อ้าง‘ฉันทามติ’ ไม่ถอยรื้อ112 แต่ให้รอปี3-4

ก้าวไกลย้ำชัดไม่ถอยเรื่องมาตรา 112 แต่อาจไม่ใช่ช่วง 1-2 ปีแรก อ้างเป็นฉันทามติที่พรรคหาเสียงจนเข้ามาเป็นอันดับหนึ่ง ระบุหยิบเรื่องมาคุยบนโต๊ะดีกว่าซุกไว้ “วิโรจน์” ยันต้องทำด้วยความประณีต รอบคอบ

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 16 ก.ค.2566 น.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล (ก.ก.) หรือทนายแจม อดีตทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่เคยเป็นทนายความในคดีมาตรา 112 ให้สัมภาษณ์ถึงการเสนอแก้ไขมาตรา 112 ของพรรคว่า จากประสบการณ์ที่เคยเป็นทนายความที่ทำคดีเกี่ยวกับมาตรา 112 ทำให้เห็นปัญหาของมาตรา 112 มากกว่าที่คนนำไปพูดกันตามที่เป็นข่าว โดยแนวทางการแก้ไข 112 ของพรรคก้าวไกล ก็คือปัจจุบันที่มาตรา 112 อยู่ในหมวดความมั่นคงของประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งทำให้เวลาฟ้องร้องดำเนินคดีเกิดขึ้น การไปแจ้งความทำให้ตำรวจ อัยการ ศาล ก็เหมือนไม่กล้าใช้ดุลยพินิจตัดสินใจด้วยตัวเองต้องมีคณะกรรมการกลั่นกรองตลอดเวลา ทำให้ไม่เป็นธรรมสำหรับคนที่ถูกดำเนินคดี

น.ส.ศศินันท์กล่าวว่า สาระสำคัญของร่างแก้ไขมาตรา 112 ที่พรรค ก.ก.จะเสนอเข้าสภา เช่น เสนอให้ย้ายความผิดฐาน 112 ออกจากหมวดความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ และให้ลดโทษการกระทำความผิด จำคุกไม่เกิน 1 ปี เพราะโทษความผิดปัจจุบันมีการกำหนดขั้นต่ำไว้ 3 ปี แต่ปกติคดีทั่วไปจะไม่มีโทษขั้นต่ำ แต่จะบอกว่าจำคุกไม่เกินกี่ปี แต่มาตรา 112 มีโทษจำคุกขั้นต่ำ ทำให้แม้ศาลอาจเห็นว่าคดีเบา แต่ก็ไม่สามารถตัดสินให้ต่ำกว่าโทษขั้นต่ำได้ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ได้มีแค่ 112 ยังมีมาตราอื่นอีก ถ้าในกรณีที่รุนแรงเช่นประทุษร้าย ก็ยังมีมาตราอื่นอยู่

“การเสนอแก้ไขให้สำนักราชเลขาธิการเป็นผู้แจ้งความดำเนินคดี เพราะมาตรา 112 อยู่ในหมวดความมั่นคง ที่ทำให้ใครก็ริเริ่มคดีได้ มันทำให้มีการกลั่นแกล้งเกิดขึ้น ทำให้มีคดีพวกนี้เข้าไปสู่กระบวนการยุติธรรมเยอะมากขึ้น ซึ่งโดยหลักการแล้ว การที่เราจะฟ้องดำเนินคดีใครก็ตาม เราควรเป็นผู้เสียหาย”

เมื่อถามว่า แนวทางดังกล่าวจะทำให้สำนักราชเลขาธิการกลายเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชนโดยตรง น.ส.ศศินันท์กล่าวว่า สำนักราชเลขาธิการมีสิทธิ์ที่จะกลั่นกรอง เพราะการให้ประชาชนมาขัดแย้งกันเองจะยิ่งทำให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ เพราะอย่างที่เห็น คือเป็นฝั่งตรงข้ามมาแจ้งความดำเนินคดี  อะไรนิดหน่อยก็มาแจ้งความ 112 แล้ว  หรือมีองค์กรประชาชนที่ตั้งขึ้นมาแล้วก็มามอนิเตอร์เฟซบุ๊กเป็นรายบุคคล มาดูโพสต์ไหนที่มันเข้าข่าย กลายเป็นว่าเป็นประชาชนฟ้องคดีกันเอง ริเริ่มคดีกันเอง นอกจากนี้ก็มีการเสนอแก้ไขในเรื่องของข่ายมาตรา 112 ที่ว่าต้องแค่ไหนถึงจะเป็นความผิด โดยควรต้องมีบทบัญญัติเพิ่มเติมว่า ขอบข่ายของการกระทำความผิดต้องประมาณไหน ข้อความประมาณไหน เพราะปัจจุบันมันค่อนข้างกว้างมาก

ต่อข้อถามที่ว่า หากพรรค ก.ก.เสนอร่างแก้ไข 112 เข้าสภา จะได้เสียงสนับสนุนจาก ส.ส.และ ส.ว.มากน้อยแค่ไหน น.ส.ศศินันท์ตอบว่า เราได้ฉันทามติจากประชาชน เพราะตลอดเวลาที่เราหาเสียงมา เราถูกโจมตีเรื่องนี้มาตลอด เรื่อง 112 ก็พูดกันว่าหากเลือกก้าวไกลเข้าไปจะแก้ 112 แต่ประชาชนก็ยังเลือกเรามา มองว่าเพราะส่วนหนึ่งเขาเห็นถึงความชัดเจนที่เราไม่เคยลดเพดานตัวเองลงมาว่าเราจะไม่ทำแล้ว เพราะว่าเรารับปากกับประชาชนไว้แล้วในเรื่องนี้ เพียงแต่ว่าอาจไม่ได้เป็นประเด็นหลักใน 1-2 ปีแรก แต่ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่เราคาดหวังว่าเราจะได้เข้ามาทำเรื่องนี้ คืออย่างน้อยๆ เราขอให้ได้ทำในสิ่งที่เราได้รับปากไว้ก่อน ส่วนในระหว่างทางและปลายทางจะเป็นอย่างไรก็อยากได้ริเริ่มก่อน

“เป็นหน้าที่ของนักการเมืองที่ต้องอธิบายให้สังคมทราบว่า เหตุและผลเป็นอย่างไร เรามีหน้าที่ในการอธิบาย ซึ่งการนำเรื่องนี้เข้ามาในสภา ส่วนหนึ่งมันทำให้สิ่งนี้เข้ามาพูดในสภา มันจะช่วยลดความขัดแย้งในสังคมได้ หากเรานำปัญหาไว้ใต้พรม ไว้ใต้โต๊ะอยู่ตลอดเวลา สุดท้ายปัญหาก็จะไม่ได้รับการแก้ไข แต่หากเรานำปัญหานั้นมาวางไว้บนโต๊ะ หรือนำเรื่องเข้ามาสู่การพิจารณาของสภา ให้ทั้งสองฝั่งได้ถกเถียงกันในสภา ประชาชนจะเป็นคนตัดสินเองว่าเขามีความคิดเห็นไปในทิศทางไหน” น.ส.ศศินันท์กล่าว และย้ำว่า  เรื่อง 112 พรรคพูดเรื่องนี้มาตั้งแต่ตอนหาเสียง และเราพูดเรื่องนี้มาตลอด ฉันทามติของประชาชนก็ออกมาว่าเราชนะการเลือกตั้ง ได้คะแนนมาอันดับหนึ่ง เราคิดว่าประชาชนก็ได้บอกอะไรกับสังคมแล้วเหมือนกันว่าเขาต้องการอะไรบ้าง เขาเห็นด้วยกับเราขนาดไหน

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ก.ก. ทวีตข้อความระบุว่า การแก้ไขมาตรา 112 ต้องเป็นไปด้วยความประณีต รอบคอบ และรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายรอบด้าน ซึ่งจำเป็นต้องใช้เวลาตามสมควร จะแก้ไขได้หรือไม่ แก้ไขได้เพียงใด เราก็พร้อมน้อมรับภายใต้กติกาของระบบรัฐสภา จึงไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวลว่าจะมีการดึงดัน หรือดำเนินการอย่างหุนหันพลันแล่นแต่อย่างใด

“หากเรามุ่งแต่จะเข้าสู่อำนาจ ยอมเสียสัจจะ ยอมผิดคำพูดต่อประชาชน ตามเงื่อนไขที่ 1 เงื่อนไขที่ 2 เงื่อนไขที่ 3 และเงื่อนไขต่อๆ ไป ก็จะถูกหยิบยกขึ้นมา เพื่อบีบให้เราทิ้งคำมั่นที่มีต่อประชาชนไปเรื่อยๆ ในท้ายที่สุด นอกจากจะไม่ได้อำนาจใดๆ แล้ว ประชาชนผู้เป็นเจ้านาย ที่เคยเดินเคียงข้างสนับสนุน ก็จะอันตรธานหายไป แถมยังอาจรุมประณามสาปแช่งเราอีกด้วย” นายวิโรจน์ระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ล่าชื่อค้านแก้กัญชา เอกชนชงใช้กม.คุมดีกว่า/อนุทินย้ำต้องถกเหตุผล

"นายกฯ" ยืนยัน "กฤษฎา" พ้นตำแหน่ง "รมช.คลัง" แล้ว รอคุย "รวมไทยสร้างชาติ" หาคนแทน "ธนกร" ชี้เลือกใครไปนั่งเก้าอี้คลังอยู่ที่