28ก.พ.ระทึก!โหวตพรก.อุ้มหาย

จับตา 28 ก.พ. สภาประชุมนัดพิเศษพิจารณาร่าง พ.ร.ก.อุ้มหาย หากไม่ผ่าน-สภาล่ม รัฐบาลมี 2 ทางเลือก ยุบสภากับลาออก "วิษณุ" เผยยุบไม่ยากเพราะรัฐบาลตั้งใจยุบสภาอยู่แล้ว  "ชลน่าน" ยันเพื่อไทยอยู่เป็นองค์ประชุม  แต่รัฐบาลต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ขู่หากร่างพ.ร.ก.ผ่าน ฝ่ายค้านเข้าชื่อส่งศาล รธน.วินิจฉัยทันที

ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เดินทางมาที่ทำเนียบรัฐบาล โดยระบุว่ามาพบนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี

ผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นการหารือเกี่ยวกับ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 ที่ ครม.ส่งให้สภาพิจารณาในช่วงปิดสมัยประชุมหรือไม่ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ตอบว่า ยังไม่ทราบ

เมื่อถามว่า เป็นการเรียกมาหารือเป็นการด่วนหรือไม่ ผบ.ตร.ปฏิเสธตอบคำถามและรีบเดินขึ้นห้องทำงานนายวิษณุ  ในตึกบัญชาการ 1 ทันที

ต่อมานายวิษณุให้สัมภาษณ์ภายหลังการหารือกับ ผบ.ตร.ว่า ได้พูดคุยกันหลายเรื่อง และหนึ่งในนั้นมีเรื่องพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ส่งให้สภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว และสภาได้บรรจุอยู่ในวาระการพิจารณาที่จะมีขึ้นในวันที่ 28 ก.พ.นี้ จึงต้องมาเตรียมการเพื่อที่ ผบ.ตร.จะต้องไปร่วมชี้แจงด้วย ส่วนเรื่องอื่นๆ เป็นเรื่องเล็กน้อย และไม่ได้มีการพูดคุยถึงเรื่องข้อมูลต่างๆ จากนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ เพราะตนไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าว  

ผู้สื่อข่าวถามว่า การพิจารณาร่างพ.ร.ก.ดังกล่าว รัฐบาลมีความกังวลใดเป็นพิเศษหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า  กังวลว่าองค์ประชุมจะไม่ครบ แล้วล่ม แต่ถ้าล่มก็ไม่เป็นไร แต่กลัวว่าถ้ามีการล้มพ.ร.ก.นี้จริง ก็จะตกไป และเหตุที่ตนกลัว เป็นเพราะ ส.ส.ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมาประชุมสภา บางคนคิดว่าเป็นวันสุดท้าย จะไม่มีการประชุมแล้ว โดย ส.ส.ฝ่ายค้านที่เตรียมจะล้ม พ.ร.ก.ฉบับนี้อยู่นั้น นัดกันมาพร้อมเพรียง แต่ฝ่ายรัฐบาลอาจไม่พร้อม

เมื่อถามว่า ถ้าไม่สามารถพิจารณา พ.ร.ก.ดังกล่าวได้ แล้วตัว พ.ร.บ.ที่ออกไปก่อนหน้านี้แล้วจะมีปัญหาในการบังคับใช้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ มีหลายมาตรา และมาตราสำคัญต่างๆ ไม่ใช่มาตราที่ถูกเลื่อนวันบังคับใช้ ส่วนมาตราที่ถูกเลื่อนนั้นคือมาตราที่ 22, 23, 24 และมาตรา 25 เป็นเรื่องเกี่ยวกับการบันทึกกล้องด้วยภาพและเสียงในการจับกุมไว้ตลอด แล้วเก็บไว้ตลอดจนคดีหมดอายุความ ตรงนี้ถ้าไม่มีการเตรียมการให้ดีจะไปหากล้องจากไหน และจะเก็บภาพอย่างไร แล้วจะส่งเข้าระบบคลาวด์อย่างไร เพราะเวลาคดีขึ้นสู่ศาล หลังจากจับกุมไป 2 ปี จำเลยอาจมีสิทธิ์บอกกับศาลได้ว่าวันที่มีการจับกุมนั้นเจ้าหน้าที่ไม่ได้มีการบันทึกภาพไว้ จึงอ้างว่าเป็นการจับกุมโดยไม่ชอบ ศาลก็จะต้องสั่งให้เรียกดู จึงต้องมีแหล่งจัดเก็บข้อมูล 

ส่วนมาตราอื่นๆ ยังถือว่าศักดิ์สิทธิ์และดี เช่น เวลาจับ ให้มีการบันทึกภาพ  เวลาอุ้ม ห้ามฆ่า ห้ามทรมาน หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนวันใช้ พ.ร.บ.ก็ให้นำกฎหมายฉบับนี้ไปใช้โดยอนุโลม มาตราเหล่านี้ ไม่มีการยืดเวลาเริ่มวันบังคับใช้ แต่ยืดกำหนดเวลาเฉพาะมาตรา 22 ในเรื่องการคุมตัวผู้ต้องหา โดยผู้ที่จับกุมไม่ใช่เฉพาะแค่เจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่ขนส่งทางบก เจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งผู้ที่ไปดำเนินการควบคุมตัวต้องมีการบันทึกภาพและเสียง 

รองนายกฯ กล่าวว่า ครม.ได้มีการอนุมัติงบประมาณ 444 ล้านบาท ในการจัดซื้อกล้องบันทึกภาพ โดยวิธีประมูลอี-บิดดิ้ง ซึ่งต้องมีการออกระเบียบ จึงให้ขยายเวลาไปเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.66 ซึ่งเป็นช่วงที่มีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามา นี่จึงเป็นเหตุผลที่มีการเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายมาตราดังกล่าว ส่วนมาตราอื่นๆ ยังใช้เหมือนเดิม

เมื่อถามถึงกรณีที่ฝ่ายค้านเตรียมจะล้มร่างกฎหมายฉบับนี้ ถ้าล้มรัฐบาลต้องลาออกหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ตามหลัก ถ้ากฎหมายที่เสนอรัฐบาลไม่ผ่าน รัฐบาลต้องลาออก แต่อย่าลืมว่ามี 2 ทางเลือกคือ รัฐบาลลาออกหรือยุบสภา โดยสมัยรัฐบาลของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้ออก พ.ร.ก.เก็บภาษีน้ำมันเบนซินดีเซล แต่ปรากฏว่าไม่ผ่านความเห็นชอบของที่ประชุมสภา พล.อ.เปรมเลือกที่จะยุบสภา

"ครั้งนี้ ถ้า พ.ร.ก.ดังกล่าวไม่ผ่านความเห็นชอบรัฐสภา รัฐบาลก็เลือกจะยุบสภา เพราะตั้งใจว่าจะยุบอยู่แล้ว และการจะยุบนั้นไม่ยาก มีแต่ปัญหาที่จะตามมาคือ ถ้า พ.ร.ก.นี้ไม่ผ่านความเห็นชอบของที่ประชุมสภา ตำรวจจะต้องกลับมาใช้วิธีการบันทึกเทปโดยที่ยังไม่มีความพร้อม  ซึ่งจะเกิดปัญหาดังกล่าวทั่วประเทศ เพราะคดีที่มีการจับกุมมาแล้วอาจต้องปล่อยผู้ต้องหาเป็นหมื่นเป็นแสนราย เพราะตำรวจก็จะไม่กล้าจับกุม ถ้าไม่มีการบันทึกภาพ เนื่องจากเกรงว่าจะมีความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157" รองนายกฯ กล่าว

ที่รัฐสภา นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร แถลงว่า หลังจากที่สำนักนายกรัฐมนตรีได้ส่งพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 พ.ศ.2566 ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ เพื่อให้รัฐสภาพิจารณา นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้มีหนังสือนัดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 4 ครั้งที่ 31 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) เป็นพิเศษ ในวันอังคารที่ 28 ก.พ.นี้ เวลา 09.30 น.เป็นต้นไป เพื่อพิจารณาเรื่องด่วนดังกล่าว

ด้านนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เปิดเผยว่า หากไม่ผ่านความเห็นชอบ ก็เป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีจะต้องรับผิดชอบ และขอย้ำว่าเป็นเรื่องที่แต่ละพรรคการเมืองที่ร่วมรัฐบาลต้องรับผิดชอบ เพราะถือเป็นร่างกฎหมายสุดท้ายของสภาชุดนี้

นายชินวรณ์กล่าวต่อว่า ยอมรับว่ารู้สึกกังวลเรื่ององค์ประชุม เพราะเป็นวันสุดท้ายของสมัยประชุม จึงขอเรียกร้องให้ทุกพรรคมาร่วมกัน ไม่เช่นนั้นฝ่ายบริหารต้องรับผิดชอบ และกฎหมายนี้เท่าที่ติดตาม ทราบว่าฝ่ายค้านไม่เห็นด้วย และในส่วนของกรรมาธิการในร่างกฎหมายเดิมของพรรค คือนายสุทัศน์ เงินหมื่น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ปชป. ก็ไม่เห็นด้วย ดังนั้นหากไม่ผ่านต้องกลับไปใช้กฎหมายเดิม 

ส่วนความรับผิดชอบของนายกรัฐมนตรีต้องทำอย่างไรนั้น นายชินวรณ์ กล่าวว่า ต้องไปถามนายกรัฐมนตรี ซึ่งตามประเพณีนายกรัฐมนตรีต้องลาออก  แต่หากลาออก ครม.ก็จะรักษาการไม่ได้ เว้นแต่ยุบสภาไปเลย ทั้งนี้ ส่วนตัวยังเห็นว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นเรื่องที่กระทบกับสิทธิเสรีภาพ จึงไม่ค่อยเห็นด้วยกับ พ.ร.ก.ฉบับนี้ โดยเฉพาะ ส.ส.ที่อยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่เห็นด้วย จึงกังวลว่าจะไม่ผ่าน

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ยืนยันว่าฝ่ายค้านพร้อมร่วมเป็นองค์ประชุม และรัฐบาลไม่ต้องกังวลว่าฝ่ายค้านจะทำองค์ประชุมล่ม แต่ต้องถามกลับไปยังรัฐบาลเรื่องขององค์ประชุม เพราะเสียงข้างมากอยู่ที่ฝ่ายรัฐบาล

หัวหน้าพรรคเพื่อไทยยังกล่าวว่า หาก ส.ส.ซีกรัฐบาลมีทีท่าจะผ่านความเห็นชอบร่าง พ.ร.ก.ฉบับนี้ พรรคร่วมฝ่ายค้านจะยื่นเรื่องจะยื่นรวมรายชื่อต่อประธานสภาฯ ให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยทันทีก่อนที่จะมีการลงมติ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ารัฐบาลออก พ.ร.ก.ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.ก.ดังกล่าว ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็จะทำให้ พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมานฯ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 ก.พ.ที่ผ่านมา.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง