ลงดาบ42ตำรวจปลาซิวเซ่นส่วย

ผู้การเต่าสั่งเด้งตำรวจทางหลวง 42 นายเซ่นส่วยสติกเกอร์แล้ว เชื่อมีบิ๊กใหญ่กว่านี้ แต่อยู่หน่วยงานอื่น ลั่นไม่ปล่อยลอยนวลแน่หากมีหลักฐานสาวถึง “วิโรจน์” ฟุ้ง 3 แนวทางขจัดให้สูญพันธุ์ “สาวถึงโรงงานต้นทาง-ขจัดตำรวจค้าสำนวน-เลิกโบกกลั่นแกล้ง” คมนาคมลุยอุดช่องทุจริต สั่ง “ทล.-ทช.” เร่งหากล้องด่านเคลื่อนที่ เชื่อมจีพีเอสรถบรรทุก

เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2566 ยังคงมีความต่อเนื่องในการตรวจสอบคดีส่วยสติกเกอร์รถบรรทุก โดย พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว ผู้บังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ผบก.ปปป.) รักษาราชการแทนผู้บังคับการตำรวจทางหลวง (ผบก.ทล.) ลงนามคำสั่งโยกย้ายข้าราชการตำรวจทางหลวงที่ต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีส่วยสติกเกอร์รถบรรทุก จำนวน 42 นาย ประกอบด้วย รอง ผกก., รอง สว. และเจ้าหน้าที่ระดับชั้นประทวน ให้ไปปฏิบัติหน้าที่ช่วยราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจทางหลวง (ศปก.บก.ทล.) ก่อนจนกว่ามีคำสั่งเปลี่ยนแปลง ซึ่งเจ้าหน้าที่ทั้ง 42 นายที่ถูกย้ายส่วนใหญ่จะเป็นรอง สว. และระดับชั้นประทวน ที่เป็นหัวหน้าตู้ทางหลวงตามสถานีต่างๆ

พล.ต.ต.จรูญเกียรติกล่าวว่า คณะทำงานได้รวบรวมรายชื่อทั้งหมดส่งให้ บก.ทล. เพื่อดำเนินการในขั้นตอนต่อไป โดยย้ายตั้งแต่รอง ผกก. ลงไปจนถึงชั้นประทวน 42 นาย ส่วนจะมีตำรวจยศสูงกว่านี้เข้าไปเกี่ยวข้องหรือไม่นั้น เชื่อว่ามี แต่เป็นของหน่วยงานอื่น ซึ่งคณะทำงานของ บก.ปปป. จะทยอยสืบสวนขยายผลต่อไป ยืนยันคณะทำงานขยายผลสืบสวนมาโดยตลอด ไม่ได้นิ่งดูดายกับการแก้ไขปัญหา

“คนไหนถูกพาดพิง แต่ผู้ประกอบการยังไม่กล้าให้การเป็นลายลักษณ์อักษร ก็ว่าไป แต่ตำรวจก็จะพยายามรวบรวมพยานหลักฐานทุกอย่างให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น และจะมีคำสั่งดำเนินการออกมาเรื่อยๆ รวมถึงจะมีการเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือถูกพาดพิงเข้ามาให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกแน่นอน เพราะเชื่อว่ายังไม่จบแค่ตำรวจ 42 นายนี้” พล.ต.ต.จรูญเกียรติระบุ

พล.ต.ต.จรูญเกียรติยังกล่าวถึงกรณีนายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม นำหลักฐานมายื่นให้เพิ่มเติมเพื่อดำเนินคดีกับขบวนการรถบรรทุกน้ำมันเถื่อนและส่วยสติกเกอร์ว่า มีการมอบหมายให้คณะทำงาน บก.ปปป.ดูแลแทน เพราะตนมีหน้าที่ดูแลคดีของตำรวจทางหลวง ดำเนินการแยกกันคนละส่วน แต่ยังมีการประสานข้อมูลกันตลอด ซึ่ง ปปป.ก็จะเป็นหน่วยงานหลักในการสืบสวนขยายผล ซึ่งผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางมีคำสั่งให้ใช้กำลังตำรวจอย่างเต็มในการคลี่คลายสถานการณ์ และสร้างกองบังคับการตำรวจทางหลวงขึ้นมาใหม่ ให้เป็นที่ยอมรับของพี่น้องประชาชน

“กรณีรถบรรทุกน้ำมันเถื่อนที่นายอัจฉริยะบอกว่าหายไปนั้น ตอนนี้ผมยังสับสน และยังไม่มีความชัดเจนว่ารถของกลางอยู่ที่หน่วยงานใด แต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้องยังพูดไม่ตรงกัน และยังไม่มีความชัดเจน จึงยังไม่อยากด่วนสรุปตอนนี้ แต่ได้ให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสืบสวนร่วมกับกรมสรรพสามิต และประสานข้อมูลกันให้มีความชัดเจนก่อน และขอให้ทุกฝ่ายอย่ากังวล ทุกอย่างต้องดำเนินการตามกฎหมาย” พล.ต.ต.จรูญเกียรติระบุ

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ 3 มาตรการเพิ่มเติมกำราบส่วยทางหลวง 1.สาวถึงโรงงานต้นทาง 2.จัดการกับตำรวจค้าสำนวน 3.เลิกโบกกลั่นแกล้ง ระบุว่าจากการหารือร่วมกับนายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ก.ก., ผู้แทนจากสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กับคณะเจ้าหน้าที่ตำรวจ พล.ต.อ.วิสนุ ปราสาททองโอสถ จเรตำรวจแห่งชาติ,  พล.ต.ท.ฏิษพจณ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ตร. รรท.รอง จตร. และ พล.ต.ต.วิวัฒน์ ชัยสังฆะ รองผู้บัญชาการตํารวจสอบสวนกลาง เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. นอกจากการส่งมอบเบาะแสเพื่อการสืบสวนขยายผลเรื่องส่วยสติกเกอร์แล้ว ที่ประชุมยังมีข้อเสนอเพิ่มเติมร่วมกันในการจัดการกับปัญหานี้ให้ครอบคลุมเพิ่มเติมอีก 3 มาตรการ คือ 1.ดำเนินคดีกับผู้ประกอบการต้นทาง เช่น โรงโม่หิน บ่อดิน บ่อทราย โรงงาน ฯลฯ ที่มีเจตนาใส่น้ำหนักเกินให้กับรถบรรทุกมาตั้งแต่ต้นทาง โดยจะพิจารณาดำเนินคดีอาญาตามมาตรา 86 ฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด พร้อมกับเสนอให้ยึดใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน หรือ ร.ง.4 ด้วย

2.จัดการกับพนักงานสอบสวนบางนาย ที่มีพฤติกรรมค้าสำนวนที่นำเอาการริบรถมาใช้เรียกรับผลประโยชน์จากรถบรรทุกน้ำหนักเกิน ซึ่งยังพบเบาะแสเพิ่มเติมว่า ในบางท้องที่พนักงานสอบสวนไม่ได้ดำเนินการค้าสำนวนโดยลำพัง แต่มีการเชื่อมโยงไปยังพนักงานอัยการบางท่านอีกด้วย ถือเป็นความเสื่อมเสียของกระบวนการยุติธรรมอย่างมาก ซึ่งกรณีนี้ จตช.ได้รับข้อเสนอไปตรวจสอบสำนวนคดีที่เกี่ยวข้องกับรถบรรทุกน้ำหนักเกินย้อนหลัง หากพบพฤติกรรมการค้าสำนวนของพนักงานสอบสวน ก็จะสืบสวนขยายผล และพิจารณาดำเนินการทั้งทางวินัยและทางอาญากับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนโดยไม่มีการละเว้น

3.พล.ต.ต.วิวัฒน์ได้เสนอแนวทางในการแก้ไขเพิ่มเติมว่า เพื่อป้องกันไม่ให้ตำรวจที่ไม่ดีบางนายใช้อำนาจตามอำเภอใจ โบกให้รถบรรทุกจอด แล้ววนตรวจจุกจิกไปมา เพื่อกลั่นแกล้งให้รถบรรทุกที่ไม่ยอมจ่ายส่วย เสียเวลาทำมาหากิน โดย บช.ก.จะออกคำสั่งเพื่อกำชับการใช้อำนาจของตำรวจทางหลวงทุกสถานี โดยจะโบกให้รถบรรทุกจอดเพื่อตรวจสอบในกรณีที่มีเหตุต้องสงสัยเท่านั้น การโบกรถที่ไม่มีเหตุต้องสงสัยให้จอดตามอำเภอใจ เพื่อทำให้เสียเวลาทำมาหากิน จะต้องไม่เกิดขึ้นอีกต่อไป

นายวิโรจน์กล่าวว่า ตนและนายสุรเชษฐ์ได้เสนอการเร่งผลักดันการแก้ไขที่ควบคู่กันไปกับการปราบปรามของเจ้าหน้าที่ตำรวจอีก 5 ด้าน คือ 1.ทบทวนแก้ไขกฎหมายที่ไม่ทันสมัย 2.ออกกฎหมาย พ.ร.บ.ปกป้องผู้เปิดโปงการทุจริตเพื่อทลายการทุจริตแบบยกรัง 3.วางระบบในการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐอย่างโปร่งใส มี AI ในการตรวจจับข้อพิรุธที่ส่อเค้าการทุจริต 4.ผลักดันให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่ลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ลง และ 5.ยกเลิกระบบตั๋ว และการซื้อขายตำแหน่งในแวดวงตำรวจ และข้าราชการ ในกระทรวงทบวงกรม ต่างๆ เพื่อให้ข้าราชการที่ตั้งใจทำงานโดยสุจริต มีความก้าวหน้าในอาชีพ

ขณะที่นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง กล่าวหลังประชุมคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ครั้งที่  2/2566 กรณีการติดสินบนเจ้าหน้าที่ด้วยการติดสติกเกอร์บนรถบรรทุกว่า เบื้องต้นผลการประชุมจะเน้นให้ใช้ระบบทางด้านเทคนิคระบบไอทีเข้ามามากขึ้นและลดจำนวนคน เพื่อให้ลดการทุจริตให้ได้มากที่สุด และระยะยาวเตรียมนำระบบกล้องติดตัวเจ้าหน้าที่มาใช้ในตรวจสอบน้ำหนัก และตรวจสอบน้ำหนักเคลื่อนที่ของ ทล. และ ทช. บนถนนสายรอง ซึ่งกล้องดังกล่าวจะเป็นแบบออนไลน์ สามารถเชื่อมข้อมูลการตรวจจับมายังส่วนกลางแบบเรียลไทม์ ทำให้เห็นกระบวนการทำงานของเจ้าหน้าที่และลดการทุจริต เบื้องต้นได้สั่งการให้ ทล.และ ทช.ไปพิจารณาจัดทำแผนดำเนินการดังกล่าวแล้ว

“ทล.ได้ตั้งคณะทำงานมา 2 คณะ เพื่อดำเนินการหาข้อมูลบุคลากรที่กระทำความผิดร่วมกับสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เพื่อตรวจสอบว่ามีบุคลาการเข้าข่ายการกระทำความผิดหรือไม่ โดยเรื่องนี้จะต้องรายงานคณะกรรมการในการประชุมครั้งที่ 3 วันที่ 20 มิ.ย.” นายพิศักดิ์ระบุ

นายพิศักดิ์กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน ทล.มีด่านตรวจสอบน้ำหนัก 97 แห่งทั่วประเทศ นอกจากนี้มีการตรวจสอบน้ำหนักเคลื่อนที่ เพื่อตรวจจับกรณีได้รับแจ้งรถบรรทุกหนักอาจจะหลบเลี่ยงหรือใช้น้ำหนักเกินตามเส้นทางสายรอง รวมทั้งมีด่านส่วนกลาง 12 หน่วย ซึ่งเป็นการหมุนเวียนเจ้าหน้าที่ในการออกตรวจ ส่วน ทช. มีด่านตรวจสอบน้ำหนักจำนวน 5 ด่าน และด่านตรวจในแต่ละจังหวัด ซึ่งจะสุ่มตรวจทุกสายทาง ส่วนเรื่องบทลงโทษ หากพบว่ามีเจ้าหน้าที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง หากได้รับแจ้งเบาะแสจะตั้งคณะกรรมการสอบสวนบทลงโทษตามวินัยตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน โดยบทลงโทษร้ายแรงสุดถึงขั้นไล่ออก รองลงมาเป็นทัณฑ์บน และยังมีโทษทางอาญาและทางแพ่ง

นายจิระพงศ์ เทพพิทักษ์ รองอธิบดี ทล. กล่าวว่า ทล.ได้ตั้งคณะทำงาน 2 ชุด โดยชุดแรกจะดูเรื่องบุคลากร หรือผู้กระทำผิด หลังจากนี้จะเชิญสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย มาให้ข้อมูลรายชื่อข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิด เพื่อนำมาตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป ส่วนคณะทำงานชุดที่สองจะดูเรื่องของด่านชั่งน้ำหนัก เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น โดยจะขอข้อมูลระบบจีพีเอสรถบรรทุกของ ขบ. เพื่อให้เกิดการบูรณาการร่วมกัน เบื้องต้นอยู่ระหว่างจัดทำร่างการลงนามบันทึกข้อตกลกร่วมกัน (MOU) กับ ขบ. เพื่อให้ได้ข้อมูลรถบรรทุกแบบออนไลน์มากขึ้นป้องกันการทุจริตทั้งการบรรทุกน้ำหนักเกินกว่ากฎหมายกำหนด และรถบรรทุกฝ่าด่านตรวจ นอกจากนี้ เร่งดำเนินแผนจัดหากล้องติดตัวเจ้าหน้าที่มาใช้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง