‘พท.-ก้าวไกล’โคม่า! ‘ปธ.สภา’จบไม่ลงลากไป2ก.ค./กกต.ยื้อสอบพิธา

ชิงเก้าอี้ "ประธานสภาฯ"  เดือด! "ก้าวไกล" เลื่อนถก "เพื่อไทย"   หลังเจอสูตร 14+1 ป่วน กระเทือนวงตั้งรัฐบาล 8 พรรคสะดุด ลากยาวนัดใหม่ 2 ก.ค. ก่อนรัฐพิธีเปิดประชุมสภา 3 ก.ค. สะพัด "พท." แย้มสูตร 15+1 ลูบหลัง ก.ก. เพิ่มโควตา รมต.ให้ 1 ตำแหน่ง แลกประมุขนิติบัญญัติ  "อุ๊งอิ๊ง" ให้กำลังใจ 2 พรรค "สู้ๆ ค่ะ"  ชลน่านยัน 14+1 ยึดหลักการเดิม เชื่อไม่ทำให้พรรคแตกคอกัน "อดิศร" ซัด "พรรคส้ม" ไร้มารยาท ลักไก่เสนอ "ปดิพัทธ์" นั่ง ปธ.สภาฯ ขู่อีกตกลงกันไม่ได้ต้องปล่อยฟรีโหวต "ชวน" เตือนสติหากเอาทุกอย่างปัญหาไม่จบ "กกต." จ่อขยายเวลาสอบหุ้นสื่อพิธาเพิ่ม 15 วัน

มีความเคลื่อนไหวภายหลังจากพรรคเพื่อไทย (พท.) ประกาศยืนยันใช้สูตร 14+1 ในการเจรจาตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรกับพรรคก้าวไกล (ก.ก.) โดยพรรค ก.ก.ได้เก้าอี้รัฐมนตรี 14 ที่นั่ง และนายกรัฐมนตรี 1 ที่นั่ง พรรค พท.ได้เก้าอี้รัฐมนตรี 14 ที่นั่ง  และ 1 เก้าอี้ประธานสภาฯ ซึ่งจะมีการหารือกันในวันที่ 28 มิ.ย. เวลา 10.00 น.  ปรากฏว่าช่วงกลางดึกวันที่ 27 มิ.ย.  พรรค ก.ก.ได้แจ้งสื่อมวลชนว่าขอยกเลิกกำหนดการเข้าคุยกับพรรค พท. เนื่องจากเบื้องต้นยังคงตกลงไม่ได้ว่าใครควรจะได้โควตานี้ จึงอยากขอให้คณะเจรจาร่วมหารือเป็นการภายในก่อนแถลงต่อสื่อมวลชน

เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. แหล่งข่าวจาก 8 พรรคร่วมตั้งรัฐบาลระบุว่า หลังจากเกิดกรณีดังกล่าวขึ้น ได้มีการนัดหารือแกนนำทั้ง 8 พรรคแบบกะทันหันในช่วงกลางดึกวันที่ 27 มิ.ย. ซึ่งมีการหารือแบบเคร่งเครียดเพื่อจะหาข้อสรุปดังกล่าว ก่อนที่จะมีการเลื่อนการประชุม 8 พรรคร่วมรัฐบาลออกไป โดยวางกำหนดคร่าวๆ ไว้เป็นวันที่ 30 มิ.ย. และอาจจะมีการเลื่อนไปแบบไม่มีกำหนด ซึ่งเดิมทีจะมีการประชุม 8 พรรคร่วมรัฐบาลในวันที่ 29 มิ.ย.

"ในส่วนพรรคเล็กมองว่าอยากให้พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยหารือกันจนได้ข้อสรุปร่วมกันทั้งสองฝ่าย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันในการจัดตั้งรัฐบาลที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ และสนับสนุนให้พรรคก้าวไกลเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล" แหล่งข่าวจาก 8 พรรคร่วมตั้งรัฐบาลระบุ

ด้านแหล่งข่าวจากพรรคเพื่อไทย (พท.) ระบุว่า ปัญหาเรื่องตำแหน่งประธานสภาฯ แม้แกนนำพรรคจะเคยประกาศว่ายึดพรรคอันดับ 1 แต่เมื่อฟังเสียงและความเห็นจาก ส.ส.ภายในพรรค ยืนยันว่าตำแหน่งประธานสภาฯ จะต้องเป็นของพรรคเพื่อไทย ดังนั้นกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) และแกนนำพรรคจะต้องฟังเสียงจากคนในพรรค รวมถึงยึดหลักการเดิมที่ได้เสนอไปกับพรรคก้าวไกล คือสูตร 14+1

"หากต่างฝ่ายต่างไม่ยอม อาจจะต้องพิจารณาข้อเสนอเรื่องตำแหน่งกันใหม่ โดยอาจจะต้องมีการปรับสูตรพรรคก้าวไกลเป็น 15+1 ส่วนพรรคเพื่อไทยเป็น 13+1 แต่พรรคเพื่อไทยจะต้องพิจารณาว่าคุ้มค่าหรือไม่ที่จะเสียเก้าอี้รัฐมนตรี 1 ตำแหน่ง เพื่อแลกกับเก้าอี้ประธานสภาฯ 1 ตำแหน่ง ซึ่งมองว่าจะทำให้ทั้งสองพรรคไม่เสียหน้า หากยังตกลงกันไม่ได้ และ ส.ส.เพื่อไทยยังยืนกรานที่จะกอดตำแหน่งประธานสภาฯ ไว้ให้ได้ ก็อาจจะต้องปล่อยฟรีโหวต ซึ่งไม่อยากให้สถานการณ์ไปถึงจุดนั้น" แหล่งข่าวจากพรรคเพื่อไทยระบุ

นัดใหม่ 2 ก.ค.ถก 'ปธ.สภา'

ล่าสุดมีรายงานว่าแกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) ได้รับการประสานจากแกนนำพรรค ก.ก. ขอนัดประชุมระหว่าง 2 พรรค ในช่วงเวลาประมาณ 09.00 น. วันที่ 2 ก.ค. เพื่อหารือถึงตำแหน่งประธานสภาฯ ก่อนที่จะร่วมวงประชุม 8 พรรคร่วมรัฐบาลต่อ โดยรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรกวันที่ 3 ก.ค. และวันที่ 4 ก.ค. นัดโหวตประธานสภาฯ 

ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรค พท.  ที่หายป่วยจากอาการโควิด-19 เดินทางเข้าพรรคเพื่อเคลียร์งานที่ค้างไว้

น.ส.แพทองธารปฏิเสธไม่ขอตอบเรื่องการเมือง โดยกล่าวว่า วันนี้เดินทางเข้าพรรคเพื่อเข้ามาเคลียร์งานที่ค้างอยู่ ส่วนที่นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรค พท. และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย แซวว่าตนแอบไปดีลลับกับนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์​ หัวหน้าและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรค ก.ก. ติดโควิด-19 ก่อนไม่กี่วัน จะมีการดีลลับทางการเมืองอะไรหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ตลกมาก เพราะเพิ่งส่งข้อความไปอวยพรให้นายพิธาหายโควิด-19 เร็วๆ และนายเศรษฐาก็ยังไลน์มาแซวว่าแอบไปปาร์ตี้กับนายพิธามาเหรอ

ถามว่า จะให้กำลังใจพรรค พท.​และพรรค ก.ก.อย่างไรกับปัญหาประธานสภาฯ ที่กำลังเกิดขึ้น น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า “สู้ๆ ค่ะ มาทานมินต์ช็อกได้”

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรค พท. ให้สัมภาษณ์ในรายการเจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์ ถึงการเจรจากับพรรค ก.ก. กรณีตำแหน่งประธานสภาฯ ว่า ท่าทีของพรรค พท.เกี่ยวกับเรื่องประธานสภาฯ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร ซึ่งการเจรจาพูดคุยกันเพิ่งเริ่มต้นไปเพียงครั้งเดียวเท่านั้น และเป็นเพียงการรับข้อเสนอของแต่ละพรรคไปพิจารณา หลังจากนั้นก็ยังไม่ได้มีการพูดคุยกันอีก เพราะเป็นกระบวนการพูดกันภายในของแต่ละพรรค

นพ.ชลน่านกล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคและการประชุม ส.ส.ของพรรคเมื่อวันที่ 27 มิ.ย.ที่ผ่านมา แล้วเรามีข้อสรุปออกมา ก็เป็นเพียงการให้คำตอบกับพี่น้องประชาชนว่าพรรคยืนยันหลักการในสิ่งที่เราได้เสนอไปในการเจรจาครั้งแรก ซึ่งได้มีการพิจารณาการทำงานและเฉลี่ยออกมาตามสัดส่วนว่าแต่ละพรรคจะต้องทำอะไร ออกมาเป็น 14+1 คือพรรค ก.ก.เป็นรัฐมนตรี 14 ตำแหน่งกับนายกรัฐมนตรีดูแลฝ่ายบริหาร และพรรค พท. เป็นรัฐมนตรี 14 และจะรับหน้าที่ในการเป็นประธานสภาฯ ซึ่งในส่วนนี้เป็นการสิ่งที่ได้เสนอไปในการเจรจาครั้งแรก

"ที่ผ่านมาที่มีการพูดและนำเสนอความคิดเห็นต่างๆ เป็นเพียงความเห็นต่างภายในของแต่ละพรรค ซึ่งการนำเสนอบางมุมสมาชิกและผู้สนับสนุนพรรคบางส่วนไม่เห็นด้วย แต่พรรคเห็นว่าเมื่อเกิดกระแสความคิดเห็นที่แตกต่าง ก็ควรมีความชัดเจนไปเจรจากับพรรค ก.ก. จึงเป็นที่มาของที่ประชุมของพรรค ได้ยืนยันหลักการเดิม ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เพราะที่ผ่านมาพรรค ก.ก.ก็ยังไม่ได้มีคำตอบกลับมา ซึ่งการจะมีคำตอบอย่างไรก็ยังเป็นกระบวนการภายในของพรรค ก.ก." นพ.ชลน่านกล่าว 

หัวหน้าพรรค พท.กล่าวว่า พท.มีสมาชิกพรรคและมีผู้สนับสนุน ซึ่งเราก็ต้องคำนึงถึง เราก็ยืนยันหลักการให้นำขอเสนอเดิมไปพูดคุยเท่านั้น และไม่ใช่เป็นมติใดๆ เป็นเพียงแนวทางที่ทุกคนเห็นว่าเมื่อมีการวางหลักการเจรจาไว้อย่างนั้น ก็ยืนยันไปตามหลักการนั้น ไม่ได้เพิ่มหลักการใหม่ใดๆ เพื่อไม่ให้กระทบกับการเจรจา และสิ่งที่ 8 พรรคและ พท.กับ ก.ก.ยึดถือโดยตลอด ได้ลงนามร่วมกันในบันทึกความเข้าใจ คือเราจะมัดกันแน่น และทำงานด้วยกัน โดยมีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีให้ได้ยังเป็นประเด็นหลัก

ถามว่า ประเด็นตำแหน่งประธานสภาฯ จะไม่นำไปสู่ปัญหาความแตกแยกของพรรคร่วมทั้ง 8 พรรคหรือไม่ หัวหน้าพรรค พท.กล่าวว่า เราได้รับฉันทามติมาจากพี่น้องประชาชนในการเลือกตั้งว่าต้องการรัฐบาลประชาธิปไตย หากเพียงตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งมาทำให้แตกแยกพี่น้องประชาชนจะรับไม่ได้ 

พิธีกรซักว่า หากไม่ได้ข้อสรุปอาจเกิดการฟรีโหวตหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า พท.ระมัดระวังไม่ให้เกิดการฟรีโหวตขึ้นอย่างแน่นอน เพราะไม่ได้เป็นประโยชน์กับทั้งสองพรรค แล้วยังจะเป็นประโยชน์กับกลุ่มที่สามที่รอโอกาสอยู่

"การเจราจาเรื่องประธานสภาฯ พท.ได้ยืนยันหลักการเดิมที่ได้เสนอไปในการเจรจาครั้งแรก หากมีการนำเสนอแล้วทั้งสองพรรคได้ข้อสรุปตรงกันก็พร้อมเดินหน้าต่อทันที แต่หากยังไม่ได้ข้อสรุป แต่ละพรรคก็จะต้องนำข้อหารือไปพูดคุยภายในพรรคตัวเองเพื่อหาแนวทางไปหารือเพื่อให้ได้สรุปร่วมกันให้ได้อย่างไร สิ่งที่ พท.มุ่งมั่นและประกาศตลอดเวลาเมื่อจับมือกับ ก.ก. คือเราจะทำอย่างไรให้นายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีให้ได้ เรามัดกันแน่นมาตลอด และต้องทำงานให้ได้" นพ.ชลน่านกล่าว

พท.โวย ก.ก.ชงชื่อ 'ปดิพัทธ์'

ขณะที่นายอดิศร เพียงเกษ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค พท. กล่าวถึงกรณีพรรค ก.ก.เสนอชื่อนายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก เป็นประธานสภาฯ ว่า  เป็นการลักไก่ของพรรค ก.ก. ขั้นตอนขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาตำแหน่งประธานสภาฯ จะเป็นของพรรคใด แต่จู่ๆ มาเสนอชื่อนายปดิพัทธ์เป็นประธานสภาฯ ถือว่าออฟไซด์

"ต้องถามว่ามีมารยาทและจิตสำนึกหรือไม่ เพราะยังไม่มีข้อตกลงใดๆ ว่าตำแหน่งนี้จะเป็นของพรรคใด ยิ่งการเลื่อนวงเจรจาออกไปไม่มีกำหนด จะให้พรรค พท.เตรียมตัวอย่างไร จะไปเจรจากับใคร" นายอดิศรกล่าว

ถามว่า มีข่าวพรรค พท.เสนอเกลี่ยตำแหน่งรัฐมนตรีเพิ่มให้พรรค ก.ก.เป็น 15+1 แลกกับตำแหน่งประธานสภาฯ  นายอดิศรกล่าวว่า อย่าไปยุ่งกับตำแหน่งฝ่ายบริหาร เพราะคุยกันลงตัวแล้ว ถ้าจะไปปรับอะไรอีก ต้องมาคุยกับส.ส.ก่อน เดี๋ยวจะมีปัญหาอีก

"ยังหวังว่าระยะเวลาที่เหลืออยู่ทั้ง 2 พรรคจะตกลงทำความเข้าใจกันได้ แต่ถ้าตกลงกันไม่ได้จริงๆ ก็ต้องปล่อยฟรีโหวตเลือกประธานสภาฯ ในวันที่ 4 ก.ค.66 เราจะเสนอชื่อคนของเราเองเป็นประธานสภาฯ ไม่ต้องไปยืมมือพรรคใด แต่พรรค พท.จะเสนอชื่อใครนั้น ต้องรอให้ตกลงกันก่อนว่าตำแหน่งดังกล่าวจะเป็นของพรรคใด ยอมรับว่าเป็นห่วงเช่นกัน หากมีปัญหาความขัดแย้งเรื่องการเลือกประธานสภาฯ ระหว่างพรรค พท.กับพรรคก้าวไกล อาจมีปัญหาสะเทือนถึงการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ เป็นการตีหัวปลา สะเทือนหัวนาค" นายอดิศรกล่าว

ด้านนายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล ซึ่งถูกเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตประธานสภาฯ กล่าวถึงปัญหาตำแหน่งประธานสภาฯ จนต้องเลื่อนการหารือระหว่างพรรค ก.ก.กับพรรค พท.ว่า เป็นการเลื่อนเพื่อรอจนกว่าคณะเจรจาจะได้ข้อยุติ ซึ่งในขณะนี้ทางคณะเจรจาได้รับฟีดแบ็กจาก ส.ส.แต่ละพรรคและสังคม ตอนนี้รอให้มีการเดินหน้าเจรจา ซึ่งการเจรจาของคณะดังกล่าวถูกเลื่อน ทำให้การหารือของ 8 หัวหน้าพรรคถูกเลื่อนออกไปด้วย

"ขณะนี้การเจรจายังไม่สิ้นสุด ตราบใดที่ยังไม่มีการโหวตการเจรจา ก็ยังสามารถเดินหน้าได้ แต่ด้วยเงื่อนเวลาบีบให้ต้องมีความชัดเจน แต่ก็ต้องให้เวลากับคณะเจรจา ซึ่งทางพรรค ก.ก.ก็ได้เตรียมพร้อมสำหรับการทำหน้าที่ประธานสภาฯ ซึ่งแนวโน้มและเสียงโหวตที่ประชาชนมอบให้ อย่างไร 2 พรรคนี้ก็ต้องหาทางตกลงกันให้ได้อยู่แล้ว” นายปดิพัทธ์กล่าว

ถามว่ามีเสียงวิจารณ์ที่พรรค ก.ก.เปิดตัวประธานสภาฯ นายปดิพัทธ์กล่าวว่า เป็นสิทธิ์ของแต่ละฝ่ายที่จะวิพากษ์วิจารณ์ถึงตัวบุคคลที่จะมาทำหน้าที่ตำแหน่งประธานสภาฯ โดยมีข้อเสนอเรื่องประสบการณ์ ที่ได้รับเสียงสะท้อนมาจากครั้งก่อน จึงต้องมีการทำงานหนักมากขึ้น ค้นคว้าข้อมูลและถามผู้รู้

"ผมไม่สามารถพูดได้ว่าจะเป็นประธานสภาฯ ที่ดีที่สุดหรือไว้ใจได้อย่างไร แต่ได้แสดงความพร้อมในการทำหน้าที่และทำงานหนักร่วมกับทุกฝ่าย  ซึ่งตามข้อบังคับก่อนที่จะมีการโหวตจะมีการแสดงวิสัยทัศน์ของผู้ชิงตำแหน่ง   เชื่อว่าเวทีดังกล่าวจะสามารถแสดงถึงความตั้งใจที่จะสื่อสารกับ ส.ส. แต่ทั้งหมดนั้นจะต้องได้ข้อยุติที่ทีมเจรจาก่อน" นายปดิพัทธ์กล่าว

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) โพสต์ทวิตเตอร์ระบุว่า "อยากให้นึกถึงความคาดหวังของประชาชน ที่เขาฝากความหวัง ในการมีชีวิต มีเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจาก #รัฐบาลใหม่ ของฝั่งที่เขาเรียกว่า ประชาธิปไตย การพูดคุยอย่างตรงไปตรงมาของ 2 พรรคแกนนำ บนพื้นฐานความเสียสละเพื่อ ปชช. จึงสำคัญมากในขณะนี้ ขอเป็นกำลังใจให้ 2 พรรคแกนนำ ทำเพื่อประชาชน

'ธรรมนัส' ปัดเสนอชื่อ 'สุชาติ'

ขณะที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงกรณีมีการระบุจะเป็นผู้เสนอชื่อนายสุชาติ ตันเจริญ ส.ส.พรรคเพื่อไทย เป็นประธานสภาฯ ในวันโหวตเลือกประธานสภาฯ ว่า ถือเป็นความเข้าใจผิดอย่างชัดเจน เพราะแม้ตนจะรู้จักและเคารพนับถือท่านสุชาติเป็นการส่วนตัวอยู่แล้ว เพราะเคยร่วมงานการเมืองในพรรคเดียวกันมาก่อน แต่เมื่อท่านสุชาติ ได้ตัดสินใจย้ายไปสังกัดพรรคเพื่อไทยแล้ว ก็ไม่เคยไปยุ่งเกี่ยวหรือพูดคุยในประเด็นดังกล่าว เพราะถือเป็นเรื่องภายในพรรคเพื่อไทย ที่จะดำเนินการร่วมกับพรรคที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดในการจัดตั้งรัฐบาล

"ผมยืนยันว่าเราต้องยึดมั่นในมารยาททางการเมืองที่จะต้องให้พรรคที่ได้คะแนนเสียงเยอะที่สุดดำเนินการจัดตั้งรัฐบาล ช่วงนี้จึงอยู่นิ่งๆ และเดินหน้าลงพื้นที่พบปะพ่อแม่พี่น้องชาวพะเยาที่ไว้วางใจเลือกผมมาเป็น ส.ส.อีกสมัย จึงต้องทำหน้าที่ให้หนักขึ้น" ร.อ.ธรรมนัสกล่าว

ที่รัฐสภา นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค พท. เดินทางเข้ารายงานตัว ส.ส.ต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร พร้อมให้สัมภาษณ์ถึงตำแหน่งประธานสภาฯ ว่า ต้องมีการพูดคุยกันระหว่างพรรค ก.ก.กับพรรค พท. ส่วนใครจะมาเป็นตนยังไม่ทราบข้อตกลงจะออกมาเป็นอย่างไร ดังนั้นตัวบุคคลจึงยังไม่สามารถระบุได้

นายสุริยะกล่าวถึงสูตร 14+1 ว่าที่ผ่านมามีการเจรจาในบางส่วน ในที่สุดทางผู้บริหารของทั้ง 2 พรรคคงจะมีความชัดเจนหลังมีการเลือกประธานสภาฯ และโหวตเลือกนายกฯ ซึ่งคงไม่ถึงขั้นต้องฟรีโหวต

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุริยะถือเป็นคนสุดท้ายของพรรค พท.ที่มารายงานตัว ทั้งนี้ ยังคงเหลือ ส.ส.ที่ยังไม่ได้มารายงานตัวอีก 3 คน จะครบทั้ง 499 คน โดยทางสำนักงานเลขาธิการสภาฯ ได้รับแจ้งจากนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ และ ม.ล.ชโยทิต กฤดากร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ จะเข้ารายงานตัวในวันที่ 29 มิ.ย.นี้ ขณะที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ทางสำนักงานเลขาธิการสภาฯ ยังไม่ได้รับแจ้งว่าจะเข้ารายงานตัวเมื่อใด

เช่นเดียวกับ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา นำ ส.ส.ของพรรค 10 ราย เดินทางมารายงานตัวอย่างพร้อมเพรียงที่รัฐสภาด้วย

วันเดียวกัน นายชวน หลีกภัย อดีตประธานรัฐสภา ให้สัมภาษณ์ผ่านทีวีรัฐสภา ในรายการ 91 ปี ก้าวแห่งความมั่นคงรัฐสภาไทย เนื่องในวันสถาปนารัฐสภา วันที่ 28 มิ.ย. ถึงตำแหน่งประธานสภาฯ ว่า ตำแหน่งประมุขของสภานิติบัญญัติมีความสำคัญ เพราะเป็น 1 ใน 3 ของอำนาจอธิปไตย ซึ่งตำแหน่งประธานสภาฯ นั้น สภาจะเป็นผู้เลือกโดยยึดดุลยพินิจของ ส.ส.

ถามว่า ขณะนี้เสียงของพรรค ก.ก.และพรรค พท.ใกล้เคียงกัน ทำให้เกิดความไม่ชัดเจน นายชวนกล่าวว่า ถือเป็นประสบการณ์ตั้งรัฐบาล ฐานะที่ตนเคยเป็นทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านมาหลายสมัย ปกติการตกลงร่วมกันจะใช้ตำแหน่งนายกฯ เป็นสำคัญ เพราะจะง่ายต่อการแบ่งปันตำแหน่ง ทั้งนี้ การตั้งรัฐบาลในปัจจุบันตนมองว่าง่ายกว่าในอดีต เพราะมีเพียง 8 พรรคการเมือง ขณะเดียวกันมีเพียง 2 พรรคเท่านั้นที่รวมเสียงได้เกินครึ่ง

นายชวนกล่าวว่า ปัญหาของพรรค ก.ก.และพรรค พท. ตนมองว่าหากเข้าใจบทบาทสภา จะทำให้มีข้อยุติง่าย แต่หากไม่เข้าใจ และมองว่าประธานสภาฯ บันดาลให้ใครเป็นนายกฯ ก็ได้ แบบนี้หารือกันยาก หากไม่แน่ใจว่าการตั้งนายกฯ จะผ่านหรือไม่ หากไม่ผ่านเขาไม่ได้ทั้งนายกฯ และประธานสภาฯ จนกลายเป็นความวิตก

"ผมมองว่าหาก 2 ฝ่ายหารือกันอย่างใกล้ชิด จะทำให้คุยกันได้ง่าย ดังนั้นปัญหาของประธานสภาฯ ควรยุติด้วยการศึกษา เข้าใจ ในบทบาท อำนาจ หน้าที่ ทุกฝ่ายไม่สามารถเอาอะไรได้ตามอำเภอใจได้ทุกอย่าง ซึ่งผมมองว่าการตั้งประธานสภาฯ ไม่มีปัญหา แต่สมัยนี้มีปัญหา” นายชวนกล่าว

กกต.จ่อขยายเวลาสอบพิธา

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ปฏิเสธตอบคำถามสื่อมวลชนโดยกล่าวเพียงสั้นๆ ว่า "ไม่มีอะไรหรอกนะจ๊ะการเมือง ไม่มีคำตอบอะไรทั้งสิ้นนะจ๊ะ จะขอทำหน้าที่รักษาการให้ดีที่สุดก็แล้วกัน การเมืองอย่ามาถามผมเลยนะ ไม่ให้มีปัญหา เหมือนเดิมเดี๋ยวมันยุ่ง"

ถามว่า หากสถานการณ์จำเป็นต้องรักษาการยาว มีการเตรียมพร้อมอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์ไม่ตอบ ก่อนยกมือสวัสดีและโบกมือให้สื่อ พร้อมเดินขึ้นตึกไทยคู่ฟ้าไปทันที

ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์เดินทางไปร่วมประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) หลังเสร็จสิ้นได้ให้สัมภาษณ์ถึงการดูแลความสงบเรียบร้อยที่รัฐสภาในวันที่ 4 ก.ค. ที่จะมีการโหวตเลือกประธานสภาฯ ว่า มีการกำชับอยู่แล้ว

ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา และนายกิตติศักดิ์  รัตนวราหะ รองประธาน เข้าพบนายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต.พร้อมคณะ เพื่อมอบหลักฐานการถือครองหุ้นสื่อของนายพิธา โดยหลักฐานเอกสารมี 2 ส่วน จากการตรวจสอบของ กมธ.การเมืองฯ และจากการที่นายนพรุจ วรชิตกุล อดีตแกนนำพิราบขาว 2006 ที่นำไปมอบให้ และขอความร่วมมือให้ กกต.เร่งตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญและส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย ก่อนที่จะมีการโหวตเลือกนายกฯ 

นายเสรีกล่าวว่า ได้เรียนต่อ กกต.ขอให้ กกต.ทำตามอำนาจหน้าที่ของท่านให้ปรากฏ หากสามารถทำโดยเร็วได้ในส่วนใด ก็ขอให้ใช้อำนาจหน้าที่หรือดุลยพินิจดำเนินการให้เสร็จโดยเร็ว เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคม หรือข้อถกเถียงในทางการเมืองที่ไม่อยากให้มีเรื่องอื่นๆ แทรกแซงเข้ามา อยากให้ยุติโดยเร็ว

แหล่งข่าวระดับสูงจาก กกต.กล่าวถึงความคืบหน้าการไต่สวนกรณีนายพิธาฝ่าฝืนมาตรา 42 (3) และมาตรา 151ว่า กกต.อาจต้องขอขยายเวลา โดยต้องขอขยายเวลาอีก 15 วัน ผ่านเลขาธิการ กกต.

นายกิตติศักดิ์  รัตนวราหะ  ส.ว. กล่าวถึงการโหวตเลือกนายกฯ ของ ส.ว.ว่า ขณะนี้คลื่นลมสงบได้ข้อยุติแล้ว กลุ่ม ส.ว.ที่สนับสนุนนายพิธาน่าจะน้อยกว่า 5 คน  ซึ่งสิ่งที่ ส.ว.ส่วนใหญ่ตัดสินใจน่าจะเป็นการปิดสวิตช์ตนเอง คือ การงดออกเสียง แต่ย้ำว่า ส.ว.มีเอกสิทธิ์ส่วนตัวในการลงมติอย่างไรก็ได้

ถามว่า ถ้าเสียง ส.ว.ไม่ครบ ฟันธงว่านายพิธาไปต่อไม่ได้เลยใช่หรือไม่ นายกิตติศักดิ์กล่าวว่า ถ้าหากวันเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี ตนเชื่อว่าจะมีแคนดิเดตมากกว่า 1 คน เพราะตามกฎหมายพรรคการเมือง พรรคที่ได้ ส.ส.เกิน 25 คน สามารถเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีได้

ถามว่า ถ้าพรรคก้าวไกลเสนอชื่อนายพิธาแล้วไม่ผ่าน พรรคเพื่อไทยจะมีโอกาสหรือไม่ นายกิตติศักดิ์กล่าวว่า  เดี๋ยวจะหาว่า ส.ว.อะไรก็ไม่เอา เรามองแล้วว่าบ้านเมืองต้องเดินไปได้ ตนขอบอกเทปเดิมว่าบ้านเมืองต้องเดินต่อไปได้ ขณะนี้หากนายพิธาไปไม่ได้ พรรคอันดับ 2 ก็ต้องขึ้นมา เพราะเราต้องการให้บ้านเมืองเดินไปได้

ซักถึงหลักการของ ส.ว. จะยกมือให้พรรคที่รวมเสียง ส.ว.ได้เกินครึ่งของสภา ไม่ใช่ยกมือให้รัฐบาลเสียงข้างน้อยใช่หรือไม่ นายกิตติศักดิ์กล่าวว่า เคยพูดแล้วว่ารัฐบาลเสียงข้างน้อยไม่น่าจะเกิดขึ้นแล้ว บ้านเมืองก็เดินไปไม่ได้ บริหารประเทศไม่ได้ แต่ถ้าจะเป็นรัฐบาล ต้องไปรวบรวมเสียงให้ได้เกินครึ่งคือ 376 เสียง แบบนี้บ้านเมืองถึงจะเดินไปได้ แต่หากมี ส.ส.อยู่ 100 กว่าเสียง แล้วไปจัดตั้งรัฐบาล ส่วนตัวไม่เห็นด้วย

ย้ำว่า ที่ออกมาพูดว่านายพิธาไม่น่าจะผ่านการเลือกของ ส.ว. ถือเป็นการพูดแทนของ ส.ว.ทั้งหมดหรือไม่ นายกิตติศักดิ์กล่าวว่า เป็นความเห็นส่วนตัว ซึ่งทัวร์จะมาลงก็ขยายพื้นที่ไว้ มาลงที่กิตติศักดิ์ได้ แต่ไม่ลงที่ ส.ว.คนอื่น และที่บอกมีคนโหวตให้นายพิธาน้อยกว่า 5 คน มันก็คือโลกความเป็นจริง เพราะเราประเมินแล้วว่า ส.ว.ได้รับการโปรดเกล้าฯ ถ้าจะไปสนับสนุนนักการเมืองที่ต้องการแตะสถาบัน ผมก็ไม่ทราบว่าจะตอบสังคม ประชาชนได้อย่างไร.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เพื่อไทยเปิดตัวผู้สมัครนายกอบจ. ฟุ้ง 10 เดือนที่ไม่รอ ทำต่อให้เต็ม 10

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พรรคเพื่อไทย จัดกิจกรรม 10 เดือนที่ไม่รอ ทำต่อให้เต็ม 10 เพื่อเปิดตัวว่าที่ผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายกอบจ.) พรรคเพื่อไทยจำนวน 9 คน โดยมี นายเศรษฐา ทวีสิน