‘จุลพันธ์’จ่อชง ใช้คลุม‘อำเภอ’ แทนระยะ4กม.

“จุลพันธ์” โวลุยโครงการพักหนี้เกษตรกร-เอสเอ็มอี ก่อนเสนอ ครม.ภายใน 14 วันหรือก่อนสิ้น ก.ย.แน่  แพลมเตรียมปรับเงื่อนไขใช้จ่ายเงินดิจิทัล 1 หมื่น จาก 4 กม.เป็นครอบคลุมทั้งอำเภอ รอถกปมบริการภาครัฐจะรวมหรือไม่ “กรณ์” โผล่เตือนระวังภาระหนี้พุ่งจากราคาที่ต้องจ่าย             เมื่อวันที่ 17 ก.ย.2566 นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในต้นสัปดาห์นี้คณะทำงานโครงการพักหนี้เกษตรกร และผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) จะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เกี่ยวกับกรอบแนวทางและวิธีการทำงานทั้งหมดให้ได้ข้อสรุป เพื่อให้มีผลในทางปฏิบัติ  ก่อนเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาภายใน 14 วัน หรือไม่เกินสิ้นเดือน ก.ย.นี้

นายจุลพันธ์กล่าวอีกว่า จากข้อมูลเบื้องต้นพบว่ามีลูกหนี้เกษตรกรทั้งสิ้นกว่า 4.2 ล้านบัญชี ขณะที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกว่า 3 ล้านบัญชี ซึ่งต้องพิจารณาหลักเกณฑ์และรายละเอียดว่าจะช่วยเหลืออย่างไร โดยคงไม่ได้ช่วยทั้งหมด เพราะเชื่อว่าจะมีรายใหญ่รวมอยู่ด้วย ส่วนว่ามาตรการจะครอบคลุมแค่ไหน หรือมีการกำหนดเพดานช่วยเหลืออย่างไร ขอไปพิจารณาในรายละเอียดอีกครั้ง แต่เป็นเรื่องที่ต้องเร่งให้เร็วที่สุด เพราะได้รับคำสั่งจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และ รมว.การคลังมาแล้ว

“ต้องดูกรอบวงเงินที่มีความเหมาะสม และภาระงบประมาณที่จะรับได้อีกส่วนหนึ่งด้วย เพราะตอนนี้กระบวนการงบประมาณปี 2567 ก็ล่าช้าด้วย ดังนั้นหลักของแนวทางการให้ความช่วยเหลือในโครงการพักหนี้ ก็จะต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับความเป็นจริงและสอดคล้องกับงบประมาณด้วย” นายจุลพันธ์กล่าว

นายจุลพันธ์ยังกล่าวถึงความคืบหน้าของมาตรการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทว่า ยืนยันว่าการดำเนินการจะไม่ช้าไปกว่าเดือน มี.ค.2567 แน่นอน โดยนายกฯ ตั้งธงมาแล้วว่าจะเริ่มในวันที่ 1 ก.พ.2567 กระทรวงการคลังก็ต้องทำให้สำเร็จ โดยอาจต้องทดสอบระบบก่อนวันเริ่มดำเนินการเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา ส่วนร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการ คงไม่มีการให้ลงทะเบียนใหม่ทั้งหมด เบื้องต้นอาจใช้ข้อมูลร้านค้าเดิมที่เคยเข้าร่วมโครงการคนละครึ่งมาเป็นพื้นฐาน แต่อาจต้องยืนยันตัวตนเพิ่มเติมบ้างเท่านั้น

นายจุลพันธ์ยังกล่าวถึงข้อเสนอแนะเกี่ยวกับเงื่อนไขการใช้จ่ายในโครงการ  โดยเฉพาะการกำหนดรัศมีการใช้จ่ายไม่เกิน 4 กิโลเมตรตามทะเบียนบ้านนั้นว่า  ที่ผ่านมามีข้อเสนอแนะเข้ามาเยอะว่าเรื่องนี้อาจเป็นข้อจำกัด ซึ่งรัฐบาลเองอาจผ่อนปรนหรือเปลี่ยนแปลงเรื่องรัศมีในการใช้จ่าย โดยอาจปรับมาเป็นให้ใช้ได้ภายในอำเภอตามทะเบียนบ้าน เพื่อทำให้กระบวนการใช้เงินของประชาชนผ่านดิจิทัลวอลเล็ตราบรื่นที่สุด

“ข้อเสนอที่ให้ปรับมาเป็นใช้จ่ายจากรัศมี 4 กิโลเมตร มาเป็นใช้จ่ายได้ภายในอำเภอตามทะเบียนบ้าน เป็นข้อเสนอที่เป็นไปได้มากที่สุด แต่สุดท้ายเป็นอย่างไร อยากให้รอฟังดีๆ อีกครั้ง โดยรัฐบาลยังคงยึดเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับชุมชนเป็นหลัก หากจะปรับโดยการปลดล็อกการใช้จ่ายจนอิสระหรือฟรีไปเลยคงไม่มีทาง ส่วนข้อกำหนดซื้อสินค้ายังต้องรอสรุปอีกนิด เพราะมีเรื่องที่ต้องพิจารณาค่อนข้างมาก เช่น กรณีเป็นบริการของรัฐควรให้ใช้ได้หรือไม่ เพราะเงินอาจไม่หมุนเข้าระบบเศรษฐกิจ เช่น การจ่ายค่าไฟฟ้า แต่ที่ชัดเจนแน่นอนแล้วคือไม่สามารถใช้ซื้อสินค้าประเภทอบายมุขและชำระหนี้สินได้แน่นอน” นายจุลพันธ์กล่าว

สำหรับแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการนั้น นายจุลพันธ์ระบุว่า ไม่จำเป็นต้องกู้อย่างแน่นอน รัฐบาลมีกลไกในการดำเนินการได้ ส่วนข้อเสนอว่าให้นำแอปพลิเคชันเป๋าตังเข้ามาใช้นั้น แอปพลิเคชันเป๋าตังเป็นสินทรัพย์ของรัฐบาลอยู่แล้ว หากท้ายที่สุดแล้วสรุปว่าจะนำแอปเป๋าตังไปใส่ในบล็อกเชนของโครงการ ก็มองว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปได้  หากทำจริงก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร ในมุมมองของรัฐบาลเห็นว่าหากอะไรที่พัฒนาแล้วทำให้ดีขึ้นก็ไม่มีปัญหาอยู่แล้ว

ด้านนายกรณ์ จาติกวณิช อดีตหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า (ชพก.) โพสต์เฟซบุ๊กถึงภาระทางการคลังในนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเงินดิจิทัล 10,000 บาทว่า รัฐบาลจะขาดดุลมากขึ้น โดยอยู่ที่ 3% ของจีดีพี จากที่เดิมคาดว่าจะลดลงเหลือ 2.8% ในปีหน้า ในขณะที่เศรษฐกิจโตช้ากว่าที่คาดไว้เดิม ดังนั้นสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจึงสูงขึ้นเป็น 64% จากเดิม 61.35% ซึ่งประมาณการใหม่นี้กำลังสร้างความกังวลให้นักเศรษฐศาสตร์อย่างมาก  เพราะทุกอย่างมีต้นทุน คือมีราคาที่ต้องจ่าย ซึ่งราคาที่ว่านี้ปรากฏชัดเจนในส่วนของต้นทุนดอกเบี้ยของรัฐบาลที่เพิ่มขึ้น  อย่างอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล 10 ปี ทะลุ 3% ไปแล้ว ซึ่งประมาณการนี้ยังไม่ได้รวมนโยบายแจกเงิน 10,000 บาทของรัฐบาล ซึ่งอย่างไรรัฐบาลก็ต้องกู้ หรือยืมรัฐวิสาหกิจมาแจก

“วันนี้หนี้รัฐบาลมีอยู่ 11 ล้านล้านบาท รัฐบาลต้องออกพันธบัตรใหม่มาชำระชุดเก่าตลอดเวลา ซึ่งต้นทุนก็จะมีแต่สูงขึ้น เป็นภาระต่องบประมาณมากขึ้น แนวโน้มดอกเบี้ยเราจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ด้วยหลากหลายปัจจัย เช่น การส่งออกที่ซบเซา ราคานํ้ามันโลกที่สูงขึ้น รวมไปถึงรายจ่ายภาครัฐจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ จุดแข็งของไทยเราคือ เราแทบไม่มีหนี้สกุลเงินต่างประเทศ แต่เราก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจของโลก ไม่ระวังไม่ได้” นายกรณ์ระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง