ปัดทำMOUจะนะ สภารุมฉะรัฐบาล ม็อบฟ้องชาวโลก

"บิ๊กตู่" ฉีกหน้าธรรมนัส ยัน ครม.ไม่ได้ทำเอ็มโอยู แค่รับข้อเรียกร้อง ทุบโต๊ะโครงการจะนะผ่านประชาพิจารณ์ถึงไฟเขียวได้ ขณะที่ ส.ส.โหมไฟสลายชุมนุมเกินกว่าเหตุ จ่อเรียก ผบ.ตร.ชี้แจง ด้านชาวบ้านจะนะปักหลักสู้หน้ายูเอ็นฟ้องชาวโลก ขีดเส้นปล่อยตัวทั้ง 37 คน พร้อมประกาศรวมพลใหม่ 13 ธ.ค.

เมื่อวันพุธ ที่สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (ผอ.รมน.) ให้สัมภาษณ์ถึงโครงการอุตสาหกรรมจะนะอีกครั้งว่า การลงพื้นที่ของตัวแทนรัฐบาลเมื่อครั้งที่แล้วที่ผ่านมา เป็นการไปหาข้อมูลเท่านั้น ไม่ได้เป็นมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่ง ครม.เพียงแต่รับทราบว่าประชาชนต้องการอะไร

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า อย่างเดียวก็คือเป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งอยู่ในกระบวนการจะต้องใช้กฎหมาย และใช้เวลาอีกนานพอสมควร ทุกอย่างต้องมีการทำประชาพิจารณ์ทั้งหมดให้ถูกต้อง ถ้าทำได้ประชาชนเห็นชอบก็ทำได้ ถ้าประชาชนไม่เห็นชอบก็อยู่อย่างเดิม รัฐบาลมีแนวนโยบายแต่จะทำได้หรือไม่ได้ ใครมีผลประโยชน์ทับซ้อนก็ต้องไปว่ากันตรงนั้น ทำทุกอย่างให้มันถูกกฎหมาย

"ที่ผ่านมาไม่ใช่การทำเอ็มโอยู เป็นแค่การรับข้อเรียกร้อง ซึ่งเอ็มโออยู่จะต้องผ่านความเห็นชอบของ ครม. หลายเดือนที่ผ่านมา ครม.มีมติเพื่อทราบเท่านั้น ซึ่งจะต้องติดตามว่าปัญหาอยู่ตรงไหน แต่ทั้งหมดติดอยู่ที่การทำประชาพิจารณ์ ทั้งในเรื่องการปรับสีของพื้นที่ทุกอย่างจะต้องยึดประชาชนทั้งหมด ไม่เช่นนั้นแก้ปัญหาไม่ได้ ดังนั้นจะต้องไปทบทวนให้ถูกต้องตามที่ประชาชนต้องการ และความถูกต้องในแง่ของกฎหมาย อยู่ดีๆกรมผังเมืองจะไปปรับเปลี่ยนไม่ได้ ถ้าประชาชนในพื้นที่ไม่เห็นชอบ ทุกอย่างก็ทำไม่ได้ ก็ไปคิดเอากันก็แล้วกันว่าอะไรเกิดประโยชน์ อะไรไม่เกิดประโยชน์ อะไรได้มากได้น้อย พื้นที่ด้วย เพราะเป็นผลประโยชน์โดยรวมของคนในพื้นที่" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุถึงการกล่าวอ้างเอ็มโอยูว่า หากมีการนำเข้า ครม.มีผลผูกพันระดับหนึ่ง แต่ตัวเอ็มโอยูเองไม่มีผลผูกพันอะไร เพราะการทำเอ็มโอยูเป็นเพียงการทำความเข้าใจว่าจะไปทำอย่างนั้นอย่างนี้ เมื่อถามย้ำว่าคำว่าผูกพันระดับหนึ่งหมายความว่าอย่างไร นายวิษณุกล่าวว่า หมายถึงผูกพันตามเนื้อความในเอ็มโอยู ที่แปลว่าบันทึกความเข้าใจ ไม่ใช่สัญญา เป็นความผูกพันว่าจะไปทำอะไรต่อในวันข้างหน้าอีกฉบับหนึ่งเสมอ เช่น การตกลงว่าจะซื้อที่ดินที่ยังไม่โอนกันเพราะเงินยังไม่พอ ก็ทำสัญญาจะซื้อจะขายไว้ก่อน

เมื่อถามว่า เรื่องนี้ ครม.เคยมีมติอย่างไรในเรื่องดังกล่าวหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า จำไม่ได้เรื่องมันนานมาแล้ว ส่วนที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีต รมช.เกษตรและสหกรณ์ อ้างว่าเอ็มโอยูดังกล่าวมีการนำเข้าหารือในที่ประชุม ครม.นั้น ไม่ทราบถ้าเขาว่าอย่างนั้นก็ตามนั้น เมื่อถามย้ำว่าการนำมาพูดคุยใน ครม.แล้วถือว่าเป็นเรื่องที่ ครม.เห็นชอบหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ขึ้นอยู่ว่าคุยว่าอย่างไร ต้องไปนำมติ ครม.นั้นมาดูว่าแค่รับทราบหรือว่าอย่างไร

วันเดียวกัน ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ เป็นประธานการประชุม ส.ส.หลายคนหารือกรณีการสลายชุมนุมของกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น โดย พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ส.ส.พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า กลุ่มผู้ชุมนุมมาชุมนุมอย่างสันติ เพื่อทวงถามข้อตกลงซึ่งกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่นกับตัวแทนรัฐบาลทำกันไว้ก่อนหน้านี้ แต่ไม่มีความคืบหน้า ซึ่งตนถือว่าเป็นสิทธิที่สามารถทำได้

พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขอให้หยุดใช้ความรุนแรงต่อกลุ่มผู้ชุมนุม และขอร้องให้นักการเมืองที่สร้างภาพเพื่อหวังผลทางการเมือง ใช้ข้อมูลไม่ถูกต้องจนทำให้ประชาชนสับสนและประเทศชาติเสียหาย จงหยุดการกระทำดังกล่าว

น.ส.อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ชาวบ้านที่ชุมนุมซึ่งทวงถามสัญญาจากรัฐบาล ไม่ทราบว่ามีการขบเหลี่ยมระหว่าง ร.อ.ธรรมนัสและ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะทราบว่าเป็นรัฐบาลที่มีหน้าที่แก้ปัญหาให้ ทั้งนี้นายกฯ ไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบกับกรณีดังกล่าวได้ เพราะเป็นประธาน ศ.อบต. ที่ทำโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ และเป็นผู้ลงนามตั้งคณะกรรมการสอบสวน โครงการที่ไม่ชอบมาพากล การสลายชุมนุมเมื่อวันที่ 6 ม.ค.ที่ผ่านมา เป็นการสลายที่ผิดหลักสากล และมีการคุกคามสื่อมวลชน รัฐบาลใช้วิธีนี้มานานมาก เสียชีพอย่าเสียสัตย์ ใช้เรียกลูกเสือ แต่ประเภทที่ไม่รักษาสัจวาจาที่ให้ไว้กับประชาชน เขาเรียกลูกหมา ขณะที่นายชวนได้ติงว่าคำพูดของน.ส.อมรัตน์ไม่เหมาะสม

ทางด้านนายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ ส.ส.สงขลา พรรคภูมิใจไทย ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร แถลงว่า กมธ.จะประชุมในวันที่ 9 ธ.ค. เพื่อขอมติในที่ประชุมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงกรณีนี้ โดยจะเชิญผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ผู้บัญชาการเหตุการณ์ที่สลายการชุมนุม และผู้นำเหตุการณ์ไปรายงาน พล.อ.ประยุทธ์ ว่ามีผู้ไม่หวังดีแทรกตัวเข้ามาก่อความรุนแรง จนทำให้ต้องสลายการชุมนุม

นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ฐานะประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย ส.ส.ที่เกี่ยวข้อง รับหนังสือจากตัวแทนกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น จ.สงขลา นำโดย น.ส.ไครียะห์ ระหมันยะ เพื่อให้ตรวจสอบการสลายการชุมนุม พร้อมตรวจสอบการดำเนินโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ และการดำเนินการของ ศอ.บต. ที่เป็นคู่ขัดแย้งของชาวบ้านสมควรที่จะเข้ามาทำการศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) หรือไม่

นายสิระกล่าวต่อว่า กมธ.การกฎหมายฯ จะตรวจสอบเรื่องการสลายการชุมนุม โดยจะเชิญผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ที่สั่งการผู้ใต้บังคับบัญชา ผบช.น. และเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาชี้แจง และจะตรวจสอบว่าการสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะเป็นการละเมิดสิทธิชุมชนหรือไม่ โดยจะลงพื้นที่ไปดูเรื่องการสร้างนิคมฯ และการสำรวจ

เมื่อถามว่า กรณีที่นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย รับว่าเป็นผู้รวบรวมโฉนด และมีการเชื่อมโยงตระกูลดังในพื้นที่นั้น นายสิระกล่าวว่า จะต้องมีการตรวจสอบเส้นทางการเงินว่า เหตุใดอยู่ดีๆ ตระกูลนี้เกี่ยวข้องกับพื้นที่ และเหตุใดจึงสามารถเปลี่ยนผังเมืองได้ มีการใช้อำนาจหน้าที่เข้าไปเปลี่ยนแปลงหรือไม่

ขณะที่บรรยากาศการชุมนุมของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ได้แถลงการณ์ประกาศปักหลักอยู่หน้าสำนักงานองค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น โดยระบุเหตุผลว่า เพื่อสื่อสารให้สังคมทั้งภายในและภายนอกประเทศรับรู้ปัญหา และยืนยันให้ยุติการดำเนินคดีและปล่อยตัวชาวบ้านทั้ง 37 คน โดยจะมีการรวมพลเครือข่าย และกลับมาหน้าทำเนียบฯ อีกครั้งในวันที่ 13 ธ.ค.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เศรษฐา' อวดคนอีสาน 10 เดือน ผลงานเพียบ ไตรมาส 4 ได้เงินหมื่นแน่

นายกฯ พบชาวหนองพอก อวดผลงาน 10 เดือน ราคาพืชผลการเกษตรดี ยันเร่งแก้ปัญหาน้ำประปา ปราบหนี้นอกระบบให้หมด ย้ำ 'ดิจิทัล วอลเล็ต' ไตรมาส 4 ได้แน่

นายกฯ ปลื้ม! คนร้อยเอ็ดเชียร์นั่ง 2 สมัย 'พระอาจารย์ต้อม' มอบของขลัง

'เศรษฐา' ลุยต่อร้อยเอ็ด กราบนมัสการ 'พระอาจารย์ต้อม' ให้พรประสบความสำเร็จ มอบพระเครื่อง 'เสาร์ 5 ร้ายกลับดี' รับปากเร่งแก้ปัญหาน้ำท่วม - ยาเสพติด ขณะชาวบ้านเชียร์นั่งนายกฯ 2 สมัย