ก.ก.โวไม่ทิ้งปัญหาหยก ชี้ต้องยึด‘กติกา’ร่วมกัน

ก้าวไกลรีบแจงบอกตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ “หยก” พรรคเกาะติดหาทางออกตลอด ชง 2 เป้าหมายเด็กต้องได้เรียนพร้อมอยู่ในกติกาที่ทุกฝ่ายเห็นชอบร่วมกัน อมรัตน์ย้ำ ก.ก.ไม่ได้ยุเพราะเด็กยุคใหม่มีความรู้ “แทนคุณ”  อัดกระแสตีกลับรีบตัดหาง “โบว์” แนะโรงเรียนแจ้งความตามหาผู้ปกครองหากเรื่องยังไม่จบ

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 18 มิ.ย. ยังคงมีความต่อเนื่องในกรณีหยก อายุ 15 ปี   เยาวชนและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง  อดีตผู้ต้องหาคดี 112 โดยเพจเฟซบุ๊กพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ได้โพสต์ในหัวข้อ  “การเดินหน้าสู่ทางออก เพื่อให้เยาวชนทุกคนได้เข้ารับการศึกษา” ระบุว่า  ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์กรณีของหยก   บุคลากรของพรรคนำโดยนายวิโรจน์  ลักขณาอดิศร, นายณัฐวุฒิ บัวประทุม  และนายปารมี ไวจงเจริญ ว่าที่ ส.ส. บัญชีรายชื่อ ได้พยายามพูดคุย และประสานกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และบุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจข้อเท็จจริงและหาทางออก

เพจพรรค ก.ก.ระบุว่า พรรคมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่เพียงเป็นแค่เรื่องของหยกหรือใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องหลักการที่ต้องกำหนดร่วมกันสำหรับเยาวชนทุกคนในทุกสถานการณ์ในอนาคต โดยพรรคต้องการหาทางออกโดยยึด 2 เป้าหมาย เป้าหมายที่ 1 คือเด็กและเยาวชนทุกคนได้เข้ารับการศึกษา ไม่ว่าสถานะของผู้ปกครองเป็นอย่างไร ซึ่งกรณีหยก ที่ผ่านมา เหตุผลหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาทำให้หยกไม่ได้รับการรับรองเป็นนักเรียน คือข้อกังวลเรื่องกระบวนการมอบตัวที่ไม่สมบูรณ์ เนื่องจากไม่มีผู้ปกครอง (มารดา) หรือบุคคลที่ผู้ปกครองมอบหมายอย่างเป็นทางการมามอบตัว ซึ่งถือเป็นข้อจำกัดหรืออุปสรรคที่เล็กน้อยเมื่อเทียบกับหลักการเรื่องสิทธิในการศึกษาที่ยึดถือเป็นหลักใหญ่

“โดยหลักการการติดต่อผู้ปกครองไม่ได้ไม่ควรเป็นเหตุในการปิดกั้นให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงการศึกษา ไม่ว่าจะด้วยสถานการณ์ใดๆ ก็ตาม โดยปัจจุบันมีหลายโรงเรียนที่พยายามวางแนวทางในการรับเด็กและเยาวชนให้เข้าศึกษา แม้อาจไม่มีผู้ปกครองที่สะดวกมามอบตัวด้วยตนเอง ดังนั้นเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าวสำหรับเด็กและเยาวชนทุกคน  เราควรทำความเข้าใจเพื่อคลายข้อกังวลของทุกโรงเรียน รวมถึงแก้ไขกฎระเบียบที่ขัดกับหลักการนี้ เพื่อคุ้มครองสิทธิของนักเรียนทุกคนในการเข้าถึงการศึกษา ไม่ว่าสถานะของผู้ปกครองจะเป็นเช่นใด ซึ่งจะทำให้ในกรณีของหยก   สถานภาพการเป็นนักเรียนของหยกไม่ถูกปฏิเสธเพียงเพราะการขาดผู้ปกครองโดยตรง (เช่น มารดา) มารายงานตัว

สำหรับเป้าหมายที่ 2 คือ เด็กและเยาวชนทุกคนปฏิบัติตามกติกาโรงเรียนที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมพูดคุยและออกแบบร่วมกัน โดยกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะรับบทบาทเชิงรุกในการดูแลว่ากฎระเบียบเหล่านั้นต้องไม่ขัดหลักสิทธิมนุษยชน แม้เราเชื่อว่าสังคมมีความเห็นตรงกันว่าไม่ควรมีกฎระเบียบไหนที่ขัดหลักสิทธิมนุษยชน แต่สังคมปัจจุบันยังมีความเห็นที่แตกต่างต่อกฎระเบียบปัจจุบันที่เป็นอยู่ ดังนั้น เพื่อทำให้การทำตามกฎระเบียบและการคุ้มครองสิทธินักเรียนไม่ขัดแย้งกัน ทาง ศธ.ควรเร่งเปิดบทสนทนากับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อออกข้อกำหนดว่ามีกฎระเบียบด้านไหนบ้างที่ขัดกับหลักสิทธินักเรียนและสิทธิมนุษยชน

“ไม่ว่าแต่ละฝ่ายจะมีความเห็นต่อจุดยืนและการกระทำของบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างไร การร่วมกันแสวงหาทางออกเพื่อเดินหน้าไปสู่ 2 เป้าหมายนี้ ไม่เพียงเป็นการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในกรณีของหยกโดยคำนึงถึงสิทธิอันชอบธรรมของทุกฝ่าย  แต่ยังเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่สำคัญสำหรับการรับประกันสิทธิในการเข้าถึงระบบการศึกษาที่มีคุณภาพในอนาคต  เป้าหมายสูงสุดของเรา คือการไม่ทำให้ใครหลุดออกจากระบบการศึกษา และให้โรงเรียนต้องเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยและโอบรับทุกคน”

ขณะที่นายวิโรจน์ทวีตความเห็นว่า  เข้าใจความไม่สบายใจของทุกฝ่าย แต่การคลี่คลายปัญหานี้ จำเป็นต้องใช้การพูดคุยกันอย่างมีวุฒิภาวะ และเข้าใจซึ่งกันและกัน และหาทางออกที่ทุกฝ่ายยอมรับ ผมจึงพยายามที่จะทำให้การสนทนาเพื่อแก้ปัญหาเกิดขึ้น ไม่ปล่อยให้ปัญหาอยู่ในสภาวะสุญญากาศ ต้องยืนยันว่าเด็กทุกคนมีสิทธิเรียน และเด็กก็ต้องอยู่ในสภาวะที่พร้อมเรียนด้วย

“ต้องพูดคุยหาทางออกร่วมกัน โดยคำนึงถึงทุกฝ่าย เคารพในสิทธิของเด็กและผู้ปกครองทุกๆ คนด้วย ทั้งนี้ ผมและอีกหลายๆ คน กำลังพยายามประสานในทางปฏิบัติเพื่อคลี่คลายสถานการณ์นี้อย่างสร้างสรรค์ หาทางออกร่วมกันโดยคำนึงถึงทุกๆ  ฝ่ายอยู่” นายวิโรจน์ทวีตทิ้งท้าย

นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล กรรมการบริหารพรรค ก.ก. ทวีตข้อความชี้แจงแฮชแท็กก้าวหน้าก้าวไกลไปหลบอยู่ตรงไหน ว่าพรรค ก.ก.ไม่เคยไปหลบที่ไหน  ทำเต็มกำลังเท่าที่หัวใจและเท่าที่มีเครื่องมือเครื่องไม้อยู่ในมือ ทำอย่างระมัดระวังแบบหวังผลสำเร็จ เพราะตระหนักดีว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก

นางอมรัตน์ยังได้ทวีตตอบคำถาม หลังมีผู้ใช้ทวิตเตอร์ระบุให้เอาหยกไปเลี้ยงเพื่อแสดงความรับผิดชอบว่า ถ้าใครรู้จักเยาวชนในยุคนี้ดีพอ จะทราบว่าต่อให้มีใครอยากจะยุยงจริงก็ทำไม่สำเร็จ พวกเขามีช่องทางศึกษาหาความรู้มากกว่าคนในยุคก่อนๆ มาก ทำให้มีความคิดความอ่านของตัวเอง ให้คุณค่ากับหลักการร่วมสมัยในโลกสากล และมีความเป็นตัวของตัวเองสูงมากเกินกว่าผู้ใหญ่อย่างเราๆ จะไปชักจูงได้

ขณะที่นายแทนคุณ​ จิตต์​อิสระ​ ประธาน​คณะกรรมการ​ส่งเสริม​สิทธิ​มนุษยชน​และ​ความ​เสมอภาค​ระหว่าง​เพศ​ พรรค​ประชา​ธิ​ปัตย์ (ปชป.) ​กล่าวถึงกรณีพรรค ก.ก.แถลงข่าว​ไม่เกี่ยว​กรณีหยก รวมถึงนโยบายที่พยายามปลุกปั่น​ให้ยกเลิกชุดนักเรียน​ เลิกวัฒนธรรม​การเคารพครูบาอาจารย์​ เลิกเคารพ​กฎกติกา​ที่ไม่ชอบว่า หยก จากเยาวชน​บริสุทธิ์ ​กลายเป็นเหยื่อของความเชื่ออย่างก้าวร้าวสุดโต่ง และเมื่อหยกพยายาม​ทำตามสิ่งที่พรรคก้าวไกล​ได้ปลุกปั่น​ไว้ แล้วสังคม​ตำหนิมากเข้า เรียกว่ากระแสตีกลับ พรรค ก.ก.กลับแถลง​ว่าพรรคไม่เกี่ยว​ข้องใดๆ กับเรื่องของหยก เหมือนกับคน​มีความสัมพันธ์​กันจนมีลูก พอมีลูก ลูกทำผิดตามที่พ่อแม่สอนมา คนเป็นพ่อแม่กลับตัดหางทิ้ง  และประกาศ​ไม่ใช่ลูกตนเอง

น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา หรือโบว์ พิธีกรและอดีตนักกิจกรรมทางการเมือง ทวีตข้อความว่า หากในวันจันทร์ที่ 19 มิ.ย.เรื่องยังไม่จบ ให้โรงเรียนไปแจ้งความตามหาผู้ปกครองดำเนินคดีทอดทิ้งบุตร แล้วจากตรงนั้นจะดำเนินการให้ศาลคุ้มครองน้องจัดการเรื่องต่อตามกฎหมายได้ ทั้งเรื่องการสมัครเรียนกับหน่วยงานที่เหมาะสม และที่อยู่อาศัย เด็กไม่ได้ถูกตัดออกจากระบบการศึกษา มีสถานศึกษาที่เหมาะกับน้องรออยู่ โรงเรียนต้องรักษาทั้งความปลอดภัยของพื้นที่และระบบการศึกษาให้เด็กอื่นๆ ได้เรียนอย่างราบรื่น ปราศจากสิ่งรบกวนสมาธิและความเสี่ยงที่เกิดจากคนนอกโรงเรียน เพราะเหตุการณ์ที่ผู้อ้างตนว่าเป็นผู้ปกครองน้องทำต่อกล้องวงจรปิดหน้าโรงเรียน เป็นสิ่งที่ทำให้โรงเรียนต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของเด็กนับพันในความดูแล รักษาสิทธิของทุกคนด้วย โรงเรียนไม่สามารถให้อภิสิทธิ์ใครในการละเมิดกฎ มิฉะนั้นจะมีแต่ข้ออ้างเพื่อทำตามอำเภอใจ ไม่ว่าจะเป็นเวลาเข้าเรียน เวลาอาหาร เวลาพัก การเรียน การเล่น การใช้พื้นที่วัสดุอุปกรณ์ การปฏิบัติตนต่อกัน และอื่นๆ อีกมากมาย ผู้ใหญ่ที่มีความรับผิดชอบ ต้องรักษามาตรฐานในการบริหารโรงเรียนไว้ เพื่อความเป็นธรรมต่อนักเรียน ผู้ปกครอง และบุคลากรทุกคน

นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ สังคมไทยเรียนรู้อะไรในเรื่องของหยก ว่าในสื่อสังคมเราต้องช่วยกัน 2 ไม่คือ ไม่ผลิตและไม่ส่งต่อ และ 1 เตือน ด้วยเหตุผล เพื่อให้สังคมไทยกลับมาอยู่บนพื้นฐานของการเปิดรับความเห็นต่างโดยไม่เกลียดชัง เพื่อที่จะทำให้สังคมไทยเดินหน้าต่อไปได้ ส่วนการแก้ปัญหาความเห็นต่างกับเยาวชน สถานศึกษาควรใช้มาตรการเชิงป้องกัน ด้วยการสื่อสารและสร้างความเข้าใจ ระหว่าง 3 ฝ่ายคือ โรงเรียน ผู้ปกครอง และนักเรียน ผ่านกลไกต่างๆ เช่น home room ประชุมผู้ปกครอง กิจกรรมนักเรียน นักศึกษาด้วยบรรยากาศของการเปิดรับและเคารพซึ่งกันและกัน

“กรณีที่บานปลายไปแล้ว อย่างที่เป็นข่าวควรให้สายวิชาชีพ ที่จะทำงานโดยไม่มีอคติทางเมือง เข้ามาเป็นคนกลางในการไกล่เกลี่ย สร้างความเข้าใจระหว่าง 3 ฝ่าย โดยเฉพาะนักสังคมสงเคราะห์ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และนักวิชาชีพสุขภาพจิตของกระทรวงสาธารณสุข สำคัญที่สุดในสถานการณ์ปัจจุบันคือ ช่วยกันอย่าปล่อยให้สื่อสังคมสร้างความเกลียดชัง ที่ทำให้สังคมไทยเสี่ยงต่อความรุนแรง ด้วยการไม่ส่งต่อ และช่วยเตือนการส่งข้อความที่รุนแรงและข่าวลวงด้วย” นพ.ยงยุทธระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง