ปัดขึ้นVAT10% ใช้ดูแลคนชรา หารือรอบด้าน

“สภาพัฒน์” เผยภาวะสังคมไทยไตรมาส 2/66 การจ้างงานปรับตัวดีขึ้น 1.7% จับตาสินเชื่อรถยนต์หนี้เสียพุ่ง 30% ยันขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม VAT เป็น 10% แค่ไอเดีย ย้ำต้องคุยหลายหน่วยงาน แจงทีมเศรษฐกิจยกทัพถก “นายกฯ เศรษฐา” รับการบ้านกระตุ้น ศก. ระบุนโยบายเงินดิจิทัล-พักหนี้ต้องหารือรอบด้าน “คลัง” แจงข้อเสนอขึ้น VAT แก้เงินออมคนชรา ชี้มี พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังกำกับ ยันฐานะการคลังยังแกร่ง

เมื่อวันจันทร์ นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 2/66 พบว่าสถานการณ์ด้านแรงงานปรับตัวดีขึ้น จากการขยายตัวในสาขานอกภาคเกษตรกรรม ขณะที่ภาคเกษตรกรรมได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ส่วนชั่วโมงการทำงาน ค่าจ้างแรงงาน และอัตราการว่างงานยังคงปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง

สำหรับการจ้างงาน ผู้มีงานทำมีจำนวนทั้งสิ้น 39.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.7% จากการขยายตัวของการจ้างงานสาขานอกภาคเกษตรกรรมที่ 2.5% โดยสาขาโรงแรมและภัตตาคารยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่องที่ 11.7% จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ และการเข้ามาอย่างต่อเนื่องของนักท่องเที่ยวต่างชาติ เช่นเดียวกับสาขาก่อสร้างที่มีการจ้างงานเพิ่มมากขึ้น 6.0% และสาขาการผลิต การค้าส่งและค้าปลีก และการขนส่งและเก็บสินค้า เพิ่มขึ้นเช่นกันที่ 0.3%, 0.5% และ 1.1% ตามลำดับ ขณะที่ภาคเกษตรกรรมการจ้างงานหดตัวลงเล็กน้อยจากปี 65 ที่ 0.2% ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาภัยแล้ง

สำหรับสถานการณ์หนี้สินครัวเรือนในไตรมาส 1/66 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.6% ขณะที่คุณภาพสินเชื่อภาพรวมของธนาคารพาณิชย์ปรับตัวลดลงเล็กน้อย แต่ความเสี่ยงในการเป็นหนี้เสียของสินเชื่อยานยนต์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเพิ่มสูงถึง 30.3% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยในไตรมาส 1/66 หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 15.96 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.6% คงที่เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ขณะที่สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ 90.6% ชะลอตัวเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน หากพิจารณาการก่อหนี้ครัวเรือนรายวัตถุประสงค์ พบว่าครัวเรือนมีการก่อหนี้เพื่ออสังหาริมทรัพย์และอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น

นายดนุชากล่าวถึงข้อเสนอให้ปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มหรือแวต จาก 7% เป็น 10% เพื่อนำ 3% ที่เพิ่มมาใช้ดูแลสวัสดิการคนวัยเกษียณที่ไม่มีเงินออมนั้น ขอชี้แจงว่าการขึ้นแวตเป็น 10% เป็นแค่แนวคิด เป็นการพูดคุยกันในคณะกรรมการปฏิรูปด้านสังคม โดยต้องทำรายละเอียดค่อนข้างมาก เรื่องดังกล่าวเกิดจากการที่ สศช.ได้จัดงานสัมมนาเกี่ยวกับสังคมสูงวัย จึงได้หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาพูดคุยและเป็นแนวคิดหนึ่งที่มาลองพิจารณากัน ยืนยันว่า สศช.ยังไม่ได้เสนอเรื่องขึ้นภาษีแวตกับใคร ต้องศึกษารายละเอียดกันค่อนข้างมากในเรื่องระบบ วิธีการจัดการ ข้อกฎหมายต่างๆ

นายดนุชากล่าวถึงกรณีเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่เป็นนโยบายของพรรคเพื่อไทย แกนนำจัดตั้งรัฐบาล ว่าเป็นเรื่องต้องหารือและดูรายละเอียดว่าเป็นอย่างไร ต้องดูวิธีปฏิบัติว่าเป็นอย่างไรด้วย ดูรายละเอียดงบประมาณ ภาระการคลัง ต้องหารือกันหลายหน่วยงาน ยังให้ความเห็นเวลานี้ไม่ได้ โดยเมื่อวันที่ 28 ส.ค.ได้เข้าหารือกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ หลังจากที่ได้รับโปรดเกล้าฯ เรียบร้อย ซึ่งนายกฯ ก็จะต้องเรียกหน่วยงานเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลเชิงลึก รวมทั้งหารือถึงแนวนโยบายที่รัฐบาลใหม่ต้องการจะดำเนินการว่ามีรูปแบบอย่างไร ซึ่งมีหลายเรื่องที่ต้องดำเนินการ 

ส่วนข้อเสนอที่นายเศรษฐาระบุว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/2566 ชะลอตัว และจำเป็นต้องมีมาตรการดิจิทัลวอลเลตนั้น สศช.เห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมาจาก 2 ปัจจัยหลัก คือการส่งออกที่ -5.7% เป็นการหดตัวต่อเนื่อง 3 ไตรมาส จึงต้องเร่งทำตลาดส่งออกมากขึ้น และ การอุปโภคบริโภคภาครัฐ ที่ -4.3% เนื่องจากเม็ดเงินหายไปเพราะไม่มีสถานการณ์โควิดแล้ว ส่วนมาตรการพักชำระหนี้ให้เกษตรกรและเอสเอ็มอีนั้น ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ดูแล เน้นการปรับโครงสร้างหนี้มาอย่างต่อเนื่อง เพราะไม่ต้องการให้ลูกหนี้เกิดพฤติกรรมจงใจเบี้ยวหนี (มอรัล ฮาร์ดซาร์ด) คนที่ยังชำระหนีได้ก็จะช่วยให้มีกำลังในการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งต้องหารือกับหลายหน่วยงาน และพิจารณาให้ถี่ถ้วน มาตรการที่ออกมาต้องดูผลกระทบ  ผลเชิงบวกต่างๆ ว่าจะมีข้อสรุปออกมาเป็นอย่างไรบ้าง

ด้านนายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 ขยายตัวที่ 2.2% และคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังจะขยายตัวได้เพิ่มขึ้นจากช่วงครึ่งปีแรก โดยได้รับแรงสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวและอุปสงค์ภายในประเทศที่ขยายตัวได้ต่อเนื่อง และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย เนื่องจากแรงกดดันจากราคาสินค้าในหมวดพลังงานได้คลี่คลายลง ประกอบกับในช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2566 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิสูงกว่าประมาณการ 7.6% และสูงกว่าช่วงเดียวกับปีก่อน 5.2%  ดังนั้นการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่ 7% จะส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศมีการขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ฐานะการคลังในปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่มั่นคงและเพียงพอต่อการดำเนินนโยบายต่างๆ รวมถึงการจัดสรรสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งมีกองทุนผู้สูงอายุที่มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นทุนใช้จ่ายเกี่ยวกับการคุ้มครอง การส่งเสริม และสนับสนุนผู้สูงอายุ รวมถึงมีการเก็บเงินบำรุงกองทุนผู้สูงอายุจากภาษีสรรพสามิตสินค้าสุราและยาสูบในอัตรา 2% โดยปีงบประมาณละไม่เกิน 4,000 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา เพื่อนำเงินกองทุนผู้สูงอายุไปจัดสรรเป็นเงินช่วยเหลือผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยตามโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มเติม

สำหรับข้อเสนอให้ปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เพื่อนำมาใช้เป็นเงินออมในวัยเกษียณให้แก่ประชาชน เนื่องจากภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นภาษีฐานการบริโภคที่มีความสัมพันธ์กับภาวะเศรษฐกิจของประเทศ การปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มย่อมส่งผลกระทบต่อการบริโภคของประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ โดยจะทำให้ระดับราคาสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อำนาจการซื้อของประชาชนลดลง

"จำเป็นต้องมีการพิจารณาอย่างรอบด้าน ตลอดจนพิจารณาในช่วงเวลาที่เหมาะสมตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 กำหนดว่า การกันเงินรายได้ เพื่อให้หน่วยงานของรัฐนําไปใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ของหน่วยงานนั้น หรือเพื่อการหนึ่งการใดเป็นการเฉพาะจะกระทำมิได้ เว้นแต่จะอาศัยอำนาจตามกฎหมาย ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องหารือถึงความเป็นไปได้ในการดำเนินการต่อไป" นายวุฒิพงศ์กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง