ผู้ตรวจฯสอบเงินดิจิทัล จุลพันธ์พร้อมแจงปปช.

ปธ.ผู้ตรวจการแผ่นดินเผยรับคำร้องสอบนโยบายแจกเงินดิจิทัลแล้ว อยู่ระหว่างรวบรวมข้อเท็จจริง ก่อนเทียบกับข้อกฎหมายว่าเข้าเงื่อนไขส่งศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองหรือไม่ "จุรินทร์" เตือนอย่าให้ซ้ำรอยจำนำข้าว "จตุพร" ท้ารัฐบาลวางสินทรัพย์ส่วนตัวค้ำประกันหากผิดพลาดทำประเทศฉิบหายต้องถูกยึดทรัพย์ "จุลพันธ์” คอนเฟิร์มแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทไม่เกินไตรมาสแรกปี 67 พร้อมพบ ป.ป.ช.ชี้แจงทุกข้อกังวล

เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม นายสมศักดิ์  สุวรรณสุจิต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน  กล่าวถึงกรณีนางวิรังรอง ทัพพะรังสี ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศ ยื่นหนังสือร้องเรียนไปยังผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อให้ดำเนินการส่งต่อให้ศาลปกครอง หรือศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่านโยบายแจกเงินดิจิทัลผ่าน กระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาทของรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง ว่าขัดต่อพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เงินตรา พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ และบทบัญญัติในส่วนของหน้าที่ของรัฐหรือไม่ ว่าผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับเรื่องดังกล่าวแล้ว แต่ยังอยู่ระหว่างการแสวงหาข้อเท็จจริง เพราะรัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายและแนวปฏิบัติ เมื่อมีความชัดเจนแล้วผู้ตรวจการแผ่นดินจะนำมาพิจารณาให้ความเห็น และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความเห็น ข้อมูลแล้วนำมาเทียบกับหลักกฎหมาย หากเข้าเงื่อนไขที่สามารถส่งต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครอง ก็จะดำเนินการต่อ แต่ขณะนี้ต้องขอดูข้อเท็จจริงความชัดเจนก่อน เพื่อพิจารณาว่าขัดหรือไม่ขัดต่อกฎหมาย

เมื่อถามถึงข้อห่วงใยของอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และนักวิชาการ รวมถึงหลายฝ่ายมองว่านโยบายนี้อาจส่งผลกระทบต่อภาระงบประมาณ ทางผู้ตรวจฯ จะหยิบยกขึ้นมาหารือและทำข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาลหรือไม่ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า การแสวงหาข้อเท็จจริงของผู้ตรวจการแผ่นดิน ก่อนออกคำวินิจฉัยที่จะส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะนำโดยจะนำความเห็นของทุกฝ่ายนักวิชาการของส่วนงานราชการที่รับผิดชอบมาประมวล และรับพิจารณา

เมื่อถามย้ำว่า รัฐบาลจะต้องมีความชัดเจนในประเด็นนี้ก่อนใช่หรือไม่ นายสมศักดิ์กล่าวว่า รัฐบาลจะต้องมีความชัดเจนก่อน ไม่เช่นนั้นผู้ตรวจการแผ่นดินจะไม่สามารถพิจารณาได้ว่าขัดหรือไม่ขัดกฎหมาย เนื่องจากยังไม่ทราบว่ารายละเอียดจะดำเนินการอย่างไร และหลังจากได้แสวงหาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่ายแล้ว จะทำความเห็นและข้อเสนอแนะไปยังคณะรัฐมนตรี ส่วนกรณีที่เป็นการปฏิบัติไม่ถูกต้องหรือครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ผู้ตรวจการแผ่นดินสามารถเสนอเรื่องไปยัง ครม.ให้พิจารณาให้รัฐบาลดำเนินการได้ ทั้งนี้ ส่วนตัวเชื่อว่าทุกฝ่าย ทั้งรัฐบาล และวิชาการ ก็มีความปรารถนาดีต่อประชาชน ซึ่งถูกฝ่ายคงได้ตระหนัก ในเรื่องการดำเนินการ ก็คงใช้ดุลพินิจอย่างรอบคอบ โดยผู้ตรวจการแผ่นดินก็เคารพตรงนั้น 

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ตว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลเป็นคนติดกระดุมเม็ดแรกตั้งแต่ตอนหาเสียง ฉะนั้นหากไม่ทำคงไม่ได้ ซึ่งตนเคยพูดตอนที่รัฐบาลแถลงนโยบายแล้วว่า เป็นสิ่งที่ต้องทำตามที่พูดไว้ในตอนที่หาเสียง แต่ขณะเดียวกันต้องอยู่บนความรับผิดชอบต่อผลที่จะตามมาด้วย เพราะตอนที่หาเสียงก็มีเสียงท้วงติงมาเยอะ มาถึงตอนนี้หากไม่ทำคงไม่ได้แล้ว

 “สิ่งที่รัฐบาลต้องรับฟังคืออย่าให้นโยบายนี้ซ้ำรอยกับนโยบายจำนำข้าว เนื่องจากมีหลายฝ่ายเป็นห่วง จนถึงวันนี้ยังสะท้อนว่ารัฐบาลยังมะงุมมะงาหรา เพราะยังไม่มีความชัดเจนว่าจะทำอย่างไร และจะเอาเงินมาจากไหน แม้จะมีการแถลงเป็นระยะก็ตาม ยิ่งแถลงสะท้อนว่าความชัดเจนยังไม่เกิดขึ้น คิดว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งทำ ไม่เช่นนั้นในระบบเศรษฐกิจก็จะขาดความเชื่อมั่น” นายจุรินทร์กล่าว

นายจุรินทร์กล่าวย้ำว่า สิ่งที่ตนเตือนว่าอย่าให้ซ้ำกับจำนำข้าวนั้น เพราะจำนำข้าวก็เริ่มต้นแบบนี้ ท่ามกลางเสียงทักท้วง และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (ป.ป.ช.) รวมถึงหลายฝ่ายก็ติดตาม แต่อย่างน้อยแล้ววันนี้จะมีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาเศรษฐกิจ ตนจะเสนอเรื่องนี้เข้าสู่ กมธ. เพื่อให้ติดตามเรื่องนี้ด้วย

นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊กไลฟ์ว่า  กรณีพรรคเพื่อไทยต้องการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ขณะนี้เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ตั้งผู้รู้ด้านต่างๆ มาเป็นกรรมการศึกษาแล้ว โดยคาดว่าคนหนึ่งที่จะเป็นกรรมการคือตัวแทนจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เชื่อว่า กรณี ป.ป.ช.ตั้งกรรมการนั้น คงจะมาในวิธีการเดียวกับโครงการรับจำนำข้าว ที่ตั้งกรรมการคู่ขนาดขึ้นมาศึกษา และเคยยื่นบันทึกให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หยุดดำเนินการมาแล้ว เมื่อนิ่งเฉยจึงถูกดำเนินคดีอาญาในศาลนักการเมือง ดังนั้น เมื่อประกาศโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ธปท. และกรรมการจากหน่วยงานต่างๆ คงได้ศึกษาคู่ขนานกันไป

"หากรัฐบาลยังมุ่งมั่นจะทำดิจิทัลวอลเล็ต จึงขอเรียกร้องให้นำทรัพย์สินของผู้คิดและผลักดันโครงการนี้มาค้ำประกัน ถ้าเกิดผิดพลาดจะถูกยึดทรัพย์ทั้งหมด แม้จะมีมูลค่าไม่เท่ากับจำนวนเงินแจก 5.6 แสนล้านบาทก็ตาม ถ้าทุจริตคอร์รัปชัน แล้วพาระบบการเงิน การคลังของประเทศพังต้องถูกยึดทรัพย์เป็นของแผ่นดินให้หมด"

นายจตุพรกล่าวต่อว่า ถ้าแจกเงินดิจิทัลเกิดความเสียหายขึ้น สิ่งนี้เป็นความฉิบหายของชาติ ไม่ใช่มาแก้ตัวโดยเอาเลือกตั้งครั้งหน้าเป็นเดิมพัน จึงต้องมีการค้ำประกันการแจกเงินดิจิทัล เป็นการเดิมพันให้หมดหน้าตัก และเทหมดตัวกันไปเลย เพราะเมื่อทำโครงการแล้วเกิดความเสียหายกับประเทศ ต้องรับผิดชอบด้วยเช่นกัน ถ้าสำเร็จพรรคเพื่อไทยก็ได้คะแนนเสียงตามที่คิดอ่านทางการเมืองกันไว้ แต่หากเกิดความฉิบหายขึ้น คุณต้องฉิบหายด้วยเช่นกัน ไม่ใช่ให้ประเทศไทยมาฉิบหายอย่างเดียว  ทักษิณ  ชินวัตร ด่าไว้ การแจกเงินเป็นวิธีการของคนปัญญาอ่อน ดังนั้น จึงต้องมีคนกล้ารับผิดชอบ

วันเดียวกัน นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง กล่าวในการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ครั้งที่ 1/2566 ว่า นโยบายการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เป็นนโยบายที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนและฟื้นฟูเศรษฐกิจครั้งใหญ่ จากที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยมีความเปราะบาง ฟื้นตัวไม่เต็มศักยภาพ การเติบโตของเศรษฐกิจไทยเฉลี่ยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 2% เทียบกับประเทศอื่นๆ ที่เติบโตได้สูงกว่า ทั้งที่ผ่านมาและมองไปในระยะข้างหน้า มาตรการการดิจิทัลวอลเล็ต จะเป็นตัวฉุดกระชากเศรษฐกิจให้โตตามศักยภาพ จะผลักดันให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ในระดับ 5% ต่อปี โดยมีเป้าหมายคือ คุณภาพชีวิตของประชาชนต้องดีขึ้น

นายจุลพันธ์กล่าวอีกว่า ไม่ต้องห่วงปัญหาคอร์รัปชัน โดยรัฐบาลและกระทรวงการคลังพร้อมรับการตรวจสอบทุกรูปแบบ ได้ติดตามข้อเสนอและข้อห่วงใยของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ได้มีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาศึกษา ก็เห็นว่าเป็นเรื่องที่ดีที่จะมีหน่วยงานมาช่วยเป็นหูเป็นตา รอบคอบ รัดกุม และเป็นประโยชน์ ตนพร้อมเข้าไปพบกับ ป.ป.ช.ด้วยตัวเอง เพื่อแลกเปลี่ยนข้อสงสัย เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน และนำข้อเสนอแนะจาก ป.ป.ช.มาปรับใช้ให้มาตรการมีความรอบคอบที่สุด ที่ผ่านมามีภาคประชาชนและนักวิชาการออกมาให้เสียงสะท้อนถึงมาตรการดังกล่าว ก็ต้องนำความเห็นและข้อเสนอแนะทั้งหมดมาพิจารณา

รมช.การคลังกล่าวว่า มาตรการดิจิทัลวอลเล็ตจะดำเนินการได้ภายในไตรมาส 1/2567 เป็นมาตรการที่ต้องทำให้สำเร็จ เพราะถ้าล่าช้าผลดีในการกระตุ้นเศรษฐกิจก็จะลดลงด้วย และต้องขอความร่วมมือจากสำนักงานคณะกรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์, สำนักงบประมาณ, กระทรวงการคลัง, กรมบัญชีกลาง และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) มาร่วมให้ความเห็นและประเมินความคุ้มค่าของมาตรการทั้งก่อนและหลัง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง