ส.ส.ไล่บี้‘กทม.’ ปมสะพานถล่ม 7วันสรุปสาเหตุ

สภาผู้แทนฯ ถกญัตติด่วนกรณีสะพานยกระดับลาดกระบังถล่ม   แนะ 4 เรื่อง ขณะที่สภา กทม.ตั้ง กมธ.วิสามัญตรวจสอบบิ๊กโปรเจกต์ วสท. คาดไม่เกิน 7 วันรู้สาเหตุแน่ คปภ. เร่งบริษัทประกันเยียวยา

ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย (พท.) เสนอญัตติด่วนด้วยวาจา กรณีสะพานยกระดับถนนอ่อนนุช-ลาดกระบังถล่ม ว่ามีความกังวลใจ  จึงอยากให้ทุกหน่วยงานร่วมมือกันทำงาน เข้ามาระดมความคิดเห็นเพื่อหาสาเหตุและป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก อย่างไรก็ตาม ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าดูที่หน้างานเท่านั้น แต่ต้องดูเชิงลึกด้วยเพื่อที่จะได้แก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง และขอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปเยียวยาอย่างสมเหตุสมผล

นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ขอเสนอแนะ 4 ข้อคือ 1.หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเก็บข้อมูลและหลักฐาน อย่างเช่น ตัวอย่างปูนที่พังถล่มลงมาก่อนที่จะมีการทำความสะอาดใหญ่ เพราะจะทำให้ทราบว่าความผิดพลาดนั้นเกิดจากสิ่งใดกันแน่ แต่หากไม่เก็บข้อมูลหลักฐานไว้ ก็จะทำให้การพิสูจน์ทราบยากลำบากยิ่งขึ้น 2.ต้องตรวจสอบผู้รับเหมาที่ทำงานนี้ว่ามีคุณสมบัติตรงตามสัญญาหรือไม่ หากเราได้ผู้รับเหมาที่ไม่ตรงปก แสดงว่าได้คนที่มีคุณสมบัติที่ไม่เพียงพอมาทำงาน 3.กทม.จะต้องชี้แจงว่าเปลี่ยนแบบการก่อสร้างทำไม จากสัญญาเดิมที่ให้หล่อในพื้นที่ก่อสร้างเป็นหล่อจากโรงงาน และ 4.กทม.ต้องชี้แจงถึงความเข้มงวดในการคุมงานด้วย

หลังเปิดให้สมาชิกอภิปรายอย่างกว้างขวางแล้ว ที่ประชุมสภาฯ มีมติส่งเรื่องไปให้รัฐบาลรับทราบ

ขณะที่นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงความคืบหน้าการรื้อถอนโครงสร้างโครงการก่อสร้างทางยกระดับดังกล่าว ว่า ได้นำอุปกรณ์โครงเหล็กสำหรับยกคอนกรีตประกอบโครงสร้างสะพานออกแล้ว 7 ชิ้น และยังต้องเก็บชิ้นส่วนที่เหลืออีก 7 ชิ้น คาดว่าวันที่ 14 ก.ค. จะเปิดการจราจรได้ หลังจากนี้จะตรวจสอบสาเหตุต่อไป ภายใต้ข้อสมมุติฐาน คือ จุดที่เทคอนกรีตปิดช่องเพื่อเชื่อมรอยต่อระหว่างคอนกรีตแต่ละชิ้นที่ยกมาประกอบกันเป็นโครงสร้างสะพาน โดยคอนกรีตในจุดปิดเชื่อมช่องดังกล่าวอาจมีกำลังไม่เพียงพอในการรับน้ำหนักระหว่างดึงเหล็ก เนื่องจากพบคอนกรีตระเบิดตำแหน่งดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ต้องเก็บตัวอย่างปูนและคอนกรีตในพื้นที่เพื่อตรวจสอบ เช่น รับกำลังได้มากน้อยเท่าใด รวมถึงหาผลทดสอบระหว่างการเทคอนกรีต และทดสอบกำลังรับแรงอัดของคอนกรีต ทั้งนี้ ข้อสมมุติฐานดังกล่าว สิ่งสำคัญคือการดึงลวดสลิง หากคอนกรีตรับแรงได้ถือว่าผ่าน หากรับแรงไม่ได้จะทำให้คอนกรีตแตกระเบิด ทำให้คอนกรีตที่เหลือพากันรั้งน้ำหนัก ทำให้เสาที่ 84 ขาด เพราะเสาไม่ได้ออกแบบมาเพื่อการรั้งน้ำหนักจากด้านข้าง อย่างไรก็ตาม ต้องหาหลักฐานเพิ่มเพื่อหาสาเหตุต่อไป

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปัจจุบัน กทม.มีโครงการขนาดใหญ่ 2 โครงการ  คือ โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณแยกเกียกกาย และโครงการก่อสร้างปรับปรุงสะพานข้ามแยกบางกะปิ จึงกำชับให้นำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงาน รวมถึงใช้กล้อง AI เข้ามาช่วยตรวจสอบมาตรฐานการทำงาน

 “เรายังมีบทเรียนของโครงการอุโมงค์ระบายน้ำบึงหนองบอน ที่ทำให้ถนนทรุดตัว มีบ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย ซึ่งผู้รับเหมาต้องรับผิดชอบ กทม.ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแล ต้องเข้าไปติดตามตรวจสอบโครงการอื่นๆ ให้เป็นไปตามมาตรฐานด้วย ส่วนการขึ้นแบล็กลิสต์ กทม.ทำตามอำเภอใจไม่ได้ ต้องทำตามกรอบของกฎหมาย เป็นอำนาจของกรมบัญชีกลาง” ผู้ว่าฯ กทม.กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สาม (ครั้งที่ 2) ประจำปี 2566 ที่ศาลาว่าการ กทม. (ดินแดง)  โดยนายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ส.ก.เขตลาดกระบัง ได้ยื่นเสนอญัตติด่วนเรื่องตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษา ตรวจสอบโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ในความรับผิดชอบของ กทม. เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ซึ่งนายชัชชาติกล่าวว่ายินดีรับข้อสังเกตของ ส.ก.ไปพิจารณาให้ถี่ถ้วนด้วย และการตั้งคณะกรรมการวิสามัญจะช่วยให้เราทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ที่ประชุมสภา กทม.มีมติเห็นชอบญัตตินี้ และให้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญจำนวน 17 คน กำหนดระยะเวลาพิจารณาให้แล้วเสร็จ 90 วัน

วันเดียวกัน นายวัชรินทร์ กาสลัก นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) พร้อมวิศวกรจาก วสท. เข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุ โดยนายวัชรินทร์กล่าวว่า วันนี้ได้เข้าไปตรวจสอบพื้นที่ ซึ่งเราได้ประโยชน์มากจากภาพถ่ายหรือคลิปที่ประชาชน ส่งมาให้ทางทีมงาน หรือถ้าใครมีคลิปในวันเกิดเหตุ โดยเฉพาะกล้องหน้ารถ ก็จะช่วยให้วินิจฉัยได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกันได้ไปขอรายละเอียดต่างๆ  จากกรุงเทพมหานคร ทั้งแบบก่อสร้างเรื่องของบันทึกรายงานประจำวัน ซึ่งต้องเอารายละเอียดทั้งหมดมาวิเคราะห์รวมกัน อย่างช้าไม่เกิน 1 สัปดาห์ คาดว่าจะทราบสาเหตุของอุบัติเหตุครั้งนี้

ทางด้านนายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบความเสียหายทั้งต่อชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินจากการเกิดอุบัติเหตุครั้งนี้ พบว่าผู้เสียชีวิตทั้ง 2 รายเป็นพนักงานของโครงการดังกล่าว ส่วนผู้บาดเจ็บ 12 ราย เป็นพนักงานก่อสร้าง 5 ราย และประชาชนที่ใช้เส้นทางสัญจรในบริเวณนั้น 7 ราย เบื้องต้นพบว่าโครงการทางยกระดับถนนอ่อนนุช-ลาดกระบัง ได้ทำประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญาไว้กับบริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) เริ่มต้นความคุ้มครองวันที่ 9 มิ.ย.2566 ถึงวันที่ 24 พ.ย.2568 คุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอกวงเงิน 50 ล้านบาท ในสัดส่วนร้อยละ 60 และบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ในสัดส่วนร้อยละ 40

สำหรับการติดตามการจ่ายค่าสินไหมทดแทนของผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ สำนักงาน คปภ. เขตบางนา ได้ประสานบริษัทประกันภัยที่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุในครั้งนี้ เพื่อชดเชยสินไหมทดแทนให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บอย่างเต็มที่.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เศรษฐา' อวดคนอีสาน 10 เดือน ผลงานเพียบ ไตรมาส 4 ได้เงินหมื่นแน่

นายกฯ พบชาวหนองพอก อวดผลงาน 10 เดือน ราคาพืชผลการเกษตรดี ยันเร่งแก้ปัญหาน้ำประปา ปราบหนี้นอกระบบให้หมด ย้ำ 'ดิจิทัล วอลเล็ต' ไตรมาส 4 ได้แน่

ปชป. ขวางแก้ 'พรบ.ธปท.' ลดอิสระแบงก์ชาติ สนองนายหญิง

ปชป. ย้ำจุดยืน ไม่เห็นด้วยแก้กฎหมายลดอิสระแบงก์ชาติ ยัน พ.ร.บ.ธปท. ฉบับปัจจุบันดีอยู่แล้ว ชี้ผู้ว่าการแสดงความเห็นสุจริตเพื่อบ้านเมือง ท้ารัฐบาลไม่พอใจปลดเลย

‘จตุพร’ ชี้คณะก่อการบางฝ่ายเริ่มอึดอัด คนบางคนลำพอง เสี่ยงถูกยึดอำนาจ

‘จตุพร’ ส่งสัญญาณอารมณ์อำนาจ ระบุ ปท.อยู่ท่ามกลางสถานการณ์เปราะบาง ตึงเครียด คณะก่อการบางฝ่ายเริ่มอึดอัด จ่อขยับยึดอำนาจ เหตุรำคาญดีลกลับบ้านที่คนบางคนลำพองผยองอำนาจ อ้างไฟเขียวป่วนทำลายระบบเศรษฐกิจ สังคมและกระบวนการยุติธรรม