‘พท.’ชูแจกหมื่น ปชช.42%ไม่เชื่อ

"เพื่อไทย" ประสานเสียงเดินหน้า "ดิจิทัลวอลเล็ต" ปั๊มหัวใจเศรษฐกิจให้ตื่นจากโคม่า "กิตติรัตน์" แจงทำไมไม่แจกเป็นเงินสด การันตีไม่สร้างเงินเฟ้อ  “วรากรณ์" ย้ำเหตุลงชื่อต้านแจกเงินหมื่น  ยันเสี่ยงมากสร้างหนี้ประเทศมหาศาล  ยอมเปลืองตัวดีกว่าเสียใจทีหลัง ปชป. เตือนอย่าเอาเรื่องรวย-จนโต้คนแย้งตอกลิ่มความแตกแยก ประชาชนไม่มั่นใจนโยบายนี้แก้ ศก.ได้

เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี  และรองโฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวกรณีมีกลุ่มบุคคลต่างๆ รวมถึงนักเศรษฐศาสตร์ เรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาทบทวนนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท โดยเศรษฐกิจประเทศกําลังอยู่ในภาวะฟื้นตัว จึงไม่จำเป็นที่จะต้องใช้จ่ายเงินจํานวนมากเพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศว่า อาจเป็นความมุ่งหวังทางการบริหารที่ต่ำไป เพราะหากเปรียบเทียบการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจกับประเทศในกลุ่มอาเซียน จะเห็นว่าไทยยังมีอัตราการเติบโตหรือฟื้นตัวที่ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านอยู่มาก เป้าหมายของรัฐบาลที่นำโดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่มุ่งหวังจะสร้างการเติบโตเฉลี่ยตลอด 4 ปี ที่ 5% นั้น จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายและเป็นความหวังในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้เป็นจริง

ทั้งนี้ โครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะเป็นการเติมกำลังซื้อครั้งใหญ่ให้ประเทศ กระจายอยู่ในทุกชุมชน จำนวนเงิน 10,000 บาทต่อคน จึงไม่ใช่แค่ช่วยเหลือบรรเทาปัญหาค่าครองชีพให้ประชาชนเดินต่อได้ แต่มากพอที่จะดึงดูดการลงทุน เปิดธุรกิจใหม่ๆ มารองรับกำลังซื้อที่จะเพิ่มขึ้น และหมุนวนรอบต่อไปเรื่อยๆ  ส่วนความกังวลเรื่องที่มาของเงินและมาตรการในการดำเนินนโยบายต่างๆ ที่อาจไม่รัดกุม รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ที่ประสานความเห็นและมุมมองที่รอบด้านจากภาคส่วนต่างๆ  เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.),  สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) และสำนักงบประมาณ และอีกหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง มาเป็นกรรมการในการร่วมตัดสินใจในการดำเนินนโยบาย จึงทำให้มั่นใจได้ว่าการตัดสินใจใดๆ จะเป็นไปด้วยความรัดกุม โปร่งใส และรักษาผลประโยชน์ให้พี่น้องประชาชนมากที่สุด

"รัฐบาลมีเป้าหมายในการกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศอย่างรวดเร็ว เป็นการปั๊มหัวใจเศรษฐกิจในระยะเร่งด่วน เพื่อปลุกกำลังซื้อให้ฟื้นตัว ช่วยให้เศรษฐกิจประเทศพ้นจากโคม่า จากนั้นรัฐบาลจะมีนโยบายอื่นๆ เข้ามาเสริมเพื่อให้ประชาชนสามารถสร้างรายได้ เศรษฐกิจหมุมเวียน ซึ่งจะเป็นการฟื้นประเทศไทยให้มีความสามารถในแข่งขัน โดยยึดกรอบวินัยการเงินการคลังของประเทศอย่างรัดกุม" นายชนินทร์ระบุ

นายณัฐพงษ์ สุปริยศิลป์ สส.น่าน พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน สภาผู้แทนราษฎร  กล่าวว่า โครงการนี้ไม่ใช่การโปรยเงินเพื่อหาเสียง แต่พรรคเพื่อไทยรวมไปถึงรัฐบาลและคณะรัฐมนตรีตระหนักดีว่าเราต้องการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้พี่น้องประชาชนมีกำลังจับจ่ายใช้สอย ซึ่งจะเป็นการทำให้เศรษฐกิจประเทศหมุนเวียนครั้งใหญ่ แม้ความเห็นของนักวิชาการบางส่วนจะมีความเห็นว่าเศรษฐกิจประเทศกำลังดีขึ้นเอง แต่ข้อเท็จจริงคือประชาชนโดยเฉพาะพี่น้องที่อยู่ในต่างจังหวัดยังยากลำบาก ไม่มีเงินในกระเป๋า ขาดสภาพคล่อง พ่อค้าแม่ค้าก็ค้าขายลำบาก ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ เองพร้อมใช้กลไกของกรรมาธิการเพื่อช่วยเหลือ สนับสนุน และสะท้อนความเป็นห่วง ความกังวลเหล่านั้นให้แก่รัฐบาล เพื่อให้โครงการนี้ออกมาเป็นประโยชน์ต่อประเทศและประชาชนให้มากที่สุด

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี และอดีต รมว.การคลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า  ตอบ 2 คำถาม 1.เงินดิจิทัล จะสร้างเงินเฟ้อไหม? ไม่มีใครสั่งให้ธนาคารกลางพิมพ์เงินใหม่มาใส่ระบบ แต่เงินดิจิทัลทุกบาทจะมาจากรายได้ของรัฐบาลเอง อุปสงค์ที่เพิ่มจากโครงการ ย่อมเพิ่มปริมาณกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่จะไม่เป็นเหตุให้ราคาเฟ้อ เพราะอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยของประเทศอยู่ที่เพียงประมาณ 60% อุปทานย่อมเพิ่มได้โดยราคาไม่ขยับ และเมื่อผลิตเพิ่มขึ้น จะทำให้ต้นทุนต่อหน่วยของสินค้าที่ผลิตถูกลงอีก ถ้าไม่ลดราคา รัฐบาลขอเก็บภาษีจากกำไรที่สูงขึ้น  2.ทำไมไม่ให้เป็นเงินสด มีอะไรแอบแฝงรึเปล่า? เงินสดใช้ซื้อสิ่งดีได้ และใช้ซื้อสิ่งไม่ดี/สิ่งผิดก็ได้ เงินดิจิทัลที่มีค่าเท่ากัน บาทต่อบาท ใช้ซื้อสิ่งไม่ดี/สิ่งผิดไม่ได้ ใช้ไม่หมดตามกำหนด แสดงว่าไม่จำเป็นนัก ก็ยกเลิกการให้ได้

ทางด้านนายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า รัฐบาลอ้างว่านโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต จะเป็นพายุหมุนทางเศรษฐกิจที่จะสร้างตัวคูณทางเศรษฐกิจกว่า 2.7 เท่า ในความเป็นจริงแทบเป็นไปไม่ได้ หากผลที่ออกมาไม่ได้ดีเท่ากับที่คาดไว้ ผลที่ตามมาคือการใช้เม็ดเงินจำนวนมหาศาล จะเป็นการสร้างภาระทางการคลังได้ในอนาคต รัฐบาลต้องตอบคำถามตรงนี้ให้ได้ว่า สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ขนาดนั้นจริงหรือ และหากทำไม่ได้ ผลที่ตามมาจะแก้ไขอย่างไร

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รักษาการรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า คนของรัฐบาลบางคนออกมาตอบโต้คนเห็นต่างว่าเป็นพวกอยู่ดีมีกิน สุขสบาย ไม่เห็นหัวคนที่ยังลำบาก ซึ่งเป็นการตอบโต้ที่ไม่เหมาะสม ที่ออกมาบอกให้เกิดการเข้าใจได้ว่าเป็นเรื่องคนรวยไม่เห็นด้วยที่จะแจกเงินให้คนจน ดังนั้นคนของรัฐบาลจึงควรชี้แจงด้วยข้อมูลเนื้อหาสาระ ไม่ควรเอาความคิดเห็นที่แตกต่างมาสร้างความแตกแยกทางสังคม

นายวรากรณ์ สามโกเศศ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง ที่ร่วมลงชื่อในการเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการดำเนินนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต กล่าวว่า สาเหตุที่ร่วมลงชื่อด้วย เพราะรู้สึกตกใจที่นโยบายดังกล่าว ที่ใช้งบประมาณมากถึง 5.6 แสนล้านบาท เป็นงบก้อนใหญ่มาก อาจจะพอๆ กับเงินที่ขาดดุลที่อยู่ในงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ทำให้มีหนี้เพิ่มขึ้นแบบปัจจุบันทันด่วน ทั้งที่ภาระหนี้ประเทศขณะนี้มีถึง 62 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ประชาชาติ โดยลองคำนวณดอกเบี้ยอยู่ที่ประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาทต่อปี ไม่ต้องพูดถึงเงินต้นที่ไม่รู้อีกกี่สิบปีถึงจะใช้หมด จึงเป็นเหตุผลหลักที่ไม่เห็นด้วย นอกจากนี้ เมื่อมีหนี้เพิ่มมากขึ้น ต้องทำให้ภาครัฐต้องพยายามที่จะหาเงินมาชดใช้คืนในรูปของการเพิ่มภาษี

 “คนที่ออกมาครั้งนี้ ทุกคนที่ทำทั้งหมดก็รู้ดีว่าอาจจะเปลืองตัว คืออยู่เฉยๆ จะไม่ง่ายกว่าหรือ แต่เราก็คิดว่าเราก็อายุมากแล้ว แต่หากจะไม่ทำในสิ่งที่ควรจะทำ วันหลังเราอาจจะต้องมานั่งเสียใจ หากเกิดเหตุการณ์กระทบต่อไปในวันข้างหน้าอย่างรุนแรง” นายวรากรณ์ระบุ

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ควรปรับเปลี่ยนและทบทวนหลักเกณฑ์ในการแจกเงินดิจิทัลใหม่ ไม่ให้แบบถ้วนหน้า ไม่ควรแจกเงินให้คนมีฐานะทางเศรษฐกิจหรือไม่มีความจำเป็นทางเศรษฐกิจ เพราะแจกไปก็ไม่ได้มีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการทบทวนเกณฑ์และใช้งบประมาณน้อยลงจะช่วยลดความเสี่ยงทางการคลัง และยังจะทำให้มีเม็ดเงินเหลือไปใช้ในโครงการอื่นๆ หรือเพิ่มเม็ดเงินให้กับครอบครัวที่ยากจนได้

สำนักวิจัยซูเปอร์โพล เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง "เสียงประชาชนต่อเงินดิจิทัล"  กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนจำนวนทั้งสิ้น 1,111 ราย ระหว่างวันที่ 4-7 ต.ค. 2566 โดยเมื่อถามถึงความเชื่อมั่นของประชาชนต่อนโยบายแจกเงินดิจิทัลของรัฐบาล พบว่า จำนวนมากที่สุดหรือร้อยละ 42.0 ไม่แน่ใจต่อความเชื่อมั่น เพราะรัฐบาลไม่ชัดเจนเอาเงินมาจากที่ไหน ใครได้ใครเสีย ป้องกันทุจริต สวมสิทธิ์รับเงิน ไม่ได้ติดตามข่าว ไม่รู้เรื่องนี้ ขณะที่ร้อยละ 32.1 เชื่อมั่น เพราะนโยบายดีมีเงินใช้เพิ่ม แก้ปัญหาปากท้องได้ เงินกำลังขาดมือ แก้ตรงจุดได้เงินก้อน กระจายรายได้เงินหมุนเวียน เป็นต้น และร้อยละ 25.9 ไม่เชื่อมั่น เพราะรัฐบาลไม่ชัดเจนกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างไร ไม่คิดว่าจะทำได้จริง ส่งผลกระทบเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจรวม เงินเฟ้อ เกิดทุจริตเชิงนโยบาย คนบางกลุ่มได้ผลประโยชน์ ทุจริต สวมสิทธิ์รับเงิน บางคนจะตกสำรวจ ไม่ได้เงิน ระบบล่ม เป็นต้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง