เกษตรกรเฮ!พักหนี้3ปี ลุ้นต.ค.ลดราคาเบนซิน

นายกฯ แจง "ดิจิทัลวอลเล็ต" ยังไม่เสร็จ ย้ำแหล่งที่มาเงินเป็นไปตามกรอบกฎหมาย ครม.ไฟเขียวมาตรการพักชำหนี้เกษตรกร 3 ปี เริ่ม 1 ต.ค. เคาะกรอบงบ 3.3 หมื่นล้าน ขึงเกณฑ์มีหนี้รวมไม่เกิน 3 แสนบาทต่อบัญชี รวม 2.7 ล้านราย "พีระพันธุ์" แย้มข่าวดีจ่อลดราคาเบนซิน เดือน ต.ค.ชัดเจนแน่

ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 26  กันยายน เวลา 11.35 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง  ให้สัมภาษณ์ถึงความชัดเจนนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตว่า ยังไม่เสร็จ ยังไม่เรียบร้อย ส่วนที่มีกระแสข่าวว่าเรื่องที่มาของแหล่งเงินดิจิทัลวอลเล็ตจะมาจากการกู้เงินจากธนาคารออมสินนั้น ยังไม่ถึงเวลา หากพร้อมแล้วจะแถลง ทั้งนี้ทุกอย่างเป็นไปตามกรอบกฎหมาย เป็นไปตามที่เคยพูดไว้ว่าไม่มีปัญหา

เมื่อถามว่า ประชาชนรอคำตอบในเรื่องนี้อยู่ นายเศรษฐากล่าวว่า ไม่ต้องห่วง เรื่องที่มาที่ไปและเรื่องหลักการพยายามทำให้ดีอยู่ เช่น อำเภอไหนอยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร พยายามพิจารณาอยู่  อย่างที่ตนเรียน ต่อไปนี้จะแถลงอะไรจะต้องมีข้อมูลให้ครบทุกอย่างจะเป็นการดีกว่า หากแถลงไปอีกอย่างหนึ่งแล้วเกิดการติดขัดจะไม่ดี และรอให้มีคณะกรรมการชุดใหญ่แถลงดีกว่า ให้เป็นรูปธรรม ซึ่งสามารถตอบได้ทุกคำถามที่ถามมา

เมื่อถามย้ำว่า จะสามารถได้ข้อสรุปเมื่อใด นายกฯ และ รมว.การคลังกล่าวว่า เร็วๆ นี้

ส่วนกรณีพรรคก้าวไกล และนายจตุพร พรหมพันธุ์ คณะหลอมรวมประชาชน ออกมาโจมตีไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลจะทุบกระปุกออมสินกู้เงินออมของเด็ก 5.6 แสนล้านบาททำโครงการดิจิทัลวอลเล็ตนั้น นายเศรษฐา กล่าวว่า เดี๋ยวจะชี้แจงให้ทราบดีกว่า ส่วนรายละเอียดจะให้โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้แถลงข่าว

ด้านนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม. รับทราบการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดมาตรการในการพักหนี้เกษตรกรและผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นระยะเวลา 3 ปี และ 1 ปี ตามลำดับ โดยมีนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง เป็นประธาน สำนักงานเศรษฐกิจการคลังเป็นฝ่ายเลขานุการ และพิจารณาให้ความเห็นชอบมาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาล จำนวนทั้งสิ้น 11,096 ล้านบาท

นายจุลพันธ์เปิดเผยว่า ครม.มีมติเห็นชอบมาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาลระยะที่ 1 รวมถึงการพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยผู้ที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ดังกล่าวภายใต้หลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการพักชำระหนี้เกษตรกรระยะเวลา 3 ปี ตามที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 11-12 ก.ย.2566

ทั้งนี้ ในส่วนของมาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาล โดยเกษตรกรลูกค้ารายย่อย ธ.ก.ส. จำนวน 2.698 ล้านราย มูลหนี้ 2.83 แสนล้านบาท ที่มีต้นเงินคงเป็นหนี้คงเหลือทุกสัญญารวมกัน ณ วันที่ 30 ก.ย.2566 ไม่เกิน 300,000 บาท และมีสถานะเป็นหนี้ปกติและ/หรือเป็นหนี้ค้างชำระ (หนี้ 0-3 เดือน) และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ราว 6 แสนราย มูลหนี้ 3.6 หมื่นล้านบาท ได้รับสิทธิ์ในการพักชำระหนี้ระยะแรกดำเนินการ 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2566 ถึงวันที่ 30 ก.ย.2567 โดยเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส.ที่ต้องการรับสิทธิ์สามารถแสดงความประสงค์เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ดังกล่าวได้ตามความสมัครใจ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2566 ถึงวันที่ 31 ม.ค.2567 โดยลูกหนี้ที่มีสถานะเป็นเอ็นพีแอลจะสามารถเข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ได้ เมื่อได้มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์ของ ธ.ก.ส.แล้ว

สำหรับกลุ่มลูกหนี้ดี จะมีการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย หากมีความสามารถในการชำระ ธ.ก.ส.ก็จะหักยอดเงินต้นได้ครึ่งหนึ่ง ส่วนลูกหนี้เสียจะพักชำระดอกเบี้ย 3 เดือน โดยรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยในส่วนนี้ให้ ธ.ก.ส. ภายใต้เงื่อนไขต้องแก้ไขสถานะหนี้กลับมาเป็นปกติ จึงจะได้รับสิทธิต่อไป หากไม่สามารถกลับมาเป็นหนี้ปกติได้ รัฐก็จะไม่ชดเชยให้ และถือว่ายังคงสภาพเป็นหนี้เสียเหมือนเดิม

 “การพักหนี้เกษตรกรในครั้งนี้ จะแตกต่างจาก 13 ครั้งที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการประวิงเวลา และเมื่อพ้นจากโครงการไปแล้วพบว่าเกษตรกรไม่ได้อยู่ในสถานะที่ดีขึ้น และหลายครั้งเรื่องมูลหนี้แย่กว่าเดิมด้วยซ้ำ แต่ครั้งนี้วิธีการในช่วง 3 ปี มุ่งเป้าไปที่การพักภาระ และเมื่อกลับมาเกษตรกรต้องมีความแข็งแกร่งขึ้น โดยในกลุ่มหนี้ปกติจะคัดลูกหนี้ที่ยังอยู่ในโครงการให้ความช่วยเหลือของรัฐ (PSA) ออก เพื่อไม่ให้การช่วยเหลือซ้ำซ้อน แต่หากมาตรการช่วยเหลือในกลุ่มนี้หมดลง สามารถเข้าโครงการพักหนี้ของรัฐบาลได้ในระยะถัดไป” รมช.การคลังระบุ

นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ ธ.ก.ส. ผู้ที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ เพื่อเป็นการบรรเทาภาระหนี้สินเกษตรกรอย่างบูรณาการ โดย ธ.ก.ส.ร่วมกับส่วนงานราชการและหน่วยงานภายนอกดำเนินการอบรมเกษตรกรคู่ขนานไปกับมาตรการพักชำระหนี้ที่ได้เพิ่มโอกาสให้เกษตรกรในการนำเงินไปลงทุนปรับเปลี่ยนหรือขยายการประกอบอาชีพ ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในระยะยาว

 “ได้มีการพูดคุยกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ ธปท.เองก็มีความเห็นเกี่ยวกับโครงการนี้ โดยระบุว่า ไม่อยากเห็นโครงการที่ผูกพันระยะยาว  เราจึงดำเนินการเป็นเฟส อนุมัติเป็นรายปี และ ธปท.ไม่อยากเห็นดำเนินการแบบหว่านแห เราจึงเปิดให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการแบบสมัครใจ ส่วนเรื่องงบประมาณที่จะใช้ในโครงการตลอด 3 ปี ประมาณ 3.3 หมื่นล้านบาท เฉลี่ยปีละราว 1.1-1.2 หมื่นล้านบาท แต่งบที่ใช้จะเป็นไปตามที่ใช้จริง อยากให้ทุกฝ่ายไม่ต้องกลัว ไม่ต้องกังวลว่าเงินจะหายไปไหน และรัฐบาลหวังว่าเกษตรกรจะแห่เข้าโครงการนี้เต็มเกือบ 100% ยืนยันว่าเรื่องตัวเงินไม่ต้องเป็นห่วง” นายจุลพันธ์กล่าว

นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า โครงการพักหนี้เกษตรกรเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2566 โดยให้เกษตรกรแจ้งความต้องการเข้าร่วมโครงการผ่านแอปพลิเคชัน BAAC Mobile หลังจากนั้นระบบจะตรวจสอบคุณสมบัติ หากผ่านเกณฑ์จะแจ้งเตือนไปที่แอปฯ เพื่อให้เกษตรกรมาทำสัญญาเข้าร่วม ทั้งนี้ ลูกหนี้ที่ได้เข้าร่วมโครงการจะได้รับสิทธิย้อนหลังในการพักชำระต้นและดอกเบี้ย ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2566 ขณะเดียวกัน ธ.ก.ส.จะมีมาตรการเข้าไปสนับสนุนเกษตรกรอีกจำนวนมาก โดยโครงการหลักคือการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเป็นกลไกให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งทุนสำหรับใช้ในการประกอบอาชีพต่อไปได้ โดยจะพิจารณาให้กู้ตามศักยภาพการชำระหนี้คืนของเกษตรกร ไม่เกินรายละ 1 แสนบาท

นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงนโยบายจัดสรรที่ดินให้ประชาชนทำกินของพรรคเพื่อไทย จะเห็นเป็นรูปธรรมช่วงไหนว่า อำนาจหน้าที่อยู่ที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ โดยเฉพาะเรื่องการปฏิรูปที่ดิน  ซึ่งจะมีข่าวดีเร็วๆ นี้ ในเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดิน จะได้เห็นในช่วงปีใหม่ ส่วนจะเป็นในรูปแบบไหน รอให้ ร.อ.ธรรมนัสเป็นคนแถลง

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงความคืบหน้าการลดราคาน้ำมันเบนซินว่า ได้รับรายงานจากกรมธุรกิจพลังงานถึงความเป็นไปได้ โดยบอกว่ามีหลายเกรดหลายราคา ตนจึงสั่งให้นำน้ำมันเบนซินชนิดที่ราคาถูกที่สุดมาเป็นเกณฑ์ เพื่อนำน้ำมันชนิดนี้มาช่วยเหลือประชาชนให้เกิดประโยชน์ ซึ่งในอดีตเขามองในมุมของวินจักรยานยนต์ที่ต้องใช้น้ำมันเบนซินในการประกอบอาชีพ และที่สำคัญหากมีปัญหาในเรื่องเกณฑ์ต่างๆ ทำไมไม่ยกตามเกณฑ์ของผู้มีรายได้น้อย เพื่อลดค่าใช้จ่ายพลังงาน จึงได้มอบโจทย์ไป และมั่นใจว่ากรมธุรกิจพลังงานจะหาแนวทางแก้ไขได้ โดยคาดว่าจะได้คำตอบในเดือน ต.ค. แต่เพื่อความมั่นใจ จะตั้งคณะทำงานมากำกับเรื่องนี้โดยเฉพาะ จะพยายามให้มีข่าวดี เพราะอย่างน้อยก็ให้เห็นว่าตน รัฐบาล และนายกรัฐมนตรี ก็เป็นห่วงในเรื่องพลังงาน เพื่อให้เห็นเจตนาที่แท้จริงว่าเราตั้งใจจริงๆ ดีกว่ามานั่งเฉยๆ ไม่ทำอะไร.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ โดดป้อง 'อุ๊งอิ๊ง' ปมแบงก์ชาติ อ้างแค่สะท้อนความต้องการประชาชน

นายกฯ ป้อง “อุ๊งอิ๊ง“ สปีชเวทีเพื่อไทย แค่สะท้อนความต้องการประชาชน ลั่น ไม่เคยบีบบังคับใคร เข้าใจความเป็นอิสระ เตรียมคุย ”รมว.คลัง“ หาทางทำงานร่วมแบงค์ชาติ