สธ.โต้ฉีด6เข็มยังติดโควิด ย้ำลดป่วยรุนแรงเสียชีวิต

ปลัด สธ.ตอบปมนักวิชาเกินบูลลี่ฉีดวัคซีนโควิด 6 เข็มอย่าง "พิธา" ยังติดเชื้อ ย้ำหลักการวัคซีนลดป่วยรุนแรงและเสียชีวิต ขณะที่ "หมอยง" เผยโควิดสายพันธุ์ XBB ติดซ้ำไม่ใช่เรื่องแปลก ข่าวดี! อัตราการกลายพันธุ์ของไวรัสเริ่มช้าลง ทำให้แนวโน้มอาจใกล้เคียงไข้หวัดใหญ่ A ในอนาคตได้

เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2566 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ตอบคำถามกรณีผู้สื่อข่าวถามเรื่องมีนักวิชาการออกมาพูดถึงข้อมูลการฉีดวัคซีนโควิด-19 มากไปไม่มีประโยชน์ แม้แต่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ยังติดทั้งที่ฉีดไป 6 เข็มว่า โดยหลักการประสิทธิภาพวัคซีนลดอาการป่วยรุนแรงและลดการเสียชีวิต คนที่ฉีดหากติดอาการจะไม่หนัก  ลดความรุนแรง ไม่เสียชีวิต ก็ถือว่าเป็นประโยชน์ของการฉีดวัคซีน ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนมี 2 ปัจจัยคือ ปัจจัยของแต่ละบุคคล และการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของประชาชนทุกคนในประเทศ อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อ พอเชื้อกลายพันธุ์ไปเรื่อยๆ ความสามารถป้องกันการติดเชื้อโดยวัคซีนเพียงอย่างเดียวคงไม่เต็มที่  ต้องมีมาตรการอื่นร่วมด้วย

เมื่อถามถึงกรณีออกมาพูดว่าวัคซีนรุ่นไบวาเลนท์ไม่มีประโยชน์ ปลัด สธ.ตอบว่า คำแนะนำการฉีดมาจากคณะผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งประกอบด้วยแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ต่างๆ โดยอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค คงต้องฟังความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งการฉีดมีคำแนะนำให้ฉีดประจำปี ก็ขอเชิญชวน โดยเฉพาะกลุ่ม 608 ซึ่งเป็นกลุ่มหลัก ที่เชิญชวนทั้ง 60 ปีขึ้นไป คนที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง หรือคนที่มีความเสี่ยงที่จะกระทบคนจำนวนมากก็จะมีการฉีดให้ฟรี ที่ผ่านมาคนติดเชื้อรอบนี้ ซึ่งขณะนี้มีแนวโน้มลดลง อาการค่อนข้างน้อย มีกลุ่มที่เสียชีวิตที่ประเมินมาตลอดยังเป็นกลุ่ม 608

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ผู้สื่อข่าวควรสื่อสารเรื่องเหล่านี้ให้เกิดความเข้าใจ เพื่อคนจะได้ไม่ตื่นตระหนก ช่วงโควิดที่ผ่านมาเรื่องบูลลี่ทำให้ประชาชนเสียโอกาสไปเยอะมาก เราคิดแบบไม่เป็นแพทย์ว่า ก่อนมีวัคซีนมีผู้ป่วยโควิดรุนแรงเสียชีวิตเข้าห้องไอซียู มีความสูญเสียต่างๆ มากมาย หลังฉีดวัคซีนตามวงรอบที่กำหนด อัตราเสียชีวิต อัตราการติดเชื้อก็ลงน้อยลง แม้ติดอาการก็ไม่รุนแรงเท่าก่อนที่ไม่มีวัคซีน ต้องดูหลายอย่างประกอบว่าการมีวัคซีนเทียบกับตอนที่ไม่มี ปัจจุบันคนไทยส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนหลายโดส 5-6 โดส บางคนติดเชื้อด้วยก็มีภูมิเพิ่มอีก ทำให้การติดเชื้อแม้ยังมีทุกวันนี้ ก็ไม่มีความรุนแรงสำหรับคนที่อยู่ในภาวะสุขภาพปกติ  การติดเชื้อรุนแรงและสูญเสียยังอยู่ในกลุ่ม 608

"อีกสิ่งที่แสดงให้เห็นชัด ตอนที่ผมไปประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลก  ผอ.องค์การอนามัยโลกก็พูดว่ากว่าที่องค์การอนามัยโลกประกาศอะไรออกมา ต้องมีการพิจารณาศึกษาอย่างละเอียด แม้ประกาศลดระดับความรุนแรงและยังมีการติดเชื้ออยู่ แต่ไม่ถือว่าอยู่ในสภาวะการณ์ฉุกเฉินอีกต่อไป ฝากผู้สื่อข่าวชี้แจงประชาชนให้รับทราบ เราต้องยึดถือข้อมูลจากองค์กรที่รับผิดชอบโดยตรงที่มีการศึกษาวิจัย ติดตาม เราถึงจะนำมาใช้ให้กับประชาชน มีประโยชน์ไม่มีประโยชน์ไม่ต้องให้ความสำคัญ หรือแม้แต่ที่บอกฉีดแล้วกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เป็นอาการข้างเคียงที่เกิดได้น้อยมาก ถือว่าเป็นประโยชน์มากกว่าโทษ" นายอนุทินกล่าว

ด้าน นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ “โควิด-19 สายพันธุ์ที่พบ XBB เกือบทั้งหมด การติดเชื้อช้ำไม่ใช่เรื่องแปลก” มีเนื้อหาว่า การระบาดของโควิดเป็นไปตามฤดูกาล ในฤดูฝนตามที่เคยคาดการณ์ไว้ และคงจะระบาดไปจนถึงเดือนกรกฎาคม สิงหาคม และจะเริ่มลดลงในเดือนกันยายน สายพันธุ์ที่พบขณะนี้เกือบทั้งหมดเป็นสายพันธุ์ XBB โดยพบว่าสายพันธุ์ดาวดวงแก้ว XBB.1.16 เป็นสายพันธุ์หลัก

จากข้อมูลการศึกษาของเราพบว่าภูมิต้านทานที่เกิดจากวัคซีนที่ฉีดในอดีต โดยเริ่มต้นจากสายพันธุ์อู่ฮั่น และเพิ่มสายพันธุ์ BA.5 ในวัคซีน 2 สายพันธุ์ ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์ XBB ได้ การติดเชื้อซ้ำอย่างที่เคยกล่าวแล้ว การศึกษาของเรา 250 คน พบว่าความรุนแรงครั้งที่ 2  น้อยกว่าครั้งแรกมาก

การจะติดเชื้อครั้งที่ 3 ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เช่นเดียวกับไข้หวัดใหญ่ เมื่อสายพันธุ์เปลี่ยนไป ก็เป็นใหม่ได้อีก โควิด-19 ก็เช่นเดียวกัน เมื่อสายพันธุ์เปลี่ยนไปก็เป็นได้อีก แต่ภูมิคุ้มกันหลัก พอช่วยปกป้องลดความรุนแรงลง แต่ไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อ

ในอนาคตการให้วัคซีนจะต้องมีการคาดคะเนไว้ล่วงหน้าแบบไข้หวัดใหญ่  ว่าสายพันธุ์ที่จะระบาด จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด เช่นขณะนี้องค์การอนามัยโลกแนะนำบริษัทวัคซีนให้ผลิตวัคซีนที่เป็นสายพันธุ์ XBB แต่ในกระบวนการผลิตต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน เมื่อถึงเวลานั้นไวรัสก็จะเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ไปอีก การวิ่งไล่จับก็จะไม่ทัน

มีเรื่องดีที่เราทำการศึกษาคือ อัตราการกลายพันธุ์ ถ้าเปรียบเทียบในระยะแรกของโควิด-19 อัตราการกลายพันธุ์เร็วและสูงมาก แต่พอมาถึงในช่วงของปีที่ผ่านมาอัตราการกลายพันธุ์ช้าลง อยู่ในอัตรา 1.2-6.7 ตำแหน่งต่อพันต่อปี ไวรัสนี้มีทั้งหมด 3 หมื่นตำแหน่ง เมื่อดูอัตรานี้แล้วจะใกล้เคียงไข้หวัดใหญ่ A ดังนั้นแนวโน้มของไวรัสนี้ ทุกอย่างก็คงจะใกล้เคียงกับไข้หวัดใหญ่ A ในอนาคต ถ้าได้รับเชื้อสายพันธุ์ที่เปลี่ยนไปก็มีโอกาสเป็นได้อีก.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง