เลื่อนพรบ.อุ้มหายขัดรธน. ขู่ถอดถอน‘ครม.ประยุทธ์’

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 8  ต่อ 1 ชี้ พ.ร.ก.ขยายเวลาบังคับใช้  พ.ร.บ.ป้องกันการอุ้มหายขัด รธน. 

แต่ไม่มีผลย้อนหลัง แนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดแนวปฏิบัติให้เจ้าหน้าที่   "ผบ.ตร." น้อมรับคำสั่งศาล ติวเข้มทุกหน่วยให้ดำเนินการตามกฎหมายทันที   อดีต ปธ.กมธ.พรบ.อุ้มหายจี้ "ประยุทธ์" แสดงสปิริตโดยไม่ต้องรอโดนถอดถอน   "สมชัย" ระบุ ครม.ที่ร่วมลงมติทำผิด รธน.ด้วย ยุร้อง ป.ป.ช.ถอดถอน ครม.ทั้งคณะ

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 วินิจฉัยว่า พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)  ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 พ.ศ.2566 ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 172 วรรคหนึ่ง และให้ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 พ.ศ.2566 ไม่มีผลใช้บังคับมาตั้งแต่วันที่ 22 ก.พ.66 ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 173 วรรคสาม

คดีดังกล่าว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) 99 คน ซึ่งเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวน ส.ส.ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร เข้าชื่อเสนอความเห็นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรว่า พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายพ.ศ.2565 พ.ศ.2566 ตราขึ้นเพื่อขยายกำหนดเวลาการมีผลใช้บังคับของพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายพ.ศ.2565 มาตรา 22 มาตรา 23 มาตรา 24 และมาตรา 25 จากเดิมที่ให้ใช้บังคับเมื่อครบกำหนด 120 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไปคือวันที่ 22 ก.พ.66 แก้ไขเป็นให้ใช้บังคับตั้งแต่ 1 ต.ค.66 เป็นต้นไป

โดยอ้างเหตุผลความไม่พร้อมด้านงบประมาณการจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์และขั้นตอนการปฏิบัติงานในการบังคับใช้พระราชบัญญัติดังกล่าว  ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ 2 มาตรา 172 วรรคหนึ่ง จึงส่งความเห็นดังกล่าวเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 173 วรรคหนึ่ง

ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญได้ชี้แจงเพิ่มเติม การที่พระราชกำหนดนี้ไม่มีผลใช้บังคับมาแต่ต้น ย่อมไม่กระทบต่อกิจการที่ได้เป็นไปในระหว่างที่ใช้พระราชกำหนดนั้น ซึ่งสอดคล้องกับที่รัฐธรรมนูญมาตรา 172 วรรคสาม บัญญัติไว้ในกรณีที่รัฐสภาไม่อนุมัติพระราชกำหนดให้พระราชกำหนดนั้นตกไป แต่ทั้งนี้ไม่กระทบต่อกิจการที่ได้เป็นไปในระหว่างที่ใช้พระราชกำหนดนั้น สำหรับการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย  หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสมควรกำหนดแนวทางปฏิบัติให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบ เพื่อแก้ไขข้อจำกัดของหน่วยงานในการปฏิบัติให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2565 ได้มีการประกาศ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ ลงในราชกิจจานุเบกษา โดยให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 ก.พ. 2566 ต่อมาวันที่ 14 ก.พ.2566 ก่อนการมีผลบังคับใช้เพียง 8 วัน คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ตรา พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ เพื่อเลื่อนการบังคับใช้มาตรา 22 ถึงมาตรา 25 รวม 4 มาตรา ไปเป็นวันที่ 1 ต.ค.2566

สำหรับมาตรา 22 มาตรา 23 มาตรา 24 และมาตรา 25 ที่ได้ขยายเวลาการบังคับใช้ออกไป มีสาระสำคัญ ดังนี้   มาตรา 22 การควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบต้องบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องในขณะจับและควบคุมจนกระทั่งส่งตัวให้พนักงานสอบสวนหรือปล่อยตัวบุคคลดังกล่าว, มาตรา 23 การควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบต้องบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว, มาตรา 24 การเข้าถึงข้อมูลของผู้ถูกควบคุมตัว, มาตรา 25 การไม่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว กรณีอยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมายละเมิดต่อความเป็นส่วนตัว เกิดผลร้ายต่อบุคคล หรือเป็นอุปสรรคต่อการสืบสวนสอบสวน

ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เป็นประธานการประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไปยังหน่วยปฏิบัติทุกหน่วยทั่วประเทศ เพื่อกำชับการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ดังกล่าว เพื่อขยายกำหนดเวลาในการมีผลใช้บังคับเฉพาะมาตรา 22-25 ออกไป ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 

ภายหลังการประชุมใช้เวลานานกว่า 1 ชั่วโมง พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์กล่าวว่า วันนี้รับทราบจากการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ตีความว่า พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ อาจจะไม่มีผลต่อการเลื่อนในการใช้จนถึงวันที่ 1 ต.ค.2566 ตำรวจจึงต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ หรือ "พ.ร.บ. อุ้มหาย" ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 22 ก.พ. 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งจะได้ดำเนินการให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ดังกล่าวตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป วันนี้จึงมีการประชุมกับรองผบ.ตร. ผู้ช่วย ผบ.ตร. ผู้บัญชาการ ผู้บังคับการ และหัวหน้าสถานี เพื่อกำชับการปฏิบัติ และมีหนังสือสั่งการประชุมไปแล้ว จะมีการเซ็นลงนามเป็นทางการภายในวันนี้ว่าขั้นตอนการปฏิบัติ ถึงแม้จะมีปัญหาเรื่องอุปกรณ์กล้องบันทึกภาพและเสียงมีไม่พอ ก็จะพยายามหมุนใช้ให้พอไปได้ก่อน ในช่วงภายใต้การขาดแคลนอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ ก็จะทำงานไปก่อนให้ดีที่สุด จนกว่าจะได้อุปกรณ์ครบในเดือนกันยายนนี้

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์กล่าวว่า ใน 4 เดือนนี้จะใช้อุปกรณ์ที่มีอยู่ และมีเรื่องเร่งด่วนคือการจัดเก็บต่างๆ ก็จะรีบจัดหาเครื่องจัดเก็บ ซึ่งจะรีบโอนเงินไปให้จัดหาเครื่องจัดเก็บ (External harddisk) ให้ทุกโรงพักรีบไปจัดหามาให้ได้เร็วที่สุด โดยระหว่างนี้ให้จัดเก็บข้อมูลลงในคอมพิวเตอร์ของโรงพักไปพลางก่อน ถึงแม้จะยังไม่มีระเบียบกลางของกระทรวงยุติธรรมยังไม่ออกมาให้ปฏิบัติ หรือมีการซักซ้อมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งอัยการ กรมการปกครอง ยังไม่ได้ซักซ้อมอย่างเรียบร้อย แต่เมื่อกฎหมายมีผลแล้ว จะต้องประสานงานทำไปพลางก่อน หากมีเหตุติดขัดก็จะบันทึกเหตุติดขัดนั้น และจะมีแนวทาง ตร.ว่าทำอะไรได้ก็ทำไปก่อน

"ยอมรับว่ามีความกังวลบ้าง แต่เมื่อกฎหมายออกมาแล้วก็ต้องทำตามกฎหมาย ถึงแม้ว่าอาจจะไม่มีการซักซ้อมร่วมกันกับหน่วยงานผู้ปฏิบัติหรือซักซ้อมได้สมบูรณ์ เพราะมีเวลาจำกัด  ตำรวจก็ต้องพยายามทำให้ดีที่สุด" พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์กล่าว

ที่พรรคไทยสร้างไทย นายชวลิต วิชยสุทธิ์ สมาชิกพรรคไทยสร้างไทย และอดีตประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ กล่าวถึงกรณีศาล รธน.วินิจฉัยไม่เลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ.ดังกล่าวว่า พ.ร.ก.เลื่อนการบังคับใช้ที่ออกโดยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กระทำการขัดรัฐธรรมนูญ กล่าวโดยสรุป พ.ร.บ.อุ้มหาย มีผลบังคับใช้ตามที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป ส่วน พ.ร.ก.เลื่อนการบังคับใช้ ก็ตกไป เพราะขัดรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.อุ้มหาย  นับเป็นผลงานชิ้นเอกของรัฐสภาชุดที่ผ่านมา ซึ่งตนในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา พ.ร.บ.ฉบับนี้ ร่วมกับเพื่อนคณะกรรมาธิการฯ  จากทุกพรรคการเมือง ได้ทุ่มเททำงานร่วมกันจนเป็นผลสำเร็จ จนได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา

"กฎหมายฉบับนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมชั้นต้นขนาดย่อมๆ ซึ่งเป็นประตูที่จะเปิดทางในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบในโอกาสต่อไป ผมมีความเห็นต่อเนื่องในทางการเมืองว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ แม้เป็นรัฐบาลรักษาการ ก็ควรรับผิดชอบทางการเมือง เพราะรัฐบาลได้กระทำการออก พ.ร.ก.ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญเสียเอง เมื่อกรณีการวินิจฉัยของศาล รธน.ชัดเจนเช่นนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล คงไม่ต้องรอให้มีการยื่นถอดถอน ควรแสดงสปิริตทางการเมืองเสียแต่บัดนี้" นายชวลิตกล่าว

ด้านนายสมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบาย พรรคเสรีรวมไทย โพสต์ข้อความถึงกรณีดังกล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 8 : 1  เห็นว่า การออก พ.ร.ก.เลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันทรมานอุ้มหายนั้น ขัดกับรัฐธรรมนูญ ไม่เป็นไปตามมาตรา 172 วรรคหนึ่งแห่งรัฐธรรมนูญ กล่าวง่ายๆ คือ พ.ร.ก.ดังกล่าว ครม.ไม่สมควรออก เพราะไม่เข้าข่ายเป็นประโยชน์ในการรักษาความปลอดภัยของประเทศ สาธารณะ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ นอกจากทำให้ พ.ร.ก.ไม่มีผลบังคับใช้แล้ว ยังมีผลว่า ครม.ประยุทธ์ ที่ร่วมลงมติวันนั้นทำผิดรัฐธรรมนูญด้วย ใครสนใจร้อง ป.ป.ช.ถอดถอน ครม.ทั้งคณะบ้าง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง