เงินเฟ้อขาลง ตํ่าสุด15เดือน บี้ทบทวนขึ้นFT

เงินเฟ้อ มี.ค.เพิ่ม 2.83%   ชะลอตัวต่อเนื่องเดือนที่สาม ต่ำสุดในรอบ 15 เดือน คาดเข้าสู่ช่วงขาลงเห็นชัดตั้งแต่ พ.ค.เป็นต้นไป ปรับเป้าทั้งปีเหลือ 1.7-2.7% กกร.ชี้เศรษฐกิจไทยขยายตัวจากรายได้การท่องเที่ยว ดันจีดีพีแตะ 3.5% จ่อยื่นนายกฯ ทบทวนขึ้นค่าเอฟที

เมื่อวันที่ 5 เมษายน นายวิชานัน  นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือน มี.ค.2566 เท่ากับ 107.76 เทียบกับ ก.พ.2566 ลดลง 0.27% เทียบกับเดือน มี.ค.2565 เพิ่มขึ้น 2.83% ชะลอตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 15 เดือน โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และสินค้าอาหารที่ราคาชะลอตัวเกือบทุกกลุ่มสินค้า ทั้งไข่และผลิตภัณฑ์นม ผักและผลไม้ เครื่องประกอบอาหาร อาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้าน และฐานราคาที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อปี 2565 อยู่ในระดับสูง มีส่วนทำให้เงินเฟ้อชะลอตัว และเงินเฟ้อเฉลี่ย 3 เดือน (ม.ค.-มี.ค.) เพิ่มขึ้น 3.88%

สำหรับเงินเฟ้อเดือน มี.ค.2566 ที่สูงขึ้น 2.83% เป็นการสูงขึ้นในอัตราชะลอตัว โดยสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 5.22% ชะลอตัวจากเดือน ก.พ.2566 ที่สูงขึ้น 5.74% โดยมีสินค้าที่ราคาสูงขึ้น เช่น ผักและผลไม้ โดยเฉพาะมะนาว กะหล่ำปลี แตงกวา แตงโม ส้มเขียวหวาน ฝรั่ง เพราะปริมาณเข้าสู่ตลาดน้อยลง ไข่ไก่ เนื้อสุกร ไก่สด ราคาสูงขึ้นต่อเนื่อง แต่มีแนวโน้มชะลอลง ข้าวสาร ซีอิ๊ว น้ำพริกแกง กาแฟ ชา และน้ำอัดลม ที่ต้นทุนยังสูง และอาหารสำเร็จรูป ปรับขึ้นเล็กน้อย แต่ผักคะน้า ผักชี ขึ้นฉ่าย กล้วยหอม ทุเรียน น้ำมันพืช มะพร้าว และมะขามเปียก ราคาลดลง

ส่วนสินค้าหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม เพิ่ม 1.22% ชะลอตัวจากเดือน ก.พ.2566 ที่เพิ่ม 2.47% สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น เช่น ค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม ค่าโดยสารสาธารณะ น้ำมันดีเซล ก๊าซแอลพีจี ค่าการศึกษา ค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล สิ่งเกี่ยวกับความสะอาด เช่น สบู่ ยาสีฟัน น้ำยาปรับผ้านุ่ม ผลิตภัณฑ์ซักผ้า ค่าบริการตัดผม ค่าทำเล็บ ส่วนสินค้าที่ราคาลดลง เช่น น้ำมันแก๊สโซฮอล์และเบนซิน เครื่องใช้ไฟฟ้า เสื้อผ้า หน้ากากอนามัย โฟมล้างหน้า ที่เขียนคิ้ว ผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผม ค่าสมาชิกเคเบิลทีวี เครื่องรับโทรศัพท์มือถือ และค่าทัศนาจรในประเทศ

ทั้งนี้ ในส่วนของเงินเฟ้อพื้นฐานเดือน มี.ค.2566 เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก เพิ่มขึ้น 0.05% เมื่อเทียบกับเดือน ก.พ.2566 และเพิ่มขึ้น 1.75% เมื่อเทียบกับ มี.ค.2565 รวม 2 เดือนเพิ่มขึ้น 2.24%    

นายวิชานันกล่าวว่า แนวโน้มเงินเฟ้อเดือน เม.ย.2566 เดิมคาดว่าจะต่ำกว่าเดือน มี.ค.2566 เพราะฐานปีที่แล้วสูงที่สุดในรอบปี แต่พอมีเลือกตั้ง ท่องเที่ยวฟื้นตัว มีเงินเข้ามาในระบบมากขึ้น ส่งผลให้เงินเฟ้อไม่น่าจะลดมาก แต่ประเมินแล้วไม่น่าจะเกิน 3% จากนั้นเดือน พ.ค.2566 น่าจะเห็นต่ำกว่า 2.5% และ มิ.ย.2566 เป็นต้นไป จะเห็นเงินเฟ้อแตะหลัก 1% ไม่เกิน 1.5% ซึ่งถือเป็นขาลงของเงินเฟ้อ โดยไตรมาสแรก เงินเฟ้อ 3.88% ไตรมาส 2 คาดว่าไม่น่าถึง 3% จะอยู่ที่ 2% นิดๆ ไม่ถึง 2.5% ไตรมาส 3 และ 4 น่าจะเห็น 1% กว่าๆ โดยจากแนวโน้มที่ประเมินนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ปรับคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปี 2566 ใหม่ เป็น 1.7-2.7% ค่ากลาง 2.2% ลดจาก 2.0-3.0% ค่ากลาง 2.5%

โดยสมมติฐานที่ใช้ในการคำนวณเงินเฟ้อทั้งปีใหม่คือ การเติบโตของเศรษฐกิจอยู่ที่ 2.7-3.7% จากเดิม 3-4% น้ำมันดิบดูไบ ราคา 75-85 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลดจาก 85-95 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน 32.5-34.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ  ลดจาก 36-37 บาทต่อเหรียญสหรัฐ โดยปัจจัยที่ต้องจับตาคือน้ำมัน ที่ยังผันผวน เพราะล่าสุดกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน (โอเปก) ได้ลดการผลิต ทำให้ราคาปรับตัวขึ้นทันที แต่มองว่าไม่น่าขึ้นไปกว่านี้ และราคาอาจจะลง เพราะตลาดไม่ตอบสนอง ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าจากเงินทุนไหลเข้า เมื่อบาทแข็ง ต้นทุนนำเข้าน้ำมันจะถูกลง และจะลดลงอีก ส่วนกลุ่มอาหารสำเร็จรูปและสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ ที่ผ่านมาขึ้นราคาไปแล้ว เริ่มทรงตัวแล้ว ไม่น่าจะมีแรงกดดันอีก ยกเว้นน้ำมันและอาหารสด ที่จะเป็นปัจจัยกดดันเงินเฟ้อ

วันเดียวกัน นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง จากรายได้การท่องเที่ยวและอุปสงค์ในประเทศ โดยภาคการท่องเที่ยวปรับดีขึ้น และถือเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนการเติบโต นักท่องเที่ยวต่างชาติ 3 เดือนแรกเข้ามาถึง 6.5 ล้านคน คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจสูงถึง 27-30 ล้านคน ส่วนอุปสงค์ในประเทศมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องจากการจ้างงานในภาคบริการ และรายได้ภาคเกษตรที่ยังอยู่ในระดับดี ส่งผลให้ฐานรายได้ของประชาชนปรับตัวดีขึ้น ซึ่งที่ประชุม กกร.คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2566 เติบโตประมาณ 3.-3.5% ตามกรอบเดิมที่เคยประเมินไว้ และประเมินว่ามูลค่าการส่งออกมีโอกาสหดตัวในกรอบ ติดลบ 1- 0% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะอยู่ในกรอบ 2.7-3.2%

นายเกรียงไกรกล่าวว่า ที่ประชุม กกร.มีความกังวลต่อทิศทางการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และอาจเผชิญแรงกดดันจากค่าเงินที่ผันผวนในทิศทางแข็งค่า ซึ่งจะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออก จึงมีความคิดเห็นว่าควรเร่งดำเนินการจัดหาตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ อาทิ กลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ (GCC) กลุ่มประเทศเอเชียกลาง เป็นต้น เพื่อชดเชยการส่งออกไปยังตลาดหลักที่ยังมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง

นอกจากนี้ กกร.เตรียมทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ควรพิจารณาทบทวนกรณีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติเห็นชอบขึ้นค่าเอฟทีงวด 2 (พ.ค.- ส.ค.2566) เป็นอัตราเดียวกันสำหรับบ้านที่อยู่อาศัยและผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นๆ เท่ากับ 98.27 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 4.77 บาทต่อหน่วย ทั้งนี้ เพื่อเป็นการลดภาระของภาคประชาชนในครัวเรือนและภาคธุรกิจ

โดยมีเหตุผลดังนี้ 1.จากสถานการณ์ราคาพลังงานทั่วโลก มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การเร่งคืนหนี้ค่าไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จากเดิมที่มีแผนคืนให้ในระยะเวลา 3 ปี (ตามงวด 1/2566) และเปลี่ยนเป็น 2 ปี (ตามงวด 2/2566) อาจเร็วเกินไป จนส่งผลกระทบต่อภาระของประชาชน และต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ กกร.จึงเสนอให้คงระยะเวลาการคืนหนี้ให้ กฟผ. เป็นระยะ 3 ปี ตามงวด 1/2566 2.ควรพิจารณาปรับวิธีประมาณการราคาต้นทุนเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติและราคา LNG ที่ใช้คำนวณต้นทุนค่าไฟฟ้าโดยใช้ราคาที่สะท้อนแผนการนำเข้า LNG ในช่วงพฤษภาคม-สิงหาคม 2566 แทนการใช้ข้อมูลราคาของเดือนมกราคม 2566 ซึ่งมีราคาที่สูงกว่าเพื่อบรรเทาผลกระทบราคาไฟฟ้าของทุกภาคส่วนลงได้

นอกจากนี้ ขอให้ภาครัฐเร่งจัดตั้ง  กรอ.พลังงาน เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมให้ความเห็นในการกำหนดนโยบายด้านพลังงาน รวมถึงมาตรการช่วยเหลือด้านพลังงานต่างๆ เพื่อให้สามารถบรรเทาผลกระทบต่อทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาชน ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ และภาคผู้ประกอบการรายย่อยได้อย่างแท้จริง และเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง