จับตา‘วุฒิสภา’ เคาะ7อรหันต์! นั่งเก้าอี้กสทช.

ลุ้นหนัก! วุฒิสภาโหวตเห็นชอบ-ไม่เห็นชอบ 7 อรหันต์ กสทช.คุมผลประโยชน์เค้กก้อนใหญ่ หลังถูกล้มกระดานมาแล้ว 2 รอบ ลือสะพัด ขั้วอำนาจ-กลุ่มทุนโทรคมนาคม-อดีตบิ๊กตำรวจคนดังดันคนของตัวเองติดเข้ารอบสุดท้าย “วันชัย” ไม่กล้าฟันธงจะโหวตได้กี่ราย เพราะงานนี้จะอยู่ยาวถึง 7 ปี

เมื่อวันอาทิตย์ นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) วุฒิสภา ที่มี พล.อ.อู้ด เบื้องบน ส.ว. เป็นประธาน ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุม ส.ว.ในวันจันทร์ที่ 20 ธ.ค. ว่าจะมีการลงมติเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบรายชื่อว่าที่ กสทช.ชุดใหม่ 7 คน ที่ส่งมาให้ ส.ว. โดยจะมีทั้งการประชุมแบบเปิดเผยและประชุมลับ

“การประชุมลับหากมี ส.ว.คนใดสอบถามถึงประวัติและมาตรฐานจริยธรรมของผู้ได้รับการเสนอชื่อ กมธ. ก็จะนำเสนอข้อมูลรายงานลับต่อที่ประชุม ซึ่งเป็นข้อมูลที่ กมธ.ได้ไปเจาะพฤติกรรม ประวัติ และมาตรฐานทางจริยธรรมของผู้ได้รับการเสนอชื่อแต่ละคน หลัง กมธ.ได้ทำการขอข้อมูลไปยังหน่วยงานรัฐรวม 18 หน่วยงาน เช่น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อตรวจสอบว่าแต่ละคนเคยมีประวัติอาชญกรรมอะไรหรือไม่ เคยมีคดีความหรือไม่ เคยถูกร้องเรียนเรื่องอะไรหรือไม่ จนเมื่อจบการอภิปรายซักถามก็จะลงมติว่าจะให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบแต่ละรายชื่อหรือไม่ โดยคนที่จะได้เข้าไปเป็นว่าที่ กสทช.ชุดใหม่ต้องได้คะแนนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ว.ที่มีอยู่ และคนที่ได้รับเลือกจะเป็น กสทช. 7 ปี”

นายวันชัยกล่าวอีกว่า กสทช.ชุดปัจจุบันที่ยังปฏิบัติหน้าที่อยู่ทำมาแล้วร่วมสิบปี โดยตามกฎหมาย กรรมการ กสทช.จะปฏิบัติหน้าที่ได้ต้องมี กสทช.ปฏิบัติหน้าที่ไม่น้อยกว่า 5 คน หากเกิดที่ประชุม ส.ว.โหวตเห็นชอบมาแค่ 3 ชื่อ ก็ต้องไปสรรหาคัดเลือกมาใหม่ให้ได้ครบ ซึ่งในวันจันทร์จะโหวตได้กี่คนก็แล้วแต่ที่ประชุม ซึ่งยังตอบไม่ได้ว่าจะโหวตได้กี่คน

สำหรับรายชื่อ 7 คนที่เสนอให้ ส.ว.ลงมตินั้น ประกอบด้วย 1.พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ (ด้านกิจการกระจายเสียง) 2.ศ.พิรงรอง รามสูต (ด้านกิจการโทรทัศน์) 3.นายกิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ (ด้านกิจการโทรคมนาคม) 4.ศ.คลินิกสรณ บุญใบชัยพฤกษ์ (ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค) 5.นายต่อพงศ์ เสลานนท์ (ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน) 6.ร.ท.ธนกฤษฏ์ เอกโยคยะ (ด้านอื่นๆ ที่จะยังประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของด้านกฎหมาย) และ 7.รศ.ศุภัช ศุภชลาศัย (ด้านอื่นๆ ที่จะยังประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ด้านเศรษฐศาสตร์)

มีรายงานข่าวแจ้งว่า ที่ผ่านมาการเลือก กสทช.ชุดใหม่ที่มีการรับสมัคร-คัดเลือก และส่งชื่อไปให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ ส.ว.ชุดปัจจุบันเห็นชอบทำมาแล้ว 2 ชุด แต่ก็ยังไม่สามารถมี กสทช.ชุดใหม่มาทำหน้าที่แทน กสทช.ชุดปัจจุบันที่อยู่มาร่วมสิบปี เพราะชื่อที่ส่งไปให้ สนช. และ ส.ว.โหวตปรากฏว่าโดนล้มกระดานหมดยกแผง ด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น ในยุค สนช. ในการลงมติเมื่อ 20 เม.ย.2561 ที่ประชุมเห็นว่าผู้ได้รับการเสนอชื่อมีปัญหาด้านคุณสมบัติและความประพฤติไม่เหมาะสม รวม 8 คน จากที่ส่งมา 14 ชื่อ ทำให้ที่ประชุมลงมติไม่เลือกคนเป็น กสทช. ซึ่งตอนนั้นมีกรณีคลิปเสียงอ้างว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่พอใจบุคคลที่มีชื่อเข้ามาด้วย เพราะได้ข้อมูลว่าชื่อที่ส่งมามีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ

ส่วน ส.ว.ก็ปรากฏว่ามีการล้มกระดานการเลือก กสทช.เช่นกัน โดยเกิดขึ้นช่วงต้นปี 2564 ที่อาศัยจังหวะการแก้ไขกฎหมายพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ทำให้มีการล้มกระดานรายชื่อทั้งหมดที่ส่งมา จนทำให้ กสทช.ชุดปัจจุบันยังทำหน้าที่อยู่ได้แบบยาวนานจะร่วม 11 ปีเข้าไปแล้ว แต่ก็ยังทำหน้าที่ได้ต่อไป เพราะในยุค คสช. พล.อ.ประยุทธ์ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 8/2562 ลงวันที่ 8 ก.ค.2562 ระงับกระบวนการสรรหา กสทช. และให้ กสทช.ที่ทำหน้าที่อยู่ทำหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะได้ กสทช.ชุดใหม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การที่ กสทช.โดนล้มกระดานมาแล้วถึง 2 รอบ ทำให้การเลือก กสทช.ในวันที่ 20 ธ.ค. ถูกจับตามองอย่างมากว่าจะมีการล้มกระดานเกิดขึ้นอีกครั้งหรือไม่ หลังก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวออกมาต่อเนื่องทำนองว่ามีกลุ่มต่างๆ ทั้งกลุ่มการเมือง-กลุ่มทุนด้านกิจการโทรคมนาคมและการสื่อสาร มีการผลักดันและสนับสนุนบุคคลบางรายชื่อให้เข้าไปเป็น กสทช. โดยมีกระแสข่าวทำนองบางรายชื่อจาก 14 รายชื่อ พบว่ามีความสัมพันธ์อันดีกับอดีตบิ๊กตำรวจยศ พล.ต.อ.คนหนึ่งที่ใกล้ชิดกับขั้วอำนาจปัจจุบัน ท่ามกลางข่าวว่าตัวเต็งคนที่อาจได้เป็นประธาน กสทช.คนใหม่ หากรอบนี้ไม่โดนล้มกระดานหมด ประธาน กสทช.คนใหม่จะไม่ใช่คนที่มาจากวงการสื่อสารโทรคมนาคม แต่อาจเป็นบุคคลหนึ่งที่เคยมีตำแหน่งในยุค คสช. และเป็นที่รู้กันดีว่า บุคคลดังกล่าวมีความสัมพันธ์อันดีกับแกนนำระดับบิ๊กรัฐบาล

“ข่าวอีกบางกระแสก็ประเมินว่า 7 รายชื่อที่ส่งมาให้ ส.ว.โหวต ต้องรอดูว่าจะหลุดเข้าไปหมดทั้ง 7 คนหรือไม่ หรือว่าจะมีบางคนไม่ได้รับความเห็นชอบ หลังมีกระแสข่าวเรื่องอาจมีสัญญาณบางอย่างส่งไปถึง ส.ว.ภายในช่วงเช้าวันที่ 20 ธ.ค. เพื่อประสานให้ ส.ว.โหวตตกไป แล้วไปเปิดรับสมัครกันใหม่ โดยไม่มีการล้มกระดานหมด โดยตามกฎหมายบัญญัติว่า กสทช.จะปฏิบัติหน้าที่ได้ต้องมีกรรมการไม่น้อยกว่า 5 คน ดังนั้นหากที่ประชุม ส.ว.เห็นชอบ 5 คน กสทช.ชุดใหม่ก็เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ได้ แต่หากไม่ถึง 5 คน ก็จะต้องไปคัดเลือกกันใหม่เพื่อรอจนครบ 5 คน”

สำหรับภารกิจสำคัญที่รอให้ กสทช.ชุดใหม่เข้ามาดำเนินการตัดสินใจแทน กสทช.ปัจจุบันที่รักษาการมีหลายเรื่อง เช่น การเข้ามาจัดการประมูลการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด หรือการประมูลดาวเทียมไทยคมสัญญาใหม่ หลังก่อนหน้านี้ กสทช.ล้มการประมูลไปเมื่อเดือน ส.ค.2564 จากสาเหตุที่มีผู้ยื่นประมูลเข้ามาเพียงรายเดียว คือบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) หรือ THCOM แม้มี 3 บริษัทที่แสดงความสนใจและมาขอรับเอกสารการประมูล ได้แก่ บริษัท ทีซี สเปซ คอนเน็ค จำกัด ที่ไทยคมถือหุ้น 100%, บริษัท มิวสเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด และบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (เอ็นที) แต่สุดท้ายมีแค่กลุ่มไทยคมที่ยื่นประมูลเข้ามาเพียงรายเดียว นอกจากนี้ก็ยังมีโครงการประมูลคลื่น 3500 MHz รวมถึงการตัดสินใจเรื่องใบอนุญาตวิทยุชุมชนกว่า 5,000 สถานี หลังที่ผ่านมาผู้ประกอบการถือใบอนุญาตชั่วคราวมากว่า 10 ปี และการเลือกเลขาธิการ กสทช.คนใหม่แทนนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เพราะปัจจุบันนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล ทำหน้าที่เป็นแค่รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. เป็นต้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง