ตีตก3คำร้อง‘พิธา’ อ้างเหตุยื่นเกินเส้นตาย แต่ไต่สวนผิดม.151ต่อ!

"อิทธิพร" เผยสัปดาห์หน้าชัดเจนรับรองผลเลือกตั้ง ส.ส. แจงทยอยประกาศไม่ได้ เหตุ กม.กำหนดต้องรับรองไม่น้อยกว่า 95% มั่นใจเร็วกว่า 60 วันแน่  แย้มสำนักงาน กกต.เตรียมชงเลือกตั้งใหม่บางเขต "เลขาฯ กกต." ชี้อาจต้องรับรอง "พิธา" เป็น ส.ส.ก่อนฟันคุณสมบัติ   "ป.ป.ช." ระบุ "ทิม" เคยยื่นการค้ำประกันหนี้-ถือหุ้นไอทีวีแล้ว รอตรวจสอบหนี้ก้อนเดียวกันหรือไม่ "ก้าวไกล" เดินสายขอบคุณชาวภูเก็ต "เศรษฐา" เชื่อ "อุ๊งอิ๊ง" มีภาวะผู้นำ "สมศักดิ์" ยันระเบียบราชทัณฑ์ใหม่ไม่ได้เอื้อ "ทักษิณ" กลับประเทศ  

ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) วันที่ 9 มิ.ย. นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. กล่าวถึงกรณีคำสั่งให้นับคะแนน 47 หน่วยเลือกตั้งใหม่ว่า  เป็นมติที่ประชุม กกต. เนื่องจากเห็นว่าจำนวนบัตรออกเสียงกับจำนวนผู้มาใช้สิทธิตรงกัน แต่คะแนนที่นับออกมาไม่ตรงกัน อาจจะมีสาเหตุจากการขานคะแนนผิดพลาด จึงจำเป็นต้องนับคะแนนใหม่ใน 47 หน่วย ซึ่งกระบวนการนับใหม่จะต้องทำโดยไม่ล่าช้า คิดว่าไม่เกิน 5 วันก็น่าจะเสร็จเรียบร้อย หลังจากนั้นก็จะต้องส่งผลการนับคะแนนมาให้ กกต.อีกครั้ง โดยการนับคะแนนใหม่จะไม่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงจำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับ เพราะนับเพียงบางหน่วยเท่านั้น

"ขณะนี้ยังมีกรณีที่สำนักงาน กกต.จะเสนอเรื่องเกี่ยวกับการนับคะแนนใหม่ หรือสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ให้ กกต.พิจารณา ซึ่งขึ้นอยู่กับที่ประชุมว่าจะมีความเห็นว่าอย่างไร โดยมีจำนวนไม่มากหรืออาจจะไม่มีอะไรเลยก็ได้" นายอิทธิพรกล่าว

ประธาน กกต.กล่าวถึงการประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.ว่า กกต.ไม่สามารถทยอยประกาศรับรองผลได้เหมือนการเลือกตั้งท้องถิ่น เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้ กกต.ต้องประกาศรับรองผลการเลือกตั้งไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 จะทยอยประกาศไม่ได้ อีกทั้งขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาว่าผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งมาได้รับการเลือกตั้งมาโดยสุจริตหรือไม่ หาก กกต.พิจารณาเห็นว่ามีเรื่องร้องเรียน โดยขั้นตอนหากมีการร้อง สำนักงาน กกต.จะพิจารณาว่าเป็นเรื่องที่มีมูลควรสั่งรับคำร้องหรือไม่  หากรับก็จะนำไปสู่การตั้งคณะกรรมการสืบสวนไต่สวน และดำเนินการสืบสวนไต่สวนต่อไป

"ถ้าหากดำเนินการไม่ทันภายในเวลา 60 วัน กกต.ก็จะประกาศรับรองผลไปก่อนแล้วไปดำเนินการในภายหลัง โดยคาดว่าในสัปดาห์หน้าจะมีความชัดเจนว่าจะสามารถประกาศรับรองผลได้เมื่อไหร่ แต่เชื่อว่า กกต.จะประกาศรับรองผลได้เร็วกว่า 60 วัน เร็วกว่าเมื่อปี 2562 แน่ๆ  เพราะ กกต.เองก็ไม่อยากให้ล่าช้า" ประธาน กกต.กล่าว

ถามถึงการตรวจสอบคำร้องการถือหุ้นสื่อของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี นายอิทธิพรกล่าวว่า มีการยื่นคำร้องมา 3 คำร้อง อยู่ในขั้นตอนสำนักงาน กกต.พิจารณาว่าจะรับเป็นคำร้องหรือไม่  และหากไม่รับเป็นคำร้อง จะรับเป็นความปรากฏต่อ กกต.หรือไม่ หากรับก็จะมีการตั้งคณะกรรมการไต่สวนมาดำเนินการสืบสวนไต่สวนและเชิญผู้ถูกกล่าวหามาให้ถ้อยคำ ซึ่งกระบวนการสอบสวนสามารถทำควบคู่ไปกับการประกาศรับรองผลก็ได้

ซักว่าจะต้องไม่ประกาศรับรองนายพิธาเป็น ส.ส.ก่อนหรือไม่ นายอิทธิพร กล่าวว่า ยังพูดอย่างนั้นไม่ได้ เวลานี้อยู่ที่ว่าเราจะรับคำร้องเรื่องนี้ไว้พิจารณาหรือไม่ และถึงแม้ว่าจะรับคำร้องไว้พิจารณาแล้ว มีการตั้งคณะกรรมการไต่สวน ก็ต้องมีการให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหามาชี้แจง ซึ่งกระบวนการทั้งหมดต้องใช้เวลา จึงไม่มีประเด็นอะไรให้ต้องไม่ประกาศรับรองผล

สัปดาห์หน้าชัดรับรอง ส.ส.

ถามต่อว่า นายพิธาได้เซ็นรับรองส่งผู้สมัคร ส.ส.ในฐานะหัวหน้าพรรค จะส่งผลให้ไม่ประกาศรับรอง ส.ส.พรรคก้าวไกลด้วยหรือไม่ ประธาน กกต.กล่าวว่า ไม่ถึงขนาดนั้น เมื่อถามว่าข้อบังคับพรรคก้าวไกลมีการกำหนดให้สมาชิกพรรคต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้ง แล้วหากนายพิธาถูกชี้ว่าผิด จะส่งผลต่อการได้รับการรับรอง ส.ส.พรรคก้าวไกลหรือไม่ ประธาน กกต.กล่าวว่า เรื่องนี้ยังอยู่ในกระบวนการพิจารณา การให้ความเห็นเบื้องต้นทำไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องที่ กกต.ต้องพิจารณาร่วมกัน และยังต้องใช้เวลาอีกมาก แต่เรื่องทั้งหมดเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหุ้นสื่อทั้งหมด ซึ่งจะเชิญนายพิธามาชี้แจงหลังมีการตั้งคณะกรรมการแล้ว

"ไม่ได้รู้สึกกังวลกับการที่สังคมกดดัน กกต.ให้รับหรือไม่รับเรื่องร้องเรียนนายพิธา เรารับทราบความเห็นของประชาชน แต่เราก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่สามารถละเว้นการปฏิบัติงานได้" ประธาน กกต.กล่าว

ถามว่านายพิธาระบุหากได้เป็นนายกฯ จะโละองค์กรอิสระที่ไม่อิสระ  นายอิทธิพรกล่าวว่า ทุกคนมีสิทธิเสนอความเห็นและผลักดันให้เป็นไปตามนั้น  เราเป็นเพียงผู้ปฏิบัติ

ส่วนนายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. กล่าวถึงการนับคะแนน 47 หน่วยใหม่ว่า จะมีการนับคะแนนวันที่ 11 มิ.ย.นี้ ซึ่งประชาชนสามารถเข้าไปร่วมสังเกตการณ์การนับคะแนนได้ ขณะที่ทาง กกต.เองก็จะมีการบันทึกภาพด้วย

"หลังจากมีการเลือกตั้งและมีการประกาศผลคะแนนอย่างเป็นทางการแล้ว สำนักงานไม่ได้หยุดนิ่ง ได้ตระหนักว่าประชาชนต้องการทราบว่า กกต.จะประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการในช่วงเวลาใด ซึ่งกฎหมายจะให้เวลาในการทำงาน 60 วัน หรือ 13 ก.ค. ซึ่งการนับคะแนนใหม่ สำนักงานได้มีการตรวจสอบและเสนอให้คณะกรรมการพิจารณา ซึ่งแม้ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของคะแนน แต่ กกต.ต้องปฏิบัติตามมาตรา 124 ที่ทำให้ไม่สามารถที่จะงดเว้นการสั่งนับคะแนนไม่ได้" นายแสวงกล่าว

ถามว่า จะทำให้การประกาศรับรองผล ส.ส.ล่าช้าหรือไม่ นายแสวงกล่าวว่า การสั่งนับคะแนนใหม่จะไม่กระทบต่อแผนการประกาศรับรองผล เพราะสำนักงานพยายามเร่งรัดอยู่แล้ว โดยในสัปดาห์หน้าสำนักงานจะมีการเสนอให้ กกต.ทยอยพิจารณา ซึ่งน่าจะเป็นการเสนอให้มีการพิจารณาในกลุ่มที่ไม่มีเรื่องร้องเรียนก่อน แต่ไม่ใช่การทยอยประกาศผล เพราะกฎหมายระบุว่าจะต้องประกาศไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 แบบแบ่งเขตเลือกตั้งหรือ 380 คน โดยขณะนี้ได้ให้จังหวัดรายงานกลับมาว่าในแต่ละจังหวัดมีเรื่องร้องเรียน และแต่ละเรื่องมีความหนักเบาแค่ไหน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาประกาศผล โดยขณะนี้เรามีข้อมูลจำแนกเป็นกลุ่มของผู้ได้รับเลือกตั้งที่มีเรื่องร้องเรียน กับไม่มีเรื่องร้องเรียน แต่ไม่สามารถเปิดเผยได้

เมื่อถามถึงการพิจารณาคำร้องถือหุ้นสื่อของนายพิธา เลขาฯ กกต.กล่าวว่า เรื่องนี้มีปัญหาทางเทคนิคอยู่ คือผู้ร้องมาร้องก่อนวันเลือกตั้ง 2 วัน ซึ่งกรณีมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ ต้องร้องภายใน 7 วันก่อนวันเลือกตั้ง สำนักงานก็ต้องพิจารณาว่าสิ่งที่ร้องมีเหตุหรือมีมูลที่จะดำเนินการต่อไปหรือไม่ เพื่อเสนอให้ กกต.พิจารณา และทาง กกต.มีความเห็นว่าให้ทำให้รอบคอบและเสนอขึ้นไปใหม่ ส่วน กกต.จะรับไว้พิจารณาหรือไม่เป็นอีกประเด็น และถ้ารับแล้วจะผิดหรือถูกก็เป็นอีกประเด็น ดังนั้นเรื่องนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของสำนักงาน

นายแสวงกล่าวว่า สำหรับเรื่องการมีลักษณะต้องห้ามของการลงสมัครหากเกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งต้องส่งศาลฎีกาวินิจฉัย แต่หลังเลือกตั้งก่อนการประกาศผล ยังเป็นช่องโหว่อยู่ ซึ่งสำนักงานก็คิดว่าหากมีการยื่นจะทำอะไรได้บ้าง ซึ่งสามารถทำคดีอาญาตามมาตรา 151 ได้ ส่วนถ้าประกาศรับรองผลไปแล้วการให้พ้นจาก ส.ส. ก็ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 คือสมาชิกรัฐสภา 1 ใน 10 เข้าชื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึง กกต.ก็สามารถยื่นได้ แต่เราต้องมีพยานหลักฐานและข้อเท็จจริง

ถามว่า ขณะนี้ กกต.กำลังพิจารณาควบคู่ระหว่างคดีมาตรา 151 และคดีคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ เลขาฯ กกต.กล่าวว่า ในฐานะส่วนตัวคิดว่าคดีคุณสมบัติยังพิจารณาไม่ได้ ตอนนี้พิจารณาได้เฉพาะคดีอาญา ตามมาตรา 151 แต่คดีคุณสมบัติยังทำไม่ได้ เพราะยังไม่เป็น ส.ส.

"ตามคำร้องว่าคุณพิธาไม่มีคุณสมบัติในการลงสมัคร ส.ส. เพราะคุณพิธามีลักษณะต้องห้ามที่กฎหมายกำหนด เมื่อคุณพิธาไม่มีคุณสมบัติ ก็จะไปสู่ข้อหารู้อยู่แล้วว่าไม่มีคุณสมบัติแต่ยังลงสมัคร ซึ่งมีความผิดตามมาตรา 151 แต่เรื่องของการพ้น เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ซึ่งตอนนี้ยังเป็นอนาคตที่มาไม่ถึง ยังไงก็ต้องประกาศผลให้เป็น ส.ส.ไปก่อน เพราะพ้นในช่วงการยื่นของศาลฎีกามาแล้ว กกต.ไม่มีอำนาจไม่ประกาศ แต่สามารถพิจารณาคดีอาญาได้" เลขาฯ กกต.กล่าว

สอบ 'พิธา' ค้ำประกันหนี้

ขณะที่นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกัน​และ​ปราบปราม​การ​ทุจริต​แห่งชาติ​  (ป.ป.ช.)​ ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. กล่าวถึงการแจ้งบัญชีทรัพย์สินของนายพิธา กรณีการค้ำประกันเงินกู้ 460 ล้านบาทว่า   ทาง ป.ป.ช.ได้ตรวจสอบพบว่านายพิธาได้เคยยื่นการค้ำประกันเงินกู้เข้ามา 1 ก้อนมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ไม่แน่ใจว่าเป็นก้อนเดียวกันหรือไม่ ต้องขอเวลาตรวจสอบก่อนว่าเป็นอย่างไร อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาจากการตรวจสอบของ ป.ป.ช. ยังไม่เคยมีใครร้องเรียนเรื่องนี้เข้ามา

"การค้ำประกันถือว่ายังไม่มีหนี้ที่เกิดขึ้นจริง แต่เป็นเพียงสิทธิจากการกู้ยืมเงิน หากลูกหนี้ตัวจริงผิดนัดชำระ ก็จะไปเรียกจากคนค้ำประกันที่ต้องเป็นคนรับผิดชอบ แต่ตอนนี้เป็นสิทธิของลูกหนี้กับผู้ค้ำประกันเท่านั้นเอง ก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ป.ป.ช.ต้องพิจารณาว่าจำเป็นต้องยื่นรายการนี้ด้วยหรือไม่ แต่การตรวจสอบในเบื้องต้นพบว่านายพิธาเคยยื่นมา 1 บัญชีเกี่ยวกับการค้ำประกัน" นายนิวัติไชยกล่าว 

ถามว่า จะมีการเรียกนายพิธาเข้ามาให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้หรือไม่ โฆษกสำนักงาน ป.ป.ช.กล่าวว่า การตรวจสอบก็เป็นไปตามขั้นตอนปกติ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวบุคคล เช่น ถ้ามีการยื่นบัญชีทรัพย์สินเข้ามา ก็ต้องดูว่าเป็นทรัพย์สินจริงหรือไม่ เป็นของใคร ส่วนจะมีปัญหาในภายหลังหรือไม่ ตนยังตอบไม่ได้ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ ป.ป.ช.

ซักถึงการถือหุ้นบริษัทไอทีวีของนายพิธา มีการตรวจสอบหรือไม่ โฆษกสำนักงาน ป.ป.ช.กล่าวว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นนั้นเป็นชื่อของนายพิธาจริง ถือครองหุ้นอยู่ 4.2 หมื่นหุ้น มูลค่า 4 หมื่นกว่าบาท ซึ่งต้องตรวจสอบอีกครั้งว่ายื่นมาในฐานะอะไร เนื่องจากว่ามีรายงานว่าเป็นผู้จัดการมรดก โดยตามกฎหมายหากเป็นเจ้าของก็ต้องยื่น ส่วนกรณีหากมีการยื่นในภายหลังอาจจะเข้าข่ายความผิดหรือไม่ ก็ต้องดูที่เจตนา ตนไม่สามารถตอบได้ เพราะต้องมีเรื่องเจตนาและระยะเวลา ขณะที่การตรวจสอบในเบื้องต้นพบว่าได้ยื่นบัญชีดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2562 เป็นการยื่นเพิ่มเติมภายหลังเข้ารับตำแหน่งแล้ว ไม่ใช่เป็นการยื่นหลังมีประเด็นแล้ว

 “หน้าที่หรือคุณสมบัติต้องห้าม ไม่ใช่หน้าที่โดยตรงของ ป.ป.ช. แต่ ป.ป.ช.มีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องการมีอยู่จริงของทรัพย์สิน ถ้ามีอยู่แล้วยื่นมาก็ถือว่าไม่ได้มีเจตนาปกปิด แต่ถ้ามีแล้วไม่ยื่น ก็ถือว่ามีเจตนาหรือจงใจปกปิด ส่วนหลังตรวจสอบแล้วบัญชีทรัพย์สินนั้นจะขัดกับคุณสมบัติการเป็น ส.ส.หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับการตรวจสอบของ กกต. ซึ่ง กกต.รับทราบและอยู่ระหว่างการพิจารณา” โฆษกสำนักงาน ป.ป.ช.ระบุ

เมื่อถามถึงกรณีนายพิธาหากจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จจะรื้อองค์องค์กรอิสระที่ไม่อิสระจริงนั้น เลขาฯ สำนักงาน ป.ป.ช.กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นอำนาจของสภา ตนไม่สามารถให้ความเห็นได้ เขามีอำนาจว่าจะปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย หรือปรับปรุงอำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระอย่างไร

"องค์กรอิสระถูกครอบงำหรือไม่ ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน แต่อยากให้ดูผลงานของแต่ละองค์กรว่าเป็นอย่างไร ซึ่งการกระทำดังกล่าวต้องมีการวิเคราะห์ถึงที่มาที่ไป ไม่เช่นนั้นสิ่งที่ทำมาแล้วจะสูญเปล่า โดยเฉพาะงบประมาณที่ใช้ไป" โฆษกสำนักงาน ป.ป.ช.ระบุ

เศรษฐายันอิ๊งค์มีภาวะผู้นำ

ที่ จ.ภูเก็ต นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดคตนายกรัฐมนตรี พร้อมแกนนำพรรคและว่าที่ ส.ส.ภูเก็ต พรรคก้าวไกล เปิดเวทีปราศรัยขอบคุณชาวภูเก็ตที่เลือกผู้สมัคร ส.ส.ภูเก็ตทั้ง 3 เขต มีประชาชนชาวภูเก็ตเข้าร่วมกว่า 1,000 คน บริเวณสนามฟุตบอล หน้าที่ว่าการอำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต

ภายหลังปราศรัยขอบคุณเป็นเวลาครึ่งชั่วโมง นายพิธาได้แจกลายเซ็นพร้อมกับถ่ายรูปเซลฟีกับประชาชนที่ได้ต่อแถวเป็น 2 แถวขนาบข้างนายพิธาจนถึงรถ  จากนั้นนายพิธาเดินทางไปประชุมพบปะกลุ่มภาคธุรกิจภาคการศึกษาเอกชน อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต  ณ โรงแรมดีวาน่าพลาซ่าป่าตอง อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต และช่วงเย็นปราศรัยขอบคุณประชาชนบนรถแห่ในพื้นที่เขต 1  บริเวณตลาดนัดชิลวา อำเภอเมืองภูเก็ต

วันเดียวกัน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.)  กล่าวถึงการนับคะแนนใหม่ 47 หน่วยว่า ยังไม่ได้ตรวจสอบ ตนก็ติดตามข่าวเหมือนสื่อมวลชน

ถามว่า จนถึงขณะนี้มีพรรคการเมืองไหนมาดีลกับพรรค ภท.บ้างหรือยัง นายอนุทินกล่าวว่า ไม่มี ตอนนี้คุยเรื่องพวกนี้ไม่ได้หรอก เพราะเราต้องทำตามมารยาท และพรรค ภท.ก็เคยพูดไปแล้วว่าพรรคที่ได้อันดับ 1 ก็ต้องจัดตั้งรัฐบาล พรรค ภท.ได้ที่ 3 ไม่ใช่ที่ 2 เราก็ต้องอยู่เฉยๆ

ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรค พท. กล่าวถึงกรณีการฟอร์มรัฐบาลว่า ตนไม่ได้โฟกัสเรื่องการฟอร์มรัฐบาล โฟกัสแค่พรรคเพื่อไทยอย่างเดียว เพียงแต่ให้กำลังใจการฟอร์มรัฐบาลครั้งนี้สำเร็จ เพราะเราเป็นฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกัน

ถามว่า ขณะนี้นายพิธาถูกยื่นเรื่องร้องเรียนจำนวนมาก ในฐานะแคนดิเดตนายกฯ พรรค พท. หากนายพิธาเกิดอุบัติเหตุ จะไปรับหน้าที่ตรงนั้นหรือไม่  นายเศรษฐากล่าวว่า ไม่ได้คิดตรงนั้น เป็นหน้าที่ของพรรค ก.ก. เขามีขั้นตอนของเขา เพราะเขาเป็นพรรคอันดับหนึ่ง ก็ต้องให้เกียรติเขาเป็นคนจัดการ

"ต้องให้เขาเป็นคนจัดการ เพราะเขาเป็นพรรคอันดับหนึ่ง เราเป็นพรรคอันดับสอง และผมไม่เกี่ยวข้องกับการฟอร์มรัฐบาลหรือคณะทำงานเปลี่ยนผ่าน ผมทำแต่เรื่องของพรรค พท.อย่างเดียว" นายเศรษฐากล่าว

ถามว่า มีข่าวครอบครัวชินวัตรห่วงน.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยและแคนดิเดตนายกฯ ยังไม่เหมาะเป็นนายกฯ ในตอนนี้ นายเศรษฐา กล่าวว่า น.ส.แพทองธารมีความเหมาะสมและได้เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค พท. เชื่อว่าสื่อมวลชนก็เห็น ตอนนี้ น.ส.แพทองธารอายุ 37 ปีแล้ว เชื่อว่ามีวุฒิภาวะ และที่ผ่านมาคณะกรรมการบริหารพรรคก็มีความเห็นชอบให้เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีแล้ว

ด้านนายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำพรรคเพื่อไทย และอดีต รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงกรณีถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าช่วยออกระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ถูกกักกัน เพื่อเอื้อต่อนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีว่า ระเบียบกรมราชทัณฑ์ดังกล่าวไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้กับใคร เพราะการกักกัน ไม่ใช่การจำคุกนอกเรือนจำ ตามที่มีคนบางกลุ่มพยายามชี้นำให้สังคมเข้าใจผิด และพยายามเชื่อมโยงตนกับนายกฯ  ทักษิณ ซึ่งในระเบียบก็ระบุชัดเจนว่าผู้ถูกกักกันคือผู้กระทำผิดติดนิสัย เกี่ยวกับคดีที่ศาลเคยลงโทษจำคุกไม่ต่ำกว่า 6 เดือน มาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง จะต้องถูกควบคุมตัวไว้ภายในสถานที่กักกัน เพื่อป้องกันทำผิด และปรับนิสัย พร้อมฝึกหัดอาชีพ แต่หากผู้ถูกกักกันมีโทษจำคุก ก็ให้รับโทษจำคุกให้ครบก่อน ดังนั้นจะเห็นได้ว่านายทักษิณไม่ได้เข้าเงื่อนไขระเบียบใหม่นี้เลย จึงเป็นการบิดเบือนเพื่อให้สังคมเข้าใจตนผิด.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พ่อนายกฯขู่เช็กบิล! พรรคร่วมโดดประชุมครม.-นักร้อง/ขอพระเจ้าอยู่ต่ออีก17ปี

"เพื่อไทย" คึก! 3 นายกฯ ร่วมทีมขึ้นรถไฟสัมมนาพรรคที่หัวหิน "นายกฯ อิ๊งค์" ขอ  สส.ไม่แบ่งขั้ว-อายุ ยอมรับ 3 เดือนโฟกัสงานรัฐบาล