โร่เคลียร์เบี้ยชรา ยันจ่ายตามเดิม

รัฐบาลดาหน้าแจงปมเบี้ยผู้สูงอายุ "บิ๊กตู่" ขอ ครม.อย่าไปต่อล้อต่อเถียง ย้ำ รบ.รักษาการทำงานไม่สร้างปัญหาในอนาคต เหน็บคนไม่เคยเป็นรัฐบาลแต่ชอบวิจารณ์ "อนุพงษ์" ชี้รอ คกก.ผู้สูงอายุพิจารณาระเบียบใหม่ เชื่อปชช.จะได้ประโยชน์ "จุติ" การันตีผู้สูงอายุสบายใจได้เบี้ยยังชีพเหมือนเดิม "สว." ห่วงปรับเกณฑ์ใหม่เปิดช่องเลือกปฏิบัติ "พิธา" เหน็บ มท.1 เอาเงินไปซื้อเรือดำน้ำได้แต่ให้คนแก่ไม่ได้

ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 15 ส.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมีรายงานว่า  หลังที่ประชุมพิจารณาวาระต่างๆ เสร็จสิ้น ในช่วงท้าย พล.อ.ประยุทธ์ได้สอบถามที่ประชุมว่ามีใครจะถามเรื่องอะไรหรือไม่   นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จึงได้ขอรายงานถึงกรณีที่มีความกังวลต่อหลักเกณฑ์จ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุฉบับใหม่ของกระทรวงมหาดไทยว่า ไม่ต้องกังวลในเรื่องนี้ ขณะนี้มีวาทกรรมเรื่องเบี้ยยังชีพออกมา ขอยืนยันตอนนี้ผู้สูงอายุทุกคนยังได้รับเบี้ยผู้สูงอายุเหมือนเดิม จนกว่าจะมีการพิจารณาของคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ และจนกว่าจะมีการกำหนดนิยามใหม่

นายจุติระบุว่า ณ วันนี้ที่เราดูแลอยู่มี 11 ล้านคน ภาระที่เราใช้จ่ายอยู่ที่กว่า 86,000 ล้านบาท ในจำนวน 11 ล้านคนนี้ แบ่งเป็นคนจน 5 ล้านคน, ข้าราชการบำนาญ 1.2 ล้านคน และอีก 5 ล้านคนคือสิ่งที่รัฐต้องรับภาระต่อ ไม่ได้ตัดสิทธิ์เขา ยังจ่ายให้อยู่ แต่มันจะเป็นภาระของการคลังต่อไปเรื่อยๆ เพราะระบบเศรษฐกิจเราตั้งแต่แรกไม่ได้ถูกออกแบบเพื่อเป็นรัฐสวัสดิการ ยกตัวอย่างถ้าเราให้ 1 พันบาทต่อคน จะต้องใช้ 1.7 แสนล้านบาท ในขณะที่สังคมผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาลจะใช้เงินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หรือถ้าเราให้ 3 พันบาทต่อคนทุกคน กับผู้สูงอายุ 20 ล้านคน รัฐบาลจะรับภาระนี้ตรงไหวหรือไม่

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ได้บอกกับที่ประชุมว่า เรื่องนี้ได้มีการชี้แจงออกมาแล้ว ไม่อยากให้ไปต่อล้อต่อเถียงกัน หรือทะเลาะอะไรกัน ทำให้นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ได้แสดงความเห็นว่า น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ ออกมาชี้แจงแล้ว แต่เหมือนรองฯ  รัชดาพูดแบบนิ่มนวล ตอบโต้แบบผู้ดีเกินไป แต่อีกฝ่ายด่าเราเสียๆ หายๆ ทั้งที่ไม่เป็นความจริงเลย ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวพร้อมกับหัวเราะว่า  "สงสัยผมชินแล้วมั้ง เขาด่าผมทุกวันมาตลอด 9 ปี” แหล่งข่าวระบุ 

ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องการปรับหลักเกณฑ์เบี้ยผู้สูงอายุว่า  ได้ชี้แจงไปแล้ว ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์หลักการที่มาจากคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ที่มีหน้าที่ตรงนั้นอยู่ ข้อสำคัญจากประเด็นดังกล่าวอาจจะยังไม่เข้าใจหรือไม่เข้าใจ และแกล้งไม่เข้าใจก็ไม่ทราบเหมือนกัน ทั้งนี้ คนที่เคยได้รับอยู่แล้วก็ยังได้รับเหมือนเดิม ขณะเดียวกันวันนี้เป็นการเตรียมการสู่อนาคตว่าจะใช้งบประมาณอย่างไรให้เพียงพอในวันข้างหน้า ซึ่งเป็นเรื่องของรัฐบาลหน้าสามารถดำเนินการได้ต่อไป ถ้ามีเม็ดเงินงบประมาณที่เพียงพอ

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า สิ่งที่เราทำ จำเป็นต้องทำ เพราะผู้สูงวัยมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ บางคนสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ แต่บางคนไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ดังนั้นเราต้องมาดูว่ามีเงินมากน้อยแค่ไหน จริงๆ แล้วเรียกว่าเป็นการเผื่อแผ่แบ่งปันซึ่งกันและกัน เราว่าอย่างนั้น คนที่มีรายได้สูงเขาได้เสียสละมาในการที่จะดูแล อันนี้ไม่ได้ไปให้โดยตรงอยู่แล้ว ให้ผ่านทางภาษีอะไรก็ว่ากันไป

"ฉะนั้นอย่าไปฟัง หลายๆ อย่างมาจากคนที่ไม่เคยทำ และไม่เคยเป็นรัฐบาลแล้วนำมาพูด ผมไม่อยากจะมาตอบโต้ตรงนี้” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ยันจ่ายเบี้ยสูงอายุตามเดิม

ส่วน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวว่า การจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุเดิมทางกรมบัญชีกลางเห็นว่าผู้ที่มีรายได้อื่นๆ เช่นบำนาญ คงจะรับเงินไม่ได้ต้องเรียกคืน และในที่สุดก็มีปัญหาจนรัฐบาลต้องจ่ายเงินคืนให้ จากนั้นได้มีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่ง พม.ได้ส่งเรื่องให้กฤษฎีกาตีความ โดยกฤษฎีกาตีความว่าระเบียบที่ออกนี้ ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ว่าประชาชนจะต้องมีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ โดยเฉพาะผู้ยากไร้ รัฐบาลต้องช่วยเหลือเพราะฉะนั้นการที่กำหนดว่าจะให้ใครตามระเบียบเดิมไม่ได้แล้ว จึงเป็นที่มาของการออกระเบียบใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้

"การจะให้ต้องทั่วถึงและเป็นธรรม โดยจะมีคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติเป็นผู้กำหนดว่าจะทำอย่างไรถึงจะเป็นธรรม ถ้าจะให้ทั่วถึงจ่ายทุกคนก็ได้ หรือจะไปกำหนดกลุ่มคนที่มีรายได้มากอาจจะไม่ต้องจ่ายก็ได้ ซึ่งระเบียบนี้ก็เปิดทางไว้ อย่างไรก็ตาม ถ้าคณะกรรมการผู้สูงอายุฯ ยังไม่กำหนด ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็จ่ายแบบเดิมได้ ทั้งผู้ที่ได้รับอยู่แล้ว และผู้ที่จะอายุครบ 60 ปีใหม่ สามารถจ่ายตามเกณฑ์เดิมได้" พล.อ.อนุพงษ์กล่าว

ถามว่า จะรอให้คณะกรรมการผู้สูงอายุฯ พิจารณาก่อนใช่หรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า แล้วแต่คณะกรรมการฯ จะพิจารณาอย่างไร แต่รัฐบาลชุดนี้ไม่มีอำนาจที่จะไปทำ เพราะมันคงผูกพันกับรัฐบาลใหม่แล้ว เนื่องจากใช้งบประมาณมาก ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลได้ทำหนทางไว้หมดแล้ว รัฐบาลใหม่มาจะทำอย่างไรก็สามารถทำได้หมด ดังนั้นตอนนี้ผู้สูงอายุเดิมรับเงินอย่างไรก็รับไปตามเดิม ผู้สูงอายุใหม่ก็สามารถรับได้ตามเกณฑ์เดิม ตราบใดที่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง

ซักว่า ตอนนี้ประชาชนยังไม่ต้องกังวลใจใช่หรือไม่ รมว.มหาดไทยกล่าวว่า ไม่ต้องกังวล และถ้าตนมองในตอนนี้ประชาชนจะได้ประโยชน์ทั่วถึงตามรัฐธรรมนูญ เป็นธรรม และมีรายได้เพียงพอต่อการดำเนินชีวิต หนทางเราเตรียมไว้ให้แล้ว ออกทางไหนก็ได้ แต่ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้

ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในที่ประชุม ครม.มีการพูดถึงการปรับหลักเกณฑ์เบี้ยผู้สูงอายุ ซึ่งรายละเอียดจะเป็นอย่างไรต้องรอทาง พม.ชี้แจง เพราะเป็นเจ้าของเรื่องที่เสนอเรื่องขึ้นมาว่าจำนวนผู้สูงอายุมีมากขึ้น

ถามว่า สุดท้ายแล้วต้องรอผลสรุปของคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติที่จะต้องประชุมกันก่อนใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ใช่ เมื่อถามว่าต้องรอให้รัฐบาลใหม่เข้ามาก่อนหรือไม่ ทางคณะกรรมการผู้สูงอายุฯ จึงจะมีข้อสรุปออกมา นายวิษณุ กล่าวว่า จะรัฐบาลนี้หรือรัฐบาลหน้าก็ได้ ไม่แปลกอะไร เมื่อถามว่ารัฐบาลหน้าสามารถเข้ามาปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับนโยบายที่พรรคตัวเองหาเสียงไว้ได้ใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ได้

ด้านนายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.พม. กล่าวว่า เรื่องการเปลี่ยนหลักเกณฑ์จ่ายเงินเบี้ยผู้สูงอายุ มท.ไม่ได้โยนมายัง พม. แต่เขาทำตามระเบียบ ตามกฎหมาย เพราะทุกคนไม่อยากทำผิดกฎหมาย รัฐธรรมนูญเปลี่ยนก็ต้องเปลี่ยนตาม และต้องคอยคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติกำหนดเกณฑ์ พร้อมชี้แจงรายละเอียดความชัดเจนขณะนี้ คือ 1.ทุกคนที่ได้รับเบี้ยยังชีพเหมือนเดิมทุกประการ 100%  ไม่มีใครตกหล่น 2.ต้องรอคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ 3.เป็นแนวทางเลือก ตามมารยาทแล้วอยู่ที่รัฐบาลใหม่ว่าให้ทำอย่างไร 4.ความกังวลว่าเวลาให้ต้องคำนึงถึงกลุ่มอื่นๆ ของสังคมด้วย ซึ่งมีเด็ก 21 ล้านคน คนพิการ 3 ล้านคน ผู้สูงอายุ 11 ล้านคน

"ผู้สูงอายุที่แสดงสิทธิ์ 11 ล้านคน รับอยู่ 89,000 ล้านบาท มีคนที่จนจริงๆ เพียง 4 ล้านคน ต้องถามว่าคนที่เป็นรัฐบาลมีงบประมาณที่จำกัด จะเอาเงินไปช่วยคนที่จนที่สุดของประเทศก่อนหรือไม่เท่านั้นเอง ซึ่งหากรัฐบาลใหม่มาบอกว่าพร้อมที่จะให้เงินเดือนละ 3,000 บาท ก็ต้องไปเก็บภาษีมาให้ได้ปีละ 720,000 ล้านบาท โดยปัจจุบันนี้ พม.ทั้งกระทรวงได้รับงบประมาณอยู่ 8,000 ล้านบาท เพราะฉะนั้นคุณต้องไปหางบประมาณมาอีก 9 เท่า" นายจุติกล่าว

รมว.พม.ปฏิเสธไม่ได้วางกรอบหรือเงื่อนไขระยะเวลาให้คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติเคาะหลักเกณฑ์ เป็นหน้าที่ของ รมว.การคลังคนใหม่ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ เป็นคนเลือกว่าจะให้อย่างไร ตอนนี้ยังจ่ายเงินปกติไม่ได้มีปัญหาอะไร 100% รับเหมือนเดิมทุกประการ ไม่มีใครตกหล่นแม้แต่คนเดียว เพราะมีบทเฉพาะกาลอยู่ งบปี 66 จะจบเดือน ก.ย.นี้ และงบปี 67 เพิ่มเป็น 110,000 ล้านบาท เพราะผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น

ถามถึงกรณีนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ออกมาแสดงความเห็นว่าเป็นการลักไก่ช่วงรัฐบาลรักษาการ นายจุติกล่าวว่า วาทกรรมก็พูดได้ แต่ว่าเราอยู่ที่สามัญสำนึก จิตสำนึก และทำให้คนส่วนใหญ่เถอะ ตนไม่ทะเลาะการเมือง อยากฝากทุกคน ใครจะทำอะไรก็ได้ ความสะใจไม่ได้ให้อะไรใครสักคนเดียว ซึ่งการเลือกตั้งจบไปแล้วตั้งสองเดือน ให้คนไทยรักกันดีกว่า ขอร้อง

สว.ห่วงเปิดช่องเลือกปฏิบัติ

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ กล่าวว่า คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติยังไม่ได้มีการกำหนดนโยบายในเรื่องของการที่จะปรับลดเงินและจำนวนของเบี้ยผู้สูงอายุใดๆ ทั้งสิ้น แต่ที่ผ่านมาได้เข้าไปแก้ไขปัญหาการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุซ้ำซ้อน ซึ่งยุติไปแล้วกว่า 30,000 คนที่รับเบี้ยผู้สูงอายุซ้ำซ้อน ทั้งจาก 600-1,000 บาท และยังรับเบี้ยบำนาญตกทอด เราได้แก้ไขปัญหาโดยไม่ต้องเอามาคืน หรือที่ยังไม่รับก็ให้มารับไปได้ ซึ่งเป็นที่ยุติไป

 “ยืนยันในรัฐบาลรักษาการชุดนี้ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงในเรื่องการกำหนดเกณฑ์รับเบี้ยผู้สูงอายุที่จะทำให้เป็นลบ ผมขอย้ำว่าไม่มีนโยบายเรื่องนี้” นายจุรินทร์กล่าว

ที่รัฐสภา นายมณเฑียร บุญตัน สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ได้หารือต่อที่ประชุมวุฒิสภา กรณีกระทรวงมหาดไทย ออกระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2566 ซึ่งปรับหลักการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โดยใช้เกณฑ์ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอสำหรับยังชีพ จากเดิมที่จ่ายให้กับผู้ที่มีอายุครบตามเกณฑ์

"ผมกังวลว่าจะทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับการคัดกรอง ที่ประชาชนในระดับรากหญ้าและเข้าไม่ถึงข้อมูลจะถูกคัดออก ซึ่งมีตัวอย่างปรากฏจากการรับสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐ ที่พบว่าประชาชนเข้าไม่ถึงสิทธิและการรับประโยชน์ ดังนั้นหลักเกณฑ์ใหม่อาจทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติ ระบบเส้นทางและระบบอุปถัมภ์ ให้เฉพาะผู้ที่ใกล้ชิดนักการเมือง ข้าราชการ เท่านั้น" สว.มณเฑียรระบุ

วันเดียวกัน นายพิธา ลิ้มเจริญ​รัตน์​ หัวหน้าพรรค​ก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวถึงการแก้เกณฑ์รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุว่า เข้าใจว่าเป็นราชกิจจานุเบกษาจากกระทรวงมหาดไทยส่งลูกให้คณะกรรมการฯ เป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์ เป็นเรื่องใหญ่ และต้องสื่อสารให้ชัดเจน เพราะไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย ซึ่งมีแต่จะต้องเพิ่มงบประมาณ ไม่ใช่ตัดงบประมาณดูแลผู้สูงอายุ

 “สิ่งที่เขาต้องการพูดว่ามีผู้สูงอายุ 11 ล้านคน ใช้งบประมาณ 9 หมื่นล้านบาท เพราะยังไม่มีความชัดเจน ตอนนี้ที่เราลงพื้นที่ระยองก็ยังมีความกังวลใจกัน ความชัดเจนเท่าที่เห็น ผมอ่านจากบีบีซีไทยว่าการกระทำครั้งนี้ของรัฐบาลรักษาการจะสามารถลดลงประมาณ 5 ล้านคน ประหยัดงบประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ผมฟังแล้วผมก็รู้สึกว่าจริงๆ แล้วเรือดำน้ำก็ 3 หมื่นกว่าล้านบาท แล้วความท้าทายในการใช้เรือดำน้ำต่อสู้แทบจะไม่มี แต่ความท้าทายของสังคมสูงวัยที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ เป็นสิ่งที่ต้องเพิ่มงบประมาณรับมือสังคมสูงวัย เทรนด์โลกเป็นแบบนั้นน่าเสียดายที่สภาผู้แทนราษฎรยังไม่ได้เปิดและทำงานประชุมเต็มรูปแบบ ยังไม่มีกระทู้ถาม ไม่เช่นนั้นจะให้ สส.ก้าวไกลตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีอนุพงษ์วันพฤหัสฯ นี้ ว่าแท้จริงแล้วมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง ใช้งบประมาณเท่าไร กระทบกี่คน ทำไมไม่มีงบประมาณ และจะใช้กฎเกณฑ์อะไร จะตกสำรวจหรือไม่ และทำไมสวัสดิการถ้วนหน้าไม่ต้องพิสูจน์ความจนถึงทำไม่ได้” นายพิธากล่าว

หัวหน้าพรรค ก.ก.กล่าวว่า การที่พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีรักษาการกระทรวงมหาดไทย เอาความรู้สึกของคนเป็นรัฐมนตรีว่ามีบำนาญเท่าไร แล้วเอาไปตัดสินแทนพี่น้องประชาชน เป็นวิธีกระบวนการคิดที่ถูกต้องหรือไม่.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอนทองเขาบรรทัด' สินค้า GI รายการที่ 3 ของตราด

รัฐบาลมุ่งเพิ่มมูลค่าสินค้าท้องถิ่นไทย ขึ้นทะเบียนทุเรียนหมอนทองเขาบรรทัด เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ จังหวัดตราด เพื่อความเชื่อมั่นคุณภาพสินค้า ยกระดับรายได้ชุมชน