จี้แบ่งเค้กก่อนโหวต รทสช.ยกธรรมเนียมบีบพท./บี้‘เสี่ยนิด’เข้าสภาเคลียร์ข้อครหา

"วันนอร์" วางไทม์ไลน์ประชุมรัฐสภา 22 ส.ค. คาดรู้ผลโหวตนายกฯ ไม่เกิน 17.30 น. นัดวิป 3 ฝ่ายคุยรายละเอียด 18 ส.ค. "รทสช." แถลงผสมพันธุ์ "พท." ตั้งรัฐบาล ระบุยึดประโยชน์ประเทศชาติ-ปชช. ปัดคุยต่อรองเก้าอี้พลังงาน "วิทยา" ยกธรรมเนียมแบ่งเค้กต้องเสร็จก่อนวันโหวต "เพื่อไทย" เตรียมตั้งโต๊ะแถลงเปิดตัวพรรคร่วมตั้งรัฐบาล  "ภูมิธรรม" เมิน "ชูวิทย์" ขู่แฉ "เศรษฐา" อีกรอบ "รทสช.-ก.ก.-สว." รุมจี้ "เสี่ยนิด" เข้าสภาเคลียร์ข้อครหาก่อนยกมือหนุน

ที่รัฐสภา วันที่ 17 ส.ค. เวลา 13.30 น. นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เรียกประชุมฝ่ายกฎหมายและฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการประชุมรัฐสภา เพื่อหารือถึงแนวทางการประชุมรัฐสภาวันที่ 22 ส.ค. ซึ่งจะมีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ใช้เวลากว่า 2 ชม.

นายวันมูหะมัดนอร์ให้สัมภาษณ์ว่า  การโหวตเลือกนายกฯ ในวันที่ 22 ส.ค. จะเริ่มในเวลา 10.00 น. จากที่เคยกำหนดเวลา 09.30 น. เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการจราจร ที่อาจจะมีการปิดถนนในบริเวณรอบรัฐสภา โดยจะแจ้งให้ที่ประชุมวิป 3 ฝ่ายรับทราบในวันที่ 18 ส.ค.เวลา 10.00 น.อีกครั้ง

ถามถึงญัตติของนายรังสิมันต์ โรม  สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กรณีขอให้ทบทวนมติที่ประชุมรัฐสภา วันที่ 19 ก.ค.  จะให้เสนอชื่อบุคคลเป็นนายกฯ ซ้ำได้หรือไม่ ซึ่งค้างวาระอยู่เมื่อการประชุมรัฐสภา แต่ขณะนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้สภาดำเนินการเลือกนายกฯ ต่อไปได้นั้น  นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า ก็ถือว่ายังค้างอยู่ในวาระ เพราะยังไม่มีข้อยุติ ดังนั้นเมื่อเปิดการประชุมรัฐสภา วันที่ 22 ส.ค. จะพยายามให้เรื่องดังกล่าวได้ข้อสรุปโดยเร็วที่สุด เพราะมีเรื่องการโหวตนายกฯ รออยู่

"การประชุมวิป 3 ฝ่ายในวันที่ 18 ส.ค. จะหารือว่าวาระทั้งหมดจะใช้เวลาเท่าใด อาทิ การทบทวนญัตติของนายโรมจะใช้เวลาเท่าใด ฝ่ายกฎหมายเตรียมไว้ว่าจะให้โหวตนายกฯ เวลา 15.00 น. และรู้ผลโหวตในเวลา 17.30 น. ทุกอย่างก็จะเรียบร้อย” นายวันมูหะมัดนอร์กล่าว

ถามว่า เสียงโหวตแคนดิเดตนายกฯ  ของพรรคเพื่อไทย (พท.) จะมีเพียงพอหรือไม่ จะไม่ซ้ำรอยครั้งที่ผ่านมา นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า ไม่ทราบ ตนแค่เตรียมความพร้อมของรัฐสภา ซึ่งเป็นเรื่องของพรรคการเมืองที่ต้องมีความพร้อมและจะเสนอใครก็เป็นเรื่องของเขาที่ต้องมีความพร้อมในการเสนอ เราไม่ทราบว่าเสียงของเขาจะเพียงพอหรือไม่

 ซักว่าหากแนวโน้มเสียงโหวตนายกฯ ยังไม่เพียงพอจะสามารถประสานรัฐสภาเพื่อเลื่อนโหวตนายกฯ ในวันที่ 22 ส.ค.ได้หรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า ขณะนี้ไม่มีใครประสานมา เมื่อกำหนดวาระประชุมแล้ว ในวันที่ 18 ส.ค. จะออกระเบียบวาระประชุม ถือว่าทุกคนมีความพร้อม ใครจะได้โหวตเป็นนายกฯ ต้องมีเสียง 375 เสียงขึ้นไป ระยะเวลานานมากแล้วฝ่ายการเมืองควรต้องมีความพร้อม

มีรายงานว่า ในการประชุมฝ่ายกฎหมายรัฐสภาครั้งนี้ มีประเด็นที่มีข้อเสนอให้ผู้ถูกเสนอชื่อโหวตเป็นนายก ฯต้องแสดงวิสัยทัศน์ โดยที่ประชุมยกข้อบังคับและรัฐธรรมนูญขึ้นมาพิจารณา พบว่าไม่มีประเด็นใดที่กำหนดหรือบังคับให้ผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ ต้องมาแสดงวิสัยทัศน์ ซึ่งต่างจากการเลือกประธานและรองประธานสภาฯ ​ที่ข้อบังคับกำหนดไว้

"หากมีผู้ประสงค์ให้ผู้ถูกเสนอชื่อเข้ามาแสดงวิสัยทัศน์ต่อที่ประชุมรัฐสภา ก็สามารถเสนอเป็นญัตติและลงมติชี้ขาดได้ แต่ในมติของรัฐสภานั้นไม่มีอำนาจบังคับบุคคลภายนอกที่ไม่ใช่สมาชิกต้องปฏิบัติตาม ดังนั้นในประเด็นดังกล่าว ต้องขึ้นอยู่กับพรรคการเมือง ในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาลว่าจะพิจารณาอย่างไร  ซึ่งในการประชุมวิป 3 ฝ่ายวันที่ 18 ส.ค.นี้คาดว่าจะมีการซักถามในประเด็นดังกล่าวด้วย" แหล่งข่าวระบุ

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์​ จันทร์โอชา​ นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ระหว่างลงพื้นที่ตรวจโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ สถานีรถไฟหินลับ ต.มวกเหล็ก อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ถึงกรณีพรรคพท.เตรียมเชิญพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จัดตั้งรัฐบาลว่า ไม่ได้คุยกันเรื่องนี้หรอก แยกแยะกันหน่อยสิ เป็นเรื่องของหน้าที่

"พูดไปหลายครั้งแล้วนะ ประเทศชาติมันเดินหน้าทุกวัน มันมีปัญหาทุกวัน ก็ต้องทำงานตรงนั้นดีกว่ามั้ง ทำไมเราจะต้องไปขัดแย้งกัน​ ก็ขอสื่อแล้วกันอย่าไปขยายความขัดแย้งอีกเลย พอแล้ว" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

เปิดพรรคร่วม รบ.ก่อนโหวต

ส่วนนายอนุทิน​ ชาญวีรกูล​ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ​(ภท.) ซึ่งลงตรวจราชการพร้อม พล.อ.ประยุทธ์ ปฏิเสธไม่ทราบกรณีที่พรรค พท.เตรียมหารือกับพรรค รทสช.ในการจัดตั้งรัฐบาล ส่วนการนัดคุยระหว่าง พท.กับ ภท.นัดคุยกันอยู่ แต่คงต้องคุยกับทุกพรรคให้เรียบร้อยก่อน​

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่นายอนุทินเดินผ่าน พล.อ.ประยุทธ์ซึ่งนั่งอยู่ พล.อ.ประยุทธ์ได้หันมาบอกสื่อมวลชน​ว่า​ ถามการเมือง​ให้ถามคนนี้​ พร้อมชี้ไปที่นายอนุทิน​ ก่อนที่จะชี้นิ้วไปที่ตัวเอง พร้อมกล่าวว่า “ถ้าการบ้านก็ต้องถามคนนี้”

ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) เวลา 16.00 น. นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรค พท. เดินทางเข้ามาที่ทำการพรรค หลังมีกระแสข่าวว่าพรรค พท.ได้ไปพูดคุยกับพรรค รทสช.ในการจัดตั้งรัฐบาลในวันนี้ว่า ก็คุยกันอยู่เรื่อยๆ โดยเฉพาะพรรคที่อยากจะร่วมมือกัน ก็ต้องหารือกันต่อเนื่อง แล้วต้องใช้เวลาคุยกันไปเรื่อยๆ 

ถามว่า การพูดคุยกันยังเจรจาต่อรองกันไม่ได้ เพราะโควตากระทรวงต่างๆ ที่ยังไม่ลงตัวหรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า ยังไม่เคยลงลึกไปถึงเรื่องกระทรวงต่างๆ  เพียงแค่คุยว่าทั้งหมดจะร่วมกันจับมือเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตกันไปได้อย่างไร ที่สำคัญคือวิกฤตที่เป็นปัญหาของประชาชน รวมถึงการสลายความขัดแย้ง ถ้าหากได้ทำงานร่วมกันก็จะเป็นสิ่งที่ดี

เมื่อถามถึงกรณีที่ สว.กังวลเรื่องคุณสมบัติของนายเศรษฐา นายภูมิธรรม กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจกันจนกว่าจะถึงวันโหวต เราก็พร้อม แคนดิเดตนายกฯ ของเราก็พร้อมที่จะชี้แจง ยืนยันไม่น่ากังวล

"ในการโหวตวันที่ 22 ส.ค. ผมยังเชื่อมั่นว่าดุลยพินิจของ สว.และ สส. ถ้าเห็นความตั้งใจและความพยายามของพรรค พท. ในการที่จะทำงาน ก็คิดว่าจะให้ความไว้วางใจ และพรรค พท.ก็ได้ประกาศจุดยืนชัดเจนแล้ว" นายภูมิธรรมกล่าว

ถามอีกว่า มีแผนสำรองไว้หรือไม่หากการโหวตเลือกนายกฯ ในวันที่ 22 ส.ค.ไม่เป็นไปตามคาดหมาย นายภูมิธรรม กล่าว ไม่มีแผน คิดว่าผ่าน 375 เสียงได้

ซักว่าหากไม่รวมเสียงจากพรรค รทสช. 36 เสียง จะได้เสียงถึง 375 หรือไม่  นายภูมิธรรมกล่าวว่า ถ้าประกาศว่ามีกี่พรรค กี่คน ก็ได้เท่านั้น ก่อนโหวตก็จะมีการประกาศความชัดเจน ส่วนจะเป็นรูปแบบไหน ขอให้รอดู ไม่เกินวันที่ 21 ส.ค.นี้ แต่จะเป็นภาพแบบใดยังไม่ทราบ แต่ทุกคนต้องยืนยันสิ่งที่เขาคิด เชื่อว่าวันที่ 22 ส.ค.ที่เป็นวันโหวต ทุกพรรคต้องแสดงจุดยืนที่ชัดเจน

เมื่อถามกรณีนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์  อดีตนักการเมืองเตรียมแฉนายเศรษฐาครั้งที่ 3 นายภูมิธรรมกล่าวว่า ไม่ได้มีความกังวล ซึ่งนายชูวิทย์เป็นนักการตลาดที่มีความสามารถ ก็ทำหน้าที่ไป ใครที่ถูกกล่าวหาก็มีหน้าที่ทำความเข้าใจ  ถ้าถูกละเมิดก็ว่ากันไปตามกฎหมาย ไม่ได้กังวลอะไร ไม่เกี่ยวกับพรรค พท.

ช่วงเย็น นายภูมิธรรมให้สัมภาษณ์อีกครั้งว่า วันนี้ทีมเจรจาพรรค พท. ประกอบด้วย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่านและหัวหน้าพรรค, นายประเสริฐ จันทรรวงทอง สส.บัญชีรายชื่อและเลขาธิการพรรค และตน ได้หารือร่วมกับแกนนำพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ประกอบด้วย นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรค, นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรค อย่างเป็นทางการ เพื่อเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาล เพราะทั้งสองฝ่ายเห็นร่วมกันว่าประเทศมีวิกฤตจะต้องจับมือกันเป็นรัฐบาล สลายความขัดแย้งที่มีอยู่ให้หมดไป โดยการพูดคุยเป็นไปด้วยดี 

รทสช.ผสมพันธุ์เพื่อไทย

"พรรค รทสช.เข้าใจจุดมุ่งหมายในการตั้งรัฐบาลครั้งนี้เพื่อแก้วิกฤตที่มีอยู่ หลังจากนี้ทางพรรค พท.เตรียมแถลงร่วมกับทุกพรรคที่จะมาร่วมรัฐบาลอย่างเป็นทางการอีกครั้ง ก่อนโหวตนายกรัฐมนตรีในวันที่ 22 ส.ค. ทำให้ขณะนี้พรรค พท.สามารถรวมเสียงพรรคการเมืองที่สนับสนุนแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค พท.ได้แล้ว 314 เสียง" นายภูมิธรรมกล่าว

ถามว่า การหารือวันนี้คุยเรื่องตำแหน่งรัฐมนตรีลงตัวแล้ว นายภูมิธรรมกล่าวว่า ยังไม่ได้พูดคุยหรือตกลงเรื่องตำแหน่งรัฐมนตรี ทุกอย่างจะชัดเจนขึ้นหลังโหวตนายกฯ เรียบร้อยแล้ว

ส่วนนายสมศักดิ์ เทพสุทิน สส.บัญชีรายชื่อ พรรค พท. กล่าวถึงข่าวมีการเดินสายเปิดตัวกลุ่มวังน้ำยมภาคใหม่ เพื่อหวังนั่งเก้าอี้ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ว่า ได้เห็นการวิเคราะห์ของสื่อแห่งหนึ่งถึงประเด็นการรื้อกลุ่มวังน้ำยมกลับมา ทำให้รู้สึกไม่สบายใจเป็นอย่างมาก เพราะกรณีการวิเคราะห์ที่พยายามเชื่อมโยงว่าตนกำลังรวบรวมขุมกำลังเพื่อต่อรองตำแหน่งนั้น ไม่เป็นข้อเท็จจริง และอาจส่งผลให้เกิดความขัดแย้งขึ้นภายในพรรคได้

ถามว่า ส่วนตัวสนใจเก้าอี้กระทรวงเกษตรฯ หรือไม่ นายสมศักดิ์กล่าวว่า เก้าอี้รัฐมนตรีเป็นเรื่องธรรมดาของนักการเมือง ทุกคนอยากทำงานในส่วนที่ตัวเองคิดว่าช่วยประชาชนได้ คงไม่ใช่แค่ตนหรือคนใดคนหนึ่ง ทุกคนล้วนอยากทำงานที่ตัวเองถนัด ไม่อยากทำแล้วถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องงาน และตนก็ไม่ใช่คนอยู่นิ่ง อย่างรัฐบาลที่แล้ว ตนเป็น รมว.ยุติธรรม คนก็ตั้งข้อสังเกตว่าตนจะทำได้หรือไม่ แต่เมื่อทำแล้วตนก็ไม่อยู่นิ่ง จะต้องทำให้เดินหน้าให้ได้

ที่พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เวลา 18.20 น. นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี และโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ แถลงกรณีคณะเจรจาพรรค รทสช.พูดคุยกับคณะเจรจาพรรค พท.ว่า การพูดคุยอย่างเป็นทางการ ได้เห็นพ้องว่าพรรค รทสช.จะเข้าร่วมรัฐบาลพรรคพท. เพื่อสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นกับประเทศไทยและประชาชนต่อไป โดยจุดยืนของพรรคคือจะไม่ร่วมงานกับพรรคการเมืองที่มีนโยบายแก้มาตรา 112 ซึ่ง พท.ยืนยันในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ไม่มีพรรคการเมืองดังกล่าว พรรค รทสช.ต้องการให้ประเทศชาติขับเคลื่อนไปได้

"ที่มีข่าวมีการเจรจาเรื่องกระทรวงพลังงานหรือกระทรวงอื่นๆ ขอยืนยันไม่ได้มีการเจรจาในการต่อรองกระทรวงใดๆ ทั้งสิ้น เบื้องต้นมีการตกลงในหลักการในการที่ รทสช.จะเข้าร่วมรัฐบาลกับ พท.เท่านั้น ยังไม่มีการพูดคุยเรื่องโควตารัฐมนตรี ซึ่งกว่าจะถึงวันที่ 22 ส.ค. ยังมีเวลาที่คณะเจรจา จะได้พูดคุยกันในละเอียด" นายอัครเดชกล่าว

ซักว่า พรรค รทสช.มีศักยภาพในการที่จะดูแลกระทรวงพลังงานหรือไม่ นายอัครเดชกล่าวว่า รทสช.มีบุคลากรที่มีความเหมาะสมในการที่จะบริหารงานทุกกระทรวง ถึงแม้จะเป็นพรรคการเมืองใหม่ แต่ก็มีบุคลากรทางการเมือง ทั้งรัฐมนตรีและ สส.ที่สามารถบริหารงานได้ทุกกระทรวง

ถามว่า มีกระแสข่าวว่า รทสช.ได้ 4เก้าอี้ นายอัครเดชกล่าวว่า เรื่องนั้นตนไม่ทราบ อย่างไรก็ตาม หากคณะพูดคุยเจรจาได้รายละเอียดแล้ว ทั้ง 36 เสียงของพรรคพร้อมโหวตให้ พท.ในการเสนอชื่อคนที่เหมาะสมให้มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

พอถามว่า ขณะนี้นายเศรษฐากำลังถูกตรวจสอบอย่างหนัก โฆษกพรรค รทสช.กล่าวว่า อันนี้เป็นเรื่องที่พรรค พท.ต้องชี้แจง และผู้ที่ถูกเสนอชื่อ ในส่วน รทสช. ดำเนินภารกิจการจัดตั้งรัฐบาลให้ลุล่วงสำเร็จ เพราะประชาชนเฝ้าคอยและปัญหาของประเทศชาติมีอยู่ทุกวัน ประชาชนรอรัฐบาลใหม่มา ดังนั้นการตัดสินใจของพรรคเข้าร่วมรัฐบาลวันนี้อยู่บนพื้นฐานประโยชน์ของประชาชน เพราะยิ่งล่าช้าไปประเทศชาติและประชาชนได้รับผลกระทบ มีหลายเรื่องที่รัฐบาลต้องรีบทำและขับเคลื่อน

จี้ 'เศรษฐา' เข้าสภาชี้แจง

ส่วนนายวิทยา แก้วภราดัย รองหัวหน้าพรรค รทสช. กล่าวถึงข่าวพรรค พท.ประสานงานเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลว่า ไม่ได้ประสานมายังตน เพราะพรรคมอบหมายหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค ดำเนินการเรื่องนี้ ซึ่งในการตั้งรัฐบาล พท.ควรทำภารกิจให้จบภายในวันที่ 21 ส.ค.นี้ ไม่ใช่ไปคุยกันนอกรอบในการตั้งรัฐบาลจริงๆ ว่าจะมีนโยบายหลักที่ทุกพรรครับได้หรือไม่ รวมถึงการแบ่งหน้าที่ในคณะรัฐมนตรีต้องแบ่งกันให้เสร็จ หากไปร่วมรัฐบาลกัน ไม่แบ่งงานกัน จะร่วมอย่างไร  นี่คือหลักธรรมชาติ

 “เวลาเหลือน้อย เพราะล็อกวันแล้วว่าเป็นวันที่ 22 ส.ค. ฉะนั้น พท.ต้องเสนอชื่อนายกฯ ที่มั่นใจว่าคนที่จะเป็นต้องตัวจริงแล้ว ครั้งเดียวจบ ส่งเข้ามาต้องผ่านทุกฝ่ายรับได้ ไม่มีสิทธิ์แก้ตัว เพราะกฎหมายค้ำคอไว้แล้ว เพราะหากนัดโหวตนายกฯ แล้วไม่จบขึ้นมาจะยุ่งยากไปกันใหญ่ การเมืองจะเปลี่ยนไป ถ้าไหลจากคนที่เสนอชื่อคนแรก มาคนที่สอง คนที่สาม จะเอาอยู่หรือไม่ แล้วมันก็จะไปถึงพรรคที่ 3 อีก จึงต้องรอความพร้อมพรรค พท.” นายวิทยากล่าว

ถามถึงคุณสมบัติของนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตของพรรค พท. รองหัวหน้าพรรค รทสช.กล่าวว่า มีหลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่ง พท.ต้องรับฟังให้รอบคอบเพราะไม่มีโอกาสแก้ตัว

"นายเศรษฐาควรมาแสดงวิสัยทัศน์ในวันโหวตนายกฯ หรือไม่นั้น มองว่าเป็นเรื่องปกติ การจะปลุกเสกใครเป็นนายกฯ ไม่เห็นรูปลอย ก็ไม่ศักดิ์สิทธิ์ ถ้ามีเวลาจริงๆ ไม่ถึงกับเจ็บไข้ได้ป่วย ก็ควรมาแสดงวิสัยทัศน์ แม้ไม่ได้เป็น สส. แต่ที่ผ่านมาข้าราชการที่มาชี้แจงต่างๆ ก็ไม่ได้เป็น สส. เขาก็ยังเข้ามาชี้แจงได้ อยู่ที่อำนาจของประธาน ผมเชื่อว่าประธานไม่ขัดข้องอยู่แล้ว แต่เรื่องที่น่าเกลียดก็คือ คนมาตะลุมบอนเบื้องหลังกัน ไม่สง่าสำหรับคนพูด และไม่สง่าสำหรับคนถูกเลือกด้วย ดีที่สุด ผมว่าให้เตรียมตัวมาชี้แจง” รองหัวหน้าพรรค รทสช.กล่าว

ซักถึงแต่ละพรรคที่จะร่วมรัฐบาลออกมาพูดถึงโควตากระทรวงต่างๆ หากพรรค รทสช.ยังไม่ชัดเจน จะเดินตามหลังเขาหรือไม่ นายวิทยาชี้แจงว่า ถ้าจะตั้งรัฐบาลร่วมกัน ไม่แบ่งงานกันก่อนก็ทำไม่ได้ แต่ตอนนี้การพูดคุยยังไม่จบ ถ้าเขาบอกแล้วว่าจบก็คือจบ ตอนนี้ MOU มันหมดสมัยแล้ว เอาไว้หลอกเด็กได้

ด้านนายจเด็จ อินสว่าง สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กล่าวถึงการพิจารณาโหวตนายกฯ ในวันที่ 22 ส.ค.ว่า เสียง สว.ยังไม่นิ่ง แต่ส่วนใหญ่มีคำตอบในใจแล้ว ดูแนวโน้มแล้วเชื่อว่าชื่อนายเศรษฐาคงผ่านยาก เพราะ สว.ยังติดใจประเด็นเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ในทางธุรกิจ  ตามที่นายชูวิทย์ออกมาเปิดเผยข้อมูลเรื่องการหลีกเลี่ยงภาษีการซื้อขายที่ดิน แต่นายเศรษฐาไม่เคยออกมาชี้แจงให้ชัดเจน อีกทั้งนายเศรษฐาก็ยังไม่รู้จะมาชี้แจงเรื่องดังกล่าวต่อที่ประชุมรัฐสภาในวันที่ 22 ส.ค.หรือไม่

 “เหตุใดไม่กล้ามาชี้แจงต่อ สว. จะอ้างว่าข้อบังคับการประชุมไม่ได้บังคับ และสมัยเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ หรือนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ชิงตำแหน่งนายกฯ  ทั้งสองคนก็ไม่มีการแสดงวิสัยทัศน์คงไม่ได้ เพราะขณะนี้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงท่าทีพรรค พท.ก็แสดงความชัดเจน ถ้าได้เป็นรัฐบาลจะรีบเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ตั้งแต่การประชุมครม.นัดแรก ปัจจัยเหล่านี้ล้วนไม่เอื้อต่อการให้นายเศรษฐาได้รับการยอมรับจาก สว. รัฐธรรมนูญกำหนดหน้าที่ สว.ให้พิจารณาคนเป็นนายกฯ ดังนั้น สว.ต้องพิจารณาบุคคลที่ไม่ขัดคุณสมบัติ มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ เรายึดผลประโยชน์ประเทศ ไม่ได้ยึดอารมณ์เป็นที่ตั้ง” นายจเด็จกล่าว

ถามว่าถ้าชื่อนายเศรษฐาไม่ผ่านความเห็นชอบในวันที่ 22 ส.ค. หากมีการเสนอชี่อ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย ขึ้นมาโหวตแทนหรืออาจส่งไม้ต่อให้พรรคอันดับ 3 จัดตั้งรัฐบาลแทน สว.จะยอมให้การสนับสนุนหรือไม่ นายจเด็จกล่าวว่า ยังตอบไม่ได้ ต้องพิจารณาสถานการณ์ก่อน การเมืองเปลี่ยนแปลงตลอด

เช่นเดียวกับพรรคก้าวไกล (ก.ก.) นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.กทม. พรรคก.ก. กล่าวว่า แคนดิเดตนายกฯ คือบุคคลที่จะมาทำงานให้ประชาชนในอีก 4 ปีข้างหน้า เพราะฉะนั้นทิศทางในการทำงานเป็นอย่างไร ก็ควรให้ผู้แทนของประชาชนส่งมาทำหน้าที่ในสภาได้สอบถาม ซึ่งที่ผ่านมาการโหวตนายกฯ ครั้งแรกเราก็ได้มีการซักถามเป็นวงกว้าง ว่านายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ก.ก. มีแนวคิดแนวปฏิบัติอย่างไร และจะดำเนินงานในการเป็นนายกรัฐมนตรีอีก 4 ปีข้างหน้าอย่างไร แน่นอนว่าครั้งนี้คือการโหวตนายกฯ ครั้งที่สอง จะเป็นใครก็สุดแท้แต่พรรค พท.

 “ถ้าเกิดมีเพื่อน สส.หรือ สว.จะสอบถามในสภา ก็จะสามารถเข้ามาชี้แจงได้ ประธานสภาฯ มีอำนาจในการเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจงโดยใช้บัลลังก์” นายณัฐชากล่าว

ถามว่าพรรค ก.ก.เตรียมอภิปรายคุณสมบัตินายกฯ พรรค พท.หรือไม่ นายณัฐชากล่าวว่า ในคุณสมบัติเราไม่ได้มีการสอบถาม ที่ผ่านมาได้ผ่านการเลือกตั้งประชาชนได้ตัดสินใจ จากการหาเสียงตลอดระยะเวลาที่ลงเลือกตั้งไปแล้ว ในส่วนของประเด็นข้อซักถามต่างๆ อาจจะไม่มี ซึ่งนายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค ได้นำเสนอกับสื่อมวลชนไปแล้วว่าในที่ประชุมพรรคของเรา มีความเห็นจะไม่โหวตสนับสนุนนายเศรษฐา เนื่องจากความคลุมเครือในการจัดตั้งรัฐบาล

ซักว่า มองนายเศรษฐาดีกว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) หรือไม่ นายณัฐชา กล่าวว่า แน่นอน ที่เราหาเสียงเลือกตั้งมาความจริงแล้ว พท.กับ ก.ก.มีนโยบายหลายด้านที่ใกล้เคียงกัน ไม่มีแนวทางความเป็นไปได้ที่เราจะไปสนับสนุนแคนดิเดต พปชร.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง