โอมิครอนอีก2 กลับจากไนจีเรีย โควิดตํ่าสุด3ด.

ศบค.แถลงพบ 2 หญิงไทยกลับจากไนจีเรียส่อติดเชื้อ "โอมิครอน" รอยืนยันผลถอดรหัสพันธุ์กรรม 1-2 วัน พร้อมเร่งหาตัว 13 นักท่องเที่ยวจาก 8 ปท.กลุ่มเสี่ยงเข้าตรวจ RT-PCR ส่วนยอดติดเชื้อรายใหม่ 3,618 ราย เสียชีวิต 38 ราย แย้ม ศบค.ชุดใหญ่ถก 13 ธ.ค.คลายล็อกเพิ่ม “บิ๊กตู่” พอใจตัวเลขโควิดต่ำสุดรอบ 3 เดือน

เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค ในฐานะผู้ช่วยรองโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3,618 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 3,562 ราย จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 3,467 ราย ค้นหาเชิงรุก 95 ราย เรือนจำ 40 ราย เดินทางมาจากต่างประเทศ 16 ราย หายป่วยเพิ่ม 5,775 ราย อยู่ระหว่างรักษา 64,200 ราย อาการหนัก 1,217 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 321 ราย เสียชีวิต 38 ราย เป็นชาย 18 ราย หญิง 20 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 27 ราย มีโรคเรื้อรัง 5 ราย พบผู้เสียชีวิตมากสุดใน กทม. 7 ราย ยอดผู้ติดเชื้อสะสม 2,151,384 ราย หายป่วยสะสม 2,067,149 ราย เสียชีวิตสะสม 21,035 ราย ส่วนยอดผู้ได้รับวัคซีนของประเทศไทยเมื่อวันที่ 7 ธ.ค. เพิ่มเติม 263,684 โดส รวมยอดฉีดวัคซีนสะสม 95,879,742 โดส

สำหรับ 10 อันดับจังหวัดผู้ติดเชื้อสะสมมากที่สุด กทม. 847 ราย, นครศรีธรรมราช 241 ราย, สงขลา 182 ราย, เชียงใหม่ 134 ราย, สุราษฎร์ธานี 133 ราย, ชลบุรี 109 ราย, ปัตตานี 104 ราย, พัทลุง 86 ราย, สมุทรปราการ 83 รายและตรัง 82 ราย โดยมี 2 จังหวัดไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อคือ แพร่และอำนาจเจริญ

พญ.สุมนีกล่าวถึงสถานการณ์การระบาดของเชื้อโอมิครอนทั่วโลก ว่ามีผู้ติดเชื้อแล้ว 56 ประเทศ โดยทั้ง 56 ประเทศยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตจากเชื้อดังกล่าว ส่วนผู้ติดเชื้อในไทยขณะนี้มีรายงานเข้ามา 3 ราย รายที่ 1 เป็นชายอายุ 35 ปี สัญชาติอเมริกัน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้รายงานเมื่อวันที่ 6 ธ.ค.ไปแล้ว ซึ่งรายดังกล่าวไม่มีอาการและอยู่ระหว่างการกักตัวที่โรงพยาบาล

ผู้ช่วยรองโฆษก ศบค.กล่าวว่า วันนี้มีรายงานเพิ่มอีก 2 ราย เป็นกลุ่มล่ามที่เข้าร่วมประชุมคริสตจักรที่ประเทศไนจีเรียระหว่างวันที่ 13-23 พ.ย. ซึ่งในกลุ่มนี้มีผู้ร่วมคณะทั้งหมด 20 คน เป็นคนไทย 3 คน โดยผู้ติดเชื้อรายที่ 2 และ 3 เป็นหญิงไทยอายุ 36 ปี และ 46 ปี สำหรับคนไทยอีกหนึ่งรายเมื่อประชุมเสร็จได้เดินทางต่อไปประเทศสวีเดน ทำให้มีผู้เดินทางเข้าประเทศไทยเพียง 2 ราย ทั้ง 2 รายได้ตรวจ RT-PCR ที่ไนจีเรียเมื่อวันที่ 21 พ.ย. ผลเป็นลบ จากนั้นวันที่ 23 พ.ย.ขณะที่จะเดินทางกลับเริ่มมีอาการเจ็บคอเล็กน้อยและไอ เมื่อเดินทางถึงไทยวันที่ 23 พ.ย. ได้เข้าสู่ระบบการกักตัวทันที เนื่องจากทั้ง 2 คนไม่ได้ฉีดวัคซีนและไม่ได้มาจาก 63 ประเทศต้นทาง เมื่อกักตัวผลตรวจ RT-PCR ผลเป็นบวกทั้งคู่ จึงย้ายไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลจนครบกำหนดวันที่ 5 ธ.ค. แต่เนื่องจากวันที่ 26 พ.ย. องค์การอนามัยโลกประกาศให้เชื้อโอมิครอนเป็นสายพันธุ์น่ากังวล จึงนำตัวอย่างจากทั้ง 2 รายที่เดินทางจากทวีปแอฟริกามาตรวจเพิ่มเติม ผลพบว่ามีความเป็นไปได้สูงมากว่าจะติดเชื้อโอมิครอน

ลุ้นติดโอมิครอนอีก 2

"ขณะนี้อยู่ขั้นตอนการถอดรหัสพันธุ์กรรมเพื่อยืนยันว่าเป็นโอมิครอน โดยผลจะออกภายใน 1-2 วันนี้ ระหว่างนี้กรมควบคุมโรคได้สอบสวนโรคเพิ่มเติมพบว่าทั้ง 2 ราย ระหว่างไปประชุมที่ไนจีเรียทำกิจกรรมโดยไม่สวมหน้ากากอนามัย ประกอบกับไม่ได้รับวัคซีนทั้งคู่ ทำให้มีโอกาสเสี่ยงสูงได้รับเชื้อ พร้อมกันนี้ได้สอบสวนผู้สัมผัสใกล้ชิดกับ 2 รายถ้ามีความคืบหน้าจะนำเรียนให้ทราบต่อไป" ผู้ช่วยรองโฆษก ศบค.กล่าว

พญ.สุมนีกล่าวว่า แม้ทั้ง 2 รายจะรักษาตัวจนครบเมื่อวันที่ 5 ธ.ค.ที่ผ่านมา แต่เราได้มีการติดต่อให้คุมสังเกตตัวอีก 7 วัน เพื่อสังเกตอาการ สำหรับหญิงไทยที่ร่วมคณะไปไนจีเรีย และเดินทางต่อไปยังสวีเดน จากการตรวจสอบพบเชื้อด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การแพร่เชื้อโอมิครอนในปัจจุบันมาตรการส่วนบุคคลยังคงใช้ได้เสมอ จึงขอให้ประชาชนคุมเข้มมาตรการ เพราะเชื้อโรคไม่มีทางทะลุหน้ากากอนามัยออกมาภายนอกได้

ทั้งนี้ ข้อมูลความก้าวหน้าการติดตามผู้เดินทางจากประเทศเสี่ยงสูงในทวีปแอฟริกา ระหว่างวันที่ 15-27 พ.ย. มีผู้เดินทางจาก 8 ประเทศเสี่ยงสูงทั้งสิ้น 333 คน ออกนอกประเทศไปแล้ว 55 คน ครบ 14 วันแล้ว 113 คน อยู่ระหว่างการกักตัวและติดตามตัวได้ 152 คน ยังเหลืออีก 13 คนที่ต้องติดตามตัวเพิ่มเติม อย่างไรก็ตามการตรวจ RT-PCR ทั้ง 152 คนนั้น ทั้งหมดไม่มีอาการและไม่พบเชื้อ จึงขอให้ประชาชนมั่นใจในระบบสาธารณสุขของประเทศไทยในมาตรการคัดกรองผู้เดินทางจากต่างประเทศว่ามีประสิทธิภาพ สามารถวินิจฉัยผู้ติดเชื้อได้อย่างรวดเร็ว

พญ.สุมนีกล่าวว่า ในส่วนการฉีดวัคซีนที่ผ่านมาพบจำนวนผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนเริ่มชะลอตัวและลดจำนวนลง ซึ่งได้สำรวจสาเหตุและปัจจัยผู้ที่ไม่มารับบริการฉีดวัคซีนจาก 5 จังหวัดคือกรุงเทพฯ และจังหวัดหัวเมืองภาคต่างๆ ได้แก่ ขอนแก่น ชลบุรี เชียงใหม่ สงขลา ในช่วงวันที่ 20-21 พ.ย. พบว่า 80.9% ได้ฉีดครบสองเข็มแล้ว, 20.6% ได้ฉีดเข็มกระตุ้นเข็มที่สามแล้ว และ 8.5% ยังไม่ได้ฉีด จึงสอบถามเพิ่มเติมพบสาเหตุที่ตัดสินใจไม่ไปฉีด เนื่องจาก 7.2% ของผู้ที่ตอบแบบสำรวจอยู่ในพื้นที่ที่อาศัยได้รับวัคซีนที่ต้องการมีน้อย, 15.5% จองคิวยาก, 20% ไม่มีวัคซีนที่ต้องการ, 22.8% กลัวผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน และอีก 32.8% หรือ 1 ใน 3 ของผู้ที่ไม่ไปฉีดวัคซีนไม่ได้มีอุปสรรคใดๆ แต่คิดว่าตนเองไม่ได้มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ

นอกจากนี้ มีการลงไปสำรวจอีก 10 จังหวัดที่ฉีดวัคซีนได้น้อย ได้แก่แม่ฮ่องสอน สมุทรสงคราม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ นครพนม สกลนคร บึงกาฬ สุรินทร์ หนองบัวลำภู ยโสธร ซึ่งเมื่อสอบถามผู้ที่ไม่ได้ไปฉีดวัคซีนส่วนใหญ่กว่า 80% เป็นผู้สูงอายุ และกว่าครึ่งเป็นผู้ที่มีโรคประจำตัว ซึ่งได้ตอบแบบสำรวจมาพบว่าสาเหตุที่ไม่ได้ไปฉีดวัคซีน 5 อันดับแรกคือ กลัวมีอาการอ่อนแรงและทำงานไม่ได้ 75.38%, กลัวเป็นอัมพฤกษ์อัมพาต 74.62%, กลัวว่าจะเกิดมีอาการข้างเคียง เช่น เป็นไข้ ปวดหัว ปวดตัว 72.31%, 64.62% ไม่แน่ใจถึงประสิทธิภาพของการฉีดวัคซีน, 50.08% คิดว่าตัวเองไม่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ ซึ่งนั่นคือครึ่งหนึ่งเลย จึงไม่ได้ไปรับวัคซีน และเมื่อสอบถามต่อว่าแล้วจะไปฉีดวัคซีนหรือไม่ 42.3% ตอบว่าขอคิดดูก่อนและรอดูข้อมูล อีก 1 ใน3 หรือ 30.77% ไม่ไปฉีดแน่นอน และ 26.93% จะไปฉีดเมื่อมีโอกาส

ศบค.เล็งคลายล็อกเพิ่ม

"ในวันจันทร์ที่ 13 ธ.ค.นี้ จะมีการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ซึ่งที่ประชุมจะมีการพิจารณาผ่อนคลายต่างๆ เนื่องจากสถานการณ์ระบาดโควิดดีขึ้น และมีการพิจารณาจากความครอบคลุมในการได้รับวัคซีนของจังหวัดต่างๆ ด้วย" ผู้ช่วยรองโฆษก ศบค.กล่าว

แหล่งข่าวชี้แจงกรณีหญิงไทยที่ยังไม่ได้รับวัคซีนแต่เดินทางออกไปร่วมประชุมคริสตจักรที่ไนจีเรียได้ว่า ปกติเรื่องการเดินทางหลายประเทศจะมีเงื่อนไขที่แตกต่างกัน หากไม่ได้ฉีดวัคซีนก็อาจจะต้องยอมกักตัวมากกว่า หรือมีมาตรการที่มากกว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้ว กรณีคนไทยที่ออกนอกประเทศโดยไม่ได้ฉีดวัคซีน ก็ต้องยอมรับกฎกติกาของประเทศปลายทางว่าเขาจะดำเนินการอย่างไร ส่วนกติกาของไทยไม่ได้มีข้อกีดกันอะไรว่าจะเดินทางออกนอกประเทศได้ต้องฉีดวัคซีนก่อน ซึ่งใน 2 รายนี้สามารถเดินทางไปได้ แต่กติกาเมื่อไปประเทศปลายทางก็อาจจะต้องมีมากกว่าคนอื่น

ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม พอใจภาพรวมที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยวันนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ 3,618 ราย ต่ำสุดในรอบ 3 เดือน ส่วนยอดฉีดวัคซีนทั่วประเทศสะสม 95,381,559 โดส ซึ่งนายกฯ เชิญชวนสมาชิกในครอบครัวช่วยกันสร้างแรงจูงใจเชิญชวนสมาชิกที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนเข้ารับการฉีดวัคซีนทุกภาคส่วน ภาคธุรกิจ ผู้ประกอบกิจการ ประชาชน ร่วมปฏิบัติมาตรการ VUCA ได้แก่ V - Vaccine (ฉีดวัคซีนให้ครบ), U - Universal Prevention (ป้องกันตัวเองตลอดเวลา), C - COVID Free Setting (ผู้ให้บริการพร้อมตรวจ ATK ทุกสัปดาห์), A - ATK (Antigen Test Kit) (พร้อมตรวจเสมอ เมื่อใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ)

"นายกฯ อยากเห็นคนไทยมีความสุขในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ และไม่ต้องการกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งกระทบต่อผู้ประกอบการและประชาชนอีก อย่างไรก็ตาม คนไทยเคยผ่านวิกฤตโควิดจากสายพันธุ์ต่างๆ ที่น่ากลัวมาแล้ว ขอเพียงทุกคนยึดมั่นการป้องกันการติดเชื้อโควิดแบบครอบจักรวาล ยึดหลักอนามัยส่วนบุคคล สวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง เพราะการดูแลป้องกันตนเองปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญในการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ทุกสายพันธุ์ ถึงแม้จะมีพบโควิดสายพันธุ์โอมิครอนในไทยแล้ว ระบบสาธารณสุขของไทยมีความพร้อมและเตรียมมาตรการรับมือไว้แล้ว" โฆษกประจำสำนักนายกฯ ระบุ

ที่ จ.สงขลา ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) กล่าวถึงการสุ่มตรวจหาเชื้อโควิดจากศูนย์ตรวจวิเคราะห์สายพันธุ์ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ภาคใต้ว่า ยังไม่พบโควิดสายพันธุ์ใหม่โอมิครอน ที่พบอยู่บ้างคือสายพันธุ์เดลตา.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง