เตือนปลื้มหว่านเงินสร้างเวรกรรมประเทศ!

“รทสช.-พปชร.” พร้อมชี้แจง กกต.เต็มสูบในนโยบายใช้เงิน แต่ พท.ยังไม่สะเด็ดน้ำ รอสรุปวันจันทร์ที่ 17 พ.ค. “บิ๊กตู่” รับเป็นกรรมเวรของประเทศ หากหลงใหลได้ปลื้มนโยบายหว่านแหแจก “ดร.ณัฐวุฒิ” สับเละเลขาธิการ กกต.ที่ออกมารับรองนโยบายแจกเงินดิจิทัล แนะรีบเคลียร์ก่อนทำภาพลักษณ์ กกต.เสียหาย

=เมื่อวันอาทิตย์ที่ 16 เม.ย. ยังคงมีความต่อเนื่องจากกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้มีหนังสือถึงทุกพรรคการเมืองที่นโยบายหาเสียงมีการใช้จ่ายเงิน ให้ชี้แจงรายละเอียดให้ครบถ้วนตามมาตรา 57 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2561 ภายในวันอังคารที่ 18 เม.ย.

โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) และแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคกล่าวว่า พรรคทำแล้ว และเขาต้องส่งให้ทัน คงใกล้เสร็จหมดแล้ว เผลอๆ เสร็จหมดแล้วด้วยซ้ำไป เพราะเมื่อวันที่ 15 เม.ย.ก็ได้ถาม ทราบว่าใกล้เสร็จแล้ว เพราะทำมาหลายวันแล้ว และรู้ว่าต้องชี้แจง กกต.ที่มาอย่างไร จากตรงไหนจะใช้จ่ายอะไร ต้องคำนึงถึงรายรับที่มีอยู่และรายจ่ายที่ต้องมีอยู่แล้วเดิม ซึ่งการดูแลผู้มีรายได้น้อยก็มีอยู่แล้ว ซึ่งทุกนโยบายต้องผ่านประธานคณะกรรมการกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์พรรค ไม่เช่นนั้นจะเป็นประธานไปทำไม เพราะประธานไม่ได้มีหน้าที่นั่งเฉยๆ

นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่า เราเตรียมเรื่องการชี้แจงนโยบายต่อ กกต. เสร็จสิ้นตั้งแต่วันที่ 12 เม.ย.แล้ว แต่เนื่องจากติดวันหยุดราชการตั้งแต่วันที่ 13-17 เม.ย. เราจึงจะไปยื่นในวันที่ 18 เม.ย. ตามกรอบเวลาที่ กกต.กำหนดไว้ ซึ่งเราจัดทําเอกสารไว้ครบถ้วนแล้ว ถือว่ามีความพร้อม 100% ที่จะชี้แจงนโยบายในการหาเสียง และเรื่องของการใช้เงิน ตามที่กฎหมายกำหนดไว้

ขณะที่นายประเสริฐ จันทรรวงทอง  เลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) และผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ  กล่าวว่า เรื่องนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ต้องรอสรุปวันจันทร์ที่ 17 เม.ย.อีกครั้งก่อน ยังไม่สามารถตอบได้ แต่ยืนยันว่าข้อมูลพร้อม และเชื่อว่าการชี้แจงครั้งนี้จะทำให้ กกต.สิ้นข้อสงสัย เพราะเราจะวิเคราะห์ที่ไปที่มาทางการเงินตามระเบียบทุกอย่าง

                    วันเดียวกัน ยังคงมีการแสดงความคิดเห็นถึงนโยบายแจกเงินดิจิทัลอยู่ต่อเนื่อง โดย พล.อ.ประยุทธ์กล่าวภายหลังลงพื้นที่องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร  (อ.ต.ก.) ว่าทำให้มีการบ้านกลับไปคิดอีกว่าจะทำอะไรให้ดีขึ้นกว่าเดิม เป็นการทำต่อ และทำใหม่ให้ดีขึ้นกว่านี้อีก ทั้งนี้ ปัญหาบ้านเราคือร้านค้าเล็กๆ น้อยๆ ค่อนข้างเยอะ กำลังการผลิตเยอะ แต่กำลังซื้อน้อยไป ฉะนั้นต้องทำให้ทั้งสองทางไปด้วยกันทั้งคนขายและคนซื้อ สามารถพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันได้ในการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนในระดับฐานราก เพราะเป็นส่วนสำคัญของประเทศไทยทั้งในวันนี้และวันหน้า หากเราสามารถพึ่งพาตัวเองได้ใช้จ่ายกันในพื้นที่ได้ เงินก็จะหมุนเวียนในระบบมากขึ้น ในส่วนของงบประมาณรัฐบาลที่เพิ่มเติมมาคือเรื่องการลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนจากต่างประเทศ ที่เรายังมีแผนเอาไว้แล้ว ซึ่งจะมีผลในไม่อีกกี่ปีข้างหน้า เป็นการเติมทั้ง 2 อย่างให้เต็ม ประเทศไทยก็จะมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

กรรมเวรของประเทศ

เมื่อถามว่า อยากให้นายกฯ อธิบายถึงเงินนโยบายของพรรคเรื่องเงินสวัสดิการที่บอกว่าให้มาก 10,000 บาท พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า หากลองดูตัวเลขง่ายๆ ถ้าตัวเลขที่เราทำได้คำนวณดูแล้วไม่ผิดกติกา ไม่ผิดกฎหมาย ตั้งวงเงินไว้เดือนละ 1,000 บาท ถ้ารวมทั้งปีได้ 12,000 บาท อันนั้นถ้าเปรียบเทียบ 10,000 บาทในระยะเวลา 6 เดือนที่ใช้ และให้ครั้งเดียว แต่สิ่งที่เราทำได้ทุกเดือน ลองคูณตัวเลขดีมากและน้อยอย่างไร และมันพุ่งเป้าไปสู่กลุ่มที่เขามีความเดือดร้อนจริงหรือไม่ การใช้เงินไม่ใช่จะหว่านไปทั่ว มันไม่ได้ อันนี้เป็นความคิดเห็นของทางต่างประเทศด้วย เราก็นำมาวิเคราะห์และวิจัยว่าอะไรทำได้หรือทำไม่ได้ ทั้งนี้อย่าลืมว่าเราต้องให้ความสำคัญกับเสถียรภาพการเงินของเราที่แข็งแกร่ง

เมื่อถามต่อว่า ของเดิมที่ทำอยู่จะดีกว่าตรงใช้ได้ทั้งประเทศ ไม่ได้กำหนดรัศมีในการใช้ใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ก็น่าจะเป็นอย่างนั้น เพราะใช้ได้ทุกพื้นที่ อย่าลืมว่าบางร้านค้าข้างล่างที่หวังจะไปเก็บเงินอะไร มีปัญหาอยู่ตรงที่บางร้านเป็นร้านเล็กๆ น้อยๆ อาจไม่ได้จดทะเบียน ซึ่งเราก็ไม่รู้จะทำอย่างไรเหมือนกัน นอกจากยกระดับให้เขาดีขึ้น เพื่อเข้าสู่ระบบในการจดทะเบียนห้างร้าน เพราะถ้าไม่จดทะเบียนขึ้นทะเบียน ก็พัฒนาไม่ได้ เก็บภาษีไม่ได้ แต่ก็เห็นใจ เพราะบางคนรายได้น้อย  เข้าใจหรือไม่ลองคิดเปรียบเทียบอย่างนี้

“ผมไม่ได้ติเตียนว่าใครทั้งหมด ผมบอกเหตุผลของผม และล่าสุดผมเป็นผู้บริหารเอง ในขณะนี้ลองเปรียบเทียบดูแล้วกัน ถ้าไม่พุ่งเป้า เราจะเพียงพอหรือไม่ ถ้าไม่แก้ปัญหาแบบพุ่งเป้าใครเดือดร้อนมากเดือดร้อนน้อยก็ต้องดูแลกันตามนั้นทุกเรื่อง ก็ต้องทำตามนี้ในหลักการ” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

เมื่อถามอีกว่า ในช่วงโค้งสุดท้ายพรรค รทสช.จะปรับกลยุทธ์ในการหาเสียงอย่างไรหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญสุด มองในแง่ว่าทำอย่างไรให้ประชาชนเข้าใจ และเกิดการให้ความร่วมมือ หากเราหาเสียงกันแบบมีแต่ให้ จะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต เราก็ทราบกันมาอยู่แล้ว ที่ผ่านมาก็เกิดเยอะแยะแล้ว แล้วได้อะไรกลับมาหรือไม่ มีแต่ปัญหามาตลอด ฉะนั้นวันนี้ทุกประเทศในโลกวันนี้ ถ้าใช้วิธีการนี้ก็คือการดูแลเฉพาะเจาะจง กลุ่มรายได้เท่าไหร่ควรได้อะไร และอะไรที่ควรได้ทุกคน  อะไรที่จะได้บางคน บางรายได้มีหลักคิดทั้งหมด พูดเองเออเองทั้งหมด คนชอบก็กรรมเวรของประเทศชาติไปก็แล้วกัน

ด้าน น.ส.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ รองเลขาธิการพรรค พท. และผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ กล่าวตอบโต้นายธนกร วังบุญคงชนะ รมต.ประจำสำนักนายกฯ ในฐานะรองหัวหน้าพรรค รทสช. ที่ตั้งข้อสงสัยที่มาของนโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาทว่า ก่อนนายธนกรจะวิพากษ์วิจารณ์ ควรศึกษาหาข้อมูลให้ครบถ้วนรอบคอบ หากฟังไม่ได้ศัพท์อาจสร้างความสับสนให้กับสังคมได้  แนวคิดของพรรค รทสช.หาเสียงนโยบายบัตรคนจนพลัส 1,000 บาท เป็นการแจกสงเคราะห์เฉพาะคนที่มีรายได้น้อย ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับแนวคิดการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ของพรรค พท.ด้วยหลากหลายนโยบาย เป็นนโยบายที่มีพลังในการกระตุกเศรษฐกิจที่ตกต่ำให้โงหัวขึ้น การแจกทีละเล็กน้อยจึงเป็นเหมือนการหยอดน้ำข้าวต้ม ไม่มีพลังที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจที่อาการทรุดหนักได้เพียงพอ พรรค พท.คิดใหญ่ ทำเป็น ทำได้จริง ทำมาแล้ว และพร้อมทำอีก

                    “นายธนกรเคยอยู่พรรคพลังประชารัฐ และตอนนี้ย้ายมาสังกัดพรรคใหม่ ก่อนซักถามหรือต่อว่านโยบายของพรรคอื่น ควรต้องถามตัวเองก่อนว่านโยบายที่หาเสียงไว้ในปี 2562 ทำได้บ้างหรือไม่ นโยบายของพรรคเก่ายังไม่ทำ   ไม่รับผิดชอบต่อคำพูดตัวเอง และยังวิจารณ์พรรคอื่นโดยไม่รู้ข้อเท็จจริง เป็นการทำงานการเมืองที่ไม่สร้างสรรค์หรือไม่” น.ส.ลิณธิภรณ์กล่าว

อบรมเลขาธิการ กกต.

ขณะที่ ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม นักกฎหมายมหาชน กล่าวตอบโต้นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ที่ให้สัมภาษณ์ถึงนโยบายแจกเงินดิจิทัลว่าเป็นนโยบายที่กฎหมายเขียนรับรองว่า อ่านแล้วงงว่าใช้ตรรกะอะไร ข้อกฎหมายมาตราไหนเขียนรับรองนโยบายเงินดิจิทัล อย่าพยายามสร้างหลักกฎหมายขึ้นมาเอง ระดับเลขาธิการ กกต. จะไปยืนยันว่าเป็นนโยบายที่กฎหมายเขียนรับรอง เท่ากับรับรองนโยบายของพรรค พท.ว่าสามารถกระทำได้ ทั้งๆ ที่ไม่มีอำนาจวินิจฉัย

ดร.ณัฐวุฒิยังได้ยกข้อกฎหมายเรื่องกรณีสัญญาว่าจะให้และนโยบายก่อนระบุว่า จุดแตกต่างความคาบเกี่ยวระหว่างนโยบายกับสัญญาว่าจะให้ ขอถามนายแสวงว่าเงินดิจิทัล นายแสวงรู้ได้อย่างไรว่าเป็นเงินดิจิทัลสกุลอะไร มีกฎหมายรองรับหรือไม่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้ทำหนังสือสอบถามไปหรือยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือไม่ ทราบหรือไม่ว่า ธปท.ประกาศเงินดิจิทัลไม่สามารถชำระหนี้ แลกเปลี่ยนเงินตราซื้อสินค้าได้ เพราะมีผลกระทบต่อระบบการเงินของประเทศ ประชาชนทั่วไปทราบกันถ้วนหน้า เมื่อความปรากฏชัดแล้ว ตามระเบียบ กกต.ว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน และการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ.2561 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม กกต.ต้องทำอย่างไร น่าจะทราบ

 “การแจกทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด ไม่ว่าก่อนหรือหลังเลือกตั้ง ถือเป็นสัญญาว่าจะให้ โดยเฉพาะเข้าข่ายลักษณะการซื้อเสียงล่วงหน้า ต้องตรวจสอบ แต่ไม่ได้มาสัมภาษณ์ว่าไม่ผิด ไหนว่าจัดการเลือกตั้งโดยสุจริตและเที่ยงธรรม คำว่าสุจริตและเที่ยงธรรม ต้องหมายถึงความเป็นธรรมทุกพรรคการเมือง ความเป็นธรรมทุกฝ่าย รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรององค์กร กกต. เป็นองค์กรอิสระองค์กรหนึ่ง ถือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ จะมีกฎหมายคุ้มครองเฉพาะกระทำโดยสุจริตเท่านั้น ดังนั้นก่อนให้ความเห็น ต้องมีความเป็นกลางทางการเมืองเพื่อไม่ให้ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของ กกต.” ดร.ณัฐวุฒิระบุ

ดร.ณัฐวุฒิยังระบุว่า นโยบายแจกทั้งหลาย ต้องดูว่าสิ่งที่เสนอมีกฎหมายรองรับหรือไม่ด้วย ไม่ได้ดูเพียงมาตรา 57 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองเท่านั้น หากไม่มีกฎหมายรองรับ และเป็นไปไม่ได้ เช่น ขายยางพาราบนดาวอังคาร เรียกว่า หาเสียงหลอกลวง ซึ่งเงินดิจิทัล ธปท.และ ตลท.รับรองหรือไม่ ต้องพิจารณาข้อกฎหมาย เงินดิจิทัลไม่สามารถชำระหนี้ภายในราชอาณาจักรไทยได้ ทั้งนโยบายการแจกเงินล่วงหน้าคาบเกี่ยวเข้าข่ายลักษณะการซื้อเสียงล่วงหน้า นโยบายดีหรือไม่ดีมันคนละเรื่องกัน หากเลขาธิการ กกต.ยืนยันว่าทำได้ เข้าใจว่าหลังจากวันนี้จะมีพรรคการเมืองเสนอนโยบายประชานิยมสุดโต่ง แจกเงินดิจิทัล เงินบาท คนละหนึ่งแสน หนึ่งล้านบาท อ้างว่ากระตุ้นเศรษฐกิจ โดยใช้งบประมาณรัฐ หากเป็นแบบนี้ ประเทศไทยจะอยู่กันได้อย่างไร กกต. ถูกออกแบบมาเพื่อจัดการเลือกตั้ง ควบคุมการเลือกตั้งให้สุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ต้องทำคือป้องปรามและแนะนำพรรคการเมืองนั้นให้ปรับแก้ไขนโยบายให้ถูกต้อง

“พรรคการเมืองแจกเงินล่วงหน้า ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ ส่วนนโยบายเพิ่มเงินบัตรต่างๆ ของพรรคการเมืองอื่น ซึ่งปรากฏมีอยู่แล้วก่อนเลือกตั้ง เทียบเคียงกันไม่ได้ ทั้งเล็งเห็นได้ว่าการแจกเงินดิจิทัล ต้องใช้งบประมาณของรัฐ เป็นเงินส่วนตัวตรงไหน ให้ประชาชนย้อนกลับไปดูนโยบายจำนำข้าว ใช้เงินส่วนตัวหรือเงินรัฐภาษีของประชาชน ยังติดตามเงินคืนรัฐยังไม่ครบถ้วน รัฐเสียหายเพียงใด ดังนั้น ที่เลขาธิการ กกต.ยกองค์ประกอบสัญญาว่าจะให้เป็นเพียงองค์ประกอบของผู้สมัคร ส.ส. ซึ่งไม่ใช่เป็นการนำเสนอนโยบายของพรรคการเมือง ที่เป็นนิติบุคคลเป็นคนละเรื่องกัน จึงขอแนะนำว่าอย่าทำอะไรเสียภาพลักษณ์องค์กร กกต.” ดร.ณัฐวุฒิย้ำ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เพื่อไทย' จ่อเคลียร์ใจ 'ปานปรีย์' ชวนนั่งกุนซือพรรค ไม่รู้ 'นพดล' เสียบแทน

'เลขาฯ เพื่อไทย' รับต้องคุย 'ปานปรีย์' หลังไขก๊อกพ้น รมว.ต่างประเทศ แย้มชงนั่งที่ปรึกษาพรรค มั่นใจไม่เกิดแรงกระเพื่อม ปัดวางตัว 'นพดล' เสียบแทน ชี้ 'ชลน่าน-ไชยา' หน้าที่หลักยังเป็น สส.

พท. จัดใหญ่! '10 เดือนที่ไม่รอ ทำต่อให้เต็ม 10' ตีปี๊บผลงาน 'รัฐบาลเศรษฐา'

'เพื่อไทย' เตรียมจัดงาน '10 เดือนที่ไม่รอ ทำต่อให้เต็ม 10' สรุปผลงาน 'รัฐบาลเศรษฐา' 3 พ.ค.นี้ เดินหน้าเติมนโยบายที่สัญญาไว้กับประชาชน พร้อมเปิดตัวผู้สมัครนายก อบจ.

‘เศรษฐา’ แจงยิบปรับครม. ขอโทษ ‘ปานปรีย์’ ทำให้ไม่สบายใจ บอกมีคนแทนในใจแล้ว

‘เศรษฐา’ เผย ส่งข้อความผ่านกลุ่มงานต่างประเทศขอโทษ ‘ปานปรีย์’ ถ้าทำให้ไม่สบายใจ บอกได้คุยกันก่อนปรับ ครม.แล้ว ชี้มีทั้งคนสมหวัง-ผิดหวัง พร้อมรับผิดชอบ แย้มมองหาคนใหม่ตั้งแต่เมื่อคืน ดีกรี การทูต-การเมือง ทำงานเบื้องหลัง’เพื่อไทย’ มานาน