กกต.โล่ง!ศาลยกฟ้องปมแบ่งเขต

ศาลปกครองสูงสุดยกฟ้อง กกต. ประกาศแบ่งเขตเลือกตั้ง กทม.-สุโขทัย-สกลนคร ชอบด้วยกฎหมาย  เป็นไปตาม รธน. ไม่มากไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 "อรรถวิชช์" ยังข้องใจ ชี้คำพิพากษาศาลสร้างบรรทัดฐานใหม่ หลังจากนี้ กกต.จะสามารถแบ่งเขตได้ตามใจชอบ

เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2566 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายกฟ้อง ในที่คดีที่นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม., คดีที่นายพัฒนา สัพโส ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. จ.สกลนคร, คดีที่นายวิรัตน์ วิริยะพงษ์ ผู้มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ใน จ.สุโขทัย และคดีที่นายพัฒ ตั้งเบญจผล ผู้แทนพรรคประชาธิปัตย์จาก จ.สุโขทัย  ยื่นฟ้องคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กรณีขอให้เพิกถอนประกาศ กกต.เรื่องแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่ประกอบเป็นเขตเลือกตั้งกรุงเทพมหานคร, จ.สกลนคร และ จ.สุโขทัย ลงวันที่ 16มี.ค.2566 ตามลำดับ

โดยให้เหตุผลว่า เมื่อพิจารณาค่าเฉลี่ยจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้ง ต่อจำนวน ส.ส. 1 คน เป็นตัวตั้ง ทั้งในเขตพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร จ.สกลนคร และ จ.สุโขทัย ตามประกาศ กกต.เรื่องแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่ประกอบเป็นเขตเลือกตั้ง ลงวันที่ 16 มี.ค.2566 จำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้งในแต่พื้นที่ของกรุงเทพมหานคร จ.สกลนคร และ จ.สุโขทัย มีจำนวนไม่มากหรือมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของค่าเฉลี่ยจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้ง 162,766 คน ต่อจำนวน ส.ส. 1 คน จนเกินไป

การที่ กกต.ออกประกาศ กกต.เรื่องแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่ประกอบเป็นเขตเลือกตั้ง ลงวันที่ 16 มี.ค.2566 ในส่วนของกรุงเทพมหานคร 33 เขตเลือกตั้ง,   จ.สกลนคร 7 เขตเลือกตั้ง และ จ.สุโขทัย 4 เขตเลือกตั้ง จึงเป็นการประกาศที่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 86 (5) ที่กำหนดว่า จังหวัดใดมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เกินหนึ่งคน ให้แบ่งเขตจังหวัดออกเป็นเขตเลือกตั้งเท่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พึงมี โดยต้องแบ่งพื้นที่ของเขตเลือกตั้งแต่ละเขตให้ติดต่อกัน และต้องจัดให้มีจำนวนราษฎรในแต่ละเขตใกล้เคียงกัน จึงพิพากษายกฟ้อง

ภายหลังศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา​ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งออกแถลงการณ์ว่า ได้เตรียมความพร้อมในการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการทั่วไป พ.ศ.2566 ไว้ทุกด้านแล้ว และน้อมรับคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด พร้อมดำเนินการตามประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่องแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่ประกอบเป็นเขตเลือกตั้ง ลงวันที่ 16 มี.ค.2566 เพื่อให้การจัดการเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยยึดหลัก “สุจริต โปร่งใส เที่ยงธรรม และชอบด้วยกฎหมาย” เป็นสำคัญ

ด้านนายอรรถวิชช์ให้สัมภาษ​ณ์ว่า​ คำพิพากษาวันนี้ ได้ไปเปรียบเทียบกับปี 2562 ซึ่งเป็นคนละระบบเลือกตั้ง ซึ่งเกณฑ์นี้ กกต.ตั้งใจมาตั้งแต่ต้น และเป็นการย้ำชัดอีกครั้งหนึ่งว่าคำพิพากษา กกต.สามารถกำหนดเกณฑ์ 10 เปอร์เซ็นต์นี้ได้ และในอนาคต กกต.เพียงไม่กี่ท่านสามารถกำหนดเขตอย่างไรก็ได้ตามที่ กกต.เห็นควร จะเห็นได้ว่ารูปแบบการแบ่งเขตมี 4 แบบ ซึ่งแบบที่กกต.เลือกแบบที่ 1 มีประชาชาชนเห็นด้วยกับรูปแบบนี้เพียงคนเดียว ขณะที่รูปแบบที่ 3 ที่ควรจะเป็นและคุ้นเคย มีประชาชนเห็นด้วยถึง 403 คน แต่สุดท้ายก็ออกตามที่ กกต.เลือก แต่ถึงอย่างไรเราพร้อมสู้ทุกรูปแบบ เพราะผู้สมัครของพรรคเราในเขต กทม.ก็ใหม่หมด

"วันนี้ที่ผมมาร้องจนถึงวันที่ศาลมีคำพิพากษา ผมไม่คิดว่าพรรคชาติพัฒนากล้าจะได้เปรียบหรือเสียเปรียบอะไรในเรื่องนี้ แต่มันทำให้ระบบ ส.ส.ความเป็นผู้แทนเปลี่ยนแปลงไป" นายอรรถวิชช์ กล่าว

วันเดียวกันนี้ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เผยแพร่ข้อมูลเน้นย้ำเกี่ยวกับข้อห้ามผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ตนเองหรือผู้สมัครอื่น หรือบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใดด้วยวิธีการ  1.จัดทําให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใด อันอาจคํานวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด 2.ให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้เงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อม แก่ชุมชน สมาคม มูลนิธิ วัด สถานศึกษา สถานสงเคราะห์หรือสถาบันอื่นใด

3.ทําการโฆษณาหาเสียงด้วยการจัดให้มีมหรสพหรือการรื่นเริงต่างๆ 4.เลี้ยงหรือรับจะจัดเลี้ยงผู้ใด 5.หลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ ใช้อิทธิพลคุกคาม ใส่ร้ายด้วยความเท็จ หรือจูงใจให้เข้าใจผิด ในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง 6.การหาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัครและพรรคการเมือง ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับแนวทางที่กําหนดเป็นนโยบายของพรรคการเมืองตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง

7.ห้ามผู้สมัครผู้ใดจัดยานพาหนะนําผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปยังที่เลือกตั้ง หรือนํากลับไปจากที่เลือกตั้ง หรือจัดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปหรือกลับเพื่อการออกเสียงลงคะแนน โดยไม่ต้องเสียค่าโดยสารยานพาหนะ หรือค่าจ้างซึ่งต้องเสียตามปกติ 8.ห้ามผู้ใดกระทําการเพื่อจูงใจหรือควบคุมให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปลงคะแนนเลือก หรือลงคะแนนไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด

 9.ห้ามผู้ใดซึ่งมิได้มีสัญชาติไทยเข้ามีส่วนช่วยเหลือในการหาเสียงเลือกตั้ง หรือกระทําการใดๆ เพื่อใครในการเลือกตั้งโดยประการที่เป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด ทั้งนี้ เว้นแต่การกระทํานั้นเป็นการช่วยราชการหรือเป็นการประกอบอาชีพตามปกติ โดยสุจริตของผู้นั้น 10.ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ตําแหน่งหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายกระทําการใดๆ เพื่อเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมือง

ทั้งนี้ สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง  ส.ส. พ.ศ.2561 และระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 โดยได้กำหนดกรอบระยะเวลาการให้ปฏิบัติ วิธีปฏิบัติ และข้อห้ามในการหาเสียงของผู้สมัคร ส.ส. พรรคการเมือง รวมถึงผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและหน่วยงานของรัฐจะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด หากฝ่าฝืนอาจได้รับโทษปรับ หรือจำคุก เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ตลอดทั้งการยุบพรรคการเมือง

ที่กระทรวงการต่างประเทศ นายรุจ ธรรมมงคล อธิบดีกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ แถลงถึงความคืบหน้าการเตรียมจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรว่า จากการเปิดให้ประชาชนชาวไทยในต่างประเทศลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา ขณะนี้มีผู้ลงทะเบียนดังกล่าวแล้วจำนวน 72,779 คน โดยยังเปิดให้มีการลงทะเบียนได้ถึงวันที่ 9 เม.ย. ทั้งนี้ ที่ผ่านมาทางกระทรวงได้ประชาสัมพันธ์ผ่านหลายช่องทางอย่างต่อเนื่อง เพื่อเชิญชวนคนไทยในต่างประเทศให้มาใช้สิทธิการเลือกตั้งดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ผู้ใดที่ประสบปัญหาในการลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือจากสถานเอกอัครราชทูตไทย หรือสถานกงสุลใหญ่ไทยได้โดยตรง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของกระทรวงช่วยกรอกข้อมูลต่างๆ ในการลงทะเบียน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง