กรมคุกไฟเขียวทักษิณรักษายาว

"ราชทัณฑ์" ไฟเขียว  "ทักษิณ" นอน รพ.ตำรวจเกิน 30 วัน  อ้างเพิ่งผ่าตัด การรักษายังไม่สิ้นสุด  “ผบ.ตร.” งานเยอะไม่รู้อาการนักโทษ  โยนหน้าที่ "พล.ต.ท.ประจวบ" จ่อหารือผู้เกี่ยวข้องหลังสังคมกดดัน “ปภส.” จี้นายกฯ สางปมนอน รพ.จริงหรือไม่

ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.)   เมื่อวันที่ 20 กันยายน พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กล่าวถึงกรณีผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครเปิดเผยว่า ทางเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จะทำหนังสือไปถึงทีมแพทย์โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อสอบถามอาการของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่าจะสามารถนำกลับมารักษาในโรงพยาบาลของราชทัณฑ์ได้หรือไม่นั้น ว่าจริงๆ ยังไม่ได้รับรายงาน ซึ่งได้สั่งการไปแล้วในเรื่องการดูแลกรณีนี้ เป็นหน้าที่ของ พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร. เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบแทน ส่วนตัวมีงานเยอะ จึงยังไม่ได้รับรายงานเรื่องดังกล่าว ซึ่งเป็นเรื่องของโรงพยาบาลตำรวจกับกรมราชทัณฑ์

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะครบ 1 เดือนที่นายทักษิณเข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ มีหลายฝ่ายกดดันให้มีการชี้แจงอาการป่วยให้สังคมได้รับทราบ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์กล่าวว่า ขอหารือกับ พล.ต.ท.ประจวบก่อน เรื่องนี้ตนไม่ได้ลงไปในรายละเอียด และยังไม่ได้สอบถาม เพราะมีหลายเรื่องที่ต้องดำเนินการ เช่น การยึดทรัพย์ การแสวงหาความร่วมมือการลงนามกับนิคมอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับความเห็นของแพทย์และกรมราชทัณฑ์ โดยโรงพยาบาลตำรวจเป็นสถานที่รักษาพยาบาลตามที่กรมราชทัณฑ์ใช้ดุลยพินิจ หลังจากนี้จะไปพูดคุยกันอีกครั้ง พร้อมยอมรับว่าช่วงนี้มีงานหลายด้าน จึงยังไม่ได้รับรายงานเรื่องนี้

วันเดียวกัน กรมราชทัณฑ์ได้เผยแพร่เอกสารชี้แจงว่า กรณีนายทักษิณ ชินวัตร ที่อยู่ในความควบคุมของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ซึ่งรับตัวไว้เมื่อวันที่ 22 ส.ค.66 และต่อมามีอาการป่วยฉุกเฉินต้องส่งตัวออกรักษาพยาบาล ณ โรงพยาบาลตำรวจในคืนดังกล่าว โดยจะครบระยะเวลาสามสิบวันที่ส่งตัวออกไปรักษาพยาบาลภายนอกในวันที่ 21 ก.ย. ในการนี้ ตามกฎกระทรวงว่าด้วยการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 กำหนดไว้ว่า กรณีผู้ต้องขังพักรักษาตัวนอกเรือนจำเกินกว่าสามสิบวัน ให้มีหนังสือขอความเห็นชอบจากอธิบดีพร้อมความเห็นของแพทย์ที่ทำการรักษาผู้ป่วยและหลักฐานที่เกี่ยวข้อง  โดยกรมราชทัณฑ์ได้รับหนังสือจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร รายงานความเห็นแพทย์ของโรงพยาบาลตำรวจ ระบุเหตุผลความจำเป็นของนายทักษิณ ที่จำเป็นต้องรักษาตัวเกินสามสิบวัน เนื่องจากการรักษายังไม่สิ้นสุด เพราะได้เข้ารับการผ่าตัดและยังคงต้องรักษาตัวอยู่ต่อ ณ โรงพยาบาลตำรวจ

 ทั้งนี้ ในห้วงระยะเวลาปีงบประมาณ พ.ศ.2566 กรมราชทัณฑ์มีสถิติผู้ต้องขังรักษาตัวนอกเรือนจำเกินกว่าสามสิบวัน จากเรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศกว่า 140 ราย และในเดือนนี้มีสถิติจำนวน 14 ราย ที่เสนอมายังกรมราชทัณฑ์ (รวมกรณีนายทักษิณ) และกรมราชทัณฑ์ได้เห็นชอบตามความเห็นของแพทย์ที่ทำการรักษาเสนอมา โดยที่ผ่านมา กรมราชทัณฑ์ดำเนินการตามความเห็นแพทย์ที่ทำการรักษาผู้ป่วย และคำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตของผู้ต้องขังเป็นสำคัญ ส่วนรายละเอียดของผู้ป่วยทุกราย ตามกฎหมายไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ป่วยให้ทราบได้

ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล นายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง มอบหมายนายสมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับหนังสือจากนายทรงชัย เนียมหอม ประธานกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน (ปภส.) ที่ยื่นหนังสือถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง เรื่องขอให้ดำเนินการตามอำนาจทางกฎหมาย อำนาจตามรัฐธรรมนูญ อำนาจตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 มาตรา 6 (1) (2) (3) (4) (5) เพื่อขอให้ตรวจสอบเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ทั้งหมดที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการรับตัวนักโทษชาย ทักษิณ ชินวัตร หลังคำสั่งขังของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อวันที่ 22 ส.ค.2566

พบว่ามีการเลือกปฏิบัติผิดแปลกไปจากการควบคุมนักโทษทั่วไป กล่าวคือ ไม่มีรถลูกกรงทุกชนิดที่จะเผยให้เห็นถึงการควบคุมนักโทษดังกล่าว แต่มีการอ้างว่าเพื่อคุ้มกันความปลอดภัย โดยใช้รถพิเศษติดฟิล์มดำสนิท ได้รับอภิสิทธิ์เหนือนักโทษทั่วประเทศหรือไม่ ขอให้มีคำสั่งเรียกพยานหลักฐานเพื่อเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนทั้งประเทศได้หายเคลือบแคลงสงสัย และเรียกความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมของประเทศ ทั้งในกรณีที่นำนักโทษคนดังกล่าวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จริงหรือไม่ พักอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจจริงหรือไม่ สอบสวนโรค ป่วยร้ายแรงจริงหรือไม่ ส่วนกรณีที่อัยการสูงสุดสั่งฟ้องนายทักษิณ คดีอาญามาตรา 112 นั้น ขอให้นายกรัฐมนตรีในฐานะกำกับดูแลงาน ตร. มีคำสั่งถึง ผบ.ตร. ประสานกรมราชทัณฑ์ นำหมายจับไปแสดงและอายัดตัวไว้ เพื่อป้องกันเหตุคดีขาดอายุความและป้องกันการหลบหนีออกนอกประเทศ. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง