ข่าวดี!ตรึงก๊าซหุงต้ม15กก.ถึงส.ค.

ข่าวดี! กบน.ตรึงราคาก๊าซหุงต้มถัง 15 กก.ให้อยู่ที่ 423 บาทจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม บอกราคาตลาดโลกยังผันผวน แบงก์ชาติปรับปรุงข้อมูลใหม่  ชี้ตัวเลขหนี้ครัวเรือนเพิ่มเป็น 16 ล้านล้านบาท หรือ 90.6% ต่อจีดีพี

เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.2566 นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ว่า ราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ในตลาดโลกยังมีความผันผวน ส่งผลให้ราคาขายปลีกก๊าซ LPG สำหรับถัง 15 กิโลกรัมของไทยยังวิกฤตเกินกว่าระดับราคาที่เหมาะสม โดยมากกว่า 363 บาท เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบให้ภาคประชาชน ที่ประชุม กบน.ล่าสุด จึงมีมติให้รักษาเสถียรภาพระดับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงประเภทก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) โดยใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีสภาพคล่องดีขึ้นช่วยสนับสนุน ซึ่งสอดคล้องกับมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 ทำให้ราคาขายปลีก LPG สำหรับถัง 15 กิโลกรัม ยังเป็นไปตามกรอบเป้าหมายราคาขายปลีกที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) กำหนด โดยยังคงราคาขายปลีกต่อถัง 15 กก.ต่อไปอีก 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.-31 ส.ค.2566  

“กบน.จะบริหารจัดการด้านเสถียรภาพราคาให้อยู่ที่ 423 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ไปจนถึงวันที่ 31 ส.ค.2566 ทั้งนี้ แม้ราคา LPG Cargo จะปรับลดลง แต่สถานการณ์ราคา LPG Cargo ในตลาดโลกยังคงสูง และมีความผันผวน แต่ไม่มากนัก ในช่วงวันที่ 12-23 มิ.ย.2566 ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 416.05 ดอลลาร์ต่อตัน ลดลง 21.17 ดอลลาร์ในช่วงวันที่ 29 พ.ค.-9 มิ.ย.2566” นายวิศักดิ์กล่าว และว่า ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงปัจจุบัน ภาพรวมมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น โดยประมาณการฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสุทธิ ณ วันที่ 25 มิ.ย.2566 ติดลบอยู่ที่ 57,884 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชี LPG ติดลบ 45,975 ล้านบาท และบัญชีน้ำมันติดลบ 11,909 ล้านบาท

ขณะที่ นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวถึงสถานการณ์พลังงานในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2566 ว่ามีการใช้พลังงานขั้นต้นเพิ่มขึ้น 3.8% จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีแนวโน้มที่ดีขึ้น ทั้งนี้ ในส่วนของการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายเพิ่มขึ้น 0.4% โดยเพิ่มขึ้นมาจากการใช้น้ำมันสำเร็จรูป 3.8% จากการเดินทางเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการใช้น้ำมันเครื่องบินที่เพิ่มถึง 89.1% และน้ำมันเบนซิน 6.2% ในขณะที่พลังงานอื่นๆ มีการใช้ลดลง โดยการใช้ลิกไนต์/ถ่านหินในภาคอุตสาหกรรมลดลง 8.9%

นายวัฒนพงษ์กล่าวอีกว่า  สถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา พบว่าราคาน้ำมันดิบตลาดดูไบอยู่ในระดับ 77.45 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล, ราคาน้ำมันเบนซิน อยู่ในระดับ 93.64 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดีเซล อยู่ในระดับ 94.17 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทั้งนี้ คาดการณ์แนวโน้มราคาน้ำมันช่วงครึ่งปีหลัง 2566 ว่า ราคาน้ำมันดิบตลาดดูไบจะอยู่ระหว่าง 81-87 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล, ราคาน้ำมันเบนซินจะอยู่ระหว่าง 96-105 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดีเซลจะอยู่ระหว่าง 91-98 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

“สนพ.อยู่ระหว่างศึกษาโครงการทบทวนโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อรองรับน้ำมันที่มีคุณภาพตามมาตรฐานยูโร 5 ซึ่งคาดว่าการทบทวนโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงฯ จะทำให้เกิดโครงสร้างราคาที่เหมาะสมตามต้นทุนและสถานการณ์ที่เป็นจริงของตลาด เกิดราคาที่เป็นธรรมแก่ผู้ใช้น้ำมัน  เกิดการขับเคลื่อนภาคธุรกิจและเศรษฐกิจไทย และภาครัฐสามารถกำกับดูแลระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ  รวมทั้งยังติดตามและบริหารนโยบายพลังงานในช่วงวิกฤตราคาพลังงานอย่างใกล้ชิด เพื่อหาแนวทางและมาตรการในการช่วยเหลือประชาชนในช่วงวิกฤตพลังงานในอนาคตต่อไป”

วันเดียวกัน นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.ได้ปรับปรุงความครอบคลุมของสถิติเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนให้ครบถ้วนมากขึ้น โดยประเมินจากข้อมูลใหม่ คือความน่าเชื่อถือของการเก็บข้อมูลและประมวลผล ความมีคุณภาพ อธิบายการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเศรษฐกิจได้ ความถี่ของการจัดเก็บข้อมูล การเปิดเผยข้อมูล และไม่ล่าช้าเกินไป โดยพบว่าหนี้ครัวเรือนไตรมาส 1/2566 ปรับเพิ่มขึ้น 4.5% ต่อจีดีพี โดยหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น 7.66 แสนล้านบาท ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นเป็น 16 ล้านล้านบาท คิดเป็น 90.6% ต่อจีดีพี จากเดิม 15.2 ล้านล้านบาท คิดเป็น 86.3% ต่อจีดีพี

นายสักกะภพระบุว่า หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นเป็นการขยายความครอบคลุมผู้ให้กู้เพิ่ม 4 กลุ่ม ซึ่งเป็นหนี้เดิมที่มีอยู่แล้ว ไม่ใช่การก่อหนี้ใหม่ เป็นการปรับข้อมูลย้อนหลังถึงไตรมาส 1/2555 ประกอบด้วยหนี้ของกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) 4.83 แสนล้านบาท หนี้สหกรณ์อื่นๆ ที่ไม่รวมสหกรณ์ออมทรัพย์ 2.65 แสนล้านบาท หนี้พิโกไฟแนนซ์ 6 พันล้านบาท และหนี้การเคหะแห่งชาติ 1.1 หมื่นล้านบาท

 “หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นมาจากการปรับปรุงข้อมูลส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นหนี้ที่มีประสงค์เพื่อการศึกษา โดยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 1 เป็น 4% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด และถ้าถามว่า ธปท.กังวลกับหนี้ครัวเรือนหรือไม่ เรื่องนี้ก็มีการสื่อสารมานานว่ากังวล แต่ไม่ได้กังวลเพิ่ม การปรับข้อมูลใหม่เป็นหนี้ที่มีอยู่แล้ว ไม่ใช่หนี้เพิ่งเกิดใหม่ ก็เป็นการติดตามตัวเลขในภาพรวม เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นข้อมูลในการประเมินภาพรวมแนวทางการแก้ไข และไม่ได้เห็นตัวเลขหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด” นายสักกะภพระบุ

นายสักกะภพยังกล่าวถึงเศรษฐกิจและการเงินในเดือน พ.ค.2566 พบว่า เศรษฐกิจไทยอยู่ในทิศทางการฟื้นตัว โดยการใช้จ่ายภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้นทั้งการบริโภคและการลงทุน ขณะที่รายจ่ายภาครัฐขยายตัวทั้งรายจ่ายประจำ และรายจ่ายลงทุน ส่วนมูลค่าการส่งออกปรับเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับภาคผลิตอุตสาหกรรม ด้านจำนวนนักท่องเที่ยวยังฟื้นตัวต่อเนื่อง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากราคาพลังงาน ตามค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ปรับลดลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับลดลงเล็กน้อย ด้านตลาดแรงงานโดยรวมฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลจากดุลบริการ รายได้ และเงินโอน ขณะที่ดุลการค้าเกินดุลเล็กน้อย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง