โพลตบหน้า!หนุนใส่ชุดนักเรียนไปรร.

โพลตบหน้าแก๊ง 3 กีบ 81% มองเครื่องแบบนักเรียนส่งเสริมความมีระเบียบวินัย มีไม่ถึง 3% มองเป็นการกดขี่อำนาจนิยม 59% ยังหนุนให้ใส่ชุด นร.ต่อไป มีแค่ 21% เสนอให้ใส่ชุดไปรเวตได้บ้างในสัปดาห์ “ครป.” โหนหยกด่ารัฐบาล “อดีตผู้บริหาร มธ.” เชื่อต่อไปโรงเรียนต้องรับมือหนัก ชี้อย่าตื่น คาดมี 2 แนวทาง แต่อย่าเลือกปฏิบัติเพื่อแค่คนคนหนึ่ง

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 25 มิ.ย. ศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้เผยผลสำรวจของประชาชนเรื่อง สิทธิ  เสรีภาพ และกฎระเบียบในโรงเรียน จากประชาชนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป  กระจายทุกภูมิภาคทั่วประเทศ รวม 1,310 หน่วยตัวอย่าง โดยการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อเครื่องแบบนักเรียน พบว่า 80.53% ระบุว่าเพื่อส่งเสริมความมีระเบียบวินัย,  35.65% ระบุว่าเป็นการบ่งบอกถึงสถานศึกษาของนักเรียน, 23.82% ระบุว่าเพื่อความปลอดภัยของนักเรียน, 21.76% ระบุว่าทำให้ผู้ปกครองประหยัด, 20.23% ระบุว่าเป็นการป้องกันการแอบอ้างเป็นนักเรียน, 18.17% ระบุว่าเป็นความภาคภูมิใจของนักเรียน/ผู้ปกครอง, 11.53% ระบุว่าเพิ่มภาระด้านการเงินให้ผู้ปกครอง, 10% ไม่สามารถนำไปใช้ได้ในทุกๆ โอกาส, 6.18% เป็นการแบ่งชนชั้นระหว่างโรงเรียน, 4.73% เป็นการจำกัดเสรีภาพของนักเรียน, 2.60% ทำให้นักเรียนไม่ปลอดภัย, 2.29% เป็นเครื่องหมายของการกดขี่/อำนาจนิยม และ 0.15% เฉยๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ   

ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อแนวคิดยกเลิกการบังคับใส่เครื่องแบบนักเรียนไปโรงเรียน พบว่า 59.47% ระบุว่าการบังคับให้ใส่เครื่องแบบนักเรียนไปโรงเรียนควรมีต่อไป, 20.69% ในรอบสัปดาห์ควรอนุญาตให้ใส่ชุดอื่นๆ (ชุดไปรเวต) ไปโรงเรียนได้บ้าง, 5.88% สมควรให้นักเรียนได้มีอิสระที่จะเลือกว่าจะใส่เครื่องแบบนักเรียนไปโรงเรียนหรือไม่, 5.04% ควรให้เรื่องการใส่เครื่องแบบนักเรียนอยู่ในดุลยพินิจของผู้บริหารแต่ละโรงเรียน, 4.50% ควรให้เรื่องการใส่เครื่องแบบนักเรียนเป็นไปตามประชามติของนักเรียนในแต่ละโรงเรียน, 4.27% สมควรยกเลิกการใส่เครื่องแบบนักเรียนไปโรงเรียน และ 0.15% ระบุว่าเฉยๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

เมื่อถามถึงจำนวนวันจากผู้ที่ระบุว่าในรอบสัปดาห์ควรอนุญาตให้ใส่ชุดไปรเวตไปโรงเรียนได้บ้าง จำนวน 271  หน่วยตัวอย่าง พบว่า 47.60% ระบุว่า 1 วันต่อสัปดาห์, 37.64% 2 วันต่อสัปดาห์, 14.02% 3 วันต่อสัปดาห์ และ 0.74% 4 วันต่อสัปดาห์ และเมื่อถามความคิดเห็นของประชาชนต่อการเรียนวิชาด้านคุณธรรม จริยธรรม ศีลธรรมในโรงเรียน พบว่า 72.52% เห็นด้วยมาก,  18.24% ค่อนข้างเห็นด้วย, 5.04% ไม่ค่อยเห็นด้วย, 3.59% ไม่เห็นด้วยเลย  และ 0.61% ระบุว่าเฉยๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อกฎระเบียบของโรงเรียน พบว่า 69.16% ระบุว่ากฎระเบียบของโรงเรียนมีเพื่อส่งเสริมความมีระเบียบวินัย, 46.49% กฎระเบียบของโรงเรียนมีเพื่อให้นักเรียนตระหนักในสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบ,  36.41% สิทธิเสรีภาพของนักเรียนควรอยู่ภายใต้กฎระเบียบของโรงเรียน,  12.29% กฎระเบียบของโรงเรียนสำคัญกว่าสิทธิเสรีภาพของนักเรียน, 9.31% กฎระเบียบของโรงเรียนเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของนักเรียน, 4.05% สิทธิเสรีภาพของนักเรียนสำคัญกว่ากฎระเบียบของโรงเรียน, 2.44% กฎระเบียบของโรงเรียนเป็นเครื่องหมายของการกดขี่/อำนาจนิยม และ 0.31% เฉยๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

วันเดียวกัน นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวเปิดงานเสวนาสภาที่ 3 ถอดบทเรียนอำนาจนิยม กรณีหยก ขบถโรงเรียน กับทิศทางการปฏิรูปการศึกษาไทย ระบุว่า 1.กรณีหยกเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งในสังคมไทย ที่เกิดขึ้นจากความต้องการของเด็กในการเรียนหนังสือ เนื้อหาวิชาที่ตนเองชอบ และระบบโรงเรียนที่ไม่ตอบสนองภายใต้กรอบของระบบอำนาจนิยมระเบียบ ซึ่งคนที่ไม่มีโอกาสทางการศึกษาขั้นพื้นฐานนั้นคือคนยากจนที่ไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษา และคนที่เป็นขบถต่อระบบการศึกษา

2.แม้การกระทำของหยกจะไม่ถูกใจใคร หรือถูกใจใครก็ตาม แต่ต้องถือว่านี่เป็นกรณีศึกษา ที่จะนำไปสู่การปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบเพื่อแก้ไขปัญหาคุณภาพการศึกษาอย่างแท้จริง ครป.ขอเรียกร้องผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการ คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ตั้งคณะกรรมการชุดใหญ่ ที่ประชาชน ครูบาอาจารย์ และนักเรียนมีส่วนร่วม เพื่อปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบ 3.ครป.ขอให้กำลังใจหยก ซึ่งเป็นตัวแทนของนักเรียนคนหนึ่งที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อสิทธิทางการศึกษา เพื่อที่จะบอกสังคมว่า การเรียนรู้ของเด็กนั้นสำคัญแค่ไหน ในการเรียนรู้ตามความต้องการที่มีเด็กและเยาวชนเป็นศูนย์กลาง

4.ในหลายประเทศทั่วโลกมีการปฏิรูปการศึกษา เพื่อให้เด็กเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาสภาพของเด็กแต่ละคนอย่างแท้จริงตามความถนัด ไม่ใช่ฉุดดึงรั้งไว้ภายใต้โครงสร้างของระบอบอำนาจนิยม หรือโครงข่ายของวัฒนธรรมแบบอุปถัมภ์นิยม ที่ฉุดดึงสังคมไทยให้ล้าหลัง และรั้งท้ายคุณภาพการศึกษาในโลก และ 5.ปัญหาระบบการศึกษาไทยเกิดขึ้นหนักมากในช่วง 8 ปีที่ผ่านมาในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งส่งเสริมระบอบอำนาจนิยมและควบคุมความคิดนักเรียน นิสิต นักศึกษา ไม่ต่างจากรัฐบาลทหารยุคก่อน 14 ตุลา 16 จนเกิดการชุมนุมประท้วงไปทั่ว

ด้าน รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล   มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) โพสต์เฟซบุ๊กระบุในกรณีของหยกว่า ไม่เชื่อว่าจะมีการวางแผนกัน แต่เชื่อว่าหยกเป็นผลผลิตของขบวนการป้อนชุดข้อมูล ชุดความคิด ชุดความเชื่อ ที่ออกแบบไว้ ให้คนรุ่นใหม่ผ่านทั้งทางโซเชียลมีเดีย และผ่านครูที่เป็นผลผลิตของขบวนการเดียวกัน และเร็วๆ นี้ก็มีอีกกรณีคือ นักเรียนชั้นมัธยม 4 ชื่อข้าว เรียนอยู่ที่โรงเรียนเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงยิ่งกว่าโรงเรียนเตรียมพัฒนาการ แต่งชุดไปรเวตมาโรงเรียน  และประกาศว่าต้องการสนับสนุนการต่อสู้ของหยก และต้องการแสดงว่าจะไม่ก้มหัวให้กับการลิดรอนเสรีภาพในการแต่งตัวของนักเรียน

“เป็นที่น่าสังเกตว่า นักเรียนผู้นี้ได้รับอนุญาตให้เข้าเรียนได้ตามปกติ โดยไม่มีครูคนใดกล้าขัดขวางแต่อย่างใด แต่มีข่าววงในบอกว่า หลังจากวันนั้นนักเรียนคนนี้ไม่ได้มาโรงเรียนอีกตลอดสัปดาห์ ซึ่งมีเสียงซุบซิบที่ไม่มีการยืนยันว่า ผู้ปกครองไม่ยอมให้แต่งไปรเวตไปโรงเรียน ไม่ใช่โรงเรียนไม่ยอมให้เข้าโรงเรียนแต่อย่างใด”

รศ.หริรักษ์โพสต์อีกว่า ต่อไปอาจมีนักเรียนที่จะทำแบบหยกและข้าวมากขึ้นเรื่อยๆ ฝ่ายบริหารของโรงเรียนต่างๆ  ควรต้องเตรียมรับมือ แต่ไม่ว่าจะตัดสินใจอย่างไร อยากขอร้องว่าอย่าได้ตื่นกลัวว่าจะถูกคนบางกลุ่มต่อว่าโจมตีหรือประณาม แต่ต้องยึดหลักการให้มั่น ฝ่ายบริหารของโรงเรียนมีทางเลือก 2 ทาง 1.คือไม่ยอมให้นักเรียนที่แต่งไปรเวตเข้าห้องเรียน และ 2.ยอมยกเลิกการแต่งเครื่องแบบไปเลยทั้งหมด และสังคมควรเคารพต่อการตัดสินใจของฝ่ายบริหารของโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นทางใด แต่โรงเรียนไม่ควรเลือกปฏิบัติโดยยอมให้นักเรียนที่ดื้อแพ่งบางคนสามารถทำในสิ่งที่ขัดต่อกฎระเบียบของโรงเรียนได้ ในขณะที่นักเรียนคนอื่นๆ  เขายังคงปฏิบัติตามกฎระเบียบอยู่อย่างเคร่งครัด

“หากโรงเรียนใช้วิธีเลือกปฏิบัติ ก็อาจได้รับการยกย่องสรรเสริญจากกลุ่มคนบางกลุ่ม แต่สำหรับคนส่วนใหญ่ของประเทศ เขาไม่เอาด้วยกับการปฏิบัติแบบนี้ของโรงเรียนอย่างแน่นอน” รศ.หริรักษ์ระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง