จุดความร้อนอื้อ! นายกฯเมินใช้กม. ขอหยุดเผาวัชพืช

แดง-ส้มทั่วประเทศ คนกรุงยังอ่วม พบจุดความร้อนจากฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน เตือนประชาชนให้ระวังผลกระทบจากพีเอ็ม 2.5 ขณะที่แนวโน้มสถานการณ์อาจดีขึ้น เหตุอากาศเริ่มเปิด        นายกฯ ยืนยันแก้ปัญหามาตลอด ขอร้องหยุดเผาวัชพืช บอกไม่อยากใช้ กม.เด็ดขาด เห็นใจเกษตรกร ด้าน "ส.ส.ก้าวไกล" จี้ "วราวุธ" ไปขอโทษเด็ก 4 ขวบ เหตุเจอพีเอ็ม 2.5 ตั้งแต่แรกเกิด

เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2566 เว็บไซต์ Iqair.com แจ้งผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศและการจัดอันดับเมืองที่มีมลพิษทั่วโลก เมื่อเวลา 13.00 น. พบว่า 3 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 เมืองเชียงใหม่ ประเทศไทย ดัชนีคุณภาพอากาศ 181 US AQI, อันดับ 2 เมืองการาจี ประเทศปากีสถาน 174 US AQI และอันดับ 3 เมืองลาฮอร์ ประเทศปากีสถาน 163 US AQI ขณะที่สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA เผยข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี โดยประเทศไทยพบจุดความร้อนจำนวน 1,237 จุด ในขณะที่สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมายังนำโด่ง จำนวน 4,949 จุด,  สปป.ลาว 2,913 จุด, กัมพูชา 1,888 จุด, เวียดนาม 426 จุด และมาเลเซีย 18 จุด ส่วนจุดความร้อนในประเทศไทย ส่วนใหญ่พบในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 517 จุด, พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 295 จุด, พื้นที่เกษตร 195 จุด, พื้นที่เขต ส.ป.ก. 111 จุด, พื้นที่ชุมชนและอื่นๆ 107 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 12 จุด ในส่วนของจังหวัดที่พบจุดความร้อนมากที่สุดคือ กาญจนบุรี จำนวน 221 จุด

ส่วนข้อมูลจากแอปพลิเคชัน "เช็คฝุ่น" พบว่าหลายพื้นที่ของประเทศอยู่ในระดับสีส้มและสีแดง อาทิ กำแพงเพชร, พะเยา, สุโขทัย, น่าน, ลำพูน, แพร่, เลย, อุตรดิตถ์, ลำปาง, ลพบุรี เป็นต้น ในขณะที่ทุกพื้นที่ของกรุงเทพมหานครอยู่ระดับสีส้ม โดยพบค่าฝุ่นสูงสุดที่เขตบางนา, ประเวศ, บางรัก, คลองเตย, พระโขนง, สาทร, วัฒนา, ยานนาวา เป็นต้น ซึ่งสถานการณ์การจุดความร้อนจากประเทศเพื่อนบ้านอาจส่งผลให้เกิดพีเอ็ม 2.5 ในพื้นที่บริเวณชายแดน เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากกระแสลมที่จะพัดผ่าน ปัญหาไฟป่าหมอกควัน ส่งผลกระทบให้กับระบบต่างๆ ของประเทศมาโดยตลอด โดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจ สังคม

สำหรับแนวโน้มการระบายอากาศอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างอ่อน เพราะสภาวะอากาศปิดอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ฝุ่นเกิดการสะสมตัวเพิ่มขึ้น แต่ช่วงวันที่ 10-12มี.ค.2566 อากาศจะเริ่มเปิด การระบายอากาศอยู่ในเกณฑ์ดี ส่งผลให้ฝุ่นสะสมตัวลดลง แม้วันที่ 10 มี.ค. พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลอาจมีแนวโน้มฝุ่นละอองขึ้นสูงได้ในบางพื้นที่ แต่หลังวันที่ 11 มี.ค.2566 มีแนวโน้มที่ดี เนื่องจากลมทางใต้ช่วยพัดพาฝุ่นละอองออกจากพื้นที่  และช่วงวันที่ 12-14 มี.ค.66 อากาศจะมีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง ประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นได้จากอิทธิพลของมวลอากาศเย็นเกิดการปะทะกันกับมวลอากาศร้อน ทำให้มีพายุฤดูร้อน (พายุฝนฟ้าคะนอง) ลมกระโชกแรง มีฟ้าร้อง ฟ้าผ่าและลูกเห็บตก อย่างไรก็ตามช่วงวันที่ 14-16 มี.ค.2566 ต้องเฝ้าระวังพื้นที่ เนื่องจากมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองข้ามพื้นที่ได้

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือพีเอ็ม 2.5 โดยเฉพาะที่เชียงใหม่ พุ่งเกินมาตรฐานติดอันดับเมืองมลพิษโลกว่า มาตรการเฉพาะหน้ามีจากหลายส่วนด้วยกัน ทั้งเรื่องของยานพาหนะ การกำหนดเวลาเผาวัชพืช แต่พอรู้ว่าวันไหนจะห้ามก็มีการชิงเผาก่อน ทำให้ปริมาณฝุ่นสูงขึ้น ทั้งนี้ เห็นใจและไม่อยากลงโทษคนเผา เพราะเป็นเกษตรกร จึงได้แต่ขอร้องว่าอย่าทำผิดกฎหมาย อีกทั้งยังมีฝุ่นจากต่างประเทศ ซึ่งแต่ละประเทศมีปัญหาไม่เหมือนกัน สิ่งสำคัญที่สุดคือใครที่ร่วมมือกันได้ในเรื่องยานพาหนะ ควันดำ หรือเรื่องการเผาต้องลดลงให้ได้ อย่างไรก็ตาม จะบอกว่ารัฐบาลไม่สนใจไม่ได้ เราทำทุกปี บางปีลดลง บางปีก็เพิ่มขึ้น ต้องไปดูว่าเพิ่มขึ้นจากตรงไหน ก็ต้องแก้จุดนั้น ตนไม่อยากใช้กฎหมาย เพราะหากใช้ก็ผิดและมีปัญหาทั้งหมด ไม่อยากให้ใครเดือดร้อน  แต่ต้องนึกถึงคุณภาพชีวิตคนอื่นและสุขภาพคนอื่นด้วย อย่าบอกว่ารัฐบาลไม่สนใจ พูดแบบนี้ไม่ได้

พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากสถานการณ์พีเอ็ม 2.5 มีแนวโน้มสูงขึ้นและเกินค่ามาตรฐานหลายพื้นที่ โดยเฉพาะ 17 จังหวัดภาคเหนือ พื้นที่ชุมชนเมือง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมประสานทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามแผนเฉพาะกิจ ด้วยการสื่อสารเชิงรุก รวมทั้งยกระดับปฏิบัติการและสร้างการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาเร่งด่วนใน 3 พื้นที่ ทั้งพื้นที่เมือง พื้นที่ป่า และพื้นที่การเกษตร ใน 7 มาตรการ โดยให้เร่งการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการวาระแห่งชาติ และการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันส่วนหน้าภาคเหนือ การสร้างเครือข่ายชุมชนปลอดคนเผาในพื้นที่เสี่ยง การบริหารจัดการเชื้อเพลิงครบวงจร ชิงเก็บลดเผาในพื้นที่โล่ง การใช้กลไกทุกระดับ โดยเฉพาะระดับพื้นที่คุมเข้มมาตรการทางกฎหมาย และขอความร่วมมือประชาชน การลดจุดความร้อนในพื้นที่ป่า การผลักดันกลไกระหว่างประเทศ รวมทั้งการดึงทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม

นายนิติพล ผิวเหมาะ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า หากจะเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการแก้ปัญหา ไม่ต้องไปมองไกลตัว แค่ในอาเซียนด้วยกัน อย่างกรณีฝุ่นพิษจากการเผาปาล์มในอินโดนีเซียที่เคยหนักมาก แต่เมื่อควันลอยเข้าไปในสิงคโปร์ ทางรัฐบาลสิงคโปร์ที่ไม่เพิกเฉย จึงเข้าเจรจาระหว่างประเทศเพื่อแก้ปัญหาโดยเร็ว ปัญหาจึงถูกแก้ไข นี่จึงเป็นความแตกต่างเด่นชัดระหว่างความเพิกเฉยแก้ตัวไปปีต่อปี กับรัฐบาลที่พร้อมแก้ปัญหาทันทีที่ทำให้สถานการณ์เลวร้ายรุนแรงคลี่คลายไปได้  ที่สำคัญ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ควรไปขอโทษเด็ก เพราะอยู่มา 4 ปีนโยบายระยะสั้นยังทำไม่ได้

นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานคณะทำงานนโยบาย กทม. พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความเสนอแนวคิด “กฎหมายอากาศสะอาด” ว่า จะช่วยให้หน่วยงานที่ดูแลและแก้ไขปัญหาที่ต้นตอ ที่ผ่านมาหน่วยงานต่างๆ มักจะแก้ปัญหาอย่างเฉพาะหน้า สาเหตุหนึ่งมาจากการไม่มีกฎหมายมารองรับและสนับสนุนอย่างจริงจัง ทำให้ไม่สามารถควบคุมและแก้ไขปัญหาที่เกิดจากแหล่งกำเนิดได้ เลยต้องไปแก้ไขที่ปลายเหตุ สุดท้ายปัญหาก็คงอยู่.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง