STARKเขย่าหนัก 11องค์กรกู้วิกฤต

11 องค์กรตั้งโต๊ะแถลงใหญ่ปมหุ้น STARK “ก.ล.ต.-ตลท.” ลั่นไม่นิ่งนอนใจ พร้อมคุ้มครองผู้ลงทุนและสร้างความเชื่อมั่นในตลาดทุนเต็มที่ “สมาคมนักวิเคราะห์” ชี้เป็นบทเรียนเรื่องข้อมูล “ทริส" เตรียมปรับใหญ่เรื่องจัดอันดับความน่าเชื่อ “ภากร” แจงความเสียหายทางบัญชีกว่า 2.15 หมื่นล้าน ดีเอสไอพร้อมเป็นหัวหอกจัดการคดี พร้อมกำชับทุกหน่วยงานใช้กฎหมายทุกข้อ

เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.66 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พร้อมด้วยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และ 9 องค์กรในตลาดทุน ตั้งโต๊ะแถลงความคืบหน้าการดำเนินการด้านต่างๆ ในกรณีบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (STARK) พร้อมทั้งเปิดเผยแนวทางการดำเนินการเพื่อยกระดับธรรมาภิบาลและการสร้างความเชื่อมั่นในตลาดทุน

นายธวัชชัย พิทยโสภณ รองเลขาธิการ รักษาการเลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า ก.ล.ต.ได้ดำเนินการอย่างเต็มที่ภายใต้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย เช่น สั่งให้บริษัทเปิดเผยข้อมูล ขยายขอบเขตการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษเพิ่มเติม และการแจ้งเตือนผู้ลงทุน พร้อมทั้งร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมาย ซึ่งขณะนี้การตรวจสอบมีความคืบหน้าไปมาก สำหรับด้านการคุ้มครองสิทธิของผู้ลงทุน ก.ล.ต.ยินดีช่วยเหลือประสานงานอย่างเต็มที่

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลท.กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจในการดำเนินการเพื่อให้มั่นใจว่าผู้ลงทุนมีข้อมูลที่ครบถ้วน เพียงพอ และทันเวลา ทั้งในด้านการติดตามให้บริษัทจดทะเบียน  (บจ.) เปิดเผยข้อมูลสำคัญ หรือการเตือนผู้ลงทุนด้วยการออกข่าวเตือน และ/หรือการขึ้นเครื่องหมายต่างๆ สำหรับที่จะดำเนินการต่อไป

ขณะที่นายกุลเวช เจนวัฒนวิทย์ กรรมการผู้อำนวยการ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย กล่าวว่า กรณี STARK จะเป็นกรณีศึกษา เพื่อกรรมการและฝ่ายจัดการจะได้ไปสำรวจความรัดกุม และความเพียงพอของการกำกับดูแลกิจการ และการควบคุมภายในของบริษัทต่อไป

นายสุพจน์ สิงห์เสน่ห์ เลขาธิการ สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า สภาวิชาชีพบัญชีพร้อมให้ความร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำรงไว้ซึ่งความเชื่อมั่นในวิชาชีพบัญชีและตลาดทุนไทย

นายไพศาล ธรสารสมบัติ กรรมการ สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย กล่าวว่า สมาคมฯ เห็นว่ากฎเกณฑ์ที่กำกับ บจ.เหมาะสมแล้ว ซึ่งบริษัทส่วนใหญ่ได้ปฏิบัติตามอยู่แล้ว ซึ่งกรณีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คณะกรรมการบริษัทและคณะกรรมการตรวจสอบของ บจ.ควรต้องพิจารณาทำงานร่วมมือกับฝ่ายบริหารใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ สมาคมฯ มีความยินดีที่จะให้ความร่วมกับหน่วยงานอื่นในตลาดทุนต่อไป

ด้านนายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการ สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน กล่าวว่า เหตุการณ์แก้ไขงบที่เกิดขึ้นกับหุ้น STARK นั้นได้สะท้อนให้เห็นถึงความยากลำบากของนักวิเคราะห์และนักลงทุนในฐานะเป็นผู้ใช้ข้อมูล ซึ่งแม้ว่านักวิเคราะห์จะมีความรอบคอบ และมีระบบการวิเคราะห์ที่รัดกุมเพียงใด ก็ไม่สามารถยืนยันถึงความถูกต้องของข้อมูล เนื่องจากอยู่ในสถานะที่เป็นเพียงผู้ใช้ข้อมูล จึงไม่เคยมีโอกาสที่จะได้เข้าถึงหลักฐานยืนยันรายการทางบัญชี แนวทางที่องค์กรต่างๆ จะร่วมกันคิดเพื่อป้องกันปัญหาแบบนี้ไม่ให้เกิดขึ้นได้ง่าย คือต้องหาวิธีที่จะสามารถตรวจทานหลักฐาน ยืนยันรายการทางบัญชีให้มั่นใจได้มากขึ้น รวมถึงการมีหลักเกณฑ์ให้ บจ.มีหน้าที่ต้องมาจัดประชุมนักวิเคราะห์อย่างทั่วถึงปีละ 2-4 ครั้ง เพื่อให้นักวิเคราะห์และนักลงทุนสามารถซักถามสอบถามได้โดยตรง เพื่อประเมินความสมเหตุผลของข้อมูลและวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร

นายสมภพ กีระสุนทรพงษ์ ประธานกรรมการ ชมรมวาณิชธนกิจ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาที่ปรึกษาทางการเงินปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มงวด ในการกลั่นกรองคุณภาพของบริษัทที่จะออกและเสนอขายหลักทรัพย์ (IPO) เพื่อให้มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างเพียงพอต่อการตัดสินใจของผู้ลงทุน กรรมการและผู้บริหารมีคุณสมบัติที่เหมาะสม มีระบบการควบคุมภายในที่ดี เป็นต้น ซึ่งรวมถึงการให้ความเห็นเกี่ยวกับการทำรายการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์และรายการที่เกี่ยวโยงกันของ บจ. แต่มีบาง บจ.ที่อาจมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ชมรมฯ จึงพร้อมร่วมหารือและสนับสนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปรับปรุงเกณฑ์ และมาตรการเพื่อคุ้มครองผู้ลงทุนอย่างเหมาะสม โดยยังรักษาสมดุลของการกำหนดเกณฑ์และไม่เป็นภาระต่อ บจ.มากจนเกินไป   

นายศักดิ์ดา พงศ์เจริญยง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด กล่าวว่า ทริสฯ จะปรับปรุงขั้นตอนในการคัดกรองผู้ออกตราสารใหม่ให้เข้มงวดมากขึ้น โดยจะเพิ่มความระมัดระวังสำหรับผู้ออกตราสารที่เข้าจดทะเบียนใน ตลท. รวมถึงจะหลีกเลี่ยงการจัดอันดับความน่าเชื่อถือให้ผู้ออกตราสารที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่ หรือผู้บริหารที่มีประวัติหรือชื่อเสียงในทางลบทางด้านธรรมาภิบาล นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งจะเพิ่มการฝึกอบรมนักวิเคราะห์ ในส่วนเทคนิคการสังเกตลักษณะของงบการเงินที่น่าสงสัยว่ามีการตบแต่งงบการเงิน เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์ความผิดปกติของงบการเงิน และสถานะทางการเงินที่แท้จริงของผู้ออกตราสาร

นางชวินดา หาญรัตนกูล นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน กล่าวว่า กรณี STARK เป็นเรื่องใหญ่ที่กระทบความเชื่อมั่นตลาดทุนไทย ไม่เฉพาะเพียงอุตสาหกรรม จึงเป็นเรื่องที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงาน ก.ล.ต.,  ตลาดหลักทรัพย์ฯ, ผู้สอบบัญชี, ที่ปรึกษาทางการเงิน, บริษัทจัดอันดับเครดิต, นักวิเคราะห์ ฯลฯ จะต้องร่วมกันพิจารณาหาแนวทางป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อตลาดทุนไทย

ดร.สมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวว่า ThaiBMA ในฐานะของ Bond Information Center ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยประสานงานกับผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้และสำนักงาน ก.ล.ต. ในการให้ข้อมูลและประชาสัมพันธ์อย่างรวดเร็วแก่ผู้ลงทุนผ่านทางช่องทางออนไลน์ของสมาคมฯ นอกจากนี้เรายังได้ให้ความเข้าใจเกี่ยวกับ เหตุแห่งการผิดนัดชำระหนี้ สิทธิของผู้ลงทุน หน้าที่และขั้นตอนการดำเนินงานของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้

นางสิริพร จังตระกุล เลขาธิการ สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย กล่าวว่า เพื่อเป็นการช่วยในการรวมกลุ่มผู้เสียหายจากการลงทุนในหุ้นสามัญ STARK สมาคมฯ จึงเปิดระบบลงทะเบียนให้ผู้ลงทุนเข้ามาลงทะเบียน โดยคำนึงถึง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 อย่างเคร่งครัด และจะพิจารณาช่วยดำเนินการ รวมถึงอำนวยความสะดวกในขั้นตอนต่อไป กรณีที่มีการฟ้องคดีแบบกลุ่มที่มีการลงทะเบียนที่สิ้นสุดไปเมื่อ 25 มิ.ย.66 มีผู้ลงทะเบียน 1,759 ราย คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 4,063 ล้านบาท

นายภากรยังได้สรุปมูลค่าความเสียหายที่พบในงบการเงินของ STARK ว่ามีกว่า 2.15 หมื่นล้านบาท นอกเหนือจากการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้อีกกว่า 9.1 พันล้านบาท โดยความเสียหายทางบัญชีมูลค่ารวมกว่า 2.15 หมื่นล้านบาทมี 5 เรื่อง ได้แก่ 1.การสั่งซื้อวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้าของ STARK และการสั่งสินค้าจากซัพพลายเออร์ที่เกี่ยวข้องในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค.65 มีการปรับตัวเลขถึง 1.04 หมื่นล้านบาท 2.การรับรู้รายได้จากการขายและลูกหนี้การค้าสูงเกินความจริงตั้งแต่ก่อนปี 2564 จนถึงปี 2565 รวมมูลค่า 7.76 พันล้านบาท 3. การจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มจากการขายที่ไม่เกิดขึ้นจริงตั้งแต่ก่อนปี 2564 จนถึงปี 2565 รวม 670 ล้านบาท 4.การตั้งค่าเผื่อลูกหนี้การค้าเพิ่มขึ้นจากการดำเนินงานที่ไม่ถูกต้องในปี 2564-2565 รวม 794 ล้านบาท และ 5.การขาดทุนจากสินค้าคงเหลือหายในปี 2565 ที่ 1.79 พันล้านบาท

สำหรับการตรวจสอบการกระทำความผิดของ STARK ที่เกิดขึ้น นายภากรยอมรับว่า ใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบมากกว่ากรณีของ บมจ.มอร์ รีเทิร์น  (MORE) เนื่องจากกรณีของ STARK มีผู้เกี่ยวข้องที่ได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก ทำให้ขั้นตอนการรวบรวมข้อมูลต่างๆ ทำได้ยากกว่ากรณีของ MORE ที่มีผู้เกี่ยวข้องได้รับผลกระทบประมาณ 10 ราย แต่ตลาดหลักทรัพย์ฯ พร้อมกับหน่วยงานต่างๆ พร้อมเดินหน้าในการตรวจสอบข้อเท็จจริงและหาแนวทางเยียวผู้ที่ได้รับผลกระทบต่อไป

วันเดียวกัน พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้ร่วมประชุมหารือกับหน่วยงานตลาดทุนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลังอธิบดีดีเอสไอให้รับคดี STARK

โดย พ.ต.ต.ยุทธนากล่าวภายหลังการประชุมว่า ดีเอสไอจะเป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักในการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน และจะเสนอให้มีการแต่งตั้งให้หน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมปฏิบัติหน้าที่สืบสวนสอบสวนตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และทุกหน่วยงานจะร่วมกันบูรณาการโดยบังคับใช้กฎหมายทุกมิติให้เกิดประสิทธิภาพ โดยให้แต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการตามอำนาจหน้าที่โดยเร็ว เพื่อที่จะดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดตามกฎหมาย และแก้ไขเยียวยาความเสียหายให้ผู้ลงทุน รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้ตลาดทุนโดยเร็วต่อไป

สำหรับตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.เปิดตลาดอยู่ในแดนลบอย่างต่อเนื่อง และปิดตลาดที่ 1,485.32 จุด ลดลง 20.20 จุด (-1.34%) มูลค่าซื้อขาย 40,108.08 ล้านบาท โดยการซื้อขายหุ้นดัชนีร่วงลงไปกว่า 20 จุด โดยทำจุดต่ำสุด 1,483.92 จุด ทำจุดสูงสุดที่ 1,507.63 จุด ส่วนหลักทรัพย์เปลี่ยนแปลงวันนี้เพิ่มขึ้น 59 หลักทรัพย์ ลดลง 503 หลักทรัพย์ และไม่เปลี่ยนแปลง 83 หลักทรัพย์.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'อัยการคดีพิเศษ' จ่อยื่นศาลสั่งริบทรัพย์ STARK อีก 3 พันล้านบาท

'วิรุฬห์' อธ.อัยการคดีพิเศษ เตรียมยื่นศาลขอริบทรัพย์อดีตผู้บริหาร STARK อีก 3 พันล้านบาท เยียวยาผู้เสียหาย 'อัยการ-ศาล-ปปง.' จับมือเชื่อมโยงข้อมูลคดีฟอกเงิน เพิ่มประสิทธิภาพทำงาน