึ้นเงินเดือนค่าตอบแทนแก่ อบต.ว่า ก่อนหน้านี้สมาคม อบต.ส่งเรื่องการขอขึ้นเงินเดือน-ค่าตอบแทนให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) ต่อมาอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) เห็นชอบในหลักการ และส่งเรื่องผ่านไปยังนายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัด มท. ซึ่งก็เห็นชอบ และส่งเรื่องให้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ซึ่งก็เห็นชอบในหลักการ และส่งเรื่องกลับไปให้ฝ่ายกฎหมาย สถ. เพื่อดูรายละเอียดการปรับขึ้นค่าตอบแทนให้ใกล้เคียงและใช้หลักเกณฑ์เดียวกันกับเทศบาล

นายปราโมทย์กล่าวต่อว่า คณะกรรมการฝ่ายกฎหมาย สถ.ได้ประชุมกัน และเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 8 ก.พ. จากนั้นคณะกรรมการฯ ได้ส่งเรื่องไปทำบัญชีแนบท้าย รายละเอียดการขึ้นค่าตอบแทน เพื่อส่งเรื่องให้เข้าสู่การพิจารณาของฝ่ายกฎหมาย มท. โดยวันพุธที่ 15 ก.พ. มีการนัดประชุมแล้ว หากที่ประชุมฝ่ายกฎหมายพุธนี้เห็นชอบด้วย กรรมการก็แจ้งมติไปยัง พล.อ.อนุพงษ์ และหาก พล.อ.อนุพงษ์เห็นชอบด้วยทั้งหมด ก็สามารถลงนามประกาศเป็นระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยเงินค่าตอบแทนให้กับ อบต.ทั่วประเทศให้มีผลบังคับใช้ได้ทันที ไม่ต้องออกเป็นกฎหมายไปให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ไม่เหมือนกับค่าตอบแทนของกำนันผู้ใหญ่บ้าน ที่ต้องออกเป็นกฎหมาย โดยจำนวนเงินที่ขอเพิ่มนั้นจะเท่ากับอัตราค่าตอบแทนของเทศบาล ทั้งเงินเดือน ค่าตอบแทนพิเศษ และเงินประจำตำแหน่ง

 “เท่าที่ผมเคยได้พูดคุยกับฝ่ายกฎหมายของมหาดไทย คาดว่าการขึ้นเงินเดือน อบต.ครั้งนี้น่าจะเสร็จทันภายในเดือน ก.พ.นี้ โดยหากไม่มีอุปสรรคใดๆ ไม่มีดรามาทางการเมืองหรือดรามาส่วนราชการที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ก็ต้องรอลุ้นพุธนี้ แต่หากไม่สำเร็จ เราก็จะเดินหน้าต่อในรัฐบาลชุดหน้า” นายปราโมทย์กล่าว

เลขาธิการสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลฯ ย้ำว่า การเรียกร้องให้ขึ้นเงินเดือน-ค่าตอบแทนให้ผู้บริหารและสมาชิก อบต.ทั่วประเทศ สมาคม อบต.ได้เคลื่อนไหวมาระยะหนึ่งแล้ว เพราะมองว่าผู้บริหาร อบต.กับเทศบาล ซึ่งเป็นสององค์กรปกครองท้องถิ่น ซึ่งบริบทการทำงานและภารกิจเหมือนกัน แต่ค่าตอบแทนของ อบต.กับเทศบาลกลับแตกต่างกัน ทั้งที่ค่าตอบแทนของ อบต.กับเทศบาลคิดค่าตอบแทนจากฐานรายได้ของท้องถิ่นเหมือนกัน เช่น เทศบาลที่มีรายได้แต่ละปีอยู่ที่ 25-50 ล้านบาท ให้ค่าตอบแทนนายกเทศมนตรีไว้ที่ 28,800 บาท เงินประจำตำแหน่ง 6,000 บาท เงินตอบแทนพิเศษ 6,000 บาท รวมแล้วประมาณ 4 หมื่นต้นๆ ต่อเดือน แต่ อบต.ที่มีรายได้ 25-50 ล้านบาทต่อปี นายก อบต.ได้เงินเดือน 21,120 บาท เงินประจำตำแหน่ง 1,900 บาท เงินตอบแทนพิเศษ 1,900 บาท รวมแล้วก็ประมาณกว่า 20,000 ต่อเดือน

“อบต.หลายแห่งมีพื้นที่ใหญ่กว่า มีประชากรมากกว่าเทศบาลมาก แต่ค่าตอบแทนต่างกัน บางเทศบาลมีประชากรแค่กว่า 600 คน อย่าง อบต.ท่าขนอน กับเทศบาลตำบลท่าขนอนที่ จ.สุราษฎร์ธานี พบว่าเทศบาลมีประชากรแค่กว่า 2,000คน ส่วน อบต.ท่าขนอนมีประชากรกว่า 5,000 คน แต่ค่าตอบแทนแตกต่างกันมาก สมาชิก อบต.ได้กว่า 7,000 บาท แต่สมาชิกสภาเทศบาลได้กว่า 10,000 บาท”นายปราโมทย์กล่าว

 นายปราโมทย์ย้ำว่า เพื่อลดความเหลื่อมล้ำตรงนี้ จึงควรคิดเรื่องการขึ้นค่าตอบแทน เพราะกว่า 10 ปีแล้ว อบต.ไม่ได้ขึ้นค่าตอบแทนเลย มันควรมีการปรับเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของท้องถิ่นด้วยกันเอง ยืนยันว่าการเคลื่อนไหวช่วงนี้อาจถูกมองว่ามาทำช่วงเลือกตั้ง แต่จริงๆ แล้วที่ผ่านมาผู้บริหารสมาคม อบต.ไม่ได้เคลื่อนไหวอย่างจริงจังแบบยุคนี้ โดยทำได้แค่ออกมาบ่นเท่านั้น อย่าง อบต.คลองสาม ปทุมธานี มีรายได้ต่อปี 500 ล้านบาท ดูแลประชาชนเกือบกว่า 50,000 คนมากกว่าเทศบาลหลายแห่ง หรือพื้นที่ อบต.ที่สุราษฎร์ธานี ก็มีพื้นที่และประชากรมากกว่าเทศบาลในสุราษฎร์ธานีที่อยู่ติดกัน แต่ค่าตอบแทนของผู้บริหารและสมาชิก อบต.ต่ำเตี้ยมาก สมาชิก อบต.บางแห่งได้ผลตอบแทนต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำด้วยซ้ำ

 “ค่าตอบแทนผู้บริหารและสมาชิก อบต.เป็นเพียงแค่ประกาศ เพราะใช้งบของ อบต.แต่ละแห่งเบิกจ่ายให้ ไม่กระทบกับการพัฒนาพื้นที่ และช่วงหลังที่มีการปรับลด อบต. ทำให้ตอนนี้มีสมาชิก อบต.ทั่วประเทศแค่กว่าแสนคน จากเดิมเกือบ 3 แสนคน เท่ากับลดไปเกือบครึ่งหนึ่ง ส่วนผู้บริหารยังมีเท่าเดิม ดังนั้นหากมีการขึ้นเงินเดือน อบต.ทั่วประเทศ จะไม่กระทบกับงบประมาณของ อบต.ในการดูแลประชาชนและพัฒนาพื้นที่”

นายปราโมทย์ยังกล่าวถึงกรณีพรรคการเมืองตั้งข้อสังเกตการขึ้นเงินค่าตอบแทน อบต. ทำไมมาทำตอนนี้ จะเข้าข่ายเป็นการหาเสียงเชิงนโยบายว่า การเคลื่อนไหวเรื่องนี้เกิดหลังจากปรับเปลี่ยนทีมผู้บริหารสมาคม อบต.เมื่อปี 2565 ซึ่งเดิมทีมผู้บริหารเดิมของสมาคม อบต.ชุดเดิมไม่ได้เรียกร้องเรื่องนี้ แต่เมื่อทีมผู้บริหารชุดปัจจุบันเข้ามา ก็เริ่มเคลื่อนไหว โดยสัมมนา อบต.ทั่วประเทศที่ จ.เชียงใหม่ และเคลื่อนไหวมาต่อเนื่องจนถึงตอนนี้ที่ใกล้ได้ข้อยุติ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง