ขู่งัด‘เคอร์ฟิว’ดับไฟป่า!

โฆษกรัฐบาลเผยนายกฯ กำชับเร่งแก้ไขปัญหาไฟป่า-หมอกควันพื้นที่ภาคเหนือ ลด PM2.5 อย่างเร่งด่วน บังคับใช้กฎหมายลงโทษผู้กระทำผิดเผาป่าโดยไม่ละเว้น "วราวุธ" วอนชาวบ้านให้ความร่วมมือ ขู่อาจต้องประกาศเคอร์ฟิว "GISTDA" พบจุดความร้อนในไทยพุ่งถึง 5,572 จุด ส่วนเมียนมา 10,563 จุด ขณะที่เชียงใหม่พบป่วยระบบทางเดินหายใจวันละพันราย

เมื่อวันที่ 27 มีนาคม นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ติดตามและไม่ได้นิ่งนอนใจต่อกรณีสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันในจังหวัดพื้นที่ภาคเหนือที่วิกฤต ส่งผลให้ค่าฝุ่น PM2.5  เกินมาตรฐานและกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในขณะนี้  โดยนายกฯ ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหา เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนเป็นวงกว้างอย่างเร่งด่วนให้ทันต่อสถานการณ์ รวมทั้งบังคับใช้กฎหมายลงโทษผู้กระทำความผิดในการเผาป่า หรือการกระทำใดๆ ที่ทำให้เกิดไฟป่าอย่างไม่ละเว้น

นายอนุชากล่าวว่า ภาครัฐโดยหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จังหวัดเชียงใหม่ ได้ขึ้นบินปฏิบัติการทำฝนเทียมต่อเนื่องในพื้นที่ประสบปัญหา 5 จังหวัดทางภาคเหนือที่วิกฤตหนักเกินมาตรฐานต่อเนื่อง ที่ล่าสุด PM2.5 ทะลุ 525  ไมครอน โดยใช้เครื่องบินเกษตรชนิด CASA จำนวน 2  ลำ ขึ้นปฏิบัติการช่วงเวลาตั้งแต่ 10.15 น. วันที่ 26  มีนาคมที่ผ่านมา ทำฝนหลวงในบริเวณพื้นที่เป้าหมาย จำนวน 26 พื้นที่ เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาหมอกควันและไฟป่า และช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ต้องการน้ำ

นายอนุชากล่าวต่อว่า สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA เผยข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) ของวันที่  26 มีนาคม 2566 ไทยพบจุดความร้อน (Hot  Spots) มากที่สุด 5,572 จุด สูงสุดในรอบ 5 ปี จากการเก็บสถิติที่ผ่านมา ในขณะที่เพื่อนบ้านอย่างเมียนมามีจุดความร้อนสูงถึง 10,563 จุด ตามด้วย สปป.ลาว  9,652 จุด กัมพูชา 1,342 จุด เวียดนาม 870 จุด  และมาเลเซีย 22 จุด สำหรับจุดความร้อนในประเทศไทย ส่วนใหญ่พบในพื้นป่าอนุรักษ์ 2,982 จุด พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 1,785 จุด พื้นที่เกษตร 376 จุด พื้นที่ชุมชนอื่นๆ 207 จุด พื้นที่เขต ส.ป.ก. 202 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 20 จุด ในส่วนของจังหวัดที่พบจุดความร้อนมากที่สุด 3 อันดับ คือ น่าน 638 จุด แม่ฮ่องสอน 558 จุด  และอุตรดิตถ์ 430 จุด

นอกจากนี้ ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศได้รายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ ประจำวันที่  27 มีนาคม 2566 ณ เวลา 07.00 น. ภาพรวมปริมาณ PM2.5 ในประเทศพบเกินค่ามาตรฐานในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ น่าน แม่ฮ่องสอน พะเยา ลำพูน  ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก ตาก กำแพงเพชร  พิจิตร เพชรบูรณ์ อุทัยธานี บึงกาฬ หนองคาย เลย อุดรธานี  นครพนม หนองบัวลำภู ชัยภูมิ และอุบลราชธานี โดยภาคเหนือเกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 37-537  ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเกินค่ามาตรฐาน 8 พื้นที่ ตรวจวัดได้ 31-218 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

 “นายกฯ ขอความร่วมมือไปยังประชาชนที่ทำเกษตร หรือทำอาชีพในพื้นที่ป่า ซึ่งในช่วงนี้เป็นช่วงหน้าแล้ง ขอให้ช่วยกันระวัง ถ้าไม่จำเป็นก็อย่าจุดไฟโดยเฉพาะในพื้นที่ป่า  รวมทั้งได้กำชับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการร่วมมือกันจัดการปัญหาหมอกควัน PM2.5 ตามแผนปฏิบัติการอย่างเร่งด่วน เพื่อลดปริมาณฝุ่นละออง รวมทั้งขอให้เจ้าหน้าที่อาสาสมัครป้องกันไฟป่าในพื้นที่ชายแดน ช่วยกันระดมดับไฟป่าบริเวณเส้นทางลัดเลาะชายแดน ที่มีไฟป่าลุกลามมาจากประเทศเพื่อนบ้านหลายจุดอย่างต่อเนื่อง  พร้อมย้ำการบังคับใช้กฎหมายลงโทษผู้กระทำความผิดในการเผาป่าหรือการกระทำใดๆ ที่ทำให้เกิดไฟป่า ซึ่งสร้างความเสียหายแก่ป่าไม้และพื้นที่การเกษตร ส่งผลให้กลุ่มควันลอยปกคลุมในบริเวณกว้างและเกิดฝุ่น PM2.5  อย่างไม่ละเว้น” นายอนุชากล่าว

นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า ขณะนี้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ทางภาคเหนือสาหัสมาก ส่งผลกระทบ 3 พื้นที่ใหญ่ ได้แก่ ป่าอนุรักษ์ซึ่งอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ, พื้นที่ป่าสงวนที่อยู่ในความดูแลของกรมป่าไม้, พื้นที่การเกษตร ซึ่งจากข้อมูลใน 17 จังหวัดภาคเหนืออยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 40% และอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 40% พื้นที่การเกษตร  15% ในส่วน ทส.มีงบประมาณในการดูแล คือพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ 40% ส่วนพื้นที่ป่าสงวนฯ อีก 40% โดยภารกิจในการดับไฟป่าถูกถ่ายโอนจากกรมป่าไม้ไปอยู่ในความรับผิดชอบของท้องถิ่นกว่า 10  ปีแล้ว กรมป่าไม้จึงไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ เพราะไม่มีทั้งงบประมาณและบุคลากรในการช่วยดับไฟป่า จึงต้องขอความร่วมมือไปทางจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  ในการจัดตั้งงบประมาณขึ้นมาดำเนินงานตามที่มีอำนาจหน้าที่ในส่วนของถิ่นนั้น ส่วนพื้นที่เกษตรอีก 15% ต้องขอความร่วมมือจากเกษตรกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแล

"เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา สถานการณ์ปีนี้หนักขึ้นกว่าปีก่อนหลายเท่าตัวนัก แต่ก็เป็นสิ่งที่เราได้คาดการณ์ไว้ตั้งแต่ปลายปี 65 ตั้งแต่ครั้งที่ผมเดินทางลงพื้นที่ไปที่ศูนย์บัญชาการภาคเหนือ ได้กำชับทุกหน่วยงานทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย  และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อรับมือไฟป่าที่จะเกิดขึ้นในต้นปี 66 ตามที่เราได้คาดหมายว่าจะเกิดขึ้นและหนักหนาสาหัส ดังนั้นขอให้ทุกหน่วยงานเร่งดำเนินการช่วยเหลือประชาชนตามความรับผิดชอบอย่างเต็มความสามารถ"

นายวราวุธกล่าวว่า ในส่วนการขอความร่วมมือไปยังประเทศเพื่อนบ้านในกรณีที่มีจุดความร้อน ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดไฟป่าและฝุ่นพิษเป็นจำนวนมากนี้ ได้ทำหนังสือร้องเรียนผ่านทางเลขาธิการอาเซียนโดยตลอด เพื่อขอความร่วมมือไปยังบริษัทต่างๆ ที่มีพื้นที่อยู่ในต่างประเทศ ซึ่งเป็นผลบ้างไม่เป็นผลบ้าง และในทุกเวทีที่มีการประชุมระดับนานาชาติเราจะร้องเรียนไปทุกครั้ง และแต่ละครั้งแต่ละประเทศจะมีแนวทางปฏิบัติที่แตกต่างกันไป

"ขอฝากบอกกับคนที่เผาว่า เมื่อเผาแล้วท่านไม่ได้ไปรบกวนใคร แต่กำลังรบกวนตัวเอง เราไม่ต้องการใช้วิธีรุนแรงโดยการกำหนดเคอร์ฟิว ถามว่าทำได้หรือไม่-ก็ทำได้  แต่จะกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทุกคน การเข้มงวดในการดำเนินคดีทางกฎหมายเป็นสิ่งที่รัฐบาลไม่อยากเสนอ แต่เมื่อท้ายที่สุดขอความร่วมมือไปแล้วแต่ไม่ทำกัน คงต้องขอหารือกับหลายฝ่ายร่วมกับประชาชนด้วยว่า เราจะดำเนินการขั้นเด็ดขาดกันอย่างไร เพราะทุกครั้งที่มีการเผาไหม้มันส่งผลกระทบไปในวงกว้างทั้ง 17 จังหวัด  และเข้ามาในพื้นที่เมืองอีกด้วย" นายวราวุธกล่าว

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงแผนการรับมือและแก้ไขปัญหาฝุ่น  PM2.5 ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมในเรื่องของการรักษาพยาบาลและดูแลประชาชนอย่างเต็มที่ รวมทั้งได้มีการสั่งเวชภัณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อดูแลโรคระบบทางเดินหายใจ สธ.ได้เตรียมความพร้อม ซึ่งปัจจุบันสภาพเกือบทั้งประเทศมีความน่าเป็นห่วง เรื่องการรักษาพยาบาลและดูแลประชาชนนั้น สธ.ได้เตรียมการไว้เรียบร้อยแล้ว ปลัด สธ.ก็ได้ยืนยันมาโดยตลอด

ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นายปลอดประสพ สุรัสวดี  ประธานคณะกรรมการนโยบายสิ่งแวดล้อมของพรรค แถลงข่าวกรณี PM2.5 กำลังฆ่าคนไทย โดยมีข้อเสนอให้  พล.อ.ประยุทธ์ต้องโทรศัพท์ไปถึงผู้นำประเทศเมียนมา และผู้นำประเทศอื่นที่อยู่ใกล้กับ จ.เชียงราย โดยเฉพาะ อ.แม่สาย เพื่อขอร้องให้เมียนมาควบคุมการเผาที่ส่งผลให้เกิดฝุ่น  PM2.5

วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่าภาคเหนือตอนบนยังมีปริมาณฝุ่นควันพิษสีขาวปกคลุมหนาทั่วบริเวณตลอดสัปดาห์ แม้จะดีขึ้นเล็กน้อยแต่ยังเกินมาตรฐานสูงมาก โดยเฉพาะในช่วงบ่ายจะมีฝุ่นควันสีขาวลอยปกคลุมเหนือตัวเมืองเชียงใหม่ และทำให้ยังคงติดอันดับเมืองที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุดในโลกอันดับต้นๆ ติดต่อกันหลายวัน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนในวงกว้าง โดยเฉพาะอาการแพ้ตามผิวหนัง ป่วยด้วยระบบทางเดินหายใจ สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่เผยว่า ระยะนี้มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาตามโรงพยาบาลต่างๆ เฉลี่ยวันละ 800-1,000 คน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง