‘พระสังฆราช’ แนะพุทธบริษัท เลิกสร้างกรรม

สมเด็จพระสังฆราชประทานพระคติธรรมเนื่องในวันมาฆบูชา   ทรงแนะพุทธบริษัทละเลิกสร้างกรรมทั้งทางกาย-วาจา-ใจ “กรมอนามัยโพล” เผยพระสงฆ์ 75% สุขภาพย่ำแย่ เหตุจากของทำบุญตักบาตร “ตร.” เตือนระวัง 5 ภัยแฝงวันพระใหญ่

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 5 มีนาคม สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานพระคติธรรมเนื่องในวันมาฆบูชา วันจันทร์ที่ 6 มี.ค.2566 ว่า ดิถีมาฆบูชาได้เวียนมาบรรจบอีกคำรบหนึ่งแล้ว ดิถีเช่นนี้ชวนให้พุทธบริษัททุกหมู่เหล่ารำลึกถึงเหตุการณ์ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ ประทานแก่พระอรหันตสาวก 1,250 รูป ซึ่งล้วนอุปสมบทโดยวิธีเอหิภิกขุ โดยสารัตถะประการหนึ่งในโอาวาทปาติโมกข์นั้นคือ  การไม่ทำบาปทั้งปวง อันเป็นหัวใจพระศาสนาประการต้น ที่พุทธบริษัททั่วหน้า พึงยึดถือเป็นหลักประพฤติให้ได้ ก่อนจะก้าวไปสู่การบำเพ็ญความดีและการชำระใจให้บริสุทธิ์ บาปทั้งปวงตามหลักพระพุทธศาสนานั้น ประมวลอยู่ในอกุศลกรรมบถ 10 ประการ จำแนกเป็น กายกรรม 3 กล่าวคือ การฆ่า การเอาของที่เจ้าของไม่ได้ให้ และการประพฤติผิดในกาม วจีกรรม 4 กล่าวคือ คำโกหก คำส่อเสียด คำหยาบคาย และคำเพ้อเจ้อ  มโนกรรม 3 กล่าวคือ การเพ่งเล็งอยากได้ของเขา การคิดปองร้ายผู้อื่น และความเห็นผิด ครั้นเมื่อได้กระทำกรรมใดกรรมหนึ่งในอกุศลกรรมบถ 10 จึงถูกจัดว่าเป็นบาป

พุทธศาสนิกชนจึงมีหน้าที่ลด ละ และเลิกการกระทำบาปทั้งปวงแม้เล็กน้อย ซึ่งล้วนให้ผลเป็นความทุกข์ ทำให้จิตใจเสื่อมคุณภาพ ยังอุปนิสัยให้กลายเป็นคนถนัดทำชั่ว จนท่วมท้นไปด้วยบาป ดั่งพระพุทธพจน์ที่ว่า อุทพินฺทุนิปาเตน อุทกุมฺโภปิ ปูรติ อาปูรติ พาโล ปาปสฺส โถกํ โถกํปิ อาจินํ แปลความว่า แม้หม้อน้ำยังเต็มด้วยหยาดน้ำฉันใด, คนเขลาสั่งสมบาปแม้ทีละน้อยๆ ก็เต็มด้วยบาปฉันนั้น

ด้วยเหตุนี้ ทุกท่านพึงขวนขวายบริจาคทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา อันเป็นบุญที่เป็นชื่อของความสุข ขอให้เชื่อมั่นว่า บาปที่ทำลงแล้ว จะอำนวยผลดีไม่ได้ และในขณะเดียวกัน บุญที่ทำลงแล้ว จะอำนวยผลร้ายก็ไม่ได้เช่นกัน เมื่อมั่นใจในหลักของการกระทำแล้ว ย่อมจะมีกำลังใจมุ่งมั่น ไม่ท้อถอยต่อการบำเพ็ญคุณงามความดีต่อไป ผลแห่งบุญทั้งปวงย่อมจะตามเยียวยาแก้ไขปัญหา พิทักษ์รักษา และดลบันดาลความสุขความเจริญมาสู่ผู้สั่งสมบุญไว้ดีแล้วอย่างแน่แท้ ขอพระสัทธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จงดำรงมั่นคงอยู่ในโลกนี้ตลอดกาลนาน และขอพุทธบริษัททั้งหลายจงพร้อมเพรียงกันศึกษาพระสัทธรรมนั้น เพื่อบรรลุถึงความรุ่งเรืองไพบูลย์ยิ่งๆ ขึ้นสืบไป เทอญ.

ขณะที่กรมอนามัยได้เผยผลการสำรวจพฤติกรรมสุขภาพพระสงฆ์ปี 2565 จำนวน 18,496 รูป พบว่า พระสงฆ์มีพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์เพียง 25% และอีก 75% พฤติกรรมสุขภาพไม่พึงประสงค์ ซึ่งสาเหตุน่าจะเป็นเพราะพระภิกษุสามเณรไม่สามารถเลือกสิ่งของที่นำมาตักบาตรถวายได้ การนำอาหารที่มีแป้ง น้ำตาล ไขมัน และกะทิที่ให้พลังงานสูงทำบุญตักบาตร จะส่งผลให้เกิดการสะสมไขมันส่วนเกิน เพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพพระสงฆ์ ส่งผลให้พระสงฆ์ป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด และภาวะไขมันในเลือดสูง

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ขอแนะนำให้ประชาชนเลือกอาหารสุขภาพในการตักบาตรถวายอาหารเพล โดยเลือกอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบ 5 หมู่ และมีความหลากหลาย เน้นอาหารที่เป็นเมนูชูสุขภาพ ลดหวาน มัน เค็ม โดยเลือกใช้ข้าว/แป้งที่ผ่านการขัดสีน้อย เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ขนมปังโฮลวีต อาหารประเภทปลา เต้าหู้ ไข่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน และถั่วเมล็ดแห้งต่างๆ รวมทั้ง เลี่ยงเมนูอาหารกะทิและอาหารทอด โดยเปลี่ยนเป็นอาหารประเภทต้ม นึ่ง ยำ อบ ลวก น้ำพริก ลดอาหารหวานจัดและอาหารหมักดอง รวมถึงตักบาตรด้วยผักผลไม้หลากหลายชนิดและสี ตามฤดูกาล นมจืด นมพร่องมันเนย โยเกิร์ตรสธรรมชาติ น้ำเปล่า และน้ำปานะหวานน้อย ส่วนกรณีถวายอาหารแห้ง อาหารกระป๋อง ควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีเครื่องหมาย อย. สถานที่ผลิต วันเดือนปีที่ผลิต และวันเดือนปีที่หมดอายุ

วันเดียวกัน พ.ต.ท.หญิง ดร.ณพวรรณ ปัญญา รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า กลุ่มโจรออนไลน์มักจะอาศัยจังหวะวันสำคัญทางศาสนา และเทศกาลต่างๆ ฉวยโอกาสหลอกลวงประชาชน ในช่วงวันมาฆบูชานี้ จึงขอแจ้งเตือนถึงรูปแบบอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ที่โจรออนไลน์อาจใช้หลอกลวงประชาชน ดังนี้ 1.เช่าวัตถุมงคล เครื่องรางของขลังออนไลน์ โดยหลอกให้โอนเงินก่อน แต่ไม่จัดส่งสินค้า ส่งสินค้าปลอมไม่ตรงปก 2. เวียนเทียนออนไลน์ หลอกติดตั้งแอปฯ รีโมทเพื่อดูดเงิน 3.ทำบุญออนไลน์ หลอกให้โอนเงินทำบุญ ด้วยการให้หมายเลขบัญชีปลอม 4.ใบอนุโมทนาบัตรออนไลน์ ลดหย่อนภาษี หลอกให้กรอกข้อมูลส่วนตัว และ 5.สะเดาะเคราะห์ แก้กรรม ดูดวงออนไลน์ หลอกเอาข้อมูลส่วนตัว เช่น เลขบัตรประชาชน เบอร์โทรศัพท์ วันเดือนปีเกิด และรูปถ่าย

“หากประชาชนสงสัยเกรงจะตกเป็นเหยื่อ สามารถปรึกษาได้ที่สายด่วน บช.สอท. 1441 หรือ ศูนย์ PCT 08-1866-3000 ผู้เสียหายสามารถแจ้งความผ่านระบบออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com”พ.ต.ท.หญิง ดร.ณพวรรณระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง